ย้อนกลับวันที่ 20 เมษายน 2010 เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก เมื่อแท่นขุนเจาะน้ำมันขนาดยักษ์กลางอ่าวเม็กซิโกที่มีชื่อว่า ‘ดีปวอเทอร์ฮอไรซอน’ (Deepwater Horizon) เกิดระเบิด จนทำให้น้ำมันดิบใต้ทะเลรั่วไหลออกมาวันละไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นบาร์เรล กินระยะเวลานานถึง 87 วัน และมีน้ำมันดิบรั่วไหลมหาศาลถึง 4.9 ล้านบาร์เรล
หายนะครั้งนั้นขยายวงกว้างไปทั่วอ่าวเม็กซิโกถึง 176,100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่คนงานที่เสียชีวิตไป 11 ราย และรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด 126 ราย เพราะยังมีสัตว์ทะเลจำนวนมากในบริเวณดังกล่าว ที่ต้องล้มหายตายจากเพราะความประมาทของมนุษย์ ประกอบด้วย นกทะเล 8 แสนตัว, เต่าทะเล 6.5 หมื่นตัว รวมถึงวาฬและโลมา 1,400 ตัว จนระบบนิเวศเสียหายลุกลามไปถึงบริเวณแนวริมชายฝั่งลุยเซียนา (Louisiana)
เวลาล่วงเลยมา 12 ปี แม้ บริติช ปิโตรเลียม (British Petroleum: BP) ผู้เป็นเจ้าของโครงการขุดเจาะดังกล่าวจะถูกศาลสหรัฐฯ เรียกชดใช้ค่าเสียหาย 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.64 แสนล้านบาท) แต่กระบวนการฟื้นตัวทางท้องทะเลยังคงต้องดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในหมู่โลมาปากขวดเพศเมียที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม จากสารเคมีชนิดโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydocarbons: PAHs) ที่ส่งผลให้พวกมันตั้งครรภ์ล้มเหลว
อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้ มูลนิธิทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (National Marine Mammal Foundation) ได้ออกมาเปิดเผยผ่านงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ (PLOS ONE) ฉบับประจำเดือนสิงหาคม 2022 ว่า โลมาปากขวดจำนวนมากที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้กับอ่าวเม็กซิโกเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรม ซึ่งเสี่ยงต่อการลดลงของจำนวนประชากรพวกมันในอนาคต แต่ที่น่าสนใจคือพวกมันเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์แท่นขุดเจาะดีปวอเทอร์ฮอไรซอนระเบิด
เนื้อหาของงานวิจัยระบุว่า ในปี 2013-2018 มูลนิธิทรัพยากรทางทะเลฯ ได้เก็บตัวอย่างเลือดจากโลมาปากขวด จำนวน 60 ตัว ที่อาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบบาราตาเรียเบย์ (Barataria Bay) และจำนวน 16 ตัวที่อาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบซาราโซตาเบย์ (Sarasota Bay) โดยทะเลสาบแห่งแรกใกล้กับอ่าวเม็กซิโก ส่วนทะเลสาบแห่งที่ 2 ใกล้กับอ่าวฟลอริดา
จากการเก็บตัวอย่างเลือด ผลปรากฏว่าโลมาจากทะเลสาบบาราตาเรียเบย์มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปในเชิงลบ จนส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ หัวใจ และปอดทำงานผิดปกติ ขณะที่โลมาจากซาราโซตาเบย์มีสุขภาพปกติดีเยี่ยม
เมื่อสืบหาถึงสาเหตุที่ทำให้โลมาจากทะเลสาบบาราตาเรียเบย์ล้มป่วย พบว่ามาจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจหากอาการจะคล้ายกับโลมาที่โดนผลกระทบของเหตุการณ์ดีปวอเทอร์ฮอไรซอน
“เราสามารถพูดได้เต็มปากว่าประชากรโลมาในอ่าวเม็กซิโกกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตอนแรกเราไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันเกิดความผิดปกติ แต่ด้วยการวิจัยก็ทำให้เราพบกับต้นตอปัญหา” จีนีน มอเรย์ (Jeanine Morey) นักชีววิทยาและหนึ่งในทีมนักวิจัยระบุผ่านวารสาร PLOS ONE
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวนประชากรโลมาปากขวดในอ่าวเม็กซิโกลดน้อยลงมากกว่า 45% แต่จากงานวิจัยดังกล่าวน่าจะเป็นข้อมูลที่ดีแก่สัตวแพทย์ เพื่อให้เข้าใจรอยโรคและเข้าช่วยเหลือพวกมันได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมจากฝีมือมนุษย์ที่เกิดขึ้นในอ่าวเม็กซิโกมาเกือบทศวรรษ
ที่มา
https://www.bbc.com/news/10370479
https://www.nature.com/articles/s41598-020-62944-6
Tags: โลมา, ดีปวอเทอร์ฮอไรซอน, Deepwater Horizon, Environment, สิ่งแวดล้อม