อลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตต์ และหนึ่งในผู้ลงแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2020 พรรคเดโมแครต ตัดสินใจถอนตัวแล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคม หลังจากที่ผลการหยั่งเสียงเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม หรือ ‘ซูเปอร์ทิวสเดย์’ ออกมาว่ามีคะแนนน้อยกว่าที่คาดไว้ ไม่เว้นในเขตรัฐแมสซาชูเซตต์ของเธอเอง

เรื่องนี้ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาวอร์เรนชนะในการดีเบตที่ผ่านมาเกือบทุกครั้ง โดยในปี 2019 วอร์เรนมีคะแนนนำในเกือบทุกโพลล์ อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2020 เธอแพ้ในการเลือกตั้งภายในของพรรค โดยได้ลำดับที่สามในรัฐไอโอวา ลำดับที่สี่ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ก่อนที่ล่าสุดจะแพ้ในผลการหยั่งเสียงซูเปอร์ทิวสเดย์ ทั้งนี้ การประกาศยุติบทบาทของวอร์เรนทำให้พรรคเดโมแครตเหลือผู้แข่งขันสองคนคือ โจ ไบเดน และเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส ซึ่งเป็นเพศชายวัยเกิน 70 ปีทั้งคู่ 

ความพ่ายแพ้ของวอร์เรน และฮิลลารี คลินตันในปี 2016 ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อบทบาทของผู้หญิงในการเมืองสหรัฐฯ ว่า ชาวอเมริกันคิดอย่างไรกับผู้สมัครเพศหญิง ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ของเธอมองว่าสิ่งที่ทำให้เธอแพ้เป็นเพราะเธอเป็นผู้หญิง

วอร์เรนตอบคำถามสื่อมวลชนหลังจากแจ้งข่าวว่า “ประเด็นเรื่องเพศเป็นคำถามที่เป็นกับดักของผู้หญิงทุกคนที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ถ้าคุณพูดว่ามีการเหยียดเพศ ก็จะมีเสียงพูดขึ้นมาว่าขี้บ่นน่ารำคาญ และถ้าพูดว่าไม่มีการเหยียดเพศ ผู้หญิงล้านล้านคนก็จะคิดในใจว่า คุณไปอยู่ที่ดาวดวงไหนมา”

จากอดีตอาจารย์ด้านกฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วอร์เรนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในระดับประเทศ เมื่อมีส่วนในการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกาปี 2007-2008 ก่อนเธอจะได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภารัฐแมสซาชูเซตต์ในปี 2012

วอร์เรนเสนอนโยบายแก้ปัญหาการทุจริตในวอชิงตัน ข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ของเธอมีตั้งแต่สวัสดิการคุ้มครองเด็กถ้วนหน้า ไปจนถึงการแก้ปัญหาเงินกู้เรียนของนักศึกษา เธอมีนโยบายเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ที่มีรายได้เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กลายมาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมของเธอคือ นโยบายเมดิแคร์ฟอร์ออล ที่ถูกโจมตีว่าไม่มีแนวทางที่ชัดเจนมากพอ 

วอร์เรนได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากผู้หญิงที่มีการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุนคลินตันในปี 2016 แต่เธอกลับไม่ได้รับความนิยมจากนักกิจกรรมและคนดำ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต ขณะที่เบอร์นีย์ แซนเดอร์ส ตัวแทนจากรัฐเวอร์มอนต์ คู่แข่งได้รับความนิยมในหมู่นักกิจกรรมและคนหนุ่มสาวมากกว่า อย่างไรก็ตาม ภายหลังการถอนตัวเธอยังไม่ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนผู้สมัครที่เหลือคนใด ระหว่างโจ ไบเดน และเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม วอร์เรนแถลงต่อผู้สนับสนุนว่า ตลอดระยะเวลาที่เธอ ทีมงาน และผู้สนับสนุนต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงร่วมกันว่า ถึงแม้เราไม่ไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ และไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่เราต้องการได้ แต่สิ่งที่เราได้ทำร่วมกันจะคงอยู่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ครั้งหน้า และครั้งต่อๆ ไป 

สิ่งที่เราทำเป็นการแสดงให้เห็นว่า มันเป็นไปได้ที่ผู้สมัครเลือกตั้งจะได้รับการสนับสนุนทั้งคะแนนเสียงและการเงินจากคนรากหญ้า โดยไม่จำเป็นต้องหันไปพึ่งมหาเศรษฐีหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ เราสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่แฝงอยู่ในสังคมสหรัฐฯ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ ความยุติธรรม หรือเพศ เราแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถยืนหยัดและซื่อสัตย์กับความเป็นตัวเอง สิ่งที่เราทำจะยังคงอยู่ในตัวเรา เป็นประสบการณ์ของเรา และอยู่ในสายสัมพันธ์ของพวกเรา จงเลือกที่จะต่อสู้เพื่อหนทางทางที่ถูกต้อง เพราะในวันข้างหน้าเราเหลือเพียงหนทางเดียวเท่านั้น และเราต้องยืนหยัดในสิ่งที่เราทำอยู่

เราทุกคนควรต้องภาคภูมิใจกับสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหาเสียงที่ยึดโยงกับคนรากหญ้า ที่ทำให้ทีมงานต้องเดินไปเคาะประตูบ้าน 22 ล้านหลัง ต้องโทรศัพท์กว่า 20 ล้านครั้ง และส่งข้อความถึงผู้ออกเสียงกว่า 42 ล้านคน สิ่งที่พวกเราทำมันยังทำให้ชาวอเมริกันเริ่มหันมาให้ความสนใจประเด็นการเก็บภาษี 0.02 ดอลลาร์สหรัฐจากคนจน สวัสดิการสำหรับเด็ก การยกเลิกหนี้การศึกษาให้ชาวอเมริกัน 43 ล้านคน หรือการต่อสู้กับบริษัทไอทีขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง

“สำหรับทุกคนที่ตื่นตัวจากโลกร้อน การต่อสู้นี้ยังคงดำเนินต่อไป สำหรับชาวอเมริกันที่อยากจะเห็นชาติของเราได้รับการเยียวยา และฟื้นคืนเกียรติของรัฐบาลของเรา การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป และแน่นอนว่า การต่อสู้จะเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ และดิฉันจะยังอยู่ในการต่อสู้นี้ และอยากจะให้ทุกท่านอยู่ในการต่อสู้นี้ร่วมกัน เราจะยืนหยัดต่อสู้ (We will persist)” วอร์เรนทิ้งท้ายว่า “เรายังคงทำงานและต่อสู้ต่อไป ฝันที่ยิ่งใหญ่ไม่มีวันตาย” 

 

ที่มา:

https://www.washingtonpost.com/politics/sen-elizabeth-warren-ends-presidential-campaign/2020/03/05/98921986-4d33-11ea-9b5c-eac5b16dafaa_story.html

https://edition.cnn.com/2020/03/05/politics/warren-gender-analysis/index.html

https://www.theguardian.com/us-news/2020/mar/05/read-elizabeth-warren-full-statement-quitting-2020-race

https://www.theguardian.com/us-news/2020/mar/05/elizabeth-warren-quitting-2020-democratic-presidential-race

ภาพจาก: AFP

Tags: ,