“มันไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง แต่เรื่องนี้มันเกี่ยวกันทั้งหมดกับธุรกิจภาพยนตร์ในฮ่องกง”
อีแวนส์ ชาน นักสร้างภาพยนตร์ชาวฮ่องกง พูดถึงมาตรการเซนเซอร์ใหม่ของเกาะฮ่องกงที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน
New York Times, 11 มิถุนายน 2021
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกงถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับฮ่องกงได้เป็นเนื้อเป็นหนัง เวลานั้นฮ่องกงผลิตภาพยนตร์ออกสู่สายตาผู้ชมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอินเดียและสหรัฐอเมริกา สร้างรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
แต่ปัจจุบันดูเหมือนสถานการณ์จะเปลี่ยนไป บทบาทของฮ่องกงบนเวทีโลกภาพยนตร์เงียบสงัดอย่างน่าใจหาย 25 ปีแห่งการเข้ามาปกครองเกาะฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองสามปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจีนเข้มงวดมากขึ้นในทุกกิจกรรมที่ส่งผลต่อทัศนคติทางการเมืองและสังคม เสียงจากหนังฝั่งฮ่องกงจึงแผ่วเบาเสียจนเสียงกระซิบจากหนังไทยอาจดังกว่าด้วยซ้ำ ผิดกับเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ดูเหมือนยังคงทำได้ดีในอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ที่อุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์ก็เริ่มขยับตัวอย่างมีนัยสำคัญ
ฮ่องกงจะไปต่อ หรือรอวันนับถอยหลัง
ฮ่องกงกับความรุ่งเรืองในอดีต
แต่เดิม ฮ่องกงถือเป็นฐานใหญ่ของการผลิตภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาจีน ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักวิชาการทางภาพยนตร์ศึกษาเรื่องธุรกิจภาพยนตร์ฮ่องกง พบว่าแต่ละปีฮ่องกงสามารถผลิตภาพยนตร์ได้มากกว่า 500 เรื่อง ป้อนตลาดสำหรับคนพูดภาษาจีนทั้งกวางตุ้งและไหหลำ
ภาพยนตร์ที่ออกฉายในช่วงแรกเมื่อ ค.ศ. 1930-1940 ส่วนมากใช้บทละครและแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรจีนเป็นหลัก โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ได้มาจากอังกฤษ
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงน่าจะเริ่มมาจากการจัดตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ชอว์บราเธอร์ส (Shaw Brothers) ช่วงปี 1932 โดยพี่น้องเหรินเหมย เหรินเจี๋ย และเหรินตี้ ชอว์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังจากเซี่ยงไฮ้ มาเปิดสาขาที่ฮ่องกง (บริษัทในเซี่ยงไฮ้ของเขาชื่อว่า เทียนยี่ ฟิล์มคอมปะนี) สมัยนั้นเซี่ยงไฮ้ถือเป็นฐานใหญ่ของการผลิตสื่อบันเทิงในจีนเช่นกัน
พี่น้องชอว์ต้องการเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้ภาษากวางตุ้ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่าในฮ่องกงและประสบความสำเร็จอย่างมากจากภาพยนตร์ White Gold Dragon (1934) ชอว์บราเธอร์สได้สร้างมาตรฐานของการภาพยนตร์ฮ่องกงไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะภาพยนตร์แนวกังฟูหรือกำลังภายใน (อย่างที่คนไทยเราเรียกกัน) หนังกังฟูเหล่านี้เป็นหนังต้นทุนต่ำ เน้นขายฉากต่อสู้และเรื่องราวแบบวีรบุรุษ
ความรุ่งเรืองของภาพยนตร์ฮ่องกงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงช่วงปี 1948-1960 ซึ่งถือเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกงดีดตัวอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการทะลักเข้ามาของเศรษฐีชาวจีนและไต้หวันที่เริ่มเข้ามาตั้งรกรากในฮ่องกงเพื่อทำการค้า ประชากรของฮ่องกงเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีระหว่างปี 1940-1963 โดยเพิ่มขึ้น 4 เท่า ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน ซึ่งทำให้ความสามารถในการบริโภคของคนในเกาะฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผลพลอยได้อย่างหนึ่งก็คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเกาะฮ่องกงโตตามไปด้วย
ภาพยนตร์ภาษากวางตุ้งถือว่าครองส่วนแบ่งในตลาดสูงที่สุดมากกว่าภาษาจีนกลาง เนื่องด้วยเรื่องการเมืองส่วนหนึ่ง และด้วยประชากรในฮ่องกงส่วนมากก็พูดภาษากวางตุ้งมากกว่า ถึงแม้จะมีการส่งออกภาพยนตร์จากฮ่องกงไปยังเซี่ยงไฮ้ แต่สื่อบันเทิงส่วนมากที่ผลิตในฮ่องกงก็นิยมพูดภาษากวางตุ้งมากกว่า
อย่างที่บอกไปว่า เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของภาพยนตร์จากฮ่องกงก็คือ หนังกำลังภายในที่มีฉากต่อสู้แบบกังฟู (Martial Art) และสามารถทำได้ในต้นทุนต่ำ ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเรื่องหนึ่งและกลายเป็นต้นกำเนิดของภาพยนตร์แนวกังฟูมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ การนำเอาอัตชีวประวัติของหงเฟยหง วีรบุรุษแบบฉบับโรบินฮู้ดของจีน มาสร้างเป็นภาพยนตร์ การย้ายมาฮ่องกงในระยะเวลาสั้น รวมถึงการมาตั้งสำนักสอนวิชาป้องกันตัวแบบวูซู (Wushu) รวมถึงการนำเอาศิษย์ของหงเฟยหงมาเป็นที่ปรึกษาในการสร้างภาพยนตร์แนวกังฟูหลายต่อหลายเรื่อง กลายเป็นรากฐานของภาพยนตร์ของฮ่องกง และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักแสดงและผู้กำกับฮ่องกงรุ่นต่อๆ มาอีกหลายคน ทั้ง จอห์น วู, บรูซ ลี และเฉินหลง เป็นต้น
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์ของฮ่องกง นั่นคือการมาถึงของโกลเดนฮาร์เวสต์ (Golden Harvest ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Orange Sky Golden Harvest)
บริษัทที่คนในชอว์บราเธอร์สแยกตัวออกมาเพื่อทำธุรกิจบันเทิงในโมเดลที่แตกต่างจากเดิม และถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงปี 1970-1980 เรียกได้ว่าภาพยนตร์ที่ออกมาจากโกลเดนฮาร์เวสต์กินส่วนแบ่ง 80% ของภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในบ็อกซ์ออฟฟิศของฮ่องกงในช่วงเวลานั้น
เคล็ดลับความสำเร็จของโกลเดนฮาร์เวสต์อยู่ที่วิธีการทำงาน โกลเดนฮาร์เวสต์ใช้วิธีการในการดีลกับผู้สร้างภาพยนตร์อิสระ แล้วให้โอกาสในการสร้างภาพยนตร์ที่หลากหลาย โดยสนับสนุนเงินและการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ ในขณะที่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของชอว์บราเธอร์ส มาจากการลงทุนและทีมงานภายในของบริษัทมากกว่า
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทำภาพยนตร์ของโกลเดนฮาร์เวสต์มีความหลากหลาย ออกขายได้เร็ว สามารถสร้างความน่าสนใจในเนื้อหา อาจเรียกได้ว่าโกลเดนฮาร์เวสต์ทำให้เกิดหนังสไตล์เจ้าพ่อและหนังกังฟูที่ขายความตลกควบคู่กับฉากบู๊ก็ว่าได้
ความสำเร็จสูงสุดอีกอย่างของโกลเดนฮาร์เวสต์อยู่ที่การผลิตบุคลากรที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถทั้งนักแสดงและผู้กำกับ รวมถึงการเข้าไปผลิตภาพยนตร์ให้กับวงการฮอลลีวูดในอเมริกาหลายต่อหลายเรื่องในเวลาถัดมา เช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Cannonball Run (1981) หรือ Teenage Mutant Ninja Turtles Trilogy (1990-1993)
ช่วงที่สุดยอดที่สุดของภาพยนตร์จากฮ่องกง คือช่วงปี 1980-1990 หนังฮ่องกงได้สร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาได้ชัดเจนมากขึ้น จากผู้กำกับและนักแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหนังเช่น ภาพยนตร์จาก จอห์น วู, เบนนี ชาน (ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ นำแสดงโดย หลิวเต๋อหัว) หรืองานกำกับและแสงของ โจว ซิงฉือ
โดยเฉพาะผลงานของหว่องกาไว ใน Happy Together (1997) ที่ส่งให้ทั้งตัวเขาและนักแสดงนำทั้งสองคน เลสลี จาง และ เหลียงเฉาเหว่ย โด่งดังอย่างมาก การคว้ารางวัลปาล์มทองคำมาได้เป็นเสมือนการพาฮ่องกงไปสู่ผู้เล่นระดับเวิลด์คลาสอย่างแท้จริง นอกเหนือจากเฉินหลงที่เคยติดนักแสดงชายที่ทำเงินสูงสุดของฮอลลีวูดมาแล้ว เชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นแรงส่งไปถึง มาร์ติน สกอร์เซซี ที่หยิบหนังฮ่องกง Infernal Affair (2002) มารีเมกในชื่อ The Departed (2006) จนได้รางวัลออสการ์
ทั้งหมดถือเป็นการพิสูจน์ความสำเร็จและอิทธิพลของหนังฮ่องกงที่เคยอยู่ในระดับที่เรียกว่า ‘ท็อปฟอร์ม’ อย่างแท้จริง
ทุกอย่างมีขึ้นก็ต้องมีลง
ฮ่องกงถูกส่งมอบคืนให้กับจีนเมื่อ 25 ปีที่แล้ว และเมื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ดูเหมือนว่าภาพยนตร์จากฮ่องกงได้รับความนิยมน้อยลง
กระแสการเสื่อมความนิยมมีมาก่อนปี 2000 แล้ว การปิดตัวลงชองชอว์บราเธอร์สในปี 1995 เป็นสัญญาณแรก วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 เป็นระลอกสอง ที่ส่งผลกระทบไปทั่วเอเชีย อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮ่องกงก็โดนหางเลขไปด้วย เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ของภาพยนตร์จากฮ่องกงก็อยู่ในเอเชีย
ผู้คนเข้าโรงหนังน้อยลง ประกอบกับช่วงก่อนหน้าที่หนังฮ่องกงได้รับความนิยมอย่างมาก มีการผลิตภาพยนตร์ออกมาเกินความต้องการ อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะฟองสบู่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงก็ว่าได้ วิกฤตต้มยำกุ้งจึงเป็นเหมือนเข็มจิ้มฟองสบู่ให้แตก ภาวะของการล้มระเนระนาดก็เริ่มจากตรงนั้น
สถานการณ์ดูจะแย่ลงไปอีก เมื่อฮ่องกงต้องเผชิญกับการระบาดของของโรคซาร์สในปี 2003 ปีนั้นมีภาพยนตร์ที่ถ่ายทำสำเร็จเพียง 54 เรื่อง จากที่เคยทำได้ 500 เรื่องต่อปี กระแสลบของวงการภาพยนตร์ฮ่องกงยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการข่าวคราวการฆ่าตัวตายของ เลสลี จาง นักแสดง และ เหมย เยี่ยนฟาง นักร้อง ยิ่งทำให้เกิดกระแสแง่ลบกับวงการภาพยนตร์ในฮ่องกง รวมถึงการไหลทะลักเข้ามาของหนังฮอลลีวูด ซึ่งทางการเกาะฮ่องกงไม่ได้ตั้งรับอย่างทันท่วงที ทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศลดลงอย่างมาก แม้ว่ารัฐจะจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์และสื่อบันเทิง แต่ก็ดูเหมือนว่าวัคซีนนี้มาช้าไป
ปัจจุบันมีฮ่องกงผลิตภาพยนตร์ออกฉายได้เฉลี่ยปีละ 60 เรื่อง ช่วงโควิดแทบไม่มีภาพยนตร์ใหม่ๆ ออกฉาย ตลาดก็หดเล็กลง ไม่ใช่เพียงแค่ความนิยมที่ลดลงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอิสระทางความคิดที่ถูกจำกัด จนทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์หายรายถอดใจ
มาตรการการเซนเซอร์ของจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจว่า หนังเรื่องใดสามารถออกฉายและจัดจำหน่ายได้บ้าง มาตรการของกองเซนเซอร์ยังรวมถึงการสามารถให้โทษกับสื่อบันเทิงที่รัฐมองว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ภาพยนตร์แนวมาเฟียที่เคยได้รับความนิยมอาจถูกเพ่งเล็งว่าเผยแพร่ภาพความไม่เหมาะสม หรือการใช้ความรุนแรงมากเกินจริง (เช่นหนังของ จอห์น วู สมัยก่อน) หรือภาพยนตร์ที่สร้างค่านิยมทางเพศที่ขัดกับแนวทางของจีน และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งโทษสูงสุดนั้นสามารถติดคุกได้ถึง 3 ปี ปรับสูงถึง 530,000 บาท การปรับเปลี่ยนกฎหมายเซนเซอร์เกี่ยวเนื่องกับการประท้วงการเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างกลยุทธ์สร้างให้เกิดความกลัวและน่าเกรงขามกับผู้ที่คิดจะฝ่าฝืน
มีการออกมาประท้วงของคนทำหนังฮ่องกงอย่างกว้างขวาง และวิพากษ์วิจารณ์ถึงความกำกวมไม่ชัดเจนของข้อกำหนดที่ใช้ในการเซนเซอร์ ซึ่งทำให้นักสร้างภาพยนตร์ไม่กล้าผลิตหรือขายหนัง เพราะไม่รู้ว่าหนังตัวเองจะเข้าข่ายหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Ten Years (2015) ที่เล่าเรื่องในจินตนาการของฮ่องกงในปี 2025 ผ่านชีวิตของเด็กในฮ่องกง ที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ หนังผลิตขึ้นเมื่อปี 2015 ที่เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างแยบผล โดยเล่าผ่านการใช้ภาษาจีนกวางตุ้งของเด็กๆ ที่ค่อยๆ ถูกทอนให้ลดความสำคัญ และแทนที่ด้วยภาษาจีนกลาง
ปัจจุบันหนังเรื่องนี้ห้ามฉาย ห้ามเผยแพร่ และห้ามนำออกจำหน่ายทุกช่องทาง ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องด้วยขัดกับกฎหมายใหม่ของเกาะฮ่องกง หรือหนังสารคดีขนาดสั้น Do Not Split (2020) ของ อังเดร แฮมเมอร์ (Anders Hammer) ผู้กำกับชาวนอร์เวย์ ซึ่งเข้าชิงออสการ์ในสาขาสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 2021 ก็ถูกห้ามฉายในฮ่องกงในวินาทีสุดท้าย และถูกแบนอย่างถาวรในฮ่องกง รวมถึงตัวของอังเดรเองก็น่าจะถูกหมายหัวจากทางการจีนว่าเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ประเภทหนึ่ง
หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด เชื่อแน่ว่าการประท้วงในฮ่องกงจะกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกงอาจไม่สามารถกลับมายืนอยู่จุดที่พวกเขาเคยทำได้อีกต่อไป นักแสดงฮ่องกงหลายคนเริ่มหาโอกาสใหม่ๆ และปรับตัว ทั้งการเข้าไปรับงานแสดงในจีนแผ่นดินใหญ่ การไปเล่นในภาพยนตร์จากฮอลลีวูด หรือเปิดบริษัทรับทำหนังนอกประเทศเพื่อความอยู่รอด แต่ความหวังที่เราจะได้เห็นปรากฏการณ์แบบ Infernal Affair หรือความฮิตระดับ โจว ฉิงฉือ นั้น อาจไม่มีให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสอีกแล้ว
อ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2021/06/11/world/asia/hong-kong-film-censorship.html
https://www.imdb.com/name/nm4108371/bio?ref_=nm_ov_bio_sm
https://en.wikipedia.org/wiki/Anders_Sømme_Hammer
https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-news/hong-kong-film-censorship-law-1235038330/
https://variety.com/2021/biz/asia/hong-kong-film-industry-1234957370/
https://www.hollywoodreporter.com/business/business-news/hong-kongs-new-film-censorship-1234972300/
Tags: ฮ่องกง, จีน, อุตสาหกรรมภาพยนตร์, หนังฮ่องกง, Entertainment Weekly Round-Up, China, Hongkong