จากการติดตามมหากาพย์วัคซีนและผลงานการบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ในไทยมาร่วมปีเศษๆ ในฐานะบัณฑิตด้านการเงินก็เริ่มมองเห็นความคลับคล้ายคลับคลาระหว่างการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาล และข้อผิดพลาดสามัญธรรมดาที่พบได้ในโลกการลงทุน

อ่านแล้วอาจจะสงสัยว่าสองอย่างนี้จะเหมือนกันได้อย่างไร?

หากเทียบง่ายๆ ว่าวัคซีนก็ไม่ต่างจากทางเลือกในการ ‘ลงทุน’ ของรัฐบาล โดยหวังผลตอบแทนก็คือจำกัดจำนวนผู้เสียชีวิตและปกป้องเศรษฐกิจไม่ให้พังทลาย รัฐบาลที่มีเหตุมีผลย่อมต้องคัดสรรวัคซีนที่มีศักยภาพสูง พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงโดยสั่งซื้อจากหลายๆ บริษัท หากแผนที่วางไว้ไม่เป็นตามหวัง ก็ควรจะกัดฟัน ‘ตัดขาดทุน’ ไม่ใช่ทู่ซี้เดินตามแผนเดิมเพราะกลัวเสียหน้า แล้วพาประชาชนลงเหวไปด้วย 

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะทำตรงข้ามกับหลักการไปเสียหมด ราวกับไม่มีความรู้ใดๆ ด้านการลงทุน ทั้งที่รัฐมนตรีบางคนเคยสวมหัวโขนเป็นถึงผู้บริหารบริษัทมหาชน ซึ่งต้องตัดสินใจเลือกลงทุนในโครงการมูลค่าหลักแสนล้านบาท

นอกจากนี้ ประชาชนก็มีฐานะไม่ต่างจาก ‘ผู้ถือหุ้น’ ประเทศคนละหนึ่งเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ครั้งหนึ่งเราเคยลงคะแนนเลือกผู้แทนเข้าสภาฯ พร้อมมอบอำนาจให้ผู้แทนเหล่านั้นออกเสียงเลือกผู้บริหารประเทศ แต่บทบาทของประชาชนก็ยังไม่หมดนะครับ เรายังคงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตั้งคำถาม ตรวจสอบ และเสนอแนะให้ทีมผู้บริหารทำงานอยู่กับร่องกับรอย น่าแปลกใจที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยละเลยหน้าที่ดังกล่าว อีกทั้งยังปกป้องทีมบริหารแบบออกหน้าออกตาทั้งที่ผลประกอบการย่ำแย่

สำหรับประชาชนที่ยังไม่ยอมแพ้ก็อย่าเพิ่งถอดใจนะครับ จำให้ขึ้นใจว่าอำนาจที่ผู้บริหารมีในตอนนี้ ที่จริงแล้วก็คืออำนาจของผู้ถือหุ้น ถ้าวันหนึ่งทีมบริหารไม่ได้ตอบโจทย์สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ตั้งเป้าแสวงหาผลประโยชน์สำหรับพรรคพวกของตนเอง เราก็มีสิทธิ์ที่จะทวงคืนอำนาจนั้นเพื่อส่งต่อให้ทีมบริหารคนใหม่ขึ้นมาดูแลแทน

‘ม้าเต็ง’ ไม่มีอยู่จริง

สำหรับคนที่เคยสนใจในการลงทุน คุณอาจเคยได้ยินเสียงกระซิบจาก ‘วงใน’ แนะนำหุ้นหรือหลักทรัพย์บางตัวที่เป็น ‘ม้าเต็ง’ ว่าถ้าซื้อตอนนี้ อีกไม่นานรับรองรวยเละ เสียงดังกล่าวอาจดังจากกลุ่มไลน์ลับสำหรับการลงทุน แว่วมาจากปากผู้เชี่ยวชาญในโทรทัศน์ หรือฟังกันมาจากเพื่อนในที่ทำงาน

สมัยที่ยังไม่ประสาโลก ผมก็เคยลงทุนตามเพราะหลงเชื่อเสียงกระซิบเหล่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือม้าเต็งกลับกลายเป็นม้าตาย นี่คือบทเรียนแรกในแวดวงการลงทุน คือม้าเต็งไม่มีอยู่จริง และต่อให้มันมีอยู่จริง มันก็จะถูกคว้าไปอย่างรวดเร็วโดยคนที่เก่งและมีประสบการณ์ในตลาดมากกว่าเรา

ในการทำธุรกรรมหนึ่งครั้งจะมีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หากเราเข้าใจ (เอาเอง) ว่ากำลังซื้อหุ้นม้าเต็งที่จะทำกำไรได้อย่างมหาศาล คนที่จะเดินมาขายให้กับคุณก็ต้องเป็นคนโง่ที่ไม่รู้สี่รู้แปด คุณคิดว่าคนประเภทนี้จะมีกันสักกี่คนกันเชียวในตลาดหุ้น ซึ่งมีแต่นักการเงินเขี้ยวลากดิน? ในทางกลับกัน คนที่เดินมาขายก็อาจกำลังคิดว่าเราโง่มากๆ ที่มาซื้อหุ้นตัวนี้เพราะข่าวลือที่ปล่อยเพื่อหวังปั่นราคา

บางคนอาจเถียงโดยยกตัวอย่างนักลงทุนระดับตำนานอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ที่ร่ำรวยมหาศาลจากการแทงม้าเต็ง แต่ขอโทษเถอะ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเปิดทำการซื้อขายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 คุณรู้จักนักลงทุนที่ทำกำไรจากการเลือกหุ้นจนร่ำรวยล้นฟ้ากี่คนกันเชียว มหาเศรษฐีจากการเก็งกำไรหุ้นเพียงอย่างเดียวมีจำนวนแบบนับนิ้วได้ แต่คนเหล่านี้มักเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนเราเข้าใจกันไปเองว่าในตลาดหุ้นมีแต่คนเล่นแล้วรวย

ที่สำคัญ ตอนนี้บัฟเฟตต์เองก็ยังไม่มีแผนเกษียณนะครับ คุณจะไปแทงมาเต็งแข่งกับเขาไหวหรือ?

สัญญาซื้อขายที่ดีคือสัญญาที่ไม่มีใครสักคนพอใจ เพราะทั้งสองฝั่งย่อมรู้สึกว่าอีกฝ่ายเอาเปรียบเล็กน้อย การที่รัฐบาลไทยบอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าคัดสรรวัคซีนที่ดีที่สุดโดยเป็นการ ‘แทงม้าเต็ง’ จึงถือเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่ต่างจากการทำสัญญากับบริษัทแอสตราเซนเนกาที่พยายามย้ำนักหนาว่าไทยมีแต่ได้กับได้ ต่อมาสัญญาก็ถูกเปิดโปงว่าเป็นเพียงการที่ไทยยอมเสียเปรียบหลายประการเพื่อหวังให้บริษัทเลือกเป็นฐานการผลิต แลกกับตารางการจัดส่งวัคซีนที่ยืดหยุ่นจนกลายเป็นปัญหาวัคซีนหลักไม่มาตามนัด ทำให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุน

  สำหรับปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ถ้าไม่ได้คิดว่าตนเองฉลาดกว่าค่าเฉลี่ยของนักลงทุนในตลาด ก็อย่าไปเสียเวลามองหาม้าเต็งเลยครับ เรามาลงทุนแบบเน้นกระจายความเสี่ยงที่สร้างผลตอบแทนแค่สมน้ำสมเนื้อก็พอ

จงกระจายความเสี่ยง

“อย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียว”

ประโยคคลาสสิกนี้ปรากฏในเรื่อง ดอนกิโฆเต้ วรรณกรรมเก่าแก่ที่มีอายุร่วม 400 ปีเศษ สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องความเสี่ยงและการกระจายความเสี่ยงเป็นศาสตร์ที่แสนจะโบร่ำโบราณ แนวคิดดังกล่าวพัฒนาเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดย แฮร์รี มาร์โควิตซ์ (Harry Markowitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้นำเสนอทฤษฎีพอร์ตฟอร์ลิโอสมัยใหม่ (Modern Portfolio Theory) ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนของหลักทรัพย์ตั้งแต่สองตัวขึ้นไป

การลงทุนโดยทุ่มเงินเก็บทั้งหมดไปกับหุ้นเพียงตัวเดียว ก็ไม่ต่างจากการฝากฝังอนาคตในยามเกษียณไว้กับผลประกอบการของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ในทางทฤษฎีพบว่า การลงทุนในบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงลงอย่างมาก ขณะที่ผลตอบที่คาดการณ์ไว้แม้จะลดลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สมน้ำสมเนื้อ 

การกระจายความเสี่ยงอาจไม่เหมาะกับคนกล้าได้กล้าเสีย ที่หากไม่ได้เป็นเศรษฐีก็พร้อมจะสิ้นเนื้อประดาตัว แต่สำหรับปุถุชนคนธรรมดา ผมแนะนำว่ากระจายความเสี่ยงเถอะครับ โดยเฉพาะกับเป้าหมายในอนาคตที่ไม่ควรจะเสี่ยง เช่น ทุนการศึกษาของลูกหลาน หรือเงินออมสำหรับค่ารักษาพยาบาล

แม้หลักการดังกล่าวจะเป็นเรื่องแสนสามัญธรรมดา แต่น่าแปลกที่ผู้บริหารในรัฐบาลชุดนี้ดูจะไม่เข้าใจมันแม้แต่นิดเดียว สะท้อนจากแผนการจัดหาวัคซีนเมื่อต้นปีจำนวนทั้งหมด 63 ล้านโดส โดย 97 เปอร์เซ็นต์ของวัคซีนทั้งหมดสั่งจากบริษัทแอสตราเซนเนกา แผนดังกล่าวไม่ต่างจากการวางเดิมพันอนาคตของประเทศกับการส่งมอบวัคซีนของบริษัทเดียว อีกทั้งยังไม่ยอมเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งจะทำให้ประเทศเข้าถึงพอร์ตฟอร์ลิโอของวัคซีนที่หลากหลาย ไม่ต้องฝากอนาคตของประเทศไว้กับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง

ผลลัพธ์ที่ได้ก็อย่างที่เราเห็นกันอยู่ตำตา พอวัคซีนหลักไม่มาตามนัด รัฐบาลก็เลยต้อง ‘ขัดตาทัพ’ โดยการจัดการวัคซีนประสิทธิภาพด้อยกว่าแต่มีของพร้อมส่ง ทั้งที่ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากวางแผนกระจายความเสี่ยงตั้งแต่ต้น

ปัจจุบัน คนที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสในไทยถึงยังไม่แตะสิบเปอร์เซ็นต์เสียที ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียซึ่งสั่งวัคซีนอย่างน้อย 5 ชนิด สามารถฉีดวัคซีนครบสองโดสให้ประชากรไปแล้วเกือบสามสิบเปอร์เซ็นต์

อย่าตัดสินใจโดยมองแต่อดีต

วิธีที่หลายคนใช้ในการเลือกหุ้นเด่นหรือกองทุนดี คือการพิจารณาจากผลประกอบการ หากบริษัทไหนกำไรต่อหุ้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง กองทุนใดผลตอบแทนดีเลิศกว่าเพื่อน ก็ถือว่าเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ปลอดภัยหายห่วง ลงทุนวันนี้ร่ำรวยวันหน้าแน่นอน

วิธีคิดแบบนี้ทำนักลงทุนทั้งมือเก่าและมือเก๋าขาดทุนมาแล้วนักต่อนัก เพราะเรามักหลงลืมไปว่าผลประกอบการและผลตอบแทนที่เราเห็นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ส่วนอนาคตจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ไม่มีใครตอบได้ การพิจารณาอดีตเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล

หนึ่งในนักลงทุนชื่อดังที่ขาดทุนครั้งมโหฬาร เพราะพิจารณาเพียงข้อมูลในอดีตและคาดการณ์อนาคตผิดพลาด ก็คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นี่แหละครับ หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการควบรวมบริษัทในอุตสาหกรรมรองเท้าหลายต่อหลายครั้ง บัฟเฟตต์ในวัย 63 ปี ตัดสินใจเข้าซื้อเด็กซ์เตอร์ชูส์ (Dexter Shoes) บริษัทผลิตรองเท้าที่มีผลประกอบการในอดีตดีเยี่ยมในปี 1993

ไม่กี่ปีให้หลัง มูลค่าของบริษัทดังกล่าวก็ดิ่งลงเหลือศูนย์ เนื่องจากการเข้ามาตีตลาดของรองเท้าราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนา การมองข้อมูลในอดีตและการยึดติดกับความสำเร็จที่ผ่านมาแล้ว ทำให้บัฟเฟตต์สูญเงินกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หันกลับมาดูที่ประเทศไทย เมื่อปีที่ผ่านมาเรายังภาคภูมิใจกับการได้รับจัดอันดับประเทศที่มีความพร้อมรับมือโรคระบาดอันดับ 6 ของโลก การล็อกดาวน์ที่มีประสิทธิภาพ และการจำกัดการระบาดที่รวดเร็ว จนทำให้ไทยขึ้นแท่นประเทศที่มีการจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งที่มีพรมแดนประชิดติดกับประเทศจีน

แต่การยึดติดกับภาพจำดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยประมาท ทั้งในเรื่องการจัดการบริเวณพรมแดนที่ปล่อยให้ชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้ามาตาม ‘เส้นทางธรรมชาติ’ พร้อมกับโรคระบาดที่ติดตัวมาด้วย ประกอบกับแผนการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าเพราะชะล่าใจ จนเราเดินมาถึงทุกวันนี้ ที่คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตคาบ้าน มาตรการล็อกดาวน์ไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้เป็นที่น่าพอใจ และไม่มีใครตอบได้ว่าเราจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร

ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่รัฐบาลตัดสินใจโดยมองแค่อดีต แต่กลับมองข้ามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีการรายงานอยู่เนืองๆ และนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าการศึกษาอดีตเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การยึดติดอดีตจนไม่สนใจข้อมูลแวดล้อมในปัจจุบันและขาดวิสัยทัศน์ในการคาดการณ์อนาคต ก็อาจทำให้แผนการลงทุนของคุณมีจุดจบไม่ต่างจากแผนจัดหาวัคซีนของไทยที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า

พร้อมปรับแผน หากเกิดข้อผิดพลาด

เมื่อเราตัดสินใจลงทุนอะไรสักอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือผลกระทบจากการถือครอง (endowment effect) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายว่า มนุษย์ทุกคนไม่อยากพรากจากสิ่งที่อยู่ในครอบครอง เพราะความรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเสียมันไป จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนมักจะถือคติ ‘ไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน’ โดยการกอดหุ้นที่ราคาติดดอยเอาไว้ และไม่มีแผนจะขายจนกว่าจะได้กำไร

แต่ทราบไหมว่า ราคาหุ้นตกนั้นง่ายกว่าราคาหุ้นขึ้น สมมติว่าผมซื้อหุ้น MMT ที่ราคา 100 บาท สองสัปดาห์ต่อมา หุ้นดังกล่าวปรับตัวลดลงเหลือ 80 บาท จนกลายเป็นผลขาดทุน 20 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่ MMT จะขึ้นจาก 80 เป็น 100 บาทเท่าเดิมนั้น ราคาจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 20 เปอร์เซ็นต์เหมือนตอนขาลง! ยิ่งราคาหุ้นดิ่งลงมากเท่าไหร่ โอกาสที่หุ้นจะกลับไปอยู่ที่ระดับราคาเท่าเดิมยิ่งต่ำลงเท่านั้น

เพื่อจัดการปัญหา ‘กอดหุ้น’ จนเสียโอกาสลงทุนอย่างอื่น ผู้เขียนแนะนำให้วางแผนล่วงหน้าว่าเมื่อไรถึงจะต้องขายทิ้ง แล้วทำการปรับพอร์ตฟอร์ลิโอ เช่น ถ้าหุ้นราคาปรับตัวลดลงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เราจะต้องขายทันทีโดยไม่มีข้อแม้หรือข้ออ้างใดๆ แผนดังกล่าวจะช่วยให้เราทำใจไว้ล่วงหน้า และไม่เปิดโอกาสให้อารมณ์มาแทรกแซงเหตุผลในการตัดสินใจ

ย้อนกลับมาดูแผนการจัดหาวัคซีนของไทย ทั้งที่เห็นอยู่ตำตาว่าวัคซีนหลักจัดส่งล่าช้า และวัคซีนที่สั่งมาแก้ขัดใช้ไม่ได้ผลกับสายพันธุ์ใหม่ รัฐบาลก็ยังทู่ซี้เดินตามแผนเดิม ทั้งที่มีงานศึกษาวิจัยกองเป็นตั้งๆ ว่าวัคซีน mRNA สามารถป้องกันการติดเชื้อและการป่วยหนักหากติดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย โดยอ้างถึงงานวิจัยที่มีตัวอย่างหลักสิบ ที่ผลการศึกษาบอกว่าฉีดวัคซีนสูตรสลับแล้ว ‘ภูมิคุ้มกันสูงกว่า’

นอกจากการศึกษาดังกล่าวจะมีกลุ่มตัวอย่างน้อยแล้ว ยังเป็นการใช้ตัวชี้วัด ‘ทางอ้อม’ โดยพิจารณาจากระดับภูมิคุ้มกันที่ตรวจได้ ไม่ใช่ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการระบาดในโลกความเป็นจริง แต่อคติที่ต้องการได้ยินในสิ่งที่อยากได้ยินก็ทำให้รัฐบาลตัดสินใจเดินตามแผนวัคซีนสูตรสลับ ทั้งที่ควรจะรื้อแผนจัดหาวัคซีนทั้งหมดลงแล้วเริ่มมองหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงเพื่อป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตา

แน่นอนครับว่าการกระทำดังกล่าวก็ไม่ต่างจากการยอมรับว่าบริหารงานล้มเหลวและผิดพลาด แต่ตอนนี้คงต้องเลือกระหว่างรักษาหน้าตาและความทะนงของตนเองไว้ หรือจะต้องการรักษาชีวิตประชาชน

ร่วมส่งเสียงในฐานะ ‘ผู้ถือหุ้น’

ในโครงสร้างของบริษัท ผู้ถือหุ้นจะทำหน้าที่เลือกกรรมการบริษัท แล้วกรรมการบริษัทจึงเลือกทีมผู้บริหาร โดยที่ตนเองทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดยุทธศาสตร์ สาเหตุที่กรรมการบริษัทต้องคอยจับตาอย่างใกล้ชิด ก็เนื่องจากผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกับผู้บริหารนั้นอยู่ขั้วตรงข้ามกัน ตัวอย่างเช่น เงินโบนัสมหาศาลหรือการจัดซื้อเครื่องบินส่วนตัวสำหรับผู้บริหาร คือต้นทุนที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทต้องเป็นคนจ่าย

ในโครงสร้างของระบบประชาธิปไตย ประชาชนจะลงคะแนนเลือกตัวแทนเข้าสภาฯ แล้วตัวแทนเหล่านั้นจะทำหน้าที่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ โดยที่เหล่าผู้แทนจะทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ ออกกฎหมาย และกำกับยุทธศาสตร์อีกชั้นหนึ่ง สาเหตุที่ผู้แทนต้องจับตาการทำงานอย่างใกล้ชิด ก็เพราะผลประโยชน์ของประชาชนและคณะรัฐมนตรีอาจไม่ต้องตรงกัน ประชาชนต้องการให้รัฐบาลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนคณะรัฐมนตรีก็ต้องรักษาประโยชน์ส่วนตน เมื่อสบโอกาสก็ ‘หาเศษหาเลย’ กับภาษีประชาชน

สำหรับฝั่งธุรกิจ ผู้ถือหุ้นไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงมากนักนอกเหนือเวลาการประชุมประจำปี โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนไม่มากที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อเปลี่ยนแปลงบริษัท เพราะทางเลือกที่ง่ายกว่าคือการขายหุ้นทิ้ง แล้วมองหาหุ้นใหม่ที่ดูมีอนาคตแบบไม่ต้องเหนื่อย แต่ในมุมมองประเทศนั้นกลับกัน คนจำนวนไม่มากนักที่จะมีทางเลือก ‘ขายหุ้น’ แล้วตัดสินใจย้ายประเทศ อีกทั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีคำว่าผู้ถือหุ้นรายเล็กหรือรายใหญ่ เพราะทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง 

การประชุมเพื่อออกเสียงในระดับประเทศไม่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเพราะต้นทุนสูง หลังจากเลือกตั้งแต่ละครั้งประชาชนจึงได้แต่นั่งทำตาปริบๆ แล้วหวังให้ตัวแทนในสภาทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบ น่าเสียดายที่กลไกดังกล่าวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในไทย เพราะรัฐบาลทหารในปัจจุบันมีกองหนุนจาก ‘สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง’ ที่คัดสรรมากับมือ จนสภาพในปัจจุบันไม่ต่างจากเผด็จการรัฐสภา

เมื่อกลไกตรวจสอบถ่วงดุลไม่ทำงาน ประชาชนที่อดทนต่อความล้มเหลวไม่ได้จึงออกมาแสดงความไม่พอใจและร่วมกันขับไล่รัฐบาล โดยหวังให้คณะทำงานชุดปัจจุบันลาออก เพื่อเปิดทางให้ทีมบริหารชุดใหม่ที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาแทนพร้อมแก้ไขกติกาที่ไม่เป็นธรรม

น่าเสียดายที่รัฐบาลกลับหลงระเริงกับอำนาจที่มีอยู่ในมือ มอง ‘ผู้ถือหุ้น’ ที่ออกมาต่อต้านไม่ต่างจากศัตรู ทั้งที่พวกเขาและเธอเพียงออกมาเพื่อทวงสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย คือกลุ่มผู้เสียสละที่ช่วยส่งเสียงความในใจที่หลายคนไม่กล้าจะพูดออกมาดังๆ หรือมีภาระความรับผิดชอบจนไม่อาจไปเข้าร่วมการแสดงออกทางการเมือง

เมื่อสิ่งที่รัฐไทยในปัจจุบันมอบให้มีเพียงแต่ความสิ้นหวัง ก็ไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยจะเลือกทางยาก ด้วยการกระเสือกกระสนหาทาง ‘ขายหุ้น’ เพื่อไปลงทุนในประเทศที่มีความหวังมากกว่า

ถ้าเห็นแก่ประเทศชาติอย่างที่พร่ำบอกอยู่ทุกวัน ลองหยุดแล้วคิดสักนิดว่า อำนาจในมือและเงินเดือนทุกบาททุกสตางค์นั้นมาจากใคร แล้วควรหรือไม่ที่จะกระทำป่าเถื่อนรุนแรงต่อประชาชนที่เพียงวาดฝันว่าอยากจะมีอนาคตที่ดีกว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เห็นอยู่ตำตาว่ารัฐบาลล้มเหลวแค่ไหนในการจัดการโควิด-19

Tags: , ,