เดิมทีชาวจีนมีความเชื่อว่า ‘หูฉลาม’ มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ จนเกือบทำให้นักล่าแห่งท้องทะเลรายนี้สูญพันธุ์ หลังชาวประมงพากันออกเรือจับพวกมัน จากนั้นจึงเฉือนเอาแค่ส่วนครีบ แล้วโยนส่วนที่เหลือทิ้งลงน้ำ ปล่อยให้ฉลามเคราะห์ร้ายค่อยๆ จมลงสู่ก้นบึ้งมหาสมุทรในสภาพตายทั้งเป็น จนต้องมีการรณรงค์งดบริโภคหูฉลามจริงจังทั่วโลก
แต่น่าเศร้าที่ฉลามไม่ใช่เหยื่อรายเดียว เพราะขณะเดียวกัน ‘ปลากระเบนราหู’ (Manta Ray) ก็เป็นอีกหนึ่งสปีชีส์ที่ถูกชาวประมงล่าอย่างทารุณในแถบมหาสมุทรอินเดีย โดยแหล่งที่มีการล่าปลากระเบนราหูอันดับหนึ่งคือประเทศศรีลังกา ซึ่งทุกเช้า ชาวประมงจะใช้วิธีลากอวนจับพวกมันขึ้นมา ก่อนลงมือเฉือนเอา ‘เหงือก’ ส่งไปที่ตลาดปลาเมืองเนกอมโบ (Negombo) ในปริมาณวันละไม่ต่ำกว่า 700 กิโลกรัม พร้อมเตรียมตากแห้งส่งออกไปทั่วเอเชียตะวันออกรวมถึงจีน ในฐานะสินค้าชั้นดีสำหรับผู้ที่หลงใหลการเปิบเมนูพิสดาร
เรื่องนี้ ดาเนียล เฟอร์นานโด (Daniel Fernando) ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรวิจัยและให้คำปรึกษาทางทะเล (Blue Resources Trust) ออกมาต่อต้านการกระทำของชาวประมงศรีลังกา ว่าเป็นการฆ่าตัดตอนประชากรปลากระเบนราหู ทั้งที่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพวกมันถูกล่าอย่างหนัก จนมีจำนวนประชากรลดลงจาก 70% เหลือ 50% ในมหาสมุทรอินเดีย
“ชาวประมงศรีลังกาไม่ได้จับกระเบนราหูเพราะต้องการเนื้อ พวกเขาจับมันขึ้นมาตัดหัวแล้วเอาแค่เหงือก จากนั้นก็โยนตัวทิ้งลงทะเลอย่างอำมหิต เราได้ยินมาว่า พ่อค้าปลาส่วนใหญ่ยินดีขายมันให้กับชาวจีน ที่เชื่อว่าเหงือกปลากระเบนราหูตากแห้งเหมาะปรุงเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดี ทั้งที่ในเชิงการแพทย์ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่า เหงือกของมันมีสรรพคุณดีต่อร่างกายมนุษย์ และอวัยวะดังกล่าวของปลาชนิดนี้ ก็มีหน้าที่กรองน้ำไหลเข้าออกเพื่อหายใจเท่านั้น”
แม้ในปี 2014 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (Cites) ขึ้นทะเบียนปลากระเบนราหูในฐานะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ รวมไปถึงสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ได้ออกกฎหมายห้ามซื้อขายเหงือกของปลากระเบนราหู และประกาศพื้นที่คุ้มครองพวกมันผ่านอนุสัญญากรุงบอนน์ (Bonn Convention) แต่ในประเทศศรีลังกาก็ยังมีคนแอบขายและลักลอบส่งออกอยู่ตลอด เช่นในปี 2020 ที่มีการยึดเหงือกปลากระเบนตากแห้ง น้ำหนัก 300 กิโลกรัม มูลค่า 1.16 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,907,982 บาท) ได้ที่สนามบินฮ่องกง ซึ่งแน่นอนว่ามีต้นทางขนส่งมาจากศรีลังกา
อีกทั้งการที่ประเทศศรีลังกาเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจขั้นร้ายแรงในรอบ 74 ปี ทำให้ประชาชนชาวศรีลังการาว 32% ตัดสินใจหันมาทำอาชีพประมงตามบรรพบุรุษ โดยมุ่งเน้นล่าเหงือกปลากระเบนราหู ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงชิ้นละ 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4,386 บาท)
โดยปกติ ปลากระเบนราหูใช้ระยะเวลา 10-15 ปี เพื่อเติบโตสู่วัยเจริญพันธุ์ และโดยเฉลี่ย 2-3 ปี จะให้กำเนิดลูก 1 ตัว จึงไม่น่าแปลกใจนักที่พวกมันกำลังเข้าสู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์ ผนวกกับการใช้อวนจับสัตว์น้ำที่มีส่วนทำลายแหล่งอนุบาลตามธรรมชาติ ทำให้ประชากรของพวกมันลดน้อยลงไปอีก
หากรัฐบาลศรีลังกายังนิ่งเฉยต่อปัญหานี้ อนาคตอันใกล้เราคงได้ขึ้นทะเบียนว่า กระเบนราหูเป็นสัตว์อีกชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากโลก ด้วยสาเหตุตัวโตๆ ว่า ‘เป็นเพราะฝีมือมนุษย์’
Tags: Environment, กระเบนราหู