ปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การว่างงาน และค่าเงินที่อ่อนปวกเปียกจนนำไปสู่วิกฤติการเงินดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังในตุรกีที่ดิ้นเท่าไหร่ก็ยังไม่หลุด โดยล่าสุดมีทีท่าว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะระส่ำระสายอีกครั้งหลังจากค่าเงินลีราร่วงฮวบไปราว 15 เปอร์เซ็นต์ในวันเดียว แตะระดับ 8.39 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกือบต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ประเทศก็เพิ่งผ่านพ้นวิกฤติการเงินครั้งล่าสุดไปไม่ถึง 3 ปี

แม้ว่าวิกฤติครั้งก่อนยังพอจะโทษปัจจัยภายนอกได้บ้าง แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะความเชื่อมั่นที่หดหายเกิดจากการตัดสินใจของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) ที่สั่งปลดนาจี อักบัล (Naci Agbal) ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศตุรกีแบบฟ้าผ่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญคือความขัดแย้งด้านทางความคิดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ว่าการธนาคารกลางของตุรกีถูกปลดฟ้าผ่า เพราะในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารกลางเปลี่ยนแปลงมาแล้วสามครั้ง และซาฮับ คาฟจากลู (Sahap Kavcioglu) ผู้มีมุมมองเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับประธานาธิบดีแอร์โดอันจะทำหน้าที่กุมบังเหียนธนาคารกลางเป็นคนที่สี่

หากแนวคิดของท่านประธานาธิบดีกับผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจตุรกีให้กลับมาผงาดอีกครั้งก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคจะต้องฉีกตำราทฤษฎีเดิมทิ้งแล้วเชิดชูทั้งสองท่านให้เป็นเจ้าสำนัก ‘ดอกเบี้ยทฤษฎีใหม่’ แต่หากไม่เป็นไปตามที่หวัง เศรษฐกิจตุรกีจะเปลี่ยนจากวิกฤติสู่หายนะ และอาจเผชิญเงินเฟ้อสูงยิ่งยวดที่อาจต้องใช้เวลานับสิบปีเพื่อกลับมาเริ่มต้นที่ศูนย์อีกครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างหลัง นำไปสู่ความพรั่นพรึงต่อวิกฤติการเงินในตุรกีรอบใหม่ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเจ้าหนี้ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ‘ป่วยซ้ำซ้อน’ จากทั้งการระบาดของโควิด-19 และปัญหาหนี้เสียของเหล่าลูกหนี้ในประเทศตุรกี

วิกฤติค่าเงินตุรกี 2018

ย้อนกลับไปไม่ถึง 3 ปี ตุรกีเพิ่งเผชิญกับวิกฤติการเงินซึ่งค่าเงินลีราร่วงฮวบจากหลากหลายปัจจัย เริ่มจากปัจจัยภายในประเทศจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างนำไปสู่การกู้ยืมมูลค่ามหาศาลจากต่างชาติเพื่อนำมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การลงทุนดังกล่าวดูจะไม่ได้ผลตอบแทนดีเท่าที่หวังและอาจทำให้เหล่าบริษัทลูกหนี้เผชิญความยุ่งยากที่จะจ่ายเงินคืน

แต่จุดที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่อตุรกีร่วงฮวบคือการปะทะกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาด้วยกรณีน้ำผึ้งหยดเดียวคือ การกักตัวศาสนาจารย์ แอนดรูว์ บรันสัน (Andrew Brunson) นักบวชชาวอเมริกันที่ศาลตุรกีตัดสินว่าพัวพันกับการก่อการร้าย โดยสหรัฐฯ เรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวศาสนาจารย์บรันสันเพราะมองว่าศาลตุรกีตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม แต่เมื่อรัฐบาลตุรกีปฏิเสธคำขอร้องดังกล่าว สหรัฐฯ จึงตัดสินใจดำเนินนโยบายตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินลีราดิ่งลงเหว และเอกชนเริ่มร้องขอให้มีการปรับโครงสร้างหนี้

ปัญหาดังกล่าวดูคลับคล้ายคลับคลากับวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540 ของไทย โดยจุดเริ่มต้นของวิกฤติเกิดจากการกู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศมูลค่ามหาศาล ซึ่งมีข้อเสียขั้นมหันต์คือมูลค่าหนี้จะผันผวนไปตามค่าเงิน ถ้าค่าเงินในประเทศอ่อนก็จะทำให้หนี้ที่ต้องจ่ายพร้อมกับดอกเบี้ยงอกเงยในระดับมหาศาล ตัวอย่างเช่น บริษัท A กู้เงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วแปลงกลับเป็นเงินบาทไทย ณ เวลาที่กู้ได้ในอัตรา 20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หมายความว่ามูลหนี้ในขณะนั้นจะเท่ากับ 200 ล้านบาท แต่วันดีคืนดี ความเชื่อมั่นที่ลดน้อยถอยลงก็ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเหลือ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ มูลหนี้จึงงอกเงยจาก 200 ล้านบาท เป็น 250 ล้านบาทเทียบเท่ากับการเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ในชั่วพริบตา

นอกจากนี้ การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมากแล้วนำมาลงทุนในประเทศก็ทำให้ปริมาณเงินที่ล้นเหลือและนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ตามทฤษฎีดอกเบี้ยของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ธนาคารกลางจึงต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงลิบเพื่อจำกัดการกู้ยืมเงินจากประชาชนและเอกชนเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจ ‘ร้อน’ เกินไปซึ่งประธานาธิบดีแอร์โดอันเห็นต่างและนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารกลางครั้งแล้วครั้งเล่า

รัฐบาลตุรกีรักษาศรัทธาของประชาชนท่ามกลางวิกฤติโดยปัดความรับผิดชอบว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นแผนการทำลายตุรกีของต่างชาติพร้อมประกาศนโยบายปรับสมดุลเศรษฐกิจ (rebalancing of the economy) ทั้งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับโครงสร้างหนี้บริษัทร่วมหนึ่งพันบริษัท การแปลงรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน สารพัดนโยบายลดภาษี รวมถึงปล่อยตัวศาสนาจารย์บรันสันกลับสหรัฐอเมริกา

นโยบายการเงินในสองปีแห่งความโกลาหล

หลังจากเผชิญวิกฤติค่าเงินเมื่อปี 2018 เศรษฐกิจตุรกีก็ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับพร้อมกับค่าเงินที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่การฟื้นตัวก็ยังเร็วไม่ทันใจประธานาธิบดีแอร์โดอันผู้พยายามกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงสูงลิ่ว เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางโดยให้ มูรัต อุยซัล (Murat Uysal) กุมบังเหียนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2019 ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางครั้งแล้วครั้งเล่าในรอบสองปี

สิ่งแรกที่ผู้ว่าการฯ คนใหม่ทำคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งมโหฬารที่ 4.25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 8.75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ราว 11 เปอร์เซ็นต์ นี่คือสูตรสำเร็จของหายนะค่าเงินตามทฤษฎีดอกเบี้ยกระแสหลักที่มองว่าในภาวะดังกล่าว ผู้กู้ยืมเงินจะสามารถทำกำไรได้ในอัตราใกล้เคียงกับส่วนต่างของทั้งสองตัวแปรซึ่งจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้นและค่าเงินอ่อนตัวลง

นอกจากนี้ นายอุยซัลยังใช้วิธีตามตำราเพื่อหวัง ‘กระตุ้น’ มูลค่าเงินโดยการแทรกแซงตลาด ทุ่มเงินตราสำรองของธนาคารกลางซึ่งอยู่ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าร่วม 1.3 แสนล้านดอลลาร์ฯ เพื่อกว้านซื้อเงินลีราในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกฎเกณฑ์เข้มงวดในการถือเงินลีราของธนาคารต่างชาติเพื่อป้องกันการโจมตีค่าเงิน รวมถึงกฎหมายห้ามเผยแพร่ ‘ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ’ เกี่ยวกับตลาดเงินซึ่งเป็นการกึ่งบังคับให้ประชาชนมองข้ามปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องพูดถึง

แต่มาตรการเหล่านั้นก็ไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เมื่อค่าเงินลีรามีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่นำเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศ ส่งผลให้สกุลเงินลีราร่วงลงอีกกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา 

หลังเห็นท่าจะไม่ไหว ประธานาธิบดีแอร์โดอันจึงกัดฟันประกาศต่อสาธารณะว่าถึงเวลา ‘กลืนยาขม’ เขาประกาศเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางเป็นครั้งที่สองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยให้ นาจี อักบัล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขึ้นดำรงตำแหน่งพร้อมกับให้คำสัญญาว่าจะไม่ยุ่มย่ามการตัดสินใจ

แม้นายอักบัลจะได้รับมรดกคือเงินเฟ้อระดับสองหลัก ค่าเงินอ่อนปวกเปียก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ร่อยหรอ แต่เขาสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลางให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาราว 5 เดือนที่ดำรงตำแหน่ง เขาประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นถึง 8.75 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกคือ 19 เปอร์เซ็นต์

แม้ตัวเลขดังกล่าวจะดูน่าหวั่นวิตก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าพึงพอใจเพราะค่าเงินลีราของตุรกีค่อยๆ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มยังสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างวางใจให้นายอักบัลดูแลนโยบายการเงิน แต่อนาคตที่ดูสดใสของตุรกีสลายไปในพริบตาเมื่อประธานาธิบดีแอร์โดอันเซ็นให้นายอักบัลพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้ง นายซาฮับ คาฟจากลู ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

นิทานสอนใจ ทำไมธนาคารกลางที่เป็นอิสระจึงสำคัญ

ไม่กี่ชั่วโมงหลังคำสั่งดังกล่าวเปิดเผยต่อสาธารณะ ค่าเงินลีราอ่อนตัวลงกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวันแรกที่ตลาดหุ้นทำการก็ปรับตัวติดลบกว่า 16 เปอร์เซ็นต์โดยต้องหยุดพักการซื้อขายหลังจากเปิดตลาดเพียง 45 นาที นับเป็นปฏิกิริยาตอบกลับรุนแรงที่แม้แต่ประธานาธิบดีแอร์โดอันยังอาจคาดไม่ถึง

สาเหตุก็เพราะคำสั่งดังกล่าวทำลายความเป็นอิสระของธนาคารกลางจากฝั่งการเมืองซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานที่แทบทุกประเทศทั่วโลกยึดถือ เนื่องจากนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมักจะเผชิญแรงกดดันในระยะสั้นและมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยลดอัตราการว่างงานในระยะสั้น สร้างภาพลวงตาว่าเศรษฐกิจดี ค่าแรงเพิ่ม และทุกคนมีงานทำ แต่ในระยะยาวอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรงและนำไปสู่การว่างงานที่ยากจะแก้ไข

หน้าที่ของธนาคารกลางจึงไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการรักษาเสถียรภาพซึ่งบางครั้งอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแต่จะดีต่อสาธารณะในระยะยาว โดยมีการศึกษาพบว่าธนาคารที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารจะสามารถจัดการปัญหาเงินเฟ้อได้ดีกว่า และมีภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่า

หลายครั้งการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางอาจเป็นที่ขัดอกขัดใจนักการเมืองและประชาชน แต่ละประเทศจึงมีวิธีของตนเองเพื่อสร้างความมั่นใจว่าธนาคารกลางจะมีอิสระ เช่น บราซิลที่เพิ่งผ่านกฎหมายให้นักการเมืองไม่สามารถยุ่มย่ามกับการตัดสินใจของธนาคารกลางได้ หรือสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางก็จริง แต่ธนาคารกลางสหรัฐก็ยึดคำประกาศว่าตนเองเป็นอิสระจากฝั่งบริหารตั้งแต่ปี 1951 ที่เป็นสัญญาใจจวบจนปัจจุบัน แม้กระทั่งประเทศอย่างรัสเซียที่ประธานาธิบดีดูจะมีอำนาจอย่างล้นเหลือก็ยังเกรงใจผู้ว่าการธนาคารกลางซึ่งคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งมาเนิ่นนานกว่า 8 ปี

การแทรกแซงธนาคารกลางของประธานาธิบดีแอร์โดอันจึงเป็นสัญญาณที่น่าหวั่นเกรงในสายตาของนักลงทุน ยังไม่นับมุมมองต่อทฤษฎีดอกเบี้ยของเขาที่ว่าสาเหตุของเงินเฟ้อเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงซึ่งสวนทางกับทฤษฎีดอกเบี้ยกระแสหลักอย่างสิ้นเชิง

สำหรับประเทศที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศคิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี การที่มีผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ซึ่งมีมุมมองต่อทฤษฎีดอกเบี้ยสอดคล้องกับประธานาธิบดีแอร์โดอันจึงนับเป็นสิ่งที่น่ากังวล หากการทดลองเชิงนโยบายของเขาทั้งสองผ่านพ้นไปได้ด้วยดีก็จะนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของทฤษฎีดอกเบี้ยสำนักแอร์โดอัน แต่หากไม่เป็นไปตามที่หวัง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอาจคล้ายกับวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยที่นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศย่ำแย่แล้ว ยังอาจลุกลามไปสู่ประเทศข้างเคียงจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั้งภูมิภาค

โลกเรากำลังจะได้ทฤษฎีดอกเบี้ยฉบับใหม่หรือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ ผู้เขียนขอเชิญชวนให้มาร่วมลุ้นด้วยใจระทึก!

 

เอกสารประกอบการเขียน

The Making of Turkey’s 2018-2019 Economic Crisis

Turkey’s lira crisis explained

Recep Tayyip Erdogan faces up to economic facts

Turkey’s defence of the lira has been unwise and ineffective

Turkey’s currency plunges after the head of the country’s central bank is fired.

A debacle at Turkey’s central bank

Tags: , , , ,