พฤติกรรมชอบขุดคุ้ยและกิน ‘หญ้า’ ของสุนัขอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สักเท่าไรนัก เพราะจากการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยในอุทยานแห่งชาติเยลโลวสโตน (Yellowstone National Park) พบว่า พฤติกรรมแทะเล็มหญ้ามีมาหลายร้อยปี เห็นได้ชัดจากการค้นพบสารอาหารจากพืชอย่าง ‘ไฟเบอร์’ (Fiber) ในอุจจาระของหมาป่ากว่า 74% ก่อนที่พฤติกรรมดังกล่าวจะถูกส่งต่อทางดีเอ็นเอไปถึงสุนัขยุคปัจจุบัน
มีผู้เลี้ยงสุนัขจำนวนหนึ่งให้คำตอบข้างต้นว่า สุนัขที่กินหญ้าเข้าไปในระหว่างการวิ่งเล่น เป็นการบ่งบอกว่าสุนัข ‘กำลังป่วย’ ขณะเดียวกัน ไฟเบอร์จะทำให้กระเพาะของพวกมันระคายเคืองอย่างหนัก กระทั่งอาเจียนในที่สุด และส่วนใหญ่พวกมันจะอาเจียนทันทีหลังจากกินหญ้าเข้าไป
ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าวคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของแมว ที่มักกินหญ้าเพื่อให้หลอดอาหารพวกมันระคายเคืองและคายก้อนขน (Hairball) ออกมาจากกระเพาะอาหาร
แต่กระนั้น นักวิจัยบางกลุ่มกลับให้ความเห็นที่แตกต่างไป หลังพวกเขาทดลองปล่อยสุนัขวิ่งเล่นในสนามหญ้า และพบว่าสุนัขทุกตัวมีพฤติกรรมแอบกินหญ้า จากนั้นไม่นาน พวกมันบางตัวก็มีอาการอาเจียนออกมาเล็กน้อย และต่อมา พวกมันก็จะกระโดดโลดเต้น ขุดคุ้ยดิน และกินหญ้าอย่างมีความสุข โดยปราศจากอาการอาเจียน ขณะเดียวกัน พวกเขาพบว่าหากสุนัขไม่ได้กินอาหารเป็นเวลานาน พวกมันมีแนวโน้มที่จะกินหญ้ามากขึ้น ดังนั้น พฤติกรรมดังกล่าวพอจะตอบคำถามได้ว่า สาเหตุที่สุนัขหันมากินหญ้าไม่ใช่เพราะพวกมันกำลังป่วย แต่เป็นเพราะความสนุก ความหิว และมันเขี้ยวเสียมากกว่า
อย่างไรก็ดี มีใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้จำพวกเบอร์รีบางชนิดตามธรรมชาติ ที่มีการศึกษาแล้วว่าเป็นพิษต่อสุนัข เช่น ใบยี่โถ ลิลลี่ ออริกาโน ใบกระวาน ฯลฯ ซึ่งทำให้สุนัขอาเจียนและท้องเสียได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ซูซาน เฮเซล (Susan Hazel) รองศาสตราจารย์ด้านสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด (University of Adelaide) และโจชัว โซอาเน็ตติ (Joshua Zoanetti) นักศึกษาปริญญาเอกสาขาชีววิทยาศาสตร์ทางสัตวแพทย์ เผยงานวิจัยชิ้นสำคัญว่า พฤติกรรมชอบกินหญ้าในสุนัขอาจทำให้พวกมันเป็นโรคมะเร็ง โดยพวกเขาสังเกตพฤติกรรมของกลุ่มสุนัขในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพวกมันมีนิสัยกินหญ้าเป็นประจำ และท้ายที่สุด สุนัขเหล่านั้นมักลงเอยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวพบว่า สาเหตุแท้จริงที่ทำให้สุนัขเหล่านั้นเป็นโรคมะเร็ง เกิดจากหญ้าที่สุนัขกินเข้ามีสารเคมีนานาชนิดปนเปื้อน เช่น ยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช เนื่องจากสารเคมีสามารถตกค้างอยู่บนผิวพืชได้นานกว่า 48 ชั่วโมง และเมื่อสุนัขโชคร้ายมาแทะเล็ม พวกมันจึงได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายทันที
แน่นอนว่า อาจจะไม่ใช่ทุกสวนที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ทางที่ดีผู้เลี้ยงสุนัขจำเป็นต้องสังเกตลักษณะผืนหญ้าของสวนนั้นให้ถี่ถ้วน หากลักษณะของสวนเต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิดแต่หญ้ากลับโล่งเตียนและไร้แมลง ก็ควรตระหนักไว้เสมอว่า ผู้ดูแลอาจลงมือฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไว้ทั่วสวน
ดังนั้น การปล่อยให้สุนัขกินหญ้าโดยไม่ระมัดระวัง บั้นปลายอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงโดยเฉพาะมะเร็ง ทว่าเจ้าของสุนัขก็ไม่ควรกังวลจนเกินไป เนื่องจากหลายพื้นที่ในบ้านเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสุนัข และหญ้าที่สุนัขเคี้ยวเล่นก็เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ รวมถึงตามสวนสาธารณะต่างๆ ที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาได้ ก็มีการคำนึงถึงสวัสดิภาพของเจ้าตูบเช่นกัน
Tags: PET, Doglover, สุนัขกินหญ้า, มะเร็งในสุนัข, Environment, สัตว์เลี้ยง