นาทีนี้ คงมีไม่กี่คนที่ไม่รู้จักธุรกรรม ‘รับจ่ายบิลแลกเงินสด’

ธุรกรรมดังกล่าวเรียบง่าย โดยมีฝ่ายหนึ่งมีบิลค้างชำระไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าอินเทอร์เน็ต เขาหรือเธอก็จะไปโพสต์ในกลุ่มโซเชียลมีเดียเพื่อหาคนมาจ่ายชำระให้โดยสัญญาว่าจะโอนจ่ายคืนเป็นเงินสดด้วยอัตราคิดลด 10-20% ตามแต่จะตกลงกัน

ตัวอย่างเช่น นางสาว A โพสต์ว่า “หาคนจ่ายค่าไฟ 15% ยอด 1094.26 บาท โอนจ่าย 930 บาท” ส่วนนาย B ผู้ร้อนเงินก็เข้ามาตอบตกลงโดยจ่ายชำระค่าไฟดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชันซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy now Pay Later) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายเจ้า เช่น SPayLater ผ่านทาง Shoppee บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด, Pay Next ผ่านระบบทรูมันนี บริษัท แอสเซนด์ นาโน จํากัด และ K PAY LATER ผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS โดยธนาคารกสิกรไทย หากนางสาว A ไม่ใช่มิจฉาชีพ นาย B ก็จะได้รับเงินโอนตามที่ตกลงกันไว้หลังจ่ายชำระเงินสำเร็จ

ธุรกรรมนี้ไม่ต่างจากการเปลี่ยนวงเงินเครดิตให้เป็นเงินสด ผ่านแพลตฟอร์มสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการจำกัดเพดานหนี้ไว้ที่ 2 หมื่นบาท ทั้งนี้ นาย B สามารถเลือกชำระเงินดังกล่าวภายใน 1 เดือนโดยไม่เสียดอกเบี้ย หรืออาจเลือกผ่อนชำระ 2, 3, 5 เดือนโดยเสียภาษีตามที่ผู้ให้กู้กำหนด เช่น SPayLater กำหนดไว้ที่ 25% ต่อปีแบบลดต้นลดดอก 

การแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายและเรียกได้ว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์ นางสาว A ได้ประหยัดค่าสาธารณูปโภค นาย B ได้รับเงินสดตามที่ต้องการแม้ว่าจะต้องยอมจ่ายดอกเบี้ย ส่วนแพลตฟอร์มผู้ให้กู้ยืมเงินก็ได้รับค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ย

หลายคนแสดงความกังวลว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ที่เปิดทางให้คนไทยเป็นหนี้และใช้จ่ายเงินเกินตัว อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพใหญ่ Thailand BNPL Market Report ประมาณการว่าหนี้จากแพลตฟอร์มในปีนี้อาจมีมูลค่าราว 4,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นราว 1% ของหนี้ครัวเรือนไทย แถมหลายบริษัทยังไม่ใช่ธนาคาร ต่อให้มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้สูงจนถึงขั้นล้มละลายก็มีโอกาสน้อยที่จะลุกลามจนเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ

ในทางกลับกัน ผู้เขียนมองว่าต่อให้เหล่าคนร้อนเงินไม่สามารถหาเงินมาหมุนผ่านแพลตฟอร์ม พวกเขาหรือเธอย่อมหันไปหาทางเลือกอื่น เช่น นายทุนนอกระบบซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยโหดยิ่งกว่า และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ธุรกรรมข้างต้นจึงไม่ต่างจากการย้ายหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบ อีกทั้งความนิยมและแพร่หลายของธุรกรรมดังกล่าวยังเป็นภาพสะท้อนว่า มีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้และพร้อมจ่ายอัตราดอกเบี้ยแสนแพงหลัก 100% ต่อปีเพื่อให้ได้เงินสดมาเสริมสภาพคล่อง

กฎเกณฑ์ที่กีดกันคนเหล่านั้นออกจากการเงินในระบบก็คือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยนั่นเอง

ปัญหาของเพดานอัตราดอกเบี้ย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี” ขณะที่ฟากฝั่งสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันไปตามประเภทสินเชื่อ เช่น บัตรเครดิตอยู่ที่ 16% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีรถยนต์ค้ำประกันอยู่ที่ 25% ต่อปี และสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพที่ 33% ต่อปี

กฎหมายลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ธนาคารโลกทำการสำรวจกฎหมายใน 108 ประเทศพบว่า กว่า 63 ประเทศมีกฎหมายควบคุมการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย โดยได้รับความนิยมในประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ ลาตินอเมริกา และแอฟริกาใต้สะฮารา กฎเกณฑ์ดังกล่าวมีเป้าหมายหลักคือการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเงินกู้ดอกโหดโดยเหล่านายทุนและสถาบันการเงิน

แม้ว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้มีเป้าประสงค์ที่ดี แต่งานวิจัยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาฉายภาพให้เห็นว่าการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยนำมาซึ่งปัญหาหลากหลายประการดังนี้

ประการแรก เหล่าสถาบันทางการเงินมีแนวโน้มปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้ารายย่อย เช่น เกษตรกร หรือธุรกิจเอสเอ็มอีน้อยลง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มความเสี่ยงสูงและต้นทุนในการบริหารจัดการสูง โดยเหล่าสถาบันการเงินหันไปปล่อยสินเชื่อแก่รัฐบาลหรือผู้กู้ภาคเอกชนรายใหญ่ในอัตราส่วนที่สูงยิ่งขึ้น

ประการที่สอง เมื่อลูกค้ารายย่อยไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้ก็ต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่า เช่น หนี้นอกระบบในไทยที่เก็บดอกเบี้ยราว 100-300% ต่อปี

ประการที่สาม ความโปร่งใสที่ลดน้อยลง เมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดเพดาน เหล่าสถาบันการเงินจึงหลบเลี่ยงกฎหมายโดยหันไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ นานาเพื่อชดเชยกับรายได้ที่ลดน้อยลง เทคนิคดังกล่าวทำให้การพิจารณาต้นทุนทั้งหมดในการกู้ยืมเงินยุ่งยากมากยิ่งขึ้น ในกรณีของไทย แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามากำกับดูแลค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่กระนั้นตัวเลขรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปีที่ผ่านมายังคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 20% ของรายได้ดอกเบี้ย นำโดยรายได้ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตสูงถึง 4.7 หมื่นล้านบาท

ถึงเวลากำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง

ธนาคารแห่งประเทศไทยเองตระหนักถึงผลกระทบไม่พึงประสงค์ของการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย และอาจได้ยินเสียงสะท้อนจากนโยบายปรับลดเพดานดอกเบี้ยทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลราว 2-4% ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาซึ่งแม้ดูเผินๆ จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่กลายเป็นว่าเหล่าสถาบันการเงินต้อง ‘หั่น’ กลุ่มลูกค้าความเสี่ยงสูงจนไม่คุ้มอัตราดอกเบี้ยออกไปจากพอร์ตฟอร์ลิโอ ส่วนลูกค้าอีกจำนวนมากก็ถูกคิดในอัตราเต็มเพดาน

เมื่อปลายปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีการขยับครั้งใหญ่โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อกลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย (risk-based pricing) ซึ่งอาจเป็นการขยายเพดานดอกเบี้ยให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความเสี่ยงลูกหนี้มากยิ่งขึ้น

กลไกดังกล่าวคือการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินสามารถพัฒนาแบบจำลองประเมินความเสี่ยงของลูกค้าขึ้นมาเอง โดยกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำจะสามารถกู้เงินด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ากลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง แทนที่จะใช้ระบบอัตราเดียวทั้งกระดานโดยอิงจากเพดานอัตราดอกเบี้ย

ที่สำคัญคือสถาบันการเงินจะต้องสื่อสารอย่างโปร่งใสกับลูกค้า โดยระบุอย่างชัดเจนว่าระดับความเสี่ยงของลูกค้าประเมินจากอะไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้ความเสี่ยงดังกล่าวต่ำลง ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินให้พึงประสงค์ ในขณะเดียวกันก็จูงใจให้คนที่มีประวัติสินเชื่อดีรักษาเครดิตตัวเองเอาไว้ เพื่อให้ได้รับเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้นไปในอนาคต

กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ใช้มานับทศวรรษในสหรัฐอเมริกา โดยมีการศึกษาพบว่ากลไกดังกล่าวช่วยให้ลูกหนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินให้ดีขึ้นได้จริง โดยครัวเรือนยากไร้และคนชายขอบสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินก็แข่งขันกันพัฒนาแบบจำลองประเมินความเสี่ยงให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งหันมาใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น การชำระค่าโทรศัพท์ เพื่อประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมจากที่เคยใช้ข้อมูลเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย เพราะเมื่อขยับเพดานอัตราดอกเบี้ยให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องยิ่งเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินร่วมมือเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคโดยเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น หรือมุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยโหดให้กับกลุ่มเปราะบางทั้งที่รู้ว่าลูกค้ากลุ่มนั้นไม่มีทางที่จะชำระหนี้ได้

ธุรกรรม ‘รับจ่ายบิลแลกเงินสด’ นับเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในประเทศไทย และตราบใดที่เรายังไม่ปลดล็อกการกำกับดูแลด้วยเพดานอัตราดอกเบี้ยสู่กลไกที่ปล่อยให้ตลาดสามารถกำหนดดอกเบี้ยได้อย่างอิสระ เราก็คงไม่มีวันเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้มาเป็นหนี้ในระบบได้สำเร็จ

เอกสารประกอบการเขียน

Interest rate controls: A popular tool with potentially important negative consequences

Do Interest Rate Controls Work? Evidence from Kenya

The Economic Benefits of Risk-Based Pricing for Historically Underserved Consumers in the United States

(ร่าง) กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย (Risk-based pricing) และการทดสอบใน Sandbox

Tags: , , , , , ,