ความตายเป็นประสบการณ์ชีวิตแบบด้านเดียว เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราไม่มีโอกาสได้แชร์กับคนอื่นได้จริงๆ ว่าชีวิตหลังความตายนั้นเป็นอย่างไร แม้จะมีช่องทางต่างๆ ตามความเชื่อทางศาสนาของแต่ละแห่งแต่ละที่ แต่ทุกวันนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถสรุปเป็นกฎสากล หรือทำให้เราเข้าใจกลไกการทำงานของธรรมชาติได้จริงๆ ว่าประสบการณ์หลังความตายนั้นเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างไร ด้วยเหตุนี้ความตายจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เราอาจพูดได้ว่าความตายเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โลกอาจไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ หากมนุษย์เราไม่กลัวตายและการมาถึงของอินเทอร์เน็ต ปัญญาประดิษฐ์ โลกเสมือนเมตาเวิร์ส (Metaverse) กำลังเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเรากับความตาย

กลุ่มที่น่าจะเห็นได้ชัดก่อนใครเพื่อนเลยก็คือเหล่าบรรดาคนดังที่เสียชีวิตแล้ว ที่จะเป็นตัวนำร่องธุรกิจใหม่ๆ ในโลกเสมือน โดยเฉพาะบทบาทของเฟซบุ๊ก ที่ดูเหมือนพยายามจะก้าวขึ้นมาเป็นคนตัวกลางในการสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ๆ

หลายคนน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า เฟซบุ๊กไม่มีนโยบายในการลบโปรไฟล์ผู้ใช้งาน แม้ว่าผู้นั้นเสียชีวิตไปแล้ว เฟซบุ๊กเปิดโอกาสให้เราจัดการกับโปรไฟล์ของคนที่เรารักได้หลายรูปแบบ ทั้งเปิดไว้เหมือนเดิม หรือจะเปลี่ยนสถานะเป็น memorialized account เสมือนว่าหน้าเพจนี้หลุมศพดิจิตัลให้ญาติๆ หรือคนที่รักมาแสดงความคิดถึงหรือไว้อาลัย ปัจจุบันประมาณกันว่ามีเจ้าของบัญชีในเฟซบุ๊คเสียชีวิตราว 8,000 คนทุกวัน และมีมากกว่า 30 ล้านแอ็กเคานต์ที่เจ้าของเสียชีวิตไปแล้ว ทว่าปฎิสัมพันธ์นั้นอาจยังดำเนินอยู่ตามแต่การกำหนดบทบาทของแอ็กเคานต์ หรือเพจที่ตั้งขึ้นมาบนเฟซบุ๊ก รูปแบบความสัมพันธ์ของ ‘คนเป็น’ กับ ‘คนตาย’ จึงมีหลายมิติและหลายความรู้สึก บางแอ็กเคานต์ที่ยังแอ็กทีฟโดยมีคนที่รักคอยจัดการทั้งโพสต์หรือตอบข้อความ มันได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ปฎิสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ซึ่งอาจขัดกับความรู้สึกของเราอยู่บ้าง เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าคนที่ตอบเราไม่ใช่ ‘คนๆ นั้น’ จริงๆ แต่จินตนาการในสมองพาเราไปไกลกว่านั้น นักสังคมวิทยามองว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และหากมันยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นี่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นและคนตาย

ความสัมพันธ์แบบนี้เห็นได้ชัดในรูปแบบของการคลั่งไคล้หลงใหลคนดัง แม้พวกเขาไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้วแต่ในโลกโซเชียลมีเดีย ความสัมพันธ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป

ปัจจุบันประมาณกันว่าบนเฟซบุ๊กมีแอ็กเคานต์ของนักร้องและคนดังระดับโลกที่เสียชีวิตในช่วง 10 ปีนี้อยู่เกือบทุกคน ไล่เรียงมาได้เลย ตั้งแต่ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) พรินซ์ (Prince) โคบี ไบรอัน (Kobe Bryant) เอมี ไวน์เฮาส์ (Amy Winehouse) ถอยไปไกลกว่านั้น คนดังที่เสียชีวิตไปนานแล้วอย่าง จอห์น เลนนอน (John Lennon) บ็อบ มาเลย์ (Bob Marley) หรือมาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) ก็ยังออกมาโลดแล่นอยู่บนเฟซบุ๊ก พวกเขาเหล่านั้นมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องกับแฟนๆ และตัวเลขของผู้ติดตามนั้นถือว่าไม่น้อย ที่สำคัญตัวเลขเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ได้เป็นกอบเป็นกำ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดตัวอย่างหนึ่งคือ แอ็กเคานต์ของไมเคิล แจ็กสัน นับตั้งแต่เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2009 ไม่นานหลังจากนั้น แอ็กเคานต์และจำนวนผู้ติดตามบนช่องทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมก็เพิ่มสูงขึ้น ช่วงปี 2012 หลังจากเสียชีวิตได้ 3 ปี ไมเคิลออกอัลบั้ม ‘BAD25’ เพื่อเป็นการรำลึกถึงตัวเขาและครบรอบอัลบั้ม ‘BAD’ ในปี 1987 ส่งผลให้ปีนั้น ไมเคิล แจ็กสันกลายเป็นศิลปินที่เสียชีวิตแล้ว ที่สามารถทำรายได้สูงสุด และมีผู้ติดตามรวมทุกแพลตฟอร์มมากที่สุดในโลก คือเกือบ 100 ล้านฟอลโลเวอร์ และเฉพาะอัลบั้ม ‘BAD25’ ก็ขายได้มากกว่า 30 ล้านก็อปปี้ทั่วโลก

แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ติดตามจะลดลง แต่ก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในจำนวนที่น่าสนใจคือเกือบ 70 ล้านฟอลโลเวอร์ และยังมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้แอ็กเคานต์ของ ไมเคิล แจ็กสันเองก็กำลังโปรโมตละครเวที MJ The Musical ในนิวยอร์ก และหลังจากสถานการณ์การระบาดดีขึ้น เชื่อว่า MJ The Musical น่าจะเปิดทัวร์รอบโลกแน่นอน

กิจกรรมคล้ายๆ กันนี้ ยังเกิดขึ้นในเพจของคนอังอีกหลายๆ คน อย่าง เอมี ไวน์เฮาส์ (มีผู้ติดตามอยู่ 10 ล้านคนบนเฟซบุ๊ก) ที่เพิ่งเปิดให้สังจองแผ่นเสียงไวนิลเวอร์ชันพิเศษครบรอบ 15 ปีของอัลบั้ม ‘Back to Black’ รวมถึงดิจิทัลเวอร์ชันที่มีคลิปวีดีโอที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนออกมาด้วย

วิตนีย์ ฮิวสตัน (มีผู้ติดตาม 13 ล้านคนบนเฟซบุ๊ก) ปล่อยภาพเบื้องหลังการทำงานในซิงเกิ้ลใหม่ ‘How Will I Know’ ที่ทำงานร่วมกับ ‘Clean Bandit’ วงอิเล็กทรอนิกส์ป็อปของอังกฤษ โดยเอ็มวีเพลงนี้เพิ่งถูกปล่อยเมื่อ 27 ตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา ประหนึ่งว่าศิลปินเหล่านี้ยังคงมีชีวิตอยู่ และไม่ยอมหยุดทำงาน

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับศิลปินที่เกิดร่วมสมัยกับการเติบโตของโซเชียลมีเดีย เพราะศิลปินที่ตายก่อนกาลก็ยังเข้ามาร่วมวงด้วยและไปได้สวยเสียด้วย

ไม่ว่าจะเป็น เดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ซึ่งแอ็กทีฟไม่น้อยในเฟซบุ๊ค โดยพวกเขาเพิ่งปล่อยตัวอย่างหนังสารคดี กำกับโดยปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) ผู้กำกับ ‘Lord of The Ring’ ซึ่งจะเข้าฉายในช่อง Disney+ ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งมีคนเข้าไปดูคลิปนี้เกือบ 1 แสนครั้งและแชร์ออกไปกว่า 6 หมื่นครั้ง

กรณีของมาริลีน มอนโรก็ไม่ต่างกัน แอ็กเคานต์ของเธอมีผู้ติดตามกว่า 13 ล้านคนบนเฟซบุ๊ก เธอกลับมามีชีวีตชีวาและแชร์รูปที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนบนเฟซบุ๊กของเธอ รวมถึงขายเฟอร์นิเจอร์ (แบรนด์ Unique Loom ที่ใช้เธอเป็นพรีเซ็นเตอร์) โปรโมตสินค้าต่างๆ ที่นำรูปและชื่อของเธอไปใช้งาน แน่นอนว่าแฟนๆ จะได้รับประสบการณ์ร่วมกับศิลปินที่แตกต่างไปจากการซื้อหนังสือชีวประวัติหรือดูหนังเก่าๆ ที่เธอเคยเล่น

เพราะบนเฟซบุ๊กสร้างความรู้สึกที่ใกล้ชิดกันมากกว่า จะเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์กับคนตายในรูปแบบใหม่ก็ไม่ผิดนัก ความสัมพันธ์เหล่านี้มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจเพราะมันสามารถวัดผลได้สร้างยอดขายได้ และทำให้ผลงานของศิลปินเหล่านี้ถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่องและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ และเชื่อว่าทั้งหมดนี้เฟซบุ๊ครู้ดี และวางแผนระยะยาวไว้แล้ว

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) พูดไว้อย่างชัดเจนว่า จะมุ่งมั่นในการพัฒนาโลกเสมือนเมตาเวิร์สนี้ให้ใช้งานได้จริง เข้าถึงได้ ซึ่งน่าเชื่อว่ามันเป็นไปได้ หากดูพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เติบโตไปคู่ขนานกับวิสัยทัศน์ของมาร์ก และน่าตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อเวลานั้นมาถึง

อย่างแรก ปัจจุบันเทคโนโลยีการพัฒนา Virtual Human หรือมนุษย์เสมือนนั้นเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ทั้งคนดังที่เป็น Virtual Human อย่าง Imma.gram ถูกจ้างเป็นพรีเซนเตอร์ของสินค้าหลายๆ แบรนด์ หรือตัวละครในเกมที่ออกมารับงานพรีเซนเตอร์สินค้ามากขึ้น

แนวโน้มนี้ทำให้ซัมซุงเอาจริงเอาจัง และเปิดตัวเทคโนโลยี ‘นีออน’ (Neon) Artificial Human ที่ซัมซุงนิยามว่าเป็น ‘New Kind of Life’ เพื่อนำเอามนุษย์เสมือนเหล่านี้มาใช้งานในเชิงธุรกิจออนไลน์มากขึ้น แนวโน้มการพัฒนาตัวตนเสมือนของมนุษย์ในโลกเสมือนก็น่าจะไปได้ไกลและทำได้แนบเนียนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเป็นไปได้สูงว่า ศิลปินเหล่านี้อาจวางแผนไว้แล้วว่าจะเข้าสู่โลก Virtual Human และ Metaverse ในรูปแบบไหน

อย่างที่สอง หากการพัฒนาการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ากับสมอง อย่างเช่น โครงการ ’Neuralink’ ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ทำได้สำเร็จจริง นอกเหนือจากจะช่วยผู้ป่วยอัมพาตแล้ว สิ่งที่มัสก์มองไปไกลกว่านั้นคือ เราอาจสามารถเก็บรักษาสมอง เปลี่ยนเปลือก หรือร่างกายของเราได้ในระยะยาว แม้กระทั่งไม่ต้องมีร่างกาย แต่อาศัยการถ่ายข้อมูลไปเก็บไว้ในระบบคลาวด์และเชื่อมต่ออุปกรณ์รับความรู้สึกไว้กับสมองเทียมของเราแทนก็เป็นได้ เหมือนอย่างที่เห็นในซีรี่ย์ไซไฟอย่าง ‘Alter Carbon’ (2018-2022) หรือในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Matrix’ และ ‘Ready Player One’ (2018)

ทั้งหมดนี้เชื่อว่าฐานข้อมูลของเฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้งานกว่า 3,000 ล้านคนในตอนนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก หากสามารถเชื่อมเทคโนโลยีทุกอย่างที่ว่ามาในโลกเมตาเวิร์สได้จริง

สิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งอาจได้พบในอนาคตอันใกล้คือ เราอาจได้ดูคอนเสิร์ตของเดอะบีเทิลส์แบบ ‘ตัวเป็นๆ’ ในโลกเมตาเวิร์ส ได้ดูโคบี ไบรอันกลับมาลงสนามอีกครั้งก็เป็นได้ และมันไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันแล้ว

ส่วนอนาคตไกลกว่านั้น เราอาจไม่รู้จักความตาย เพียงแค่อัพโหลดข้อมูลจากกายหยาบไปเก็บไว้บนคลาวด์และมีชีวิตที่อมตะอยู่ในโลกเสมือนตราบเท่าที่เรามีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน (คลาวด์)

และไฟฟ้าไม่ดับ

Tags: , ,