เวลาพูดประเด็นความเหลื่อมล้ำหรือเรียกร้องความเท่าเทียมในทางเศรษฐกิจ หลายคนอาจพยักหน้าเห็นด้วย แต่คนจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกเหนื่อยหน่ายหรือบ่ายหน้าหนี บางคนอาจรู้สึกคันไม้คันมืออยากพิมพ์แดกดันว่า “ถ้าอยากเท่าเทียมกันมาก ก็ไปเรียกร้องให้ทุกคนตั้งแต่พนักงานจบใหม่ไปจนถึงผู้บริหารได้เงินเดือนเท่ากันเลยสิ!” กลายเป็นคำถามคาใจผมว่า แล้วเหลื่อมล้ำเท่าไรถึงรับได้ และเท่าเทียมแค่ไหนถึงพอดี

ภายใต้ระบอบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์เคยศึกษานโยบายเท่าเทียมสุดขั้วของประเทศจีนในยุคคอมมิวนิสต์ โดยที่ผลผลิตทั้งหมดถูกเก็บเข้าส่วนกลางแล้วปันส่วนโดยรัฐบาล หากตัดเรื่องการคอร์รัปชันออกไป รูปแบบเศรษฐกิจเช่นนี้จะสร้างความเท่าเทียมถ้วนหน้า แต่ผลลัพธ์ที่ได้มาพร้อมกับความเท่าเทียมคือ หายนะด้านผลิตภาพ เพราะไม่มีใครอยากลงทุนและลงแรงสร้างผลผลิตให้โดดเด่น เนื่องจากท้ายที่สุดทุกคนก็ได้เท่ากันอยู่ดี

ผลลัพธ์ข้างต้นคือตัวอย่างจากโลกจริงของทฤษฎีที่เสนอว่า ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นอาจเป็นจักรกลที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะผลตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกันจะสร้างแรงจูงใจให้คนทำงาน คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง หรือมุ่งมั่นเรียนให้สูงขึ้นเพื่อหวังว่าจะได้รับเงินเดือนแพงๆ รวมถึงพร้อมควักกระเป๋าลงทุนพัฒนา เพราะวาดฝันจะเก็บเกี่ยวกลับมาเป็นผลกำไรในอนาคต

ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นเพียงภาพสะท้อน ‘โอกาสลืมตาอ้าปาก’ ของประชาชนที่หวังเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของตนเอง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคในยุคหลังคัดง้างกับความเข้าใจข้างต้น เหล่านักเศรษฐศาสตร์พบว่า ความเหลื่อมล้ำบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการเอื้อให้เหล่านักการเมืองดำเนินนโยบายประชานิยม ซึ่งสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่สร้างปัญหาในระยะยาว รวมถึงการเติบโตของสินเชื่อ ซึ่งสุดท้ายมักกลายเป็นหายนะทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยังบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองและความเชื่อใจทางสังคม รวมถึงปิดกั้นโอกาสคนจากครัวเรือนที่ยากจนและคนชายขอบให้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นสูง

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปอย่างแน่ชัดว่า กลไกใดที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปรนี้ของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันออกไป แต่หากพิจารณาในระดับโลกแล้ว พอจะสรุปได้ว่า ยิ่งความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลง

แล้วความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหนถึงพอดี?

คำถามนี้อาจต้องช่วยกันตอบในฐานะประชาชนคนไทยว่า รับได้ไหมกับความเหลื่อมล้ำที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยผมขอแบ่งออกเป็นความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์ และความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางเศรษฐกิจ

ความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์

ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจยอดนิยมที่มักใช้วัดความเหลื่อมล้ำ คือตัวเลขรายได้และความมั่งคั่ง โดยพิจารณาจากสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งสะท้อนว่า การกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งคนไทยหน้าตาเป็นอย่างไร สัมประสิทธิ์จีนีมีค่าตั้งแต่ 0 คือเท่าเทียมสุดขั้ว โดยทุกคนมีรายได้และความมั่งคั่งเท่ากัน และ 1 คือเหลื่อมล้ำสุดขั้ว โดยรายได้และความมั่งคั่งทั้งหมดกระจุกอยู่ที่คน 1 คน

สัมประสิทธิ์จีนีด้านรายได้ของไทย จากรายงานโดยธนาคารโลกอยู่ที่ 43.3% แม้จะมีแนวโน้มลดลงเว้นแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็ยังนับว่าสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน โดยประเทศไทยติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกในฐานะประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

สำหรับปุถุชนคนธรรมดา สัมประสิทธิ์จีนีเข้าใจยากและแสนเป็นนามธรรม ผมจึงขอนำเสนออีกตัวชี้วัดหนึ่งที่เข้าใจง่ายกว่า นั่นคือสัดส่วนรายได้และความมั่งคั่งของคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ 10% ครอบครอง ซึ่งธนาคารโลกรายงานตัวเลขที่นับว่าน่าตื่นตระหนกไม่น้อย เพราะเหล่าเศรษฐีไทยไม่กี่แสนชีวิตครอบครองส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมด 49% และความมั่งคั่งสุทธิทั้งหมด 74% ของทั้งประเทศ

เท่ากับว่าประชากรไทยที่เหลืออีกราว 60 ล้านคน ได้ส่วนแบ่งเพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดในประเทศ และต้องแบ่งสันปันส่วนความมั่งคั่งสุทธิที่เหลืออยู่เพียงราว 1 ใน 4 เท่านั้น หากพิจารณาตัวชี้วัดข้างต้น ประเทศไทยจะครองตำแหน่งประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก

ถ้าคุณเป็นกลุ่มคนที่นั่งอยู่บนยอดพีระมิดก็ขอแสดงความยินดีด้วย แต่สำหรับใครที่ไม่ติดกลุ่มเศรษฐี 10% แรกของไทยแล้วสงสัยว่า ถ้าไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง มีโอกาสไหมที่จะไต่บันไดทางเศรษฐกิจไปสู่ตำแหน่งเศรษฐีกับเขาบ้าง สามารถหาคำตอบได้จากตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสนั่นเอง

ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส

ผมเชื่อว่าแทบทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของคนขยันทำงานหนัก ที่ไต่เต้าจากครอบครัวยากไร้ด้อยโอกาสสู่การเป็นมหาเศรษฐีร้อยล้าน คนเหล่านั้นมีอยู่จริง แต่คำถามคือคนเหล่านี้มีสัดส่วนเท่าไร เมื่อเทียบกับประชาชนไทย แล้วปุถุชนคนธรรมดาจะมีโอกาสลืมตาอ้าปาก เช่นเดียวกับเหล่าเศรษฐีมีโอกาสตกบัลลังก์ลงมาเป็นคนชนชั้นกลางได้มากน้อยแค่ไหน

ความน่าจะเป็นดังกล่าวคือ โอกาสการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ (Economic Mobility) โดยอาจพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรายได้ตามเวลา ซึ่งประเทศไทยเพิ่งมีงานวิจัยฉบับใหม่โดย อธิภัทร มุทิตาเจริญ และทรงวุฒิ บุรงค์ ว่าด้วยการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจของแรงงานไทย ผลการวิจัยพบว่า โอกาสเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจนับว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศทั้งพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มการจ้างงานแบบเป็นทางการต่ำ (Low-formality Job) ซึ่งมีโอกาสเลื่อนชั้นรายได้น้อยมากๆ และในทางกลับกัน แรงงานกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบจากวิกฤตรุนแรงที่สุดอีกด้วย ขณะที่กลุ่มเศรษฐี 10% แรกของไทยก็มีโอกาสตกชั้นน้อยกว่าประเทศอื่นเช่นกัน

หากกล่าวโดยสรุป โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ สำหรับคนที่จนอยู่ก็จะจนต่อไป ส่วนใครที่รวยอยู่แล้วก็ไม่ต้องกังวล เพราะก็ยังคงรวยอยู่อย่างนั้นต่อไปเช่นกัน

น่าเสียดายที่งานวิจัยชิ้นดังกล่าว ศึกษาภาพการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจในระยะกลางเท่านั้น โจทย์วิจัยที่ชวนให้คิดต่อของไทยคือ เรื่องโอกาสในการเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจระหว่างคนแต่ละรุ่น (Inter-generational Economic Mobility) โดยพิจารณาว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนจะมีโอกาสเลื่อนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจให้สูงกว่าพ่อแม่ได้หรือไม่ เช่นเดียวกับเด็กที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยจะมีโอกาสตกชั้นมากน้อยเท่าไร

ในโลกใบที่ทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนเป็นพ่อแม่ไม่ควรเป็นตัวกำหนดสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของลูก โดยทุกคนควรมีโอกาสแสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ การมอบตำแหน่ง ‘ผู้ชนะ’ ในระบอบทุนนิยมโดยอิงจากความสำเร็จของพ่อแม่ ก็คงไม่ต่างจากการคัดเลือกนักกีฬาโอลิมปิก ด้วยการพิจารณาเฉพาะลูกชายและลูกสาวของอดีตนักกีฬาดาวเด่น

ส่วนคำถามที่ว่า ‘เหลื่อมล้ำเท่าไรถึงรับได้ เท่าเทียมแค่ไหนถึงพอดี’ ไม่ว่าผมหรือนักวิชาการคนไหนก็คงไม่มีใครมอบคำตอบสำเร็จรูปให้ได้ แต่ต้องอาศัยฉันทมติของสังคมว่า ความเหลื่อมล้ำระดับไหนถึงจะเหมาะสม ส่วนเรื่องเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายนั้นมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า การเก็บภาษีมรดก การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การศึกษา และสิทธิรักษาพยาบาล อยู่ที่ว่าจะยกระดับนโยบายเหล่านั้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ระบอบทุนนิยมในฝันของผมคือ ระบอบที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนไม่ถ่างกว้างเช่นในปัจจุบัน ระบอบที่คนทำงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขได้ตามอัตภาพ ระบอบที่ทุกคนมีโอกาสแสดงความสามารถได้เต็มศักยภาพ ไม่ว่าพื้นฐานของครอบครัวจะเป็นอย่างไร

แล้วระบอบทุนนิยมในฝันของคุณล่ะครับ หน้าตาเป็นอย่างไร?

 

เอกสารประกอบการเขียน

ทางรุ่งหรือทางตัน: โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของแรงงานไทยในภาคเศรษฐกิจในระบบ

Fair Progress?: Economic Mobility Across Generations Around the World

Bridging the Gap: Inequality and Jobs in Thailand

How does inequality affect economic growth?

Tags: , , ,