ผมฟังแถลงการณ์ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาด้วยความเศร้าสลดใจ เพราะเงินในบัญชีที่เก็บหอมรอมริบมาตั้งแต่สมัยเรียนกลับกลายเป็นอุปสรรคกั้นขวางระหว่างผมกับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท กระนั้นผมก็นับเป็นคนส่วนน้อยที่ถูกตัดออกจากโครงการ เพราะยังมีพี่น้องชาวไทยที่รอรับเงินเข้าดิจิทัลวอลเล็ตเข้ากระเป๋าโดยที่รัฐบาลขอเวลาอีกไม่นาน

ระหว่างที่เงินยังไม่เข้ากระเป๋าทุกท่าน ผู้เขียนขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จัก ‘ตัวคูณทางการคลัง’ (Fiscal Multiplier) ซึ่งเป็นสมมติฐานเบื้องหลังการเสกสร้าง ‘พายุหมุนทางเศรษฐกิจ’ ของพรรคเพื่อไทย โดยท่านนายกฯ อธิบายไว้อย่างสวยหรูว่า ‘เงินยิ่งหมุนไปหลายรอบ การค้าขายยิ่งคึกคัก ธุรกิจขนาดเล็กจะค่อยๆ เติบโต หนี้สินจะค่อยๆ หมดไป’

อ่านแล้วหลายคนอาจอดไม่ได้ที่จะเกิดข้อกังขาว่าเงิน 1 หมื่นบาท จะเสกสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจมูลค่าเกินกว่า 1 หมื่นบาทได้อย่างไร

ก่อนอื่นเราต้องลองจินตนาการตามติดชีวิตของเงิน 1 หมื่นบาทในระบบดิจิทัล ที่ตั้งต้นอยู่ในวอลเล็ตของรัฐบาล เมื่อได้รับสัญญาณให้ออกเดินทาง เงินก้อนนั้นก็เคลื่อนย้ายตัวเองไปสู่กระเป๋าของนาย A คนกรุงเทพฯ ที่ใช้เงินก้อนนี้กินเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อน เมื่อผับปิดตอนตีสี่ เงินก็ถูกถ่ายโอนมาที่กระเป๋าเจ้าของผับที่จะนำไปจ่ายเป็นค่าเหล้าเบียร์แก่โรงงานผลิต ส่วนเถ้าแก่โรงงานก็นำเงินที่ได้ไปจ่ายเป็นค่าวัตถุดิบแก่เกษตรกรและค่าจ้างพนักงาน เหล่าคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับค่าตอบแทนก็นำไปจับจ่ายใช้สอยต่อ ฯลฯ

เงินหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการใช้จ่ายเป็นทอดๆ โดยที่การใช้จ่ายก้อนหนึ่งก็จะนำไปสู่การใช้จ่ายก้อนต่อไปในอนาคต เศรษฐกิจที่คึกคักราวกับพายุหมุนนี้เองที่เป็นภาพฝันของพรรคเพื่อไทย ที่จะ ‘กระตุกชีพ’ เศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นมาด้วยการอัดฉีดเงินก้อนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ภาพฝันดังกล่าวอาจเป็นไปได้แค่ในโลก ‘อุดมคติ’ เพราะในความเป็นจริง รายได้ที่เข้ากระเป๋าจะไม่ถูกนำไปใช้จ่ายร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยบางส่วนจะถูกนำไปเก็บออม บางส่วนถูกนำไปใช้ชำระหนี้ซึ่งเทียบเท่ากับจ่ายชำระการบริโภคในอดีตที่เกิดขึ้นไปแล้ว และบางส่วนจะเล็ดรอดออกจากระบบเศรษฐกิจ โดยนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่ต่างแดน 

พรรคเพื่อไทยคาดว่า รัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีเพิ่มเติมได้จากนโยบายดังกล่าวมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท วิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คำนวณคร่าวๆ ภายใต้สมมติฐานที่ว่า รายได้ภาษีดังกล่าวจะมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐบาล การแจกเงินกว่าห้าแสนล้านบาทจะต้องสร้างธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจรวมกันแล้วมูลค่าร่วม 1.4 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับตัวคูณทางการคลัง 2.55 เท่าตัว ซึ่งอาจเป็นการประมาณการที่สูงเกินเอื้อม

แล้วตัวเลขที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่เท่าไร ผมขอชวนไปดูทั้งในฟากฝั่งทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อประกอบการตัดสินใจครับ

กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยทฤษฎีสำนักเคนส์

ทฤษฎีตัวคูณทางเศรษฐกิจพัฒนาขึ้นโดย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ในทศวรรษ 1930 ที่ทั่วโลกเผชิญเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยเหล่านักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักผู้เชื่อมั่นในกลไกตลาดจนปัญญาที่จะหาทางแก้ไขเนื่องจาก ‘มือที่มองไม่เห็น’ ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ไม่ทันใจ ข้อเสนอของเคนส์คือการใช้ทรัพยากรอันมหาศาลของรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านฝั่ง ‘อุปสงค์’ กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือภาวะขาลง เนื่องจากในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ อุปสงค์ของเอกชนมักจะมีแนวโน้มลดลง ทำให้ทรัพยากรไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มที่และคนตกงาน รัฐบาลจึงต้องเข้ามาสร้างอุปสงค์ทดแทนความต้องการที่หดหายจากภาคเอกชนนั่นเอง

เคนส์เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงตัวแปรทางเศรษฐกิจในฝั่งอุปสงค์ เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ จะสร้างผลผลิตภายในประเทศที่มากกว่า 1 เท่าตัว ภายใต้สมมติฐานที่ว่า การใช้จ่ายของคนหนึ่งคนเท่ากับรายได้ของคนอีกหนึ่งคน ซึ่งจะนำไปสู่วัฏจักรการใช้จ่ายที่มากกว่าหนึ่งรอบในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนตัวคูณดังกล่าวจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญ คือแนวโน้มการบริโภคส่วนเพิ่ม (Marginal Propensity to Consume: MPC) ที่หากแปลความอย่างง่าย คือถ้าเราได้รายได้เพิ่มขึ้น 100 บาท เราจะใช้เงินก้อนนี้ในการบริโภคเพิ่มขึ้นเท่าไร หากเราใช้ 20 บาท แนวโน้มการบริโภคส่วนเพิ่มก็จะเท่ากับ 0.20 นั่นเอง

ในแบบจำลองอย่างง่ายที่เศรษฐกิจไม่มีการค้าขายกับต่างประเทศ เราสามารถคำนวณขนาดของตัวคูณได้ด้วยสูตร 1(1-MPC) เช่น ถ้าแนวโน้มการบริโภคส่วนเพิ่มก็จะเท่ากับ 0.20 ตัวคูณก็จะเท่ากับ 1.25 เท่า หมายความว่าถ้ารัฐบาลใส่เงิน 1 หมื่นบาทเข้าไปในมือประชาชน เงินจำนวนนั้นจะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจมูลค่า 1.25 หมื่นบาทนั่นเอง

ข้อค้นพบจากนโยบายในต่างประเทศ

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่สองครั้งสองคราด้วยกันคือวิกฤตซับไพรม์และวิกฤตโควิด-19 โดยรัฐบาลหลายประเทศรับมือกับสถานการณ์ทั้งสองนี้ ด้วยการอัดฉีดเงินก้อนใหญ่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์พอจะมีข้อมูลในมือสำหรับประมาณการว่า ตัวคูณทางการคลังของนโยบายเหล่านั้นอยู่ที่เท่าไร

จากหลักฐานเชิงประจักษ์เราจะพบว่า ตัวคูณในโลกแห่งความเป็นจริงมีความแตกต่างหลากหลายอย่างยิ่ง ผันแปรไปตามปัจจัยและสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมกับการเมือง มีตัวแปรสำคัญ เช่น สภาวะเศรษฐกิจโดยนักเศรษฐศาสตร์พบว่า ช่วงเศรษฐกิจขาลงและมีอัตราการว่างงานสูง ตัวคูณก็จะมีค่าสูงขึ้นตาม ส่วนรูปแบบการใช้จ่ายภาครัฐก็มีผลเช่นกัน โดยการศึกษาพบว่า การให้เงินโอนโดยตรงแก่ครอบครัวรายได้น้อยจะมีตัวคูณสูงกว่า เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคมากกว่า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการศึกษาดังกล่าวมีข้อจำกัดอย่างมาก เนื่องจากเหล่านักเศรษฐศาสตร์จะต้องพยายามแยกแยะผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐ ออกจากตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาครวมเช่นกัน ยังไม่นับปัญหาเรื่องการกำหนดกรอบเวลาในการวิเคราะห์ เพราะผลลัพธ์จากนโยบายอาจกินระยะเวลายาวนานกว่าสมมติฐานที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งเอาไว้

หากมองในภาพใหญ่ มีการศึกษาหลายชิ้นที่คำนวณตัวคูณทางการคลังของโครงการแจกเงินโดยรัฐ เช่น สำนักงานงบประมาณแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ประมาณการว่าการให้เงินช่วยเหลือประชาชนในช่วงปี 2010 หลังเกิดวิกฤตซับไพรม์ ทั้งในรูปแบบเงินคืนเครดิตภาษีและเงินช่วยเหลือกรณีตกงานมีตัวคูณทางการคลังอยู่ที่ราว 0.8 ถึง 2.1 เท่าตัว ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเน้นวิเคราะห์การให้ผลประโยชน์แก่ผู้ว่างงานซึ่งพบว่ามีตัวคูณทางการคลังอยู่ที่ 1.7 เท่า

เมื่อหันกลับมาดูที่ประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประมาณการตัวคูณทางการคลังไว้ที่ 1.36 เมื่อผ่านไปหนึ่งปีและ 1.02 เมื่อผ่านไปสองปีในช่วงวิกฤตซับไพรม์ แต่เมื่อการระบาดของโควิด-19 รอบที่ผ่านมา ธนาคารพัฒนาเอเชียประเมินตัวคูณทางการคลังจากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนพบว่าสารพัดโครงการของไทยมีตัวคูณทางการคลังอยู่ที่ 1.5 เท่าตัวในยามวิกฤต หรือการที่รัฐทุ่มงบประมาณเข้าไป 1 บาท จะช่วยสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจมูลค่า 1.5 บาท

หากพิจารณาตัวแปรในระดับจุลภาคอย่างแนวโน้มการบริโภคส่วนเพิ่ม งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งสำรวจแนวโน้มการบริโภคของครัวเรือน เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 พบว่าถ้าได้เงินมา 100 บาท พวกเขาจะใช้จ่ายเงิน 25 บาท หรือหากแปลงเป็นตัวคูณทางการคลังจะเท่ากับ 1.33 เท่า

จากสายธารงานวิจัยที่ผ่านมาทั้งในไทยและต่างประเทศ เราคงพอจะสรุปได้ว่า การที่พรรคเพื่อไทยคาดการณ์ว่า การแจกเงินดิจิทัลอย่างถ้วนหน้าจะสามารถสร้างตัวคูณทางการคลังสูงถึง 2.55 เท่าตัวอาจเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม โดยหากพิจารณาในบริบทของประเทศไทย การตั้งเป้าที่เงิน 1 หมื่นบาทจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 1.5 หมื่นบาท ก็นับว่าเป็นฉากทัศน์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

คำถามรัฐบาลต้องตอบให้ชัดคือผลตอบแทนดังกล่าว ‘คุ้มค่า’ กับงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาทที่ทุ่มลงไปหรือไม่ และเรามีทางเลือกอื่นหรือเปล่าที่จะใช้เงินงบประมาณมูลค่ามหาศาลขนาดนี้

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า นโยบายดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้อย่างจริงแท้แน่นอน แต่อย่าลืมว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงและอาจสูงอยู่เช่นนี้ไปอีกสักพักใหญ่ การกู้เงินมูลค่ามหาศาลเพียงเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นอาจต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะภาระหนี้ในครั้งนี้อาจกลายเป็นกรอบจำกัดศักยภาพในการกู้ยืมเงินของรัฐบาลสำหรับทำโครงการอื่นๆ ที่อาจสร้างผลตอบแทนสูงกว่าในระยะยาว

เอกสารประกอบการเขียน

Fiscal Multiplier: Definition, Formula, Example

Fiscal Multipliers: Size, Determinants, and Use in Macroeconomic Projections

What determines government spending multipliers?

ข้อคิดต่อตัวคูณทวีทางการคลังและภาษีที่ได้จาก ‘นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล’

Tags: ,