แม้ในวันนี้คอดนตรีไทยคงได้เห็นความครึกครื้นและการเกิดขึ้นของคอนเสิร์ตเป็นจำนวนมาก ที่ทั้งจากต่างประเทศบินตรงมาแสดงสดที่ไทย หรือจากศิลปินในบ้านเราเองที่ต่างพากันจัดคอนเสิร์ตใหญ่ จนบางเดือนเราสามารถไปฟังเพลงในคอนเสิร์ตได้แทบทุกสัปดาห์

ทว่าหากมองไปทั่วโลก ความครึกครื้นของคอนเสิร์ตและเฟสติวัลกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่โลกกับสู่สภาวะปกติหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายเฟสติวัลต่างได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง จำนวนคนที่มาร่วมงานไม่แน่นเหมือนแต่ก่อน จนทำให้บางคอนเสิร์ตอาจจะต้องยกเลิกไปในช่วงปีที่ผ่านมา

เรื่องนี้มีบทความจาก National Public Radio หรือ NPR สถานีวิทยุที่มาทำเนื้อหาในสื่อออนไลน์ ได้เผยแผร่บทความระบุว่า ปัจจุบัน มีหลากหลายคอนเสิร์ตที่ต้องถูกยกเลิกเป็นจำนวนมาก หรือกระทั่งเฟสติวัลระดับโลกที่ทุกคนต้องรู้จักอย่าง Burning Man หรือ Coachella ก็ต่างมียอดขายที่ลดลง บัตรไม่ถูกขายหมดอย่างรวดเร็ว เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในบทความดังกล่าว วิลล์ เพจ (Will Page) นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยทำงานร่วมกับ Spotify จนเขานิยามตนเองว่าเป็น ‘Rockonomis’ ระบุว่า มีอยู่ 3 ประเด็นที่น่าสนใจ

อย่างแรกคือ ปัญหาค่าเงินที่เฟ้อสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่ยากลำบากของผู้จัดเฟสติวัล เพราะหากมีการขึ้นราคาที่สูงตาม (ซึ่งในรอบมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 55%) ก็อาจทำให้ผู้ชมตัดสินใจเลือกที่จะไม่ซื้อบัตรที่ราคาสูงจนเกินไป แต่หากไม่มีการขึ้นราคาเลย ก็จะทำให้เฟสติวัลนี้ไร้ซึ่งกำไร ไปจนถึงขาดทุน เข้าเนื้อของผู้จัด จึงทำให้ทางออกสุดท้ายของผู้จัดคือ ต้องยอมแพ้ในที่สุด

ปัญหาต่อมาคือ อิทธิพลของสตรีมมิง ที่มีการจัดเพลย์ลิสต์และอัลกอลิทึม จนนำไปสู่ความหลากหลายของดนตรีที่ลดลงในกลุ่มผู้ฟังดนตรีกระแสหลัก จึงทำให้เฟสติวัลที่นำเสนอดนตรีเฉพาะทางขาดผู้ฟังหน้าใหม่ๆ ที่ฟังเพลงผ่านสตรีมมิงเจ้าต่างๆ เพราะสุดท้ายแล้วคนกลุ่มนี้เขาก็จะได้รู้จักแต่เพลงในกระแส ที่สตรีมมิงนำเสนอให้กับพวกเขาเพียงเท่านั้น

สุดท้ายคือ ค่านิยมของผู้ชมในคอนเสิร์ตที่ลดลง โดยเพจและทีมงานของ NPR ได้ทำแบบสำรวจเยาวชนในออสเตรเลีย พบว่า ในปี 2018-19 มีเยาวชนเข้ารวมเทศกาลดนตรีลดลงถึง 41% และลดลงกว่าเดิมอีก 27% ในปี 2022-23 โดยกลุ่มที่ยังมาฟังเพลงในเฟสติวัลอยู่คือ กลุ่มคนอายุ 20 ตอนปลายเป็นต้นไปเพียงเท่านั้น

แม้การวิเคราะห์ของ NPR จะมีข้อมูลที่น่าสนใจ แต่ในมุมของนักฟังเพลงชาวไทย ก็ยังคงสงสัยว่า สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อเฟสติวัลในไทยมากน้อยเพียงใด ดังนั้นในวันที่ The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้จัดงาน Maho Rasop Festival ทั้ง ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Fungjai แป๋ง-พิมพ์พร เมธชนัน และ กิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ก่อตั้ง HAVE YOU HEARD? รวมถึง ปูม-ปิยสุ โกมารทัต ผู้ก่อตั้ง Seen Scene Space จึงถือโอกาสหยิบประเด็นนี้มาถกกันในมุมมองของคอดนตรีชาวไทย

คำถามร่มใหญ่สุดของเรื่องนี้ว่า เฟสติวัลกำลังอยู่ในช่วงซบเซาจริงไหม เรื่องนี้ทั้ง 4 คนยืนยันว่าจริง โดยพิมพ์พรขอใช้คำว่า เฟสติวัลอยู่ในจุดที่ฟองสบู่กำลังจะแตก ทั้งในแง่ของการเกิดขึ้นของเฟสติวัลที่เยอะขึ้น จนมากกว่าปริมาณความต้องการไปดูคอนเสิร์ตของคนฟังเพลง รวมถึงค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

“เราว่า เฟสติวัลมันเกิดขึ้นเยอะมากๆ มากจนคนรู้สึกว่า มีทางเลือกเต็มไปหมด ดังนั้นในบางเฟสติวัลที่เขาไปมาแล้วหลายปี บางทีในปีต่อมาเขาก็อาจเปลี่ยนใจขอไปอีกเฟสติวัลหนึ่งดูบ้าง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ

“เพราะจะให้เขาเลือกไปทุกเฟสติวัลก็ไม่ได้ วันนี้ค่าบัตรก็สูงขึ้นเช่นกัน หรือทางฝั่งผู้จัดเองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มากขึ้น อย่าง Maho Rasop Festival คือถ้าไปดูรายจ่ายในการจ้างศิลปินของเราในปีแรก (2018) คือมันถูกกว่าราคาในปัจจุบันเกือบ 2 เท่าเลยนะ”

นอกจากเรื่องค่าเงินแล้ว เรื่องเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีความสนใจที่จะมาฟังดนตรีในเฟสติวัลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน โดยเรื่องนี้ปิยสุออกปากเล่าว่า เป็นเหตุการณ์ที่เขาพบเจอมากับตัว

“ในช่วงนี้เราจะจัดคอนเสิร์ตวงดนตรีแนวโพสต์ร็อก (Post Rock) เป็นส่วนใหญ่ จะเห็นเลยนะว่า แฟนดนตรีสายนี้มันลดลง ไม่มีกลุ่มเด็กๆ หน้าใหม่ให้เห็นแล้ว คนที่ยังคงมาก็จะเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่อายุ 30 กว่ากัน จนเราก็เกิดคำถามในใจเหมือนกันนะ ว่าเด็กยุคนี้เขาไม่ฟังกันแล้วเหรอ”

ก่อนที่กิรตราจะเสริมว่าประเด็นนี้ เธอได้นำไปพูดคุยกับคนรอบตัวเช่นกัน ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ทุกวันนี้ แนวทางการฟังเพลงของวัยรุ่นอาจไม่ถูกต่อยอดมาสู่การพบหน้าค่าตาศิลปินจริงๆ ในคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลแล้ว พวกเขาพึงพอใจที่จะรู้จักและฟังผลงานผ่านรูปแบบเพลง (Audio) เพียงอย่างเดียว

รวมถึงศรัณย์เองก็ออกมาอธิบายเรื่องนี้ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจสิ่งที่เยาวชนคาดหวังในการมาเฟสติวัลในปัจจุบันอีกต่อไป

“อันนี้เราได้รับรู้มาจากการประชุมกับกลุ่มผู้จัดเฟสติวัลคือ เราว่าทุกวันนี้เด็กโดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19 เขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมการไปเฟสติวัลของคนยุคก่อน ที่ต้องลุยตากฝน เท้าแฉะโคลนแบบที่เรารู้จักอีกต่อไปแล้ว เขาต้องการพื้นที่มันสะดวก ตอบสนองความสบายมากกว่า ซึ่งพอบางเฟสติวัลเขาไม่เข้าใจและปรับตัวกับเรื่องนี้ไม่ได้ ก็เลยทำให้ไม่มีผู้เข้าร่วมงานหน้าใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา”

สุดท้ายปัญหาในอิทธิของมิวสิกสตรีมมิง เรื่องนี้ทุกคนเห็นตรงกันอย่างมากว่า เป็นปัจจัยสำคัญ โดยพิมพ์พรอธิบายเรื่องนี้ว่า ทำให้มุมมองของผู้จัด ศิลปิน เกี่ยวกับการทำเฟสติวัลผิดแปลกไปจากที่ควรจะเป็น

“พอช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีมิวสิกสตรีมมิงเกิดขึ้น ทำให้วงการเพลงมีข้อมูลขนาดใหญ่ เป็น Big Data ที่สามารถวิเคราะห์ความสำเร็จของเพลงผ่านตัวเลขได้ ซึ่งทำให้ความดีของเพลงที่เราควรจะตัดสินด้วยรสนิยม ด้วยความรู้สึก มันขาดหายไป กลายเป็นว่า เพลงที่ดีต้องมีความเกี่ยวข้องกับยอดวิว ยอดสตรีมมิง”

“ทั้งที่ศิลปินที่ยอดฟังเยอะ ไม่ได้แปลว่า เขาจะเล่นสดดี เขาจะขายบัตรได้ หรือกลุ่มคนที่ฟังเพลงของเขา จะออกมาดูศิลปินแสดงสดในเฟสติวัล รวมถึงอัลกอริทึมอีก ที่ทำให้ความหลากหลายของการฟังเพลง การเลือกไปเฟสติวัลลดลง”

ก่อนที่สุดท้ายศรัณย์จะปิดท้ายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสตรีมมิงนั้นคือในภาคของธุรกิจการทำเพลง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการทำเฟสติวัลเลย ดังนั้นการที่ผู้จัดบางคนหยิบศิลปินตรงนี้มาใช้ทำเฟสติวัล จึงดูเป็นวิธีการไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไรนัก

 

ที่มา

https://www.npr.org/sections/planet-money/2024/09/17/g-s1-23026/music-festival-cancel-inflation-price-streaming

Tags: , , , , ,