วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 6:30 น. แสงทองวันใหม่ปลุกผมให้ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม

ว่างโหวง เปราะบาง ป่วนปั่น และหวั่นหวิว

หยิบเสื้อยืดสีดำและกางเกงยีนส์สีดำมาสวม เตรียมแมคบุ๊กและสมุดจดใส่ในกระเป๋า มองไปที่เงาตัวเองในกระจก พลางตั้งปณิธานตามพระบรมราโชวาทว่า ‘วันนี้เราจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด’

เมื่อวานเป็นวันที่ปวงชนชาวไทยหัวใจสลาย หลังจากเราอยู่กับความไม่แน่นอน ได้ยินข่าวลือติดต่อกันมาวันสองวัน ความจริงที่เจ็บปวดก็ปรากฏขึ้น ผมและทีม The Momentum ไม่คาดคิดมาก่อนว่าสำนักข่าวออนไลน์เล็กๆ ที่เพิ่งเปิดตัวเพียง 4 วัน จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์สูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสังคมไทย

เราปลดแผนการเดิมทิ้งทั้งหมด คอนเทนต์เกี่ยวกับ 14 ตุลา ที่เตรียมมาแรมเดือนถูกถอดออก เปลี่ยนเป็นการทยอยรายงานข่าวสารที่จำเป็น จัดวางภาพต่างๆ เพื่อแสดงความไว้อาลัย เพิ่มแลนดิ้งเพจเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และใส่ฟิลเตอร์ย้อมดำให้กับหน้าเว็บไซต์

ข่าวสุดท้ายของวันนั้นคือประมวลภาพพสกนิกรชาวไทยที่ศิริราชร่ำไห้ ช่างภาพของเรา พี่แอ๊ด-พีรพัฒน์ ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกออกมาได้อย่างกินใจ ผมบอกทีมงานทุกคนว่ากลับบ้านไปหาครอบครัวกันเถอะ พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน

พ่อผู้เสียน้ำตาได้ยากยิ่ง ตาแดงๆ บอกผมว่า
ท่านคือกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดแล้ว
ผมบอกพ่อว่า อย่าบิวด์สิ แกก็ตอบกลับว่า
ท่านจะเสวยสุขก็ได้ แต่ทำไมท่านถึงต้องทำ ก็เพราะท่านรักคนไทย

​ถนนเลียบด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์โล่งและเงียบจนน่ากลัว ผมถึงบ้านแล้วรีบตรงไปหาพ่อและแม่ พ่อผู้เสียน้ำตาได้ยากยิ่ง ตาแดงๆ บอกผมว่า ท่านคือกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดแล้ว ผมบอกพ่อว่า อย่าบิวด์สิ แกก็ตอบกลับว่า ท่านจะเสวยสุขก็ได้ แต่ทำไมท่านถึงต้องทำ ก็เพราะท่านรักคนไทย ในขณะที่แม่ผมลุกจากเตียงมากอดเบาๆ แล้วบอกว่า หอมแก้มม้าหน่อย

คนรักโทรหาผมด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย เธอบอกผมว่าพรุ่งนี้จะไปเฝ้ารับเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย ผมรู้ว่าเธอรักในหลวงและตั้งใจจริง เพราะปกติแล้วเธอเกลียดการเบียดเสียดกับฝูงชนมากที่สุด

เกือบเที่ยงคืน ผมประชุมกับทีมในไลน์ว่าพรุ่งนี้จะนำเสนอคอนเทนต์อะไร น้องคนหนึ่งในทีมส่งข่าวที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนถวายน้ำสรงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ผมบอกกับทุกคนทันทีว่า พรุ่งนี้เราต้องไปรายงานสดจากพื้นที่นั้น

ผมไม่เคยเรียนจบด้านสื่อสารมวลชน ไม่เคยทำงานหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ แต่ผมรู้สึกว่านี่คืองานที่ผมรัก และผมอยากจะทำงานที่รักถวายแด่บุคคลที่คนไทยรักที่สุดเป็นครั้งสุดท้าย

เวลา 8:00 น. รถแท็กซีมาส่งถึงศาลาหลักเมือง น้องเอม-กานต์กลอน ผู้สื่อข่าวคนเก่งที่มาถึงก่อนผม ส่งรูปประชาชนจำนวนมากที่เริ่มตั้งแถวหน้าพระบรมมหาราชวังมาให้ ภาพนั้นถูกรีทวิตจากทวิตเตอร์ของ The Momentum เกือบหมื่นภายในเวลาอันรวดเร็ว ผมรู้ทันทีในวินาทีนั้นว่าคนไทยจำนวนมากเฝ้ารอการรายงานจากเรา

ตลอดเช้าวันนั้นเราพยายามรายงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ผมบอกทุกคนในทีมว่าควรจะนำเสนอมุมมองที่ต่างจากกระแสหลัก ใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปในข่าว

อัง-วชิรวิชญ์ และนัท-ปณชัย ทีมงานคุณภาพที่ปักหลักอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ทำหน้าที่ได้ดีมาก เรื่องราวของคนไทยตัวเล็กๆ ที่ทำเพื่อในหลวงถูกส่งต่อในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เช่น เรื่องของลุงโชติ เจ้าของร้านกาแฟสด ที่บอกว่า “วันนี้ไม่ขาย ขอแจกฟรี” เรื่องของพี่สิโรจน์ ที่ขับมอเตอร์ไซค์จากภูเก็ต เพื่อมาแจกอาหารและน้ำดื่ม หรือเรื่องของพี่ญาดา ครูสอนภาษามือให้กับนักเรียนหูหนวกที่บอกกับเราว่า “ตลอดชีวิตเคยเข้าเฝ้าในหลวงหลายครั้ง และเดินทางมาถวายพระพรตลอด เมื่อวันที่ 9 ที่ผ่านมา ในหลวงเพิ่งพระราชทานมะม่วงน้ำดอกไม้ให้ วันนี้แม้จะเกษียณแล้วแต่จะยังอุทิศตนเป็นครูต่อไปค่ะ”

บรรยากาศที่บริเวณพระบรมมหาราชวังค่อนข้างน่ารัก แม้อากาศจะร้อนจัด แสงแดดแผดเผา และคนหนาแน่น แต่คนไทยก็ยังคือคนไทยที่ยังคงมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันน้ำดื่ม เงาร่ม และกระดาษทิชชูแก่กัน

ทว่าคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นตลอดการลงพื้นที่คือ เราควรจะปฏิบัติตนอย่างไรตอนที่ขบวนพระบรมศพเคลื่อนผ่าน เจ้าหน้าที่บริเวณโรงพยาบาลศิริราชประกาศว่า ห้ามเปล่งเสียงคำว่า “ทรงพระเจริญ” เด็ดขาด แต่ให้ใช้คำว่า “กราบบังคมทูลส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” แทน แต่ราชบัณฑิตยสภากลับออกมาแนะให้ใช้ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” ไม่ต้อง มี “ส่งเสด็จ” นำหน้า

​แดดรอนรอน เมฆาสงบนิ่ง หมู่มวลภมรบินลอยล่องตามลม
บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเชียบ วังเวง และโศกเศร้า
แทบไม่มีเสียงใดๆ เล็ดลอดออกมา
อาจเป็นเพราะความรู้สึกมันท่วมท้นเกินกว่าจะเอื้อนเอ่ยวาจา
เงียบจนกระทั่งได้ยินเสียงลมพัด นกบิน กิ่งไม้ลู่เอน
และเสียงร่ำไห้กระซิกเบาๆ

​เวลา 16:55 น. คำถามนั้นคลายลง เมื่อขบวนอัญเชิญพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เคลื่อนย้ายจากศิริราชมาถึงพระบรมมหาราชวัง

ผมนั่งอยู่ตรงท้องสนามหลวงท่ามกลางประชาชนอีกเป็นจำนวนมหาศาล

แดดรอนรอน เมฆาสงบนิ่ง หมู่มวลภมรบินลอยล่องตามลม

บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเชียบ วังเวง และโศกเศร้า

แทบไม่มีเสียงใดๆ เล็ดลอดออกมา

อาจเป็นเพราะความรู้สึกมันท่วมท้นเกินกว่าจะเอื้อนเอ่ยวาจา

เงียบจนกระทั่งได้ยินเสียงลมพัด นกบิน กิ่งไม้ลู่เอน

และเสียงร่ำไห้กระซิกเบาๆ​

หลังจากขบวนอัญเชิญพระบรมศพฯ ค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปในพระบรมมหาราชวังเรียบร้อยแล้ว ผมบอกกับทีมว่าให้แยกย้ายกันกลับบ้านได้ ส่วนผมจะอยู่ทำข่าวต่ออีกหน่อย ประชาชนบางส่วนที่ยังไม่กลับบ้าน บอกกับผมว่า “จะอยู่กับท่านจนวินาทีสุดท้าย”

เวลา 18:30 น. ทีมงานส่งคลิปการบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็นด้วยทรัมเป็ตมาให้ เราเตรียมการไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้วว่าอยากจะนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงใหม่

ผมยัดหูฟังใส่หู กดปุ่มเพลย์ มองไปยังท้องฟ้าที่กำลังเปลี่ยนสี ม่านราตรีคืบคลาน และดวงอาทิตย์กำลังจะลาลับ

แดดรอนรอน

เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา

ทอแสงเรืองอร่ามช่างงามตา

ในนภาสลับจับอัมพร

 

โอ้ยามเย็น

จวบยามนี้เป็นเวลาสุดอาวรณ์

ยามไร้ความสว่างห่างทินกร

ยามรักจำจะจรจากกันไป

ตั้งแต่เช้าตรู่แดดรอนจนทินกรลับเหลี่ยมเมฆาที่พระบรมมหาราชวัง ผมพยายามทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด ไม่อยากเสียน้ำตา แต่เสียงทรัมเป็ตที่แสนอ้างว้างและภาพของท่านที่อยู่ในใจตลอดมาก็ทำให้เขื่อนที่กักเก็บน้ำตาพังทลาย

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 19:00 น. ผมมองไปที่ท้องฟ้าเหนือพระบรมมหาราชวัง

สายลมกระซิบ

นภาไร้ทินกร

หัวใจของคนไทยได้จากไปแล้วจริงๆ

 

บทเพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
บรรเลงโดย: ยุทธศักดิ์ พลายภู่