‘การเชื่อโพลมีความเสี่ยง’ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเชื่อโพล

ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้ง ผมก็ยิ่งอยากให้ทุกสำนักข่าวที่หยิบโพลมาเผยแพร่ ติดป้ายคำเตือนเอาไว้ เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งชาวไทยใช้วิจารณญาณและความระมัดระวังก่อนตัดสินใจเชื่อผลโพล เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะโน้มเอียงไปทางเสียงส่วนใหญ่ อีกทั้งผลโพลอาจนำไปสู่พฤติกรรม ‘การออกเสียงเชิงกลยุทธ์’ ซึ่งหมายถึงการมองข้ามพรรคอันดับหนึ่งในใจ แล้วลงคะแนนเสียงให้อีกพรรคหนึ่งเพราะกลัวปัญหา ‘เสียงตกน้ำ’ จนฝ่ายพรรคที่เราไม่ชื่นชอบคว้าชัยชนะ

นอกจากนี้ ผลโพลบางสำนักยังสะท้อน ‘รสนิยมทางการเมือง’ ของกลุ่มตัวอย่างมากกว่ากลุ่มประชากรทั่วประเทศ ยิ่งเมื่อเทียบผลโพลจากหลากหลายสำนัก เราก็จะเห็นความแปลกที่สะท้อนออกมาในผลโพล ตัวอย่างที่ชัดเจนคือความนิยมของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ชื่อของเขาขึ้นแท่นอันดับที่หนึ่งในผลของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (ได้รับคะแนนคิดเป็นสัดส่วน 22.0%) และผลสำรวจความคิดเห็นของเว็บไซต์ MGR Online (ได้คะแนนคิดเป็นสัดส่วน 21.0%) แต่ขณะเดียวกัน อนุทินกลับไม่ติด 1 ใน 5 อันดับแรกด้วยซ้ำจากการสำรวจของนิด้าโพลและผลโพลของมติชนxเดลินิวส์

เราสามารถทำความเข้าใจผลโหวตที่ราวกับมาจากคนละโลกนี้ ด้วยการตอบคำถามว่าโพลทำงานอย่างไร

เข้าใจโพลก่อนอ่านผล

โพลคือหนึ่งในเครื่องมือทางสถิติที่แสนอัศจรรย์ เพราะเราสามารถสอบถามข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างหลักพันคนเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนหลักล้านคนได้ในระดับที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่มีเงื่อนไขคือ ต้องใช้ระเบียบวิธีที่เคร่งครัดและเหมาะสมโดยต้องพิจารณาทั้งในแง่การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การตั้งคำถาม และข้อควรระวังเรื่องทัศนคติของสังคม

การเลือกกลุ่มตัวอย่างคือหัวใจของการทำโพล กลุ่มตัวอย่างที่ดีคือกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกอย่างระมัดระวังเพื่อให้สามารถเป็น ‘ตัวแทนของกลุ่มประชากร’ ที่เราทำการสำรวจ โดยอาจพิจารณาจากลักษณะทางประชากรศาสตร์ (เพศหรืออายุ)ลักษณะทางภูมิศาสตร์ (ที่อยู่หรือที่ทำงานในปัจจุบัน) หรือสถานะทางสังคม (รายได้หรืออาชีพ) กลุ่มตัวอย่างที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะต่างๆ ที่สอดคล้องใกล้เคียงกับประชากร ซึ่งนับเป็นงานโหดหินที่แทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่เทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้การสุ่มมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างก็ยังเป็นปัญหาชวนปวดหัวของนักทำโพล การติดต่อทางโทรศัพท์เริ่มทำได้ยากขึ้นนับตั้งแต่มีการระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ระมัดระวังที่จะรับโทรศัพท์จากคนแปลกหน้า ส่วนบนโลกอินเทอร์เน็ตก็มีสารพัดช่องทางในการปลอมแปลงที่อยู่ ยังไม่นับความเสี่ยงจากเหล่าบอตที่สามารถระดมพลมาพลิกผลโพลได้ตามต้องการ ผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นในโพลจึงอาจมีรูปแบบหรืออคติบางอย่างซึ่งกระทบต่อผลลัพธ์จากโพล เช่น เป็นคนที่มีเวลาและพร้อมที่จะรับโทรศัพท์จากคนแปลกหน้า หรือคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ตัวอย่างผลโพลที่ต้องอ่านอย่างระมัดระวังก็เช่นผลโพลผู้อ่านเว็บไซต์ MGR Online ซึ่งเป็นความคิดเห็นของคนที่มีรสนิยมทางการเมืองเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยไม่ได้มีระเบียบวิธีการสุ่มตัวอย่างที่ออกแบบมาเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของ ‘ประชากรไทยทั้งประเทศ’ ดังเช่นโพลอื่นๆ

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนมองข้ามคือการออกแบบคำถาม หนึ่งในคำถามยอดแย่ที่ชวนให้คนอ่านเข้าใจผิด คือคำถามพ่วงในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

จะเห็นว่าผู้ออกแบบคำถามพยายามล้อมหน้าล้อมหลังโดยใช้คำพูดสวยหรู เชื้อเชิญให้ผู้ออกเสียงโหวตยอมรับ เช่นวรรคที่ว่า “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ” พร้อมทั้งเขียนคำถามงุนงงสับสนวนไปวนมาทั้งที่ความหมายที่แท้จริงคือ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้คณะรัฐประหารแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า

แม้แต่คำถามง่ายๆ ที่ดูเหมือนจะตรงไปตรงมา อย่าง “คุณต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” นักออกแบบโพลก็สามารถ ‘บิด’ ผลลัพธ์ได้ตามความต้องการด้วยเทคนิค เช่น การปรับเปลี่ยนตัวเลือกโดยตัดตัวเลือกที่ตนเองไม่ชอบออก หรือการจัดลำดับตัวเลือกโดยขยับตัวเลือกที่ต้องการมาไว้อันดับต้นๆ ดังนั้น ความโปร่งใสเรื่องวิธีการสำรวจความคิดเห็น และการออกแบบแบบสอบถามจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนักทำโพล คือการที่ผู้ตอบแบบสอบถามอาจไม่พูดความจริง ปัญหานี้จะค่อนข้างรุนแรงหากสำรวจความคิดเห็นในเรื่องที่อ่อนไหว เช่น ศาสนา การเมือง หรือรสนิยมทางเพศ คนจำนวนไม่น้อยเกรงว่า ตนจะดูไม่ดีหากแสดงความคิดเห็น หรือระบุพฤติกรรมของตนเองอย่างตรงไปตรงมา เช่น การนิยมพรรคการเมืองอนุรักษนิยมขวาจัด การไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ แม้กระทั่งการใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวัน พวกเขาจึงเลือกที่จะไม่พูดตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองคิดจริงๆ

เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว นักทำโพลจึงอาจเปลี่ยนจากการสำรวจความคิดเห็นเป็นการสำรวจพฤติกรรม หรือปรับรูปแบบคำถามจากสำรวจทัศนคติของผู้ให้สัมภาษณ์เป็นการถามทัศนคติของคนใกล้ชิด เช่น ท่านคิดว่าคนรอบตัวของท่านส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งครั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นหลังจากการกระทำ เช่น การทำเอ็กซิตโพล (Exit Poll) ที่สอบถามความคิดเห็นหลังจากหย่อนบัตรเลือกตั้งในคูหายังมีแนวโน้มที่จะเที่ยงตรงกว่าการสำรวจความคิดเห็นทั่วไปอีกด้วย

เมื่อผลโพลเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง

แน่นอนครับว่าการทำโพลย่อมมีประโยชน์ ทั้งฟากฝั่งนักการเมืองที่สามารถใช้ข้อมูลคะแนนนิยมจากผลโพล เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การหาเสียงและนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และฝั่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ผลโพลคือข้อมูลชุดสำคัญเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลโพลมีพลังมากพอที่จะ ‘ชี้นำ’ ผลการเลือกตั้ง

แม้ว่าการใช้สิทธิออกเสียงจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่มนุษย์ปุถุชนก็ยากจะหลีกเลี่ยงอิทธิพลทางความคิดหรือแรงกดดันทางสังคมเมื่อทราบว่า ‘คนอื่นส่วนใหญ่’ มีความคิดเห็นอย่างไร โดยเฉพาะคนจำนวนมากที่ไม่ได้ปวารณาตนเป็นแฟนตัวยงของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง จึงพร้อมที่จะเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา

โพลการเมืองที่ขาดความโปร่งใสและระเบียบวิธีไม่เหมาะสมจนได้ผลลัพธ์ที่อุดมด้วยอคติย่อมสร้างปัญหา เนื่องจากเป็นการจงใจบิดเบือนการรับรู้และความคาดหวังต่อผลการเลือกตั้งของประชาชนบางส่วน และอาจเป็นการชี้นำซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลงคะแนนเสียง

แม้แต่โพลการเมืองที่ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบวิธีทางสถิติก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนเช่นกัน เช่น ปรากฏการณ์แห่ตามกัน (Bandwagon Effect) ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเปลี่ยนใจไปลงคะแนนให้พรรคที่ผลโพลคาดว่า จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเพราะไม่ต้องการให้เสียงตกน้ำ อย่างไรก็ตาม การลงคะแนนเสียงเชิงกลยุทธ์เช่นนี้อาจนำไปสู่ปัญหาการถ่วงดุลในรัฐสภา เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่ในมือพรรคการเมืองเดียว

อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่หลายคนคาดไม่ถึงจากผลโพล คือหากผลลัพธ์จากโพลคาดว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะชนะแบบแลนด์สไลด์ จำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะมีแนวโน้มลดน้อยลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ ‘ย่ามใจ’ ว่าพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบน่าจะคว้าที่นั่งมาครองได้ไม่ยาก ผลโพลจึงนับว่ามีอิทธิพลสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องโพล และมักเป็นการกำหนดกรอบเวลาที่ห้ามเผยแพร่ผลโพลเท่านั้น เช่น หลายประเทศในสหภาพยุโรปที่มีกำหนดกรอบเวลาตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ ไปจนถึงหนึ่งเดือนที่สื่อห้ามเผยแพร่ผลโพล เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งห้ามเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนการเลือกตั้งหนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงวันเลือกตั้ง สาเหตุก็เพราะโพลคือองค์ประกอบหนึ่งของ ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง

ด้วยการกำกับดูแลที่ไม่เข้มงวด ประชาชนจึงต้องหวังพึ่งพาความเป็นมืออาชีพของสำนักข่าวและสำนักโพล ทั้งในเรื่องระเบียบวิธีการสำรวจความคิดเห็นและการนำเสนอข่าว แต่เราก็จะเห็นได้ว่าการทำโพลนั้นมีโอกาสเกิด ‘รูรั่ว’ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เราในฐานะประชาชนจึงต้องตระหนักเสมอว่า การเชื่อโพลมีความเสี่ยง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเชื่อโพล

เอกสารประกอบการเขียน:

The politics of polling: why are polls important during elections?

How Do Political Polls Work?

How Are Polls Made?

How Today’s Political Polling Works

Do Polls Influence the Vote?

Tags: , , , , , , , , ,