“ถึง Dr. Savita Halappanavar คุณคงไม่ได้ต้องการเป็นหน้าตาให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีครั้งนี้หรอก คุณแค่ต้องการกระบวนการเพื่อรักษาชีวิตตัวเองเอาไว้” ข้อความดังกล่าวคือคำขึ้นต้นในจดหมายของเอ็มม่า วัตสัน นักแสดงสาวชาวอังกฤษผู้เป็นที่จดจำเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กและสตรี

เธอเขียนจดหมายนี้เพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Net-A-Porter รวมถึงตีพิมพ์ในนิตยสาร Porter เป็นจดหมายแสดงความเสียใจและให้เกียรติแก่ทันตแพทย์หญิงชาวอินเดีย วัย 31 ปี ที่เสียชีวิตในประเทศไอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 2012 เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่เกิดเหตุนั้นทันตแพทย์หญิงตั้งครรภ์ได้เพียง 17 สัปดาห์ เธอและสามีพบว่ามีแนวโน้มสูงที่เด็กจะคลอดก่อนกำหนด จึงตกลงกันขอให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ เพราะคำนึงถึงความปลอดภัย และด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย โชคร้ายที่ผลการวินิจฉัยไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ทันท่วงที เธอเกิดอาการครรภ์ติดเชื้อ และนำไปสู่การเสียชีวิต ในที่สุด ทั้งที่หากกฎหมายเอื้ออำนวยแล้ว ในระยะเวลาเหล่านั้น แพทย์มีโอกาสที่จะช่วยเหลือเธอได้ถึง 13 ครั้ง

คำบันทึกบนอนุสรณ์ของ Dr. Savita Halappanavar ที่ดับลินระบุว่า “เพราะคุณหลับใหล ใครหลายคนจึงตื่นขึ้น”

เหตุการณ์นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงขับเคลื่อนเรื่องการทำแท้งเสรี นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย และพวกเขาก็ทำสำเร็จในที่สุด เมื่อ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวไอริชลงคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 65 สนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายห้ามทำแท้ง กฎหมายที่ถูกแก้ไขแล้วจะถูกขนานนามว่า ‘Savita’s Law’ และในจดหมายดังกล่าว เอ็มม่าก็บอกเล่าถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

แม้ตลอดมาจะมีกระแสที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเป็นเฟมินิสต์ของเธออยู่บ้าง แต่เอ็มม่าก็ได้ พิสูจน์ว่านี่คือเรื่องที่เธอใส่ใจจริงจัง โดยเธอได้รับแต่งตั้งในปี 2014 ให้เป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN) บริจาคเงินหลายล้านปอนด์ให้หน่วยงานช่วยเหลือเด็กและสตรี ตลอดจนริเริ่มโครงการ HeForShe ที่รณรงค์ให้ทุกเพศมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน  

เอ็มม่าตระหนักถึงปัญหาเรื่องกฎหมายห้ามทำแท้งในหลายประเทศ ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน มีการพิจารณาผ่านหลายมุมมอง ไม่ว่าจะด้วยความไม่พร้อมในการดูแลบุตรของคู่ชายหญิง สิทธิเสรีภาพในการจัดการร่างกายของตนเอง จนถึงความเชื่อทางศาสนา และศีลธรรม ที่มองว่าการทำลายชีวิตในครรภ์นั้นเท่ากับการฆาตกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดเรื่องสิทธิในการร่างกายตัวเองของผู้หญิงจะถูกยอมรับมากขึ้น หากแต่บางประเทศก็ยังไม่ได้เปิดรับชุดความคิดและแนวทางปฏิบัติเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในการจัดระเบียบทางสังคมบางประเทศที่นำศีลธรรมมาใช้ในกฎหมาย หรือมีหลักศาสนาเป็นอีกหนึ่งหลักใหญ่ในการถือปฏิบัติ นำไปสู่การทำแท้งนอกกฎหมาย ที่ไม่ได้ดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 30 มักเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้บาดเจ็บ ล้มป่วย หรือกรณีเลวร้ายที่สุดคือเสียชีวิต

ด้วยเหตุนี้เรื่องของการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่แต่ละสังคมจำเป็นต้องพิจารณากันต่อไป และจดหมายของเอ็มม่า วัตสัน ก็คงไม่ใช่เพียงการแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต แต่ยังเป็นการชักชวนผู้คนในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากไอร์แลนด์ ให้พิจารณาถึงเหตุปัจจัยในการเสียชีวิตของเธอกันอีกครั้ง

อ้างอิง

https://www.net-a-porter.com/us/en/porter/article-37c38cba6b8816cc

https://www.indy100.com/article/emma-watson-letter-savita-halappanavar-death-abortion-rights-ireland-died-8562781

https://www.independent.co.uk/life-style/women/emma-watson-savita-halappanavar-abortion-ireland-death-miscarriage-letter-porter-magazine-a8563131.html

https://edition.cnn.com/2018/10/01/entertainment/emma-watson-abortion-letter/index.html?utm_medium=social&utm_source=twCNNi&utm_content=2018-10-02T00%3A51%3A03&utm_term=image

ภาพจาก https://cache.net-a-porter.com/content/images/story-head-content-SUBBED-1538473975095.jpeg/w1900_q65.jpeg