นักวิ่งมาราธอนและนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมอาจต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับ ‘เครื่องดื่มเกลือแร่’ ที่เชื่อกันมายาวนานว่าช่วยรักษาระดับของโซเดียมในร่างกายและป้องกันความเจ็บป่วยทั้งระหว่างและหลังการแข่งขัน เพราะผลการศึกษาที่เผยแพร่ในนิตยสาร Clinical Journal of Sports Medicine บอกว่า มันอาจไม่ใช่แบบนั้น
โซเดียมทำหน้าที่สำคัญในร่างกายหลายประการ อาทิ ควบคุมความดันเลือด รวมถึงควบคุมระบบการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาท ดังนั้น การดูแลระดับโซเดียมให้สมดุลระหว่างออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อป้องกันอาการ อาทิ วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า หรือตะคริว
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ศึกษานักกีฬา 266 คน ที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอ็กซ์ตรีม RacingThePlanet ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องวิ่งผ่านทางวิบากในทะเลทราย ระยะทางรวม 155 ไมล์ ภายใน 7 วัน โดยมุ่งไปที่ภาวะโซเดียมในเลือดสูง (hypernatremia) ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะขาดน้ำ (dehydration) รวมถึงภาวะโซเดียมในเลือดต่ำที่เกิดจากการออกกำลังกาย หรือ EAH
ก่อนการแข่งขันทีมนักวิจัยได้เก็บข้อมูลของผู้เข้าแข่งขัน รวมถึงถามวิธีการซ้อมและแผนการดื่มน้ำเกลือแร่ระหว่างแข่งขัน ก่อนไปเก็บข้อมูลอีกครั้งหลังจากสิ้นสุด 50 ไมล์แรก และที่เส้นชัย ก่อนที่นักกีฬาจะได้พักหรือดื่มน้ำ ทีมนักวิจัยชั่งน้ำหนักพวกเขาอีกครั้ง และถามว่าได้ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ก่อนแข่งมากแค่ไหน ก่อนเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์
ผลการศึกษาระบุว่า นักกีฬา 41 คนมีภาวะโซเดียมไม่สมดุลในร่างกายเมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน ที่สำคัญพวกเขาพบว่า ไม่ว่าจะนำอาหารเสริมเกลือแร่เข้าสู่ร่างกายด้วยวิธิการหรือปริมาณเท่าใด แทบจะไม่ช่วยป้องกันอาการ EAH ได้เลย นอกจากนี้ หากใช้ในปริมาณมากเกินไปยังมีส่วนช่วยให้เกิดอาการดังกล่าว เนื่องจากเครื่องดื่มเกลือแร่ไปเจือจางระดับโซเดียมในร่างกาย โดยหนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า อันที่จริงภาวะขาดน้ำยังไม่อันตรายเท่าภาวะที่ร่างกายได้รับน้ำมากเกินไปด้วยซ้ำ
นักวิจัยยังวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกว่า นักกีฬาที่มีภาวะ EAH มักจะผ่านการฝึกซ้อมน้อยกว่าคนอื่น มีน้ำหนักเกิน และอาจต้องใช้เวลามากกว่าผู้เข้าแข่งขันคนอื่น 5-6 ชั่วโมงเพื่อเข้าถึงเส้นชัย
ทั้งนี้ ภาวะ EAH นอกจากทำให้โซเดียมในเลือดต่ำแล้ว อาจส่งผลต่อระดับการรู้สึกตัว และทำให้เกิดอาการชัก น้ำท่วมปอด รวมถึงเสียชีวิต
“ในอดีต นักกีฬาถูกบอกให้ดื่มเกลือแร่อยู่เสมอ และให้ดื่มราวกับเป็นน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ดร.แกรนท์ ลิปแมน หัวหน้านักวิจัยกล่าว “เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่คนจะคิดว่า เครื่องดื่มเกลือแร่ช่วยป้องกันภาวะเจ็บป่วยหลายอย่าง เช่น ตะคริว ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล และอาการหน้ามืดเวียนศีรษะ แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ามันเป็นความจริง”
ดร.แกรนท์กล่าวว่า นักวิ่งบางคนกินเกลืออัดเม็ดทุกชั่วโมง บ้างก็เจือจางลงในขวดน้ำดื่ม ซึ่งนักกีฬาแต่ละคนมีวิธีแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่นักกีฬาพยายามรักษาระดับโซเดียมในร่างกายจะต้องลงท้ายด้วยเครื่องดื่มเกลือแร่อยู่เสมอ ทั้งนี้ เครื่องดื่มเกลือแร่มีความเข้มข้นของโซเดียมอยู่ในปริมาณที่ต่ำกว่าที่พบในร่างกาย นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงเกิดภาวะโซเดียมต่ำได้เมื่อดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่มากเกินไป
“อาหารและเครื่องดื่มเกลือแร่ถูกโปรโมตให้เชื่อว่าสามารถป้องกันอาการวิงเวียนศีรษะและตะคริวจากระดับโซเดียมในร่างกายต่ำ แต่ว่านั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด” ดร.แกรนท์กล่าว ไม่เคยมีหลักฐานที่แสดงว่าสามารถมันป้องกันความเจ็บป่วยได้จริง หรือแม้แต่ทำให้สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าผสมอาหารเสริมเข้ากับน้ำในปริมาณมากเกินไปก็ยิ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะจะยิ่งเป็นการเจือจางโซเดียมที่อยู่ในอาหารเสริมเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มเกลือแร่ยังคงสามารถให้คาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ช่วยไม่ให้นักกีฬาเหนื่อยล้าและสูญเสียพลังงานมากเกินไป ทั้งนี้ ดร.แกรนท์แนะนำว่า เครื่องดื่มเกลือแร่สามารถดื่มได้เมื่อกระหาย แต่ไม่ควรดื่มแบบตั้งเวลา หรือกำหนดว่าต้องดื่มเมื่อวิ่งในระยะทางเท่าไหร่ เพราะมันจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของระดับโซเดียมในร่างกาย และอาจส่งผลร้ายทั้งระหว่างและหลังออกกำลังกายตามา
นอกจากนี้ ไม่เพียงการวิ่งระยะไกลเท่านั้นที่จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะโซเดียมไม่สมดุล กีฬาอื่นๆ ก็เช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตร่างกายตนเอง ดร.แกรนท์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา:
https://edition.cnn.com/2020/02/25/health/ultramarathons-electrolyte-drinks-wellness/index.html
https://www.sciencedaily.com/releases/2020/02/200225171749.htm
ภาพจาก: Charly Triballeau – Reuters
Tags: เครื่องดื่มเกลือแร่, กีฬาเอ็กซ์ตรีม, มาราธอน