กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันดีในชื่องาน ‘COP28’ ถูกกล่าวหาว่า มีการกระทำผิดจรรยาบรรณและเจตนารมณ์ หลังมีข้อมูลจากศูนย์รายงานสภาพภูมิอากาศรั่วไหลสู่สาธารณชน เนื้อหาระบุว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพผู้จัดงานประจำปีนี้ ตั้งใจใช้หลังบ้านของงานประชุม COP28 เพื่อล็อบบี้และเจรจาการค้าเชื้อเพลิงฟอสซิลกับประเทศอื่นๆ
แม้ภายหลังจะมีถ้อยคำแถลงปฏิเสธอย่างเป็นทางการจากทั้งโฆษกของการประชุม และ ‘สุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์’ (Sultan bin Ahmed Al Jaber) เจ้าของประธานการประชุมคนปัจจุบัน และ CEO ของ ADNOC (Abu Dhabi National Oil Company) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอาหรับเอมิเรตส์ แต่สุดท้ายการประชุมดังกล่าวก็ยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง จากกรณีที่มีการเชิญและจัดหาที่นั่งในการประชุมให้กับล็อบบี้ยิสต์จากบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งสิ้นกว่า 2,456 ราย
ความโกรธของนักกิจกรรมและองค์กรสิ่งแวดล้อม
“การที่เวที COP อนุญาตให้ตัวแทนนับพันคนจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำกำไรให้กับกลุ่มคนรวยเพียงหยิบมือ ด้วยการทำลายสภาพภูมิอากาศโลก คือการบิดเบือนหลักการของการประชุมนี้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือการปกป้องสิ่งแวดล้อมและผู้คนจากพิษภัยที่พวกเขาก่อ
“เราจะไม่มีวันเชิญบริษัทค้าอาวุธมาร่วมงานประชุมเกี่ยวกับสันติภาพ การที่คุณเชิญตัวทำลายล้างโลกมางาน เพื่อถามความเห็นของพวกเขาว่า จะแก้ปัญหาที่เกิดโดยน้ำมือพวกเขาขึ้นอย่างไรดี จึงเป็นการกระทำที่แสนบิดเบี้ยว เพราะกระทั่งตอนนี้พวกเขาก็ยังวางแผนที่จะขยายการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่จะทำให้โลกของเรายิ่งร้อนขึ้นและคุกคามสิทธิของผู้คนเป็นพันล้านคนต่อไป”
ข้างต้นคือหนึ่งในเสียงสะท้อนจาก มารตา ชาฟ (Marta Schaaf) ผู้อำนวยการโครงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางสังคม และความโปร่งใสขององค์การแอมเนสตี้ (Amnesty International)
ขณะเดียวกันตัวแทนจากกลุ่ม ‘350.org’ องค์กรสิ่งแวดล้อมนอกภาครัฐชั้นนำระดับโลก ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า การมอบเก้าอี้ประธานให้ อัล จาเบอร์ ไม่ต่างอะไรกับการแต่งตั้ง CEO จากบริษัทขายบุหรี่มาดูแลการประชุมเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง
เชื้อเพลิงฟอสซิลเจ้าปัญหา ควร ‘ลด’ หรือควร ‘เลิก’ ?
ในการประชุม COP ที่จัดขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 100 ประเทศที่แสดงจุดยืนสนับสนุนให้ทั่วโลกเริ่มเข้าสู่กระบวนการ ‘Phase-Out’ หรือการเข้าสู่ระยะสุดท้ายก่อนจะยุติการใช้เชื้อเพลงฟอสซิลลง ถึงกระนั้น ในเอกสารการประชุม COP28 ปีนี้ กลับมีการเลือกใช้คำศัพท์ที่มีความหมายอ่อนลงคือ ‘Phase-Down’ ซึ่งให้ภาพเป้าหมายสุดท้ายเป็นการ ‘ลด’ ปริมาณไม่ใช่การ ‘เลิก’ ไปเลยโดยสิ้นเชิงเหมือนคำเก่า
อัล จาเบอร์เชื่อว่า แม้การลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมั่นใจว่าวิธีการแก้ไขจะสามารถ ‘นำไปปฏิบัติได้จริง’ นอกจากนี้เขายังกล่าวในที่ประชุมด้วยอารมณ์คุกรุ่นอีกว่า
“ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะสามารถคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
“ไหนเปิดโรดแมปให้ผมดูหน่อยว่า มีแผนการ ‘Phase-Out’ จากเชื้อเพลงฟอสซิลแผนไหนที่จะไม่ทำให้การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจชะงักงัน โดยที่เราไม่ต้องกลับไปอยู่ในถ้ำ”
นั่นจึงนำมาซึ่งกระแสความไม่พอใจจากทั้งภายในและภายนอกที่ประชุม รวมถึงกระแสเรียกร้องจากหลายองค์กรให้ อัล จาเบอร์ ลาออกจากตำแหน่งประธานอีกด้วย
ทั้งนี้ การประชุม COP28 จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2023 โดยมีสัดส่วนผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายกลุ่มทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมที่เป็นชนพื้นเมืองถึง 7 เท่า นอกจากการหารือประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนทั่วโลกแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่าติดตาม คือจะมีการตัดสินใจอย่างไรต่อไปในที่ประชุม เพื่อลบล้างข้อครหาดังกล่าวและแก้ไขสัดส่วนที่ไม่สมเหตุสมผลนี้
อ้างอิง
– https://kickbigpollutersout.org/articles/release-record-number-fossil-fuel-lobbyists-attend-cop28
– https://www.axios.com/2023/12/04/cop28-al-jaber-fossil-fuel-phase-out-science
Tags: climate change, เชื้่อเพลิงฟอสซิล, น้ำมัน, UAE, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, COP28, Environment