1
ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีก่อน ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวระดับ 9.1 แมกนิจูด ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดยักษ์ซัดถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ‘ฟุกุชิมะไดอิจิ’ (Fukushima Daiichi) จนระบบหล่อเย็นในโรงงานเกิดความเสียหาย เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และปลดปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีออกมา
ด้วยเหตุนี้ น้ำบาดาลและน้ำทะเลปริมาณมหาศาล จึงถูกปล่อยเข้าไปเพื่อทำหน้าที่หล่อเย็นแทนระบบโรงงานที่เสียหายไป ทว่าวิธีแก้ไขดังกล่าวกลับเป็นที่มาของน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ที่สะสมอยู่ภายในแทงก์น้ำขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 ถัง รอบอาณาเขตโรงไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน หากปล่อยสถานการณ์ข้างต้นต่อไป ในช่วงต้นปี 2024 อาจไม่เหลือพื้นที่ในโรงงานสำหรับรองรับน้ำเสียอีก ดังนั้น ทางการญี่ปุ่นจึงตัดสินใจที่จะ ‘ค่อยๆ’ ปล่อยน้ำเสียทั้งหมดนี้ออกไป เพื่อให้มีพื้นที่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการปลดระวางและรื้อถอนโรงไฟฟ้า
2
ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2023 คือวันแรกที่ญี่ปุ่นประกาศวันทิ้งน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยผลลัพธ์ที่ตามมาคือรัฐบาลญี่ปุ่นถูกต่อต้าน และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในการตัดสินใจจากทั่วโลกว่า พวกเขากำลังละเมิดสิทธิมนุษย์ของประชาชนในญี่ปุ่น ตลอดจนชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคแปซิฟิก ไม่เพียงเท่านั้น เพราะการตัดสินใจในครั้งนี้ยังเป็นการละเมิดกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เทปโก’ (Tokyo Electric Power Company: TEPCO) ที่เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ยืนยันว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตัดสินใจทิ้งน้ำปนเปื้อนรังสีออกจากโรงไฟฟ้า เนื่องจากปริมาณน้ำที่ถูกกักเก็บในโรงไฟฟ้าหลายหมื่นตันกำลังเพิ่มปริมาณต่อเนื่อง
ด้านกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นมองว่า นี่เป็นความล้มเหลวของแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 ขณะที่การปนเปื้อนรังสีในน้ำยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปี เพราะทางการญี่ปุ่นไร้มาตรการหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำ และในปัจจุบัน แม้ว่าการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะหยุดดำเนินการเนื่องจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ แต่โรงไฟฟ้ายังมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนสำรองตลอดเวลา
3
ทันทีที่มีประกาศออกมา สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ลงพื้นที่สอบถามกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเลในจังหวัดฟุกุชิมะ มีพ่อค้าปลารายหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้กำลังรู้สึกวิตกกังวลมาก ทั้งยืนยันว่า ตนไม่เคยเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะแม้แต่ก่อนที่จะมีการปล่อยน้ำเสีย ลำพังเพียงแค่มีข่าวเรื่องโรงงานไฟฟ้าเสียหาย พวกเขาก็ต้องใช้เวลานานมาก กว่าลูกค้าจะมั่นใจและกล้ากลับมาซื้อปลาในตลาด
เพียงไม่กี่วัน ความกังวลของพ่อค้าปลารายนั้นกลายเป็นจริง น่าเศร้าที่ความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความกลัวในระดับท้องถิ่น แต่ทวีคูณสู่ระดับนานาชาติ เริ่มจาก
1. จีน: ประกาศแรกจากรัฐบาลจีน คือจะแบนแค่สินค้าจากจังหวัดฟุกุชิมะเท่านั้น แต่ภายหลังจากฮ่องกงประกาศแบนอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่น รัฐบาลจีนก็ยกระดับด้วยการแบนอาหารทะเลทั้งหมดที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมประณามการกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ‘เห็นแก่ตัว’ และ ‘สร้างความเดือดร้อน’
ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนและญี่ปุ่นระบุว่า ท่าทีแข็งกร้าวของจีนที่ปฏิบัติต่อญี่ปุ่นในเหตุการณ์ครั้งนี้ คือภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์ความเกลียดชังอันยาวนานของทั้งสองประเทศ ที่คุกรุ่นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กระหน่ำซ้ำด้วยไฟความขัดแย้งกรณีข้อพิพาทดินแดนและเขตทางทะเลที่คงลุกโชนต่อเนื่อง
แม้เสียงเรียกร้องให้บอยคอตญี่ปุ่นของประชาชนจีน อาจไม่ถือเป็นเรื่องแปลก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนของทางการญี่ปุ่น ส่งผลให้ความรู้สึกเกลียดชังและต่อต้านญี่ปุ่นในจีนเข้มข้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
2. เกาหลีใต้: อ้างอิงจากผลสำรวจโดยคอนซูเมอร์สโคเรีย (Consumers Korea) ภายหลังมีข่าวการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวเกาหลีกว่า 92.4% ลงความเห็นว่า พวกเขาตั้งใจจะลดการบริโภคอาหารทะเลลงทันที สร้างความวิตกให้กับชุมชนตลาดปลานอ-รยางจิน (Noryangjin Fish Market) ตลาดขายส่งและปลีกสินค้าซีฟูดขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้
ที่ประตูด้านหน้าของตลาด เริ่มปรากฏป้ายเขียนข้อความเพื่อสร้างความมั่นใจและปลอบขวัญลูกค้าที่ตื่นกลัว
“สินค้าซีฟูดของเราปลอดภัย! บริโภคได้ด้วยความมั่นใจ!”
“ข่าวลือที่เป็นเท็จกำลังสร้างความกลัวให้กับสาธารณชน เราจะไม่ทนอีกต่อไป!”
นอกจากความกังวลในการบริโภคอาหารทะเลของผู้คนบนคาบสมุทรเกาหลี ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหานี้ นั่นคือเหล่าชาวประมงที่อยู่อาศัยและหาปลาเลี้ยงชีพบริเวณหมู่เกาะฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
คิม ยุนอา (Kim Yoon-a) หนึ่งในนักดำน้ำหญิงรุ่นใหม่และสมาชิกชุมชนนักดำน้ำท้องถิ่น ‘แฮนยอ’ (Haenyeo) แห่งเกาะเชจู ซึ่งประกอบอาชีพดังกล่าวเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ กับผู้สื่อข่าวของบีบีซี (BBC) ด้วยท่าทีวิตกกังวลว่า
“ตอนนี้ฉันรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะดำน้ำอีกต่อไป”
4
คำถามสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือหากอิงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ ความแคลงใจไม่กล้าบริโภคอาหารทะเลในครั้งนี้ ถือเป็นความกลัวที่มีมูลหรือไม่?
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า หากว่าญี่ปุ่นสามารถกำจัดสารกัมมันตภาพรังสีทั้งหมดออกจากน้ำเสียได้ก่อนที่จะปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ข้อถกเถียงและความตื่นกลัวต่างๆ ที่ผู้คนมีในตอนนี้อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่ปัญหาแท้จริงอยู่ที่สารกัมมันตรังสี ‘ทริเทียม’ (Tritium) ที่ไม่สามารถกำจัดออกไปได้ 100% เนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถทำได้ในขณะนี้ มีเพียงการทำให้ ‘เจือจางลง’ เท่านั้น
รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า สารทริเทียมที่เจือจางจากการบำบัดน้ำ มีปริมาณน้อยเกินกว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามที่หลายฝ่ายกลัว เช่นเดียวกับ เจมส์ สมิธ (James Smith) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางธรณีวิทยาและสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) ที่ออกโรงสนับสนุนว่า ในทางทฤษฎีน้ำที่ผ่านการบำบัดของโรงงานไฟฟ้าฟุกุชิมะนี้ มีปริมาณสารกัมมันตรังสีที่เจือจางจนสามารถดื่มได้เลยด้วยซ้ำ
ด้าน เดวิด เบลีย์ (David Bailey) นักฟิสิกส์เจ้าของห้องปฏิบัติการตรวจสอบกัมมันตภาพรังสี ก็เห็นด้วยว่า ปริมาณทริเทียมในน้ำเสียดังกล่าวถือว่าไม่มากพอที่จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับมุมมองดังกล่าว เพราะเชื่อว่าในปัจจุบัน ข้อมูลที่ใช้ในการคาดการณ์ปริมาณผลกระทบจากการปล่อยน้ำที่บำบัดนั้นยังมีไม่เพียงพอ
เอมิลี แฮมมอนด์ (Emily Hammond) ศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (George Washington University) อธิบายว่า ณ เวลานี้ไม่สามารถหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ ที่จะคาดคะเนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ เธอรู้เพียงว่าระดับการสัมผัสสารกัมมันตรังสีของน้ำถือว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็น ‘ระดับปลอดภัย’ หรือไม่
5
แผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ได้รับไฟเขียวจากไอเออีเอ (IAEA) ให้ปฏิบัติตามแผนการทยอยปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วเป็น 4 เฟสด้วยกัน ตามที่ทราบกันว่า ปัจจุบัน เฟสแรกเริ่มขึ้นแล้วและจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2024 ส่วนเฟสอื่นจะทยอยตามมาในภายหลัง โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะกินเวลาอย่างน้อย 30 ปี
TEPCO ชี้แจ้งว่า บริษัทจะเริ่มต้นอย่างระมัดระวังด้วยปริมาณการปล่อยน้ำ ‘ทีละน้อย’ โดยก่อนปล่อยน้ำทุกครั้ง จะมีการตรวจวัดความเข้มข้นของสารทริเทียมอย่างรัดกุม และยืนยันว่า การปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีปริมาณทริเทียมอยู่ในระดับที่ได้รับการไฟเขียวจากรัฐบาลญี่ปุ่นเท่านั้น
มวลน้ำปริมาณหลายล้านตันที่สะสมอยู่ในบริเวณโรงงานในขณะนี้ มีมากพอที่จะบรรจุลงในพื้นที่ทั้งหมดของโตเกียวโดมหรือสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกกว่า 500 สระ โดยมีการคาดการณ์ว่าใกล้ขีดจำกัดการกักเก็บน้ำของโรงงาน มีปริมาณอยู่ที่ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร
มองโลกในแง่ดี หากทางการญี่ปุ่นดำเนินการตามแผนราบรื่น ภายในสิ้นปี 2023 TEPCO จะลดปริมาณน้ำสะสมลงได้ประมาณ 10 แทงก์ และมีพื้นที่มากพอรองรับน้ำปนเปื้อนเพิ่มเติมจากกระบวนการหล่อเย็นของโรงงานที่ยังคงดำเนินการอยู่ได้ในระยะสั้นๆ
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-asia-66106162
https://www.bbc.com/news/world-asia-66603831
https://www.bbc.com/thai/articles/c4nj0jm078ko
Tags: Environment, จีน, เกาหลีใต้, โรงงานนิวเคลียร์, ฟุกุชิมะ, ฟุกุชิมะ ไดอิจิ, กัมมันตภาพรังสี, ญี่ปุ่น