ในบรรดาสัตว์เลี้ยงยอดนิยม ‘แมว’ อาจถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่มีนิสัยรักสันโดษ จึงไม่แปลกที่เมื่อมันเจอมนุษย์แปลกหน้า (หรือแม้แต่เจ้าของ) ก็จะจ้องเขม็งและขู่ เพื่อส่งสัญญาณว่า ‘อย่าเข้ามาไม่งั้นมีเจ็บตัวแน่มนุษย์’

ทว่ามีแมวอีกจำนวนหนึ่งที่เมื่อเจอมนุษย์ ก็พร้อมเดินเอาตัวมาถูไถเรียกร้องความสนใจ เพื่อบ่งบอกว่า ‘มาเล่นกับฉันเถอะ’ แน่นอนว่าลักษณะภาษากายของแมว ย่อมทำให้มนุษย์รู้ได้ว่า แมวตัวไหนพร้อมเล่น หรือตัวไหนพร้อมสวบ!

ขณะเดียวกัน มีแมวหลายตัวกำลังพยายามคุยกับคุณอยู่ และหากคุณปฏิบัติตาม ‘ภาษาแมว’ ได้ถูกต้อง พวกมันก็พร้อมไว้ใจและพร้อมให้คุณเป็นพื้นที่ปลอดภัยทันที

คาเรน แม็กคอมบ์ (Karen McComb) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ (University of Sussex) ในเมืองไบรตัน (Brighton) ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ เผยงานวิจัยชิ้นสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแมว โดยเธอเสนอว่า หากมนุษย์อยากทำความรู้จักแมวตรงหน้าและทำให้แมวไว้วางใจ ให้ลองทักทายโดยใช้ภาษาแมว ถึงกระนั้น ภาษาที่ว่าไม่ใช่การร้องเหมียวๆ แต่เป็นการทักทายด้วยภาษากาย เริ่มจากเข้าใกล้ตัวพวกมันอย่างระมัดระวัง เพื่อบอกว่าคุณมาอย่างเป็นมิตร จากนั้นให้มองหน้าแมวและเริ่มหรี่ตาลง ก่อนกะพริบตาอย่างช้าๆ ซ้ำไปมา ระหว่างนี้หากแมวเริ่มกะพริบตาตอบ แปลว่าพวกมันเริ่มไว้วางใจคุณในระดับหนึ่ง (ซึ่งบางครั้งแมวอาจกะพริบตาตอบแค่ข้างเดียว)

ทั้งนี้ จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของแม็กคอมบ์นำไปสู่การทดลองสองแบบที่แตกต่างกัน เพื่อพิสูจน์ว่า แมวที่มีพฤติกรรมตอบสนองต่อมนุษย์จะกะพริบตาช้าๆ ก่อนเข้าคลอเคลียจริงหรือไม่

ในการทดลองแรก พวกเขาทดลองกับแมวเลี้ยง 21 ตัว จาก 14 ครอบครัว โดยให้เจ้าของนั่งเว้นระยะห่างจากแมว 1 เมตร จากนั้นเริ่มเรียกแมวและมองหน้าแมวโดยตรง ต่อมาให้กะพริบตาช้าๆ โดยไม่ปฏิบัติภาษากายอื่น เมื่อแมวเริ่มมองมาที่พวกเขา จะมีกล้องบันทึกใบหน้าทั้งแมวและเจ้าของเอาไว้ ปรากฏว่า เมื่อเจ้าของกะพริบตาช้าๆ แมวจะกะพริบตาโต้ตอบทันที

สำหรับการทดลองที่สอง นักทดลองศึกษาในลักษณะเดิม แต่ให้คนที่กะพริบตาเป็นคนแปลกหน้าที่แมวไม่รู้จัก โดยให้พวกเขามองหน้าแมวในระยะเวลาหนึ่ง ทันทีที่ทำเช่นนั้น แมวจะรู้สึกถูกคุกคามทันที ทว่าเมื่อพวกเขาเริ่มกะพริบตาอย่างช้าๆ พร้อมกับยื่นมือออกไปข้างหน้า ปรากฏว่าแมวเริ่มกะพริบตาโต้ตอบและเริ่มเดินเข้ามาใกล้มากขึ้น ขณะเดียวกัน มีแมวในการทดลองอีกจำนวนหนึ่ง ที่หลังกะพริบตาก็เดินเข้ามาและทิ้งตัวลงใกล้ๆ ทันทีโดยไม่มีท่าทีขู่ป้องกันตัว

การทดลองดังกล่าวเพียงพอที่จะให้แม็กคอมบ์และทีมนักวิจัยสรุปว่า การกะพริบตาของแมวเป็นหนึ่งในกระบวนการทักทาย และบ่งบอกว่าพวกมันพร้อมสื่อสารกับมนุษย์ และในบางครั้งก็เป็นการบ่งบอกว่า แมวเข้าใจในสิ่งที่มนุษย์กำลังสื่อสาร

อย่างไรก็ดี การทดลองนี้ผู้วิจัยระบุว่า ทุกคนสามารถลองทำได้ ทั้งกับแมวเลี้ยงหรือแมวจร แต่มีข้อควรระวัง เพราะไม่ใช่แมวทุกตัวที่จะยอมโต้ตอบด้วย เนื่องจากการกะพริบตาเป็นเพียงการสื่อสารระดับเริ่มต้นเท่านั้น หากต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจนแมววางใจ จำเป็นต้องใช้การแสดงออกที่ดีอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การเรียกชื่อ ลูบหัวเบาๆ หรือเกาคาง หากทำได้บ่อยครั้งจะเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดี และเพิ่มความไว้วางใจระหว่างเรากับแมวได้มากขึ้น

ที่มา

https://www.sciencealert.com/study-confirms-that-you-can-really-communicate-with-your-cat-by-doing-this

https://www.nature.com/articles/s41598-020-73426-0

https://www.forbes.com/sites/saratabin/2020/10/22/you-can-bond-with-your-cat-by-blinking-scientists-say/

Tags: ,