ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จุดกระแสการชุมนุมต่อต้านทรัมป์ในหลายรัฐทั่วประเทศ
CNN รายงานว่า ตั้งแต่คืนวานที่ทราบผลจนถึงตอนนี้ได้เกิดเหตุจลาจลหลายเมืองใหญ่ เช่น นิวยอร์ก วอชิงตัน ดี.ซี. พอร์ตแลนด์ บอสตัน ลอสแอนเจลิส ชิคาโก โดยเกือบทั้งหมดเป็นเมืองที่มีฐานเสียงเป็นพรรคเดโมแครต
การประท้วงมีตั้งแต่การเดินขบวน ตะโกนด่าทรัมป์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายกีดกันความหลากหลาย เผาธงชาติ เผายางรถยนต์ ฯลฯ นอกจากนี้ในบางมหาวิทยาลัย นักศึกษายังแสดงความไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งด้วยการไม่เข้ารับการเรียนการสอน เดินออกนอกห้องเรียน อาจารย์บางท่านถึงกับเห็นด้วยโดยประกาศเลื่อนสอบให้
“ไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา! ไม่ใช่วันนี้!”
“จงอย่าทำให้ Make America Hate Again”
นี่คือส่วนหนึ่งของข้อความหลักในการประท้วงทั่วประเทศ
ที่นิวยอร์ก ตำรวจคาดการณ์ว่ามีกลุ่มผู้ประท้วงประมาณ 5,000 คน อยู่หน้าบริเวณ Trump Tower เรียกร้องในประเด็นต่างๆ ที่พวกเขาไม่เห็นด้วย ไม่เพียงเท่านั้นศิลปินป็อปชื่อดังอย่าง เลดี้ กาก้า ที่เคยช่วยหาเสียงให้กับฮิลลารี คลินตัน ในวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ยังปรากฏตัวบนรถบรรทุกที่หน้าตึก และชูป้ายว่า ‘Love Trumps Hate’
นิก พาวเวอร์ส (Nick Powers) หนึ่งในผู้ประท้วงที่นิวยอร์กกล่าวกับ CNN ว่า “ผมออกมาเพราะต้องการจะกำจัดความกลัวที่เกิดขึ้นหลังจากเห็นผลเลือกตั้ง” เขายังกล่าวอีกว่าเขากลัวว่าชัยชนะของทรัมป์ในครั้งนี้จะปลุกกระแสให้คนดูถูกผู้หญิงมากขึ้น
ที่พอร์ตแลนด์ กลุ่มผู้ประท้วงตะโกนเสียงดัง “ไม่เอาทรัมป์ ไม่เอา KKK (Ku-Klux-Klan กลุ่มเหยียดสีผิว) ไม่เอาฟาสซิสต์” ในขณะที่ผู้ประท้วงที่วอชิงตัน ดี.ซี. ที่กำลังมุ่งหน้าไปยัง Trump International Hotel ก็เปล่งเสียงกึกก้องในประโยคคล้ายกัน
ที่ลอสแอนเจลิส กลุ่มผู้ชุมนุมชาวละตินราว 100 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น รวมตัวกันที่ศาลากลางเมืองและตะโกนว่า “พวกเราจะไม่อยู่กับความกลัว” “ลุกขึ้นสู้” และ “ต้องทำได้” เมื่อสอบถามสาเหตุของความกลัว ทุกคนตอบตรงกันว่ากลัวว่าเพื่อนๆ และครอบครัวจะถูกขับไล่ออกจากประเทศ หากทรัมป์เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
แม้ว่าสาเหตุหลักที่ผู้คนออกมาประท้วง คือการแสดงออกถึงความไม่พอใจกับผลการเลือกตั้งหรือความกลัวที่มีต่อความสุดโต่งของทรัมป์ แต่หลายฝ่ายก็เกิดความกังวลว่า การกระทำในครั้งนี้จะเป็นการทำลายประชาธิปไตยและวัฒนธรรมการเคารพเสียงส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ หรือไม่
ผมนั่งดูรายการวิเคราะห์ข่าวของ CNN มีบทสนทนาหนึ่งที่น่าสนใจมาก ช่วงหนึ่งของรายการ นักวิเคราะห์ฝั่งรีพับลิกันพูดทำนองว่า
“ทำไมพวกเดโมแครตไม่เคารพผลการเลือกตั้ง ทำไมไม่เก็บกลั้นความกลัวเอาไว้”
แวน โจนส์ (Van Jones) นักวิเคราะห์การเมืองฝั่งเดโมแครต ผู้เคยร่วมงานกับ บารัก โอบามา เจ้าของสปีชไวรัล ‘Whitelash’ (การเอาคืนของคนขาว) ในโลกออนไลน์ ตอบโต้ได้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าจะเป็นไปในเชิงเข้าข้างกลุ่มผู้ประท้วงก็ตาม
“ทรัมป์คือประธานาธิบดีที่น่ากลัวที่สุด สุดโต่งที่สุด คุณต้องเห็นใจคนที่ออกมาประท้วง มันมีราคาที่ต้องจ่าย ถ้าคุณอยากสร้างประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณต้องถอยหนึ่งก้าว…”
“คุณต้องออกมาเยียวยาความเจ็บปวดก่อน” เขาทิ้งท้าย
คำถามที่ตามมาคือ ทรัมป์จะออกมารับมือกับเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร
คำถามที่สองคือ เป้าหมายจริงๆ ของผู้ประท้วงคืออะไรกันแน่ ต้องการจะล้มล้างผลเลือกตั้งอย่างนั้นหรือ?
โอมาร์ อคีล (Omar Aqeel) โปรดิวเซอร์หนัง กล่าวกับ USA TODAY ว่า เขารู้ว่าการประท้วงนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้อยู่แล้ว แต่เขาแค่ต้องการที่จะทำให้มันเกิดผลกระทบในอนาคต
“ผมแค่หวังว่ามันจะปลุกทุกคนให้ตื่นขึ้น (wake up call)”
ในขณะที่ โจอี้ เฮนรีเกซ (Joey Henriquez) นักศึกษาวัย 22 ปีก็กล่าวคล้ายกันว่า “ผมคิดว่า นี่คือโอกาสที่จะช่วยกันตรวจสอบทรัมป์ เราให้เขาอยู่ 8 ปีไม่ได้หรอก”
เช่นเดียวกับผู้ประท้วงหญิงวัย 18 ปี รายหนึ่งกล่าวกับ USA TODAY ว่า “เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ที่ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดี แต่ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้เช่นกันว่า ทรัมป์ต้องฟังเสียงพวกเรา”
ในช่วงที่อารมณ์ของมวลชนข้างถนนกำลังร้อนระอุเดือดปุดๆ ผู้นำฝั่งเดโมแครตอย่าง บารัก โอบามา และฮิลลารี คลินตัน ก็รีบออกมาบอกว่า ให้ทุกคนรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยอมรับความพ่ายแพ้ และขอให้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์
ฮิลลารี คลินตัน กล่าวในสุนทรพจน์ยอมรับความพ่ายแพ้ว่า “เมื่อคืนฉันแสดงความยินดีกับ โดนัลด์ ทรัมป์ และยินดีจะทำงานร่วมกับเขาเพื่อประโยชน์ของประเทศ ฉันขอให้เขาเป็นประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จของชาวอเมริกัน เพราะเขาคือตัวแทนที่ชาวอเมริกันเลือกเข้ามา”
ด้านโอบามาก็กล่าวคล้ายๆ กันว่า พร้อมจะทำการถ่ายโอนอำนาจให้กับทรัมป์อย่างดีที่สุด “พวกเราต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้ประเทศกันทั้งนั้น และผมก็ได้ยินทรัมป์พูดแบบนั้นเช่นเดียวกันเมื่อคืน ประเทศของเราต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและยอมรับซึ่งกันและกัน ผมหวังว่าเขาจะรักษาสปิริตนี้ได้ตลอดการถ่ายโอนอำนาจ”
หัวเรือพูดขนาดนี้แล้ว ฝั่งผู้ประท้วงจะว่าอย่างไร… ผู้สื่อข่าวของ CNN ลงพื้นที่ โยนคำถามนี้กับผู้ประท้วงทันที
“ทั้งโอบามาและคลินตันออกมาบอกให้เรารวมกันเป็นหนึ่งเดียว และสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ให้โอกาสเขา… ทำไมพวกคุณไม่ทำแบบนั้น”
นิก พาวเวอร์ส หนึ่งในผู้ประท้วงที่นิวยอร์กถอนหายใจ คิดครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า
“ผมเคารพในระบบการเลือกตั้งและสถาบันประธานาธิบดี แต่ผมก็จะเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการประท้วงเช่นเดียวกัน เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะประท้วง”
เขายังพูดต่อว่า “ผมยังคงเคารพว่าทรัมป์คือประธานาธิบดี แต่ผมก็จะต่อสู้ในทุกๆ วันหลังจากนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะอยู่ได้แค่สมัยเดียว และเพื่อให้มั่นใจว่าทุกนโยบายที่เขาคิด มันจะไม่ทำลายความเป็นมนุษย์ของพวกเรา”
แม้ว่านี่จะเป็นเพียงเสียงบางส่วนจากผู้ประท้วง แต่ผมคิดว่ามันก็พอจะสะท้อนได้ว่า การประท้วงนี้ไม่น่าจะเป็นไปเพื่อ ‘ล้มล้าง’ ผลการเลือกตั้งอย่างที่บางคนกังวล
โดยเฉพาะประโยคที่ว่า ‘เขาจะอยู่ได้แค่สมัยเดียว’ ที่บ่งบอกว่า เขายอมรับแล้วว่าทรัมป์จะได้ทำงาน 4 ปี
เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี คอนทริบิวเตอร์เรื่องการเลือกตั้งสหรัฐฯ บอกผมว่า ได้ยินแหล่งข่าวคนไทยจากนิวยอร์กแจ้งว่า ทีมหาเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน บางส่วนก็ออกไปผสมโรงเดินประท้วงตามท้องถนนกับเขาด้วย แต่น่าจะเป็นไปเพื่อการปลดปล่อยมากกว่า ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่ยอมรับผลโดยดี
ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสถาบันการเเมือง บอกผมว่า จุดที่ประท้วง 3 จุด ได้แก่ ซีแอตเทิล เบิร์กลีย์ และนิวยอร์กนั้น เป็นที่ที่คนลิเบอรัลมาก
“มันเป็นเรื่องความไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้ง ไม่ใช่ระบบการเลือกตั้ง หรือระบอบประชาธิปไตย มันคือ Frustration”
อาจารย์อรรถสิทธิ์ยังเห็นตรงกับผมว่า ถึงแม้คนที่ประท้วงจะบอกว่า “He’s not my president” แต่ก็พูดว่า “I’ll make sure he is a one-term president” ซึ่งเท่ากับบอกว่า เขาจะรอการเลือกตั้ง ฉะนั้นการประท้วงไม่ได้ลากยาวแน่ๆ อย่างไรก็ดี คนก็จะยอมรับ
จริงอยู่ที่ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร อาจจะเกิดความรุนแรงมากกว่านี้ หรือสงบเงียบเข้ารูปเข้ารอย
แต่ถึงที่สุดแล้ว ภาพทั้งหมดในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้ใครหลายคนฉุกคิดคำถามได้เหมือนกับผมว่า
สหรัฐอเมริกาเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
อ้างอิง:
– http://edition.cnn.com/2016/11/09/politics/election-results-reaction-streets/index.html?adkey=bn
– http://www.usatoday.com/story/news/2016/11/09/anti-trump-protests-erupt-new-york-chicago/93570584
– http://time.com/4564772/president-obama-donald-trump-speech-transcript/?xid=fbshare