โดม เอี่ยมดี มีชื่อจริงว่า สัมพันธ์ เณรรอด ‘โดม’ คือชื่อเล่นของเขา ส่วน ‘เอี่ยมดี’ คือชื่อธุรกิจที่เขาเป็นเจ้าของ หลังลาออกจากการการเป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวีดัง มาเป็นผู้ประกอบการรับซื้อขยะรีไซเคิล
เราติดตามเขาไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของบ้านนัดแนะให้เขามารับขยะรีไซเคิลในช่วงสาย ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม ถูกบีบอัดให้เล็กลงเพื่อประหยัดพื้นที่โดยเจ้าของบ้าน ขยะอื่นๆ แยกเป็นถุงตามประเภท ฝาขวดน้ำแยกชิ้นออกมาจากขวดรวมไว้อีกถุง โดมบอกกับเราว่าแยกไว้แบบนี้จะได้ราคาดีกว่าชั่งรวม เขาเพิ่งเข้ามารับขยะที่บ้านหลังนี้เป็นครั้งแรก และน่าดีใจที่เจ้าของบ้านเข้าใจการแยกขยะในระดับดีมาก
รถเอี่ยมดีของเขาสร้างความสนใจให้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วยรูปลักษณ์ในตอนเริ่มต้น มันดึงดูดให้พี่สาวบ้านที่อยู่ถัดกันไปสองหลังเยี่ยมหน้ามาดู ถามไถ่ว่าพวกเรามาทำอะไร เมื่อเห็นว่ารถคันนี้รับซื้อขยะ เธอผลุบเข้าบ้านและเก็บเตรียมข้าวของเพื่อนำมาขาย ส่วนฟูกนอนแบบพับนั้นเธอว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จึงยกให้โดมเอาไปช่วยจัดการ เขารับคำและบอกว่าฟูกนอนนี้จะขอนำไปบริจาคต่อให้ผู้ยากไร้ ไม่กี่อึดใจบ้านที่อยู่เยื้องตรงกันข้าม ยกฟูกนอนออกมาให้อีกเพื่อฝากบริจาคต่อ แถมยังนัดหมายกันในวันข้างหน้า เพื่อให้เอี่ยมดีมารับจักรยานที่ไม่ได้ใช้ไปส่งต่อให้เกิดประโยชน์
ภาพที่เห็นตรงหน้า เอี่ยมดี รีไซเคิล ดูไม่ใช่ธุรกิจรับซื้อขยะที่เป็นแค่การซื้อมาขายไปเสียแล้ว
จากคนทำสารคดี มาสู่นักจัดการขยะ
โดมเป็นคนอุตรดิตถ์ เขาบอกว่าคนอุตรดิตถ์ใช้คำว่า ‘เอี่ยม’ ในความหมายของคำว่า ‘สะอาด’ หลักการตั้งชื้อสองพยางค์เพื่อให้จดจำง่ายถูกนำมาใช้กับแบรนด์ธุรกิจจัดการขยะของเขา ด้วยการนำคำว่า ‘ดี’ มาขยาย สื่อความหมายถึงขยะที่ถูกจัดการจะทำให้เอี่ยมและดีกับทุกคน กับความหมายที่สองคือคนสร้างขยะอยู่ในฐานะผู้ให้ และคนที่เป็นผู้ให้ ย่อมเป็นผู้ที่จิตใจเอี่ยมสะอาดเป็นพื้นฐาน
คนสร้างขยะจะกลายเป็นผู้ให้ได้อย่างไร ความสงสัยนี้พาเรายิงคำถามไปถึงที่มาของธุรกิจ ที่เขาออกแบบขึ้นด้วยความคิดและน้ำพักน้ำแรงของตัวเองคนเดียวล้วนๆ
“ผมทำงานอยู่ทีวีบูรพามาสิบห้าสิบหกปีตั้งแต่เรียนจบ ในวัยสามสิบห้าเรายังอยากท้าทายกับเรื่องอื่นๆ อยากเกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเราเอง อยากทำธุรกิจสักอย่าง การที่เราอยู่กับงานประจำนานๆ ทักษะในอาชีพอื่นจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้ไปศึกษาอย่างอื่น ก็เลยคิดว่าต้องเคลื่อนย้ายตัวเองไปในจุดที่พอดีกับสิ่งที่เรารับผิดชอบอยู่ เรายังดูแลแม่ได้ไม่ดี กับมีอีกหลายชีวิตที่เราได้สร้างเหตุปัจจัยเอาไว้”
หลายชีวิตที่โดมพูดถึง คือเด็กกำพร้าที่เขาสร้างบ้านและอุปการะไว้ที่จังหวัดเชียงราย โดยมีครูชาวอาข่าคอยช่วยดูแล เด็กเหล่านี้เป็นเด็กไร้สัญชาติที่พ่อแม่ถูกจองจำในคดียาเสพติด บ้างเสียชีวิตไป โดมจึงซื้อที่ดินบนภูเขา สร้างบ้านพัก สร้างฝาย และสร้างโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาในระดับพื้นฐาน ก่อนส่งต่อให้หน่วยงานรัฐดูแลในระดับมัธยมฯ ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ในอำเภอแม่จัน และยังดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่ด้อยโอกาสอยู่ด้วย
“ผมทำกิจกรรมอาสาสมัครตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ตั้งชมรมอาสาฯ ไปออกค่าย เป็นยุคแรกที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเพราะได้ไปทำงานเพื่อคนอื่น และการมาทำรายการสารคดีกับทีวีบูรพา ลักษณะงานของเรามันทำงานกับคนเล็กคนน้อย โลกที่เราอยู่มันทำให้ได้คิดว่าทำไมความด้อยโอกาสมันเยอะไปหมดเลย ก็คิดว่าเราจะเอาตัวเองลงไปทำได้มากกว่ามิติของสื่อได้ยังไง”
นอกจากดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดมชอบงานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นทุน ประกอบกับช่วงก่อนหน้านี้เขาทำงานขึ้นลงเชียงใหม่อยู่หลายปี และได้เห็นปัญหาขยะที่พอกพูน เขาจึงทดลองหาวิธีจัดการที่สามารถทำคนเดียวได้ ใช้ต้นทุนต่ำ และตอบโจทย์พฤติกรรมการสร้างขยะของคนเมืองเชียงใหม่
พาตัวเองเข้าสู่วงการเก็บขยะ
เมื่อตั้งใจจะทำเรื่องขยะแน่ๆ โดมเริ่มต้นทดลองด้วยการเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพี่น้องซาเล้งรถเร่อยู่นับปี ทำความเข้าใจพฤติกรรมการสร้างขยะหรือทิ้งขยะ ศึกษารูปแบบการจัดการขยะในปริมาณที่มีอยู่ ทั้งผู้รับผิดชอบในส่วนต่างๆ คนเก็บขยะรายย่อย ซาเล้ง ร้านรับซื้อ ไปจนถึงโรงงานกำจัดขยะ เพื่อดูว่ายังมีขยะรีไซเคิลที่ตกค้างจากการจัดการขยะอยู่มากน้อยแค่ไหน
“วิธีการจัดการไม่ว่าของเทศบาลหรือภาคเอกชนเองยังทำได้ไม่มากและไม่หลากหลาย การจัดการของเขาคือเทศบาลให้เอกชนเข้ามาประมูลและรับขยะไปจัดการด้วยวิธีฝังกลบ แต่ขยะที่เชียงใหม่วันหนึ่งเฉพาะในเทศบาลนครนี่สองร้อยตันนะครับ ยังไม่รวมเทศบาลรอบข้างหรืออำเภอรอบข้างที่ตอนนี้เชื่อมเป็นเมืองไปหมดแล้ว
“เราอยากทำธุรกิจจัดการขยะ ที่เป็นคนละส่วนกับพี่น้องซาเล้ง แต่เป็นขยะต้นทางจากขยะคัดแยกในครัวเรือน โซนไหนที่พี่น้องซาเล้งเขารับสัมปทานไปเขาก็ยังสามารถได้เงินเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร การเข้ามาตรงนี้ทำให้เราได้เห็นว่ามีแค่ไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเองที่มีการคัดแยกขยะจากครัวเรือน อีกแปดสิบเปอร์เซ็นต์ไม่ได้จัดการขยะเลย”
ขยะที่ไม่ได้จัดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ทำให้เกิดการปนเปื้อนเมื่อรวมทิ้งลงถุง และทำให้เกรดของขยะที่รีไซเคิลได้ตกลงไปด้วย โดมจึงหาหนทางในการเข้ามาจัดกับการขยะส่วนนี้ ด้วยการจูงใจให้คนเห็นคุณค่าของขยะ ที่ให้มากกว่าเงินเล็กน้อยซึ่งได้จากการขาย
รีไซเคิลไม่ใช่แค่เรื่องขยะ แต่คือการสร้างสังคมใหม่
ขึ้นชื่อว่าธุรกิจแล้วย่อมมีการซื้อขาย วิธีการของโดมก็ยังเป็นการซื้อขายเช่นซาเล้งปกติ โดยเข้าไปรับถึงบ้าน ร้านค้า สำนักงาน สิ่งที่แตกต่างคือนโยบายของเอี่ยมดี ที่แบ่งรายได้ 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับดูแลเด็กกำพร้า ผู้พิการ และสวัสดิการผู้เก็บขยะรายย่อย รวมถึงการกระตุ้น 80 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่มีการจัดการขยะในครัวเรือน ด้วยการให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจ ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ที่แปลกใหม่ให้กับวงการซื้อขายขยะในเมืองเชียงใหม่
“มันรีไซเคิลตั้งแต่ตัวรถแล้ว ผมซื้อรถมอเตอร์ไซค์สามล้อมือสองมาทำหลังคา กั้นคอก ทำช่วงล่าง ทำระบบใหม่ บรรทุกได้ประมาณหนึ่งตัน รวมหมดแล้วใช้ทุนไปสองแสน ถ้ามองว่าลงทุนเป็นแสน กำไรต่อวันไม่กี่ร้อย จะคืนทุนต้องใช้เวลามากกว่าสามปี มองเชิงตัวเลขอาจเป็นอย่างนั้น ผมเริ่มต้นทำช่วงสัปดาห์แรก กำไรหลักไม่กี่สิบบาท สูงสุดวันหนึ่งไม่เกินห้าร้อย แต่พอรถคันนี้เริ่มวิ่ง คนเริ่มเห็น เริ่มรู้เจตนาเรา ปริมาณขยะได้มากขึ้น ในความมากนั้นเป็นขยะบริจาคสามถึงสี่ในสิบส่วน
“เราต้องมีส่วนในการทำให้เขารู้สึกอยากจะเก็บขยะ อยากจะแยกขยะด้วย แต่เรื่องมูลค่าเงินอย่างเดียวอาจจะจูงใจไม่พอ เพราะขยะเก็บไว้รวมต่อเดือนอาจได้ไม่เกินสิบบาท บางส่วนจึงมองว่าทิ้งไปง่ายสุด ประกอบกับเราทำบ้านเด็กกำพร้า ทำงานกับผู้พิการ คนไร้บ้านและซาเล้งอยู่แล้ว ขยะที่เราไปรับจึงไม่ใช่เรื่องซื้อขายอย่างเดียว แต่ทำยังไงให้เขาเห็นว่าขยะเป็นเรื่องโอกาสที่จะส่งต่อไปถึงคนเหล่านี้ ให้เขาเห็นว่าขยะมีคุณค่า มันเป็นดินสอเป็นสมุด เป็นชุดนักเรียนหรือถุงเท้าใหม่ มีข้าวกิน มีแม่พันธุ์ไก่มาเลี้ยงได้ไข่ พอเรามีโอกาสได้พูดคุยกับคนจำนวนหนึ่ง เขาก็มองว่าดีนะ เขาก็อยากมีส่วนช่วยให้เด็กเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้พิการได้ฝึกศักยภาพและมีรายได้ คนที่ถูกทอดทิ้งในเมืองได้มีเงินไปพัฒนาตัวเองทำมาหากินได้ต่อ”
ด้วยพื้นฐานที่ไม่ละทิ้งคนอื่น โดมหาหนทางขยับคุณภาพชีวิตของซาเล้งร่วมอาชีพ ที่เขาเรียกติดปากนำหน้าว่า ‘พี่น้อง’ อยู่เสมอ
“ตอนนี้เราได้เข้าไปดูแลครอบครัวพี่น้องซาเล้งสองครอบครัว เป็นคุนลุงที่เก็บขยะในเส้นสารภี วันนี้เขามีที่นอนหมอนมุ้ง มีประปาไฟฟ้าในบ้าน และเรากำลังจะซ่อมรถให้เขา นี่คือสิ่งที่เราได้ช่วยเขา กับกลุ่มซาเล้งส่วนใหญ่เราได้รับการตอบรับที่ดี บางทีผมขนกระดาษใส่ซาเล้งให้เขาด้วยเพราะเราต้องการใช้พื้นที่เยอะในการไปรับขยะต่อ มองว่าเป็นการสร้างมิตรหรือเปล่าก็ใช่ แต่ก็สร้างเงินให้เขาด้วย”
ราวสามสี่เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่โดมเริ่มต้นออกรับขยะตามบ้าน การบอกเล่าเรื่องราวของเขาผ่านโซเชียลที่ช่วยกระจายออกไป ทำให้บทบาทของเขามีมากกว่าการเป็นพ่อค้ารับซื้อขยะ
“ได้โอกาสไปร่วมทำงานกับหลายกลุ่ม เข้าไปสอนเรื่องรีไซเคิลและวางระบบการจัดการขยะในคณะของมหาวิทยาลัยบ้าง ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมบ้าง รวมถึงโรงเรียนประถมทั่วไป ที่พอได้มีโอกาสเข้าไปรับขยะเขา ก็ได้เข้าไปดูหลักสูตรท้องถิ่น ทำหลักสูตรรีไซเคิลให้กับโรงเรียนด้วย”
การเข้าไปรับขยะพร้อมให้ความรู้ในการคัดแยกถึงครัวเรือน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดของผู้สร้างขยะให้เกิดพฤติกรรมใหม่คือการคัดแยก โดมมองว่าหากคนกลุ่มนี้ทำให้เกิดเป็นวินัย ทำได้ต่อเนื่อง ปัญหาขยะจะลดลงตั้งแต่ในบ้าน ซึ่งดีกับทุกฝ่าย และน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการมุ่งไปสู่การทำโรงไฟฟ้าจากขยะ การขยายหลุมฝังกลบ ที่สุดท้ายจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้านใหม่ กลายเป็นปัญหาไม่รู้จบ
“รีไซเคิลไม่ใช่แค่เรื่องขยะแล้ว แต่คือการสร้างสังคมใหม่ ทุกคนมีส่วนในการจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ในสังคมที่ตัวเองอยู่ อย่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ตอนนี้กำลังรับขยะช่วยเราแล้ว หรือมีบ้านที่อาสาเป็นหน่วยรับขยะให้เรา ถึงวันก็นัดหมายคนในหมู่บ้านหรือละแวกบ้านเอาขยะมาลงไว้รวมกัน แล้วให้เอี่ยมดีเข้าไปรับ”
โมเดลธุรกิจที่ยกระดับอาชีพคนเก็บขยะ
ธุรกิจที่เขาเริ่มต้นจากทดลองกำลังเติบโตขึ้นทุกวัน นับอย่างง่ายๆ คือจากนัดหมายเข้ารับขยะที่จองคิวเข้ามาล่วงหน้ายาวเหยียด เมื่อขยะเต็มคัน เขานำมันเข้าโรงรับซื้อที่ดีลกันไว้ แล้วรีบออกมารับขยะต่อ การคำนวณเวลาและระยะทางจึงต้องแม่นยำให้ได้มากที่สุด
“ผมมั่นใจตั้งแต่วันแรกที่วิ่งออกไปรับขยะเลยนะ เพราะสายตาคนที่มองเรา มาคุยกับเรา เราเห็นเลยว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ไปได้ เรามองว่าถ้าเอี่ยมแบบนี้มันดี ดีกับตัวเรา ดีกับเมืองของเรา เพราะเราตั้งต้นจากหลักคิดที่ว่าเราจะมีส่วนแก้ไขปัญหาเมืองยังไง ปัญหาเมืองคือความทุกข์ของคนในเมือง เราจะแก้ไขทุกข์นั้นยังไง เพราะถ้าเราทำธุรกิจที่มีส่วนในการแก้ปัญหา ผมเชื่อว่ามันจะยั่งยืน ไม่ได้ยั่งยืนจากการทำงานของเรา แต่ยั่งยืนจากความพอใจของคนที่ได้รับการแก้ไขปัญหา
“ขณะเดียวกันก็ควรทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นในเอี่ยมดีด้วย นอกจากชื่อจำง่าย เรียกใช้บริการง่าย ภาพลักษณ์ต้องดูดี การบริการต้องดี ตรงเวลา จัดการเร็ว และสะอาดเอี่ยมจริงๆ มาตรฐานราคาเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำให้เกิด พอคนเริ่มใช้บริการมากขึ้น เราก็เจอปัญหาอีกหลายปัญหา ปัญหาจากตัวเราเองเลยคือเราทำคนเดียว แต่วันๆ หนึ่งคนโทรมาสิบยี่สิบสาย เราต้องเอาแต่ละที่มาคำนวณเส้นทาง เส้นนี้มีกี่เจ้า ขยะเป็นอะไร จำนวนเท่าไร แล้วนัดวันรับไป เพราะรถเราเล็ก เต็มแล้วต้องหาที่ส่งเลย แล้วต้องไปอีกจุดให้ตรงเวลา การทำคนเดียวจึงยากมาก เพราะตอบโจทย์ความต้องการของคนทั้งหมดไม่ได้ สิ่งที่เราจะทำต่อก็คือให้คนที่สนใจธุรกิจแบบเรา เปิดโอกาสให้พี่น้องซาเล้งก่อน ได้เข้ามาเรียนรู้ ทำในระบบกับเรา เราทำการตลาดให้ เพื่อให้เขาจะได้กลับไปรับผิดชอบในถนนของเขา ชุมชนของเขา หรือในพื้นที่ที่เกินจะรับได้ และกลุ่มคนที่เขาอยากทำเป็นอาชีพเสริม ได้เข้ามาฝึกอบรมกับเรา อยู่ในยูนิฟอร์มเรา อยู่ในมาตรฐานการบริการของเรา
“ธุรกิจนี้ไม่ใช่แฟรนไชน์ แต่เป็นธุรกิจของคนขาดโอกาส คนด้อยโอกาสต้องได้โอกาสนี้ก่อน อาจจะไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องทำเอี่ยมดีกับเรา จะเรียนรู้ระบบไปแล้วนำไปปรับใช้ก็ได้ แต่แบรนด์เอี่ยมดีตอนนี้เกิดการจดจำและได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจระดับหนึ่งแล้ว ถ้าทำในนามเอี่ยมดีมันง่าย เพราะนี่คือการให้เปล่าเลย กำไรเป็นของเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เงื่อนไขคือสามสิบเปอร์เซ็นต์เขาก็ต้องไปเกื้อกูลสังคมนะ อะไรก็ได้ที่เขาสามารถทำเองได้ ช่วงต้นเราอาจให้ไต่เพดานไปก่อนจากห้าเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ ไปถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะเรามองไว้ว่าสุดท้ายแล้วถ้าธุรกิจนี้อยู่ได้จริง สามสิบเปอร์เซ็นต์น่าจะพอดี ส่วนการตรวจสอบทำได้ เพราะเขาทำในเครือข่ายเอี่ยมดี เราจ่ายงานให้เขา ตรวจสอบกับรับงานกับต้นทางได้ ร้านที่เขาไปส่งก็จะเป็นร้านที่เอี่ยมดีดีลไว้
“เราอยากจะมีส่วนในการสร้างความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วคนเก็บขยะไม่ได้ดูแย่นะ เราดูว่าอะไรที่เป็นปัญหาในอดีต มองตามความจริงคือธุรกิจเก็บขยะที่ไม่ได้นำมาสู่ความภาคภูมิใจกับตัวเอง ลูกยังเขินอายที่จะบอกใครว่ามีพ่อแม่เก็บขยะขาย ผมเจอกับตัวเองและสัมผัสได้ว่าเขารู้สึกแบบนั้น แล้วสังคมบ้านเราถ้ามองว่าอาชีพอะไรที่ดูระดับล่างหน่อย หนึ่งในนั้นน่าจะมีอาชีพคนเก็บขยะนี่แหละที่คนจะมองว่าสกปรก มันมีภาพจำแบบนั้น ผมเลยคิดว่าเราควรจะทำหน้าที่นี้ด้วย ทำให้เขารู้สึกว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในอาชีพ และอย่างน้อยทุกหกเดือนเขาน่าจะได้ตรวจสุขภาพในหน่วยงานที่เขาตรวจอยู่แล้ว นี่เป็นสิ่งที่เราคิดมาเพื่อพี่น้องร่วมอาชีพกับเรา” โดมกล่าวทิ้งท้าย
Tags: ขยะ, ซาเล้ง, เชียงใหม่, recycle, รีไซเคิล