เมื่อพูดถึงดนตรีท้องถิ่นในประเทศไทย หลายคนคงนิยามว่าคือ เพลงลูกทุ่งหรือเพลงหมอลำ ทว่าหากลองสังเกตดูจะพบว่า แม้จะเป็นแนวเพลงเฉพาะของไทย แต่กลับบรรเลงออกมาด้วยเครื่องดนตรีสากลทั้งหมด อย่าง กีตาร์ เบส กลอง หรือคีย์บอร์ด ซึ่งถือเป็นการรับเอาวัฒนธรรมดนตรีของตะวันตก เข้ามาผสมผสานกับความเป็นท้องถิ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเองไปในที่สุด
เช่นเดียวกับแนวเพลงดังดุต (Dangdut) จากประเทศอินโดนีเซีย ที่มีท่วงทำนองคล้ายคลึงกับเพลงลูกทุ่งของไทย ด้วยจังหวะสนุกสนานและเนื้อหาบอกเล่าถึงความรัก ความเศร้า และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น จนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคกลาง
อันที่จริงหลายคนอาจเคยฟังเพลงแนวดังดุตมาบ้าง เนื่องจากความลื่นไหลทางวัฒนธรรม และการเชื่อมโยงกันผ่านโซเชียลฯ ทำให้คนไทยนำเพลงดังดุตของอินโดนีเซียมาเล่น หรือรีมิกซ์ (Remix) เปิดกับรถแห่ โดยในช่วงปีที่ผ่านมานี้ หากค้นหาในแอปพลิเคชัน Tiktok จะพบกับเพลงดังดุตยอดนิยมอย่าง Inget Ka Mantan ของศิลปิน โซบัต เมจิกอม (Sobat Mejikom) ที่นำมารีมิกซ์ใหม่ในชื่อไทยว่า อาดู้ดู้ดู้ และเพลง Care Bebek จากศิลปินสาว เจเก็ก บูลัน (Jegeg Bulan) เป็นที่รู้จักในเพลงไทยชื่อ แว้กแว้กแว้ก
สำหรับจุดกำเนิดของดังดุต เดิมทีดนตรีประเภทนี้คือการผสมผสานแนวเพลงระหว่างมาเลย์ อินเดีย และอาหรับในยุค 60s ซึ่งเดิมรู้จักกันในชื่อวงออร์เคสตรามาเลย์ ต่อมาในยุค 70s ดังดุตก็พัฒนาจนกลายเป็นดนตรีป็อป และได้รับอิทธิพลจากดนตรีหลายแนวเข้ามาผสมผสานทั้งเพลงพื้นบ้านเกอรนจง (Keroncong) ร็อก (Rock) เร็กเก้ (Reggae) รวมถึงดนตรีแนวเฮาส์ (House Music)
ความน่าสนใจของการเข้ามาของดนตรีแนวเฮาส์ ซึ่งเป็นอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ ในช่วงปี 1990 ทำให้เกิดการผสมผสานกับดังดุตที่เป็นแนวเพลงท้องถิ่นของอินโดนีเซีย เกิดเป็นแนวเพลงที่เรียกว่า เฮาส์ดังดุต (House Dangdut) หรือรู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ ฟังกอต (Funkot)
โดย ฟังกอต ย่อมาจาก ฟังกีโกตา (Funky Kota) ซึ่งคำว่า โกตา (Kota) ในภาษาอินโดนีเซียหมายถึง นครหรือเมือง ฟังกี้โกตาจึงหมายถึงย่านดิสโก้ในใจกลางจาการ์ตา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ฟังกอตเริ่มเฟื่องฟู กลายเป็นแนวเพลงยอดนิยมในช่วงยุคนั้น และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของฟังกอตคือ ความเร็ว ซึ่งมีความเร็วอยู่ที่ 220 BMP เป็นแนวเพลงที่จังหวะเร็วมากที่สุดเท่าที่อินโดนีเซียเคยมี ซึ่งวงดนตรีแนวฟังกอตที่โด่งดังที่สุดคือวง Barakatak จากบันดุง
ความนิยมของฟังกอตไม่ได้อยู่เพียงในจาการ์ตา แต่แพร่หลายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วอินโดนีเซีย ทั้งเกาะสุมาตรา ชวาตะวันออก แถบชายฝั่งตอนเหนือ ของชวาตะวันตก และมีการผสมผสานกับดนตรีท้องถิ่นอื่นๆ แตกแขนงไปอีกกว่า 100 แบบ
จังหวะที่รวดเร็วของฟังกอต ไม่เพียงแค่สื่อถึงความสนุกสนานของดนตรีแนวเฮาส์ แต่ยังสะท้อนถึงชีวิตของชาวอินโดนีเซียอันมีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายหลากหลายภูมิภาค ผ่านเนื้อเพลงแนวดังดุตและขับร้องออกมาจากชนชั้นรากหญ้า
โชคไม่ดีที่ฟังกอตเสื่อมความนิยมลงไปในช่วงยุค 2000 กลายเป็นแนวเพลงดังดุตกลับมาได้รับความนิยมแทน แม้ว่าฟังกอตค่อยๆ หายไป แต่รูปแบบการผลิตก็กลายมาเป็นมาตรฐานสำหรับการอัดเพลงแนวดังดุตในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ฟังกอตกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งในช่วงปี 2010 ในยุคเดียวกันนี้ ความเคลื่อนไหวของศิลปินอินดี้รุ่นใหม่ในอินโดนีเซียเริ่มเล่นเพลงแนวฟังกอตมากขึ้น เพื่อพยายามต่อต้านการครอบงำของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ตะวันตก ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มคนรายได้สูงในสังคมอินโดนีเซีย
การผสมผสานระหว่างอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ของตะวันตกเข้ากับแนวเพลงท้องถิ่น ไม่เพียงเป็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรม แต่ยังเป็นการปะทะระหว่างชนชั้นทางสังคมด้วย ฟังกอตคือภาพแสดงแทนของชนชั้นล่าง และเฮาส์คือภาพแทนรสนิยมของชนชั้นสูงของสังคมอินโดนีเซียในยุค 90s แม้หลายคนต่างบอกว่าดนตรีไม่มีชนชั้น แต่แท้จริงดนตรีในหลายสังคม ถูกเปล่งออกมาจากความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่ถูกโครงสร้างทางสังคมกดทับ เพื่อบ่งบอกถึงการมีอยู่ของคนชนชั้นรากหญ้า
รสนิยมในการฟังเพลงแนวใดแนวหนึ่งถูกสร้างมาจากทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) เช่น การศึกษา การรับรู้สื่อ สภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราไม่ได้มีสุนทรียภาพให้กับดนตรีทุกแนว หากไม่ได้สัมผัสกับชีวิตของชนชั้นอื่นๆ ในสังคม
ที่มา:
– https://artsandculture.google.com/story/4gXxmPCBhK_7KA
Tags: Electronic Dance, ฟังกี้ ดิสโก้, เพลงอินโดนีเซีย, อินโดนีเซีย, Indonesia, Entertainment, Funkot, House Dangdut, Dangdut, House Music