อีกครั้งที่ความเห็นของเหล่ากูรูการเงินชวนให้ผมสงสัยว่า เราเรียนตำราเดียวกันหรือเปล่า หลังจากที่พวกเขาออกโรงปกป้องภาคธนาคารไทยโดยอวยยศว่าเป็น ‘อุตสาหกรรมพิเศษ’ ที่การแข่งขันไม่อาจช่วยลดดอกเบี้ยลงได้ ที่สำคัญคือการแข่งขันในภาคธนาคารอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะกลายเป็นว่ามีธนาคารเล็กๆ จำนวนมากที่พร้อมจะล้มหายตายจาก ไม่แข็งแรงมั่นคงเทียบเท่ากับระบบเศรษฐกิจที่ธนาคารขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งมีการแข่งขันที่ไม่เข้มข้นนัก
ผมขอตอบข้อสงสัยดังกล่าวด้วยหนึ่งประโยคที่สั้นกระชับซึ่งปรากฏในหน้าเว็บไซต์ธนาคารกลางอังกฤษว่า
“เป้าหมายของเราคือการทำให้ธนาคารมั่นคงปลอดภัย แต่การแข่งขันในระดับหนึ่งย่อมดีต่อผู้บริโภค”
ในบทความนี้ ผู้เขียนขอชวนอ่านงานวิจัยทั้งภาคทฤษฎีและเชิงประจักษ์ที่ยืนยันตรงกันว่า การเพิ่มการแข่งขันในภาคธนาคารเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคจริง พร้อมทั้งอธิบายว่า ทั้งภาคการเงินที่มีธนาคารขนาดเล็กจำนวนมาก หรือภาคการเงินที่มีธนาคารขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง ต่างก็เผชิญความเสี่ยงเชิงระบบที่ต้องอาศัยกลไกกำกับดูแลมาจัดการเช่นกัน
การแข่งขันในภาคธนาคารส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยอย่างไร
การแข่งขันส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร?
ผมขอชวนตอบคำถามนี้ ด้วยการจินตนาการถึงซอยเปลี่ยวที่คนทั้งชุมชนต้องพึ่งพาร้านขายของชำร้านเดียว ส่วนร้านชำถัดไปอยู่ไกลออกไปอีก 20 กิโลเมตร ในสถานการณ์เช่นนี้ ร้านขายของชำจึงมีอำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจขนาดย่อม เมื่อผู้บริโภคไม่มีตัวเลือก เถ้าแก่จึงสามารถทำกำไรได้มหาศาล สามารถตั้งราคาสินค้าได้ตามใจ แถมยังไม่ต้องแสวงหาสินค้าใหม่เพื่อดึงดูดผู้บริโภค เพราะอย่างไรพวกเขาก็ต้องมาซื้อสินค้าจากร้านนี้อยู่ดี
หากวันหนึ่งมีร้านขายของชำเจ้าใหม่มาเปิดใกล้ๆ สิ่งที่ตามมาคือการแข่งขัน เพราะผู้บริโภคย่อมเลือกร้านที่ตรงใจตามรสนิยมของตัวเอง เช่น ร้านที่ขายสินค้าราคาถูกกว่า ร้านที่บริการดีกว่า หรือร้านที่มีสินค้าให้เลือกมากกว่า ร้านขายของชำทั้งสองแห่งจึงต้องพยายามปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการผู้บริโภค
พลวัตดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมากเข้าสู่ตลาด ‘มือที่มองไม่เห็น’ จะทำงานให้ร้านขายของชำบางร้านอยู่รอด ขณะที่บางร้านต้องตายจากไป โดยที่คู่แข่งหน้าใหม่ต้องพยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อดึงดูดผู้บริโภค สงครามธุรกิจจึงทำให้ประชาชนได้ประโยชน์แบบเต็มๆ
แน่นอนว่ารูปแบบการทำธุรกิจของธนาคารกับร้านของชำนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความสลับซับซ้อน อีกทั้งกำไรของธนาคารไม่ได้มาจากการซื้อมาขายไป แต่เป็นการเก็บ ‘ส่วนต่าง’ จากดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารต้องจ่าย และรายได้ดอกเบี้ยที่ธนาคารเก็บได้จากลูกหนี้ ที่ในแวดวงการลงทุนเรียกว่า ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ก่อนจะหักด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าดำเนินการและหนี้ก่อนถึงมือผู้ถือหุ้น ยังไม่นับว่าอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่ขยับตามกลไกตลาดเพียงลำพัง แต่ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารเป็นผู้กำหนด
ด้วยเอกลักษณ์ของภาคธนาคารทำให้หลายคนคาใจว่า ทฤษฎีการแข่งขันอาจไม่สามารถนำมาใช้กับอุตสาหกรรมนี้ได้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเชิงประจักษ์หลายชิ้นต่างยืนยันตรงกันว่า การแข่งขันในภาคธนาคารส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง หมายความว่า ธนาคารจะแข่งขันกันดึงดูดเงินออม ด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราสูงขึ้น และปล่อยสินเชื่อในอัตราที่ถูกลง พร้อมทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายช่วยให้ลูกค้ารายย่อยหรือธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
การถกเถียงเรื่องผลประโยชน์ที่จะตกอยู่ในมือผู้บริโภค หากมีการแข่งขันในภาคธนาคารจึงถือว่าได้ข้อยุติ ในขณะประเด็นสำคัญที่ยังถูกหยิบมาถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องคือ ‘เสถียรภาพ’ ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินจำนวนหนึ่งยังมองว่า ความมั่นคงของภาคการเงินอาจถูกสั่นคลอนหากมีการแข่งขันที่มากเกินไป
การแข่งขันกับความมั่นคงในภาคธนาคาร
เมื่อพูดถึงการแข่งขันในภาคธนาคาร นักเศรษฐศาสตร์มักเสียงแตกออกเป็นสองฝั่ง
ฝั่งแรกมองว่าการสนับสนุนการแข่งขันในภาคธนาคารมากเกินไปจะทำลายเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะธนาคารขนาดเล็กจำนวนมากย่อมเสี่ยงล้มละลายง่ายกว่าธนาคารขนาดใหญ่ อีกทั้งอัตรากำไรที่หดหายยังส่งผลให้เหล่าธนาคารต้องหาทางทำกำไรด้วยการแสวงหาความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มคนที่ไม่ควรได้สินเชื่อ หรือการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่กำไรดีและถ่ายโอนความเสี่ยงให้กับนักลงทุนรายอื่น
ตัวอย่างคลาสสิกของนักเศรษฐศาสตร์ค่ายนี้ คือวิกฤตซับไพรม์ (Subprime) ในสหรัฐอเมริกา ที่มีธนาคารพาณิชย์ที่รัฐบาลรับประกันมากกว่า 4,000 ธนาคาร หากนับเพียงธนาคารขนาดใหญ่ก็ปาเข้าไป 500 กว่าแห่ง การแข่งขันในตลาดการปล่อยสินเชื่อนำไปสู่การขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มลูกหนี้ที่เครดิตไม่ดีมากนัก หรือซับไพรม์ ก่อนที่เหล่านักการเงินจะสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่าง ‘ตราสารหนี้’ ที่มีสินเชื่อจำนองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Mortgage-Backed Security: MBS) ที่ถ่ายโอนความเสี่ยงให้กับนักลงทุน ขนาดของสินเชื่อดังกล่าวพองโตขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งฟองสบู่ก็ระเบิด เมื่อเหล่าลูกหนี้ซับไพรม์เริ่มผิดนัดชำระหนี้พร้อมกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซบเซายาวนับทศวรรษ
ขณะที่อีกฝั่งกลับเห็นตรงข้าม มองว่าการแข่งขันในภาคธนาคารมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่าโทษทางเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหากภาคธนาคารมีสภาพเป็นตลาดแข่งขันน้อยราย สุดท้ายเหล่าธนาคารพาณิชย์จะกลายสภาพเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้ (Too Big to Fail) กล่าวคือถ้าธนาคารจะล้ม รัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุ้มอยู่ดี เพราะถ้าปล่อยให้ล้มละลายจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
ภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดเป็นปัญหา ‘จริยวิบัติ’ (Moral Hazard) เพราะนายธนาคารยักษ์ใหญ่รู้ดีว่า ตนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และรัฐบาลคงไม่ปล่อยให้ล้มง่ายๆ จึงกำหนดกลยุทธ์โดยแสวงหาความเสี่ยงเกินตัวเพื่อโกยกำไรเข้ากระเป๋า เมื่อใดก็ตามที่เก็งกำไรพลาดจนเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อบริษัท รัฐบาลก็จะรีบช่วยแก้ปัญหาโดยใช้เงินภาษีประชาชนอุ้ม เพราะไม่อยากให้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ
ไม่ว่าทางไหน เหล่านายธนาคารก็หาช่องทางแสวงหาความเสี่ยงเกินตัวเพื่อเก็งกำไร จะดีกว่าไหมหากเราเลือกเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และพยายามออกแบบกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลธนาคารอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน แทนที่จะปล่อยให้ธนาคารมีอำนาจเหนือตลาดแล้วหวังพึ่ง ‘มือที่มองไม่เห็น’ ช่วยจัดการสร้างเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ
ตัวชี้วัดเรื่องการแข่งขันในภาคธนาคารไทยสะท้อนภาพ ‘อำนาจเหนือตลาด’ มาอย่างยาวนาน โดยส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนอำนาจของธนาคารพาณิชย์ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ แน่นอนว่าสภาวะดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเหล่าธนาคารพาณิชย์ไม่ได้แสวงหารายรับผ่านการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น หรือการแสวงหานวัตกรรมเพื่อดึงดูดผู้บริโภค แต่จะทำกำไรด้วยการกดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั่นเอง
ดังนั้น ข้อเสนอเรื่องเพิ่มการแข่งขันในภาคธนาคารโดยการเปิดทางให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าแข่งขันจึงเป็นเรื่องที่น่ารับฟัง เพราะผู้บริโภคได้ประโยชน์แน่ๆ แต่มีข้อควรระวัง นั่นคือการกำกับดูแลและป้องกันความเสี่ยงอย่างเข้มข้นและเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าการแข่งขันที่ดุเดือดในภาคธนาคารจะไม่สั่นคลอนเสถียรภาพของระบบการเงิน
เอกสารประกอบการเขียน
Why is competition important in banking?
Banking competition and economic growth
The impact of competition and bank market regulation on banks’ cost efficiency
Competition in Banking: A Review of the Literature
How Does Bank Competition Affect Solvency, Liquidity and Credit Risk?
Tags: เศรษฐศาสตร์, Economic Crunch, Banking Sector Competition, การแข่งขันภาคธนาคาร