ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนหลายคนคงกำลังเผชิญกับพอร์ตหุ้นไทยแดงเถือก (เหมือนกับผม) เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยเอาแต่ร่วงระนาว จากที่เคยทะยานขึ้นไปแตะถึง 1,700 จุด หลังเศรษฐกิจฟื้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนตอนนี้เหลือเพียงราว 1,300 จุด ครองบัลลังก์ตลาดหลักทรัพย์ที่ผลตอบแทนเลวร้ายที่สุดในเอเชีย สวนทางกับตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่ต่างแข่งกันทุบสถิติใหม่ชวนให้เกิดคำถามว่า ‘หุ้นไทยทำไมจึงตก’

คำถามเรียบง่ายแต่การหาคำตอบนั้นไม่ง่ายเลย

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ขยับตามความต้องการซื้อ และความต้องการขายหุ้นของนักลงทุนในตลาด หากนักลงทุนมองว่า หุ้นไทยแพงเกินไปแล้วเทขายก็ย่อมทำให้ราคาลง เช่นในกรณีของไทยที่เผชิญการเทขายของนักลงทุนต่างชาติมาต่อเนื่องหลายปี ราคาหุ้นในตลาดก็ปรับตัวลดลงเป็นธรรมดา

ผู้เขียนอยากให้มองดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เหมือนกับกระดานแสดงความคิดเห็น ของนักลงทุนนับแสนชีวิตต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต บางคนมองบวกก็เข้าซื้อ บางคนมองลบก็เทขาย แต่เมื่อหักกลบลบกัน ผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น คือพวกเขามองว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยไม่สดใสเท่าไรนัก หรืออย่างน้อยก็ไม่สดใสเท่ากับประเทศอื่นๆ

บทความนี้จึงเป็นความพยายาม ‘แกะ’ ความคิดว่า ทำไมนักลงทุนจึงเทขายหุ้นไทย โดยแบ่งเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ ปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง แต่หลายคนกลับให้ความสนใจ

สารพัดเรื่องรุมเร้านอกประเทศ

ตราสารทางการเงินอย่าง ‘หุ้น’ คือผลิตภัณฑ์ที่ไทยต้องแข่งขันกับทุกประเทศ เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าและออกจากประเทศปลายทางได้ตลอดเวลา เพื่อแสวงหาผลตอบแทนให้สมน้ำสมเนื้อกับความเสี่ยง ดังนั้นปัจจัยภายนอกประเทศจึงมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาด

แรงกดดันสำคัญต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงหุ้นไทย คือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะคงอัตราสูง (5.25-5.50%) เป็นระยะเวลานาน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลให้ไหลเข้าสหรัฐฯ เพื่อกว้านซื้อตราสารทางการเงิน คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ‘กลืน’ ตลาดหุ้นแห่งอื่นๆ ทั่วโลก โดยปัจจุบันมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของดัชนีหุ้นโลก นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ (Subprime Crisis)

อีกหนึ่งปัจจัยคือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนานจนปัจจุบัน และความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นใหม่อีกครั้ง ปัจจัยเหล่านี้สร้างความผันผวนต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาพลังงาน ยังไม่นับความเสี่ยงจากวิกฤตภูมิอากาศที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรผันผวนกว่าในอดีต นักลงทุนบางกลุ่มที่มองเห็นความเสี่ยงเหล่านี้ จึงผันเงินในพอร์ตฟอลิโอไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพสูงกว่า

ลองนึกดูง่ายๆ ว่า ถ้าเราเป็นนักลงทุนจะเลือกลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ที่อนาคตทางเศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ การเมืองไม่มีเสถียรภาพ แถมอัตราผลตอบแทนยังต่ำเตี้ย หรือย้ายเงินไปลงทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ความเสี่ยงต่ำแสนต่ำ และการันตีผลตอบแทนที่ราว 4-5% ต่อปี

ปัญหาโครงสร้างเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ตก

การลงทุนในหุ้นคือ การลงทุนโดยมองไปยังอนาคต หากเปิดตำราวิชาการเงินจะพบว่าราคาหุ้นคือการคิดลดกระแสเงินสดที่คาดว่า บริษัทจะสร้างขึ้นได้ในอนาคต ย้อนกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน การที่ดัชนีหุ้นตกคือตัวชี้วัดนำ (Leading Indicator) ว่า เศรษฐกิจของไทยในวันข้างหน้าอาจไม่สดใสนักในมุมมองนักลงทุน

หากย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน ประเทศไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และคว้าตำแหน่งดาวเด่นในภูมิภาค ค่าแรงที่ต่ำและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจากต่างชาติ ยังไม่นับแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่ผลักดันการเติบโตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยแรงผลักจากการส่งออก จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงตามเกณฑ์ของธนาคารโลก

ทว่าหากมองไปยังอนาคต เรากำลังเผชิญภาวะชะงักงัน ทั้งเรื่องที่หลายคนทราบดีคือปัญหาโครงสร้างประชากรที่เด็กเกิดใหม่น้อย คนชราเยอะ วัยแรงงานหดตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่ชัดเจนกว่านั้นคือ ไทย ‘ตกขบวน’ คลื่นเทคโนโลยียุคใหม่ หากหันไปดูในตลาดหลักทรัพย์จะเห็นว่า หุ้นอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังจะล้าสมัยอย่างพลังงาน ยังคงครองอันดับหนึ่งโดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของมูลค่าตลาด ส่วนธุรกิจนอกตลาดที่ค้ำจุนประเทศอย่างภาคยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ ก็กำลังจะถูกดิสรัปต์ครั้งใหญ่จากยานยนต์ไฟฟ้าและระบบคลาวด์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลไทยก็พยายามเดินหน้าเต็มที่ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ รวมถึงไมโครชิป แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

อีกหนึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่กลายเป็นแรงกดดัน ให้ราคาหุ้นไทยร่วงลงในช่วงเดือนที่ผ่านมาคือ ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เกิดจากการจับขั้วย้ายข้างประสานประโยชน์จากกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่ลงรอยกัน จนยากจะเชื่อได้ว่า รัฐบาลชุดนี้มีเสถียรภาพเต็มเปี่ยม ยังไม่นับคดียุบพรรคก้าวไกลซึ่งได้รับคะแนนเสียงล้นหลามจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่พอใจและกลายเป็นชนวนเหตุของการชุมนุมประท้วงอีกครั้ง

‘แพะรับบาป’ สาเหตุหุ้นตก

แม้จะมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในรุมเร้า แต่นักลงทุนไม่น้อยกลับพยายามหา ‘แพะรับบาป’ ที่หากพิจารณาดีๆ แล้วอาจไม่ใช่ตัวการของปัญหา หนึ่งในนั้นคืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

แน่นอนว่า ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นอาจดีขึ้นอีกสักนิด และคนไทยคงหายใจหายคอได้สะดวกขึ้นอีกหน่อย แต่การลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ต่างจากยาระงับปวด ที่ทำให้เรารู้สึกดีในระยะสั้น แต่อาจส่งผลเลวร้ายในระยะยาว เช่น ฟองสบู่ราคาหลักทรัพย์จากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ไทยก็ยังต่ำที่สุด โดยต่ำกว่า มาเลเซีย (3%) เวียดนาม (4.5%) อินโดนีเซีย (6.25%) และฟิลิปปินส์ (6.50%)

แพะรับบาปประการที่ 2 คือธุรกรรมขายชอร์ต (Short Sell) การขายชอร์ตเป็นที่ชิงชังของนักลงทุนทั่วโลก เพราะเหล่านักขายชอร์ตคือนักลงทุนที่หวังทำกำไรขาลง หรือกล่าวง่ายๆ คือแสวงหาความร่ำรวยบนหายนะของนักลงทุนคนอื่นๆ เมื่อปีที่ผ่านมา ในไทยถึงขนาดมีข่าวสะพัดว่า นักลงทุนต่างชาติทำธุรกรรมผิดกฎหมายด้วยการขายหุ้น ทั้งที่ไม่ได้มีการยืมหุ้นมาก่อน (Naked Short Selling) ซึ่งต่อมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบแล้วชี้แจงว่า ไม่มีธุรกรรมผิดปกติแต่อย่างใด พร้อมทั้งคลายข้อสงสัย โดยพิจารณาหุ้นที่ราคาร่วงแรงแล้วพบว่า หุ้นในกลุ่มนี้จำนวนหยิบมือเท่านั้น ที่มีอัตราส่วนการขายชอร์ตมากกว่า 10% หลังจากนั้นตลาดหลักทรัพย์ก็พยายามออกกฎเอาอกเอาใจนักลงทุน ในเรื่องการขายชอร์ตและการซื้อขายหุ้นด้วยโปรแกรม แต่ตลาดหุ้นไทยก็ยังดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนตลาดหุ้นไทยจะฟื้นกลับมาเมื่อไร ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกันครับ (ถ้าตอบได้คงรวยไปแล้ว!) แต่อาจถึงเวลาที่เราต้องก้าวข้ามอคติเน้นลงทุนในประเทศบ้านเกิด (Home Bias) แล้วกระจายสินทรัพย์ในพอร์ตฟอร์ลิโอไปยังประเทศอื่นๆ ในวันที่อนาคตของไทยยังไม่แน่นอน ส่วนใครใคร่ช้อนก็ตามศรัทธา แค่อยากขอย้ำว่า การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจเงื่อนไขและผลตอบแทนก่อนตัดสินใจลงทุน

เอกสารประกอบการเขียน

Foreign investors sell off Thai shares for 27 consecutive days

Thai Bourse Set to Tighten Reins on Asia’s Worst Stock Market

Thai Stocks Set for Record Losing Streak Amid Foreign Selloff

Foreign Investors Flee Thai Stocks, Fueling World’s Biggest Drop

High-Frequency Trading ทำ Naked Short Sale กดดันหุ้นไทยจริงไหม?



Tags: , , , , ,