ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเจ้าดังและสื่อออนไลน์ทั่วโลกต่างพร้อมใจรายงานผลวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวกับการหยุดชะงักของกระแสน้ำสำคัญสายหนึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติก นั่นคือ ‘กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม’
นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศวิทยาจำนวนหนึ่ง พากันแสดงความคิดเห็นถึงงานวิจัยชิ้นดังกล่าว โดยมีข้อสรุปว่า ‘จุดพลิกผันที่ส่งผลให้กระแสน้ำหยุดลง จะมาถึงเร็วที่สุดคือปี 2025’ นั้นเป็นข้อสรุปที่ ‘เกินความเป็นจริง’ (Overdramatised)
แม้ข้างต้นจะดูเป็นข่าวดี แต่กลับมีสิ่งที่น่ากังวลใจตามมา เพราะวิธีการรายงานของสำนักข่าวชั้นนำกำลังสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้คนทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัวในลักษณะที่สร้างความแตกตื่นของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) และเดลีเมล (Daily Mail) ด้วยการเน้นย้ำเลขปีที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันที่สุดที่เป็นไปได้ นั่นคือ 2025 หรือการกล่าวเกินกว่าเหตุว่า สถานการณ์อย่างในภาพยนตร์เรื่อง The Day After Tomorrow (2004) ใกล้จะเกิดขึ้นจริงในเร็ววัน แม้วิธีเหล่านี้จะกระตุ้นผู้อ่านให้หันมาสนใจข่าวสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้อ่านเกินความจำเป็น
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เหล่านักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำให้สำนักข่าวต่างๆ แก้ไข คือการกล่าวถึงสายธารลำเลียงน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่เรียกว่า AMOC (Atlantic Meridional Overturning Circulation) และกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (Gulf Stream) ที่สื่อไปในทิศทางราวกับว่า ธารน้ำทั้งสองสายนี้คือธารน้ำเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะขนาดหรือการทำงานก็ตาม
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือการประโคมข่าวว่าถนนทางหลวงที่ลากผ่านครึ่งค่อนประเทศจะพังลง ทั้งที่เส้นทางเสียหายจริงๆ เป็นเพียงถนนทางหลวงในกรุงเทพฯ
สำหรับกระแสน้ำ AMOC เป็นสายธารลำเลียงน้ำอุ่นที่อยู่บริเวณใกล้ผิวน้ำทางตอนเหนือไปยังสหราชอาณาจักรและเกาะกรีนแลนด์ ก่อนจะลำเลียงน้ำเย็นกลับลงมายังทิศใต้ โดยเป็นสายธารที่ไหลเวียนอยู่ใต้ทะเลลึกถึงระดับ 3,000 เมตร ในขณะที่กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมเป็นสายธารบริเวณใกล้ผิวน้ำ ที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสลมต่างๆ ทั่วโลก
ด้าน โจนาธาน โฟลีย์ (Jonathan Foley) นักวิทยาศาสตร์และประธานบริหาร Project Drawdown องค์กรสิ่งแวดล้อมไม่แสวงผลกำไร ออกมายืนยันว่า กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมจะไม่หยุดไหล พร้อมตำหนิเนื้อหาในบทความข่าวของเดอะการ์เดียนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2023
“กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมจะไม่ ‘ล่มสลาย’ หรอก ตราบเท่าที่โลกไม่หยุดหมุนและลมไม่หยุดพัด กัลฟ์สตรีมก็จะดำเนินต่อไป ส่วนสายธารที่มีโอกาสหยุดทำงาน คือระบบหมุนเวียนน้ำที่มีขนาดเล็กกว่ามากและอยู่ลึกลงไปใต้ทะเล เรียกว่า AMOC ซึ่งได้รับการสังเกตการณ์และวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด ทั้งสองอย่างนี้มีบทบาทที่แตกต่างกันมากในระบบโลก
“แน่นอนว่า ปัญหา AMOC ก็เป็นเรื่องใหญ่ต่อสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณสำคัญของทะเลแอตแลนติกเหนือ แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะลำเลียงมวลน้ำปริมาณมหาศาลและขับเคลื่อนอุณหภูมิโลกได้เท่ากับกัลฟ์สตรีม และกัลฟ์สตรีมก็ยังไม่มีวี่แววจะล่มสลายเร็วๆ นี้
“ในเมื่อมันเป็นปัญหาที่สำคัญต่อโลกถึงขนาดนี้ การรายงานข้อเท็จจริงให้ถูกต้องจึงสำคัญมาก อย่างน้อยคุณก็ควรรายงานชื่อกระแสน้ำที่ถูกต้องให้ได้สิ!”
หากสายธาร AMOC ล่มสลาย แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาย่อมรุนแรง ทั้งอาจนำไปสู่หายนะต่อสภาพอากาศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝน แรงลมมรสุมในแอฟริกาและเอเชีย อุณหภูมิเฉลี่ยของยุโรป ความชื้นของอากาศในแคนาดา ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารของหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก
อย่างไรก็ดี เพนนี ฮอลลิเดย์ (Penny Holliday) นักฟิสิกส์ทางทะเลแห่งศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ (National Oceanography Centre) ของสหราชอาณาจักร ลงความเห็นว่า การตื่นตูมเรื่องกระแสน้ำ AMOC จะหยุดไหลไม่ใช่เรื่องดี ดังบทเรียนที่โลกเรียนรู้มาแล้วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพนนีสงสัยว่า นี่อาจเป็นผลพวงของความพยายามจะเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชน จากการลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนอื่นๆ ที่เร่งด่วนกว่าหรือไม่
“ผลงานวิจัยที่นำเสนอข้อสรุปรุนแรงเกินจริง สามารถสร้างความเสียหายต่อมุมมองของผู้คนต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” เพนนีกล่าว
ทั้งนี้ หากสื่อนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการรายงานที่สร้างความตื่นตระหนกเกินพอดี หัวข้อข่าวเหล่านี้คงไม่ต่างจากนิทานเด็กเลี้ยงแกะ และแม้ช่วงแรกผู้คนส่วนใหญ่อาจตื่นตกใจไปตามเนื้อหาข่าว ทว่าความน่าเชื่อถือของสื่อก็จะลดลงทุกครั้ง เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักได้ว่า ข่าวไม่ได้ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมาเท่าที่พวกเขาคาดหวัง
ที่มา
https://www.telegraph.co.uk/news/2023/07/27/amoc-ocean-collapse-dont-fear-met-office-gulf-stream/
https://www.ft.com/content/41efe7f2-5bd5-48fc-96e8-7275f08180fd
https://www.sciencefriday.com/segments/amoc-collapse-gulf-stream/
https://twitter.com/GlobalEcoGuy/status/1683956619892121600
https://twitter.com/EleanorFrajka/status/1683917521735368704
Tags: Environment, climate change, AMOC, Gulf Stream, กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม, ภาวะสภาพอากาศแปรปรวน