ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงทราบกันดีว่าสภาพอากาศปีนี้ดูพิกล ทั้งเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ ทำเอาค่าไฟสูงจนต้องปาดเหงื่อ มิหนำซ้ำ อากาศยังร้อนต่อเนื่องยาวนานจวบจนปัจจุบันที่ย่างเข้าหน้าฝน ก็ยังรู้สึกว่าฝนตกน้อยผิดปกติ

ประเทศไทยของเราไม่ได้เผชิญภาวะดังกล่าวเพียงลำพัง เพราะนี่คือรูปแบบทางภูมิอากาศที่ชื่อว่า ‘เอลนีโญ’ (El Niño) ซึ่งจะมาเยือนทุก 2-7 ปี โดยมีสัญญาณเตือน คือกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มวลน้ำอุ่นจากที่เคยไหลไปทางตะวันตกเคลื่อนกลับมาทางตะวันออก ทั้งส่งผลต่อการกระจายตัวของความร้อนและความชื้นทั่วโลก โดยในบางพื้นที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศไทย ส่วนบางพื้นที่ก็จะเผชิญกับอุทกภัย เช่น เปรู บางส่วนของทวีปแอฟริกา และจีน

ผลกระทบจากเอลนีโญต่อปริมาณน้ำฝน พื้นที่สีเขียวจะเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่สีเหลืองจะมีปริมาณน้ำฝนลดลง (ภาพจาก IRI Columbia University)

 

แต่ปีนี้นับว่าพิเศษกว่าเอลนีโญครั้งก่อนๆ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบมากกว่าในอดีต เพราะมาพร้อมกับภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลให้ปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ไฟป่า และโรคระบาด รุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้ถูกปันส่วนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก โดยประเทศที่ยากจนจะได้รับผลกระทบมากกว่า สิ่งที่ต้องจับตาคือราคาอาหาร ซึ่งอาจผันผวนหนัก ทั้งราคาวัตถุดิบสำคัญอย่างปลาป่นอาหารสัตว์ ข้าว ข้าวสาลี และปาล์มน้ำมัน

สำหรับประเทศไทย ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประมาณการว่า เอลนีโญครั้งนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบเป็นมูลค่า 1.8 ถึง 8.3 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน คือภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และภาคการก่อสร้าง

 

ผลกระทบต่อประชาชนไทย

แม้ข่าวสารเรื่องเอลนีโญอาจไม่ได้อยู่ในความสนใจในสื่อกระแสหลักมากนัก แต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติก็ประกาศอย่างชัดเจนว่า ไทยกำลังเผชิญเอลนีโญกำลังอ่อน ที่นอกจากจะส่งผลให้อุณภูมิเพิ่มสูงขึ้นแล้วยังทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงจากค่าปกติถึง 30% โดยภาคกลางได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะปริมาณน้ำฝนลดลงมากกว่า 50% และคาดว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปีหน้า

อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือภาคการเกษตร แม้ปัจจุบัน ภาคการเกษตรจะลดความสำคัญลงมากหากมองในแง่สัดส่วนจีดีพีของไทย อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประชากรไทยจำนวนมากยังต้องพึ่งพาแรงงานภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมงรวมกันจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน และต้องใช้ทรัพยากรที่ดินมหาศาลถึง 150 ล้านไร่

พืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน คือข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลไม้อย่างมะม่วง ทุเรียน และสับปะรด ส่วนผลกระทบจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและพื้นที่ในการเพาะปลูก ภาวะดังกล่าวนอกจากจะสร้างปัญหาให้ครัวเรือนเกษตรกรแล้ว ชาวเมืองก็อาจเผชิญกับปัญหาราคาอาหารเนื่องจากเอลนีโญกระทบทั่วโลก บางประเทศที่กังวลต่อปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เช่น อินเดีย ที่ประกาศห้ามส่งออกข้าว กลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันราคาอาหารให้สูงขึ้นไปอีก นับเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับเหล่าเกษตรกรที่รายได้หดหาย และต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงในเวลาเดียวกัน

เมื่อเพาะปลูกไม่ได้ผล เหล่าแรงงานก็มักผันตัวเข้าสู่ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว จนปริมาณแรงงานล้นทะลัก แต่อากาศที่ร้อนจัดย่อมเป็นตัวแปรที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนเบือนหน้าหนี ยังไม่นับปัญหาความแห้งแล้งที่อาจส่งผลให้เกิดไฟป่าและฝุ่นควันทางภาคเหนือ รวมถึงอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เกิดภาวะปะการังฟอกขาว นั่นหมายความว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงเช่นกัน

อีกหนึ่งกลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น คือเหล่าแรงงานกลางแจ้ง เช่น ภาคการก่อสร้าง อากาศที่ร้อนจัดนอกจากจะส่งผลต่อผลิตภาพการทำงานและการเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัยแล้ว แรงงานที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานยังเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยหรือถึงขั้นเสียชีวิตจากการเป็นลมแดด ในหลายประเทศรัฐบาลจะวางกรอบเกณฑ์แนวทางการดูแลสุขภาพของผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำ ช่วงเวลาพักในที่ร่มหรือในห้องปรับอากาศ น่าเสียดายที่ผู้เขียนยังไม่เห็นแนวทางดังกล่าวโดยรัฐบาลไทย จึงต้องหวังพึ่งภาคเอกชนให้ตระหนักถึงความเสี่ยงและเตรียมแผนรับมือด้วยตัวเอง

ทั้งสามภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ คือธุรกิจที่จ้างงานเหล่าแรงงานค่าแรงค่อนข้างต่ำหลายสิบล้านชีวิต คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเอลนีโญมากที่สุด คือครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มเปราะบาง นี่คือประชากรที่รัฐต้องเตรียมแผนรับรองช่วยเหลือทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว เพราะหากเรายังไม่เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ อุณหภูมิโลกก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต  

ภัยแล้ง ปัญหาใหญ่ที่มักถูกมองข้าม

ผู้เขียนคือคนเมืองคนหนึ่งที่ใช้น้ำจากท่อประปาซึ่งให้ความรู้สึกว่า น้ำคือทรัพยากรที่มีอย่างล้นเหลือในประเทศไทย แต่ในความจริงแล้ว World Resources Institute จัดให้ประเทศไทยอยู่กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงเรื่องน้ำสูงถึงสูงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แผนที่ระดับความเสี่ยงด้านน้ำ ยิ่งสีแดงเข้มมากเท่าไรก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น (ภาพจาก World Resources Institute)

อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งมักเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ไม่อึกทึกครึกโครมเหมือนกับอุทกภัย หลายครั้งจึงถูกมองข้ามว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่ความจริงแล้วรายงานของธนาคารโลกระบุว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าอุทกภัยถึง 4 เท่า โดยมักจะเกิดขึ้นช้าๆ แต่ทิ้งผลกระทบไว้อย่างยาวนาน เริ่มจากการเพาะปลูกที่ไม่ได้ผล น้ำที่ขาดแคลนอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคพลังงาน การย้ายถิ่นฐานเนื่องจากภัยแล้ง รวมไปถึงภาวะทุพโภชนาการเนื่องจากอาหารขาดแคลน

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำจึงคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบส่งน้ำและกักเก็บน้ำ แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากน้ำคือหนึ่งในทรัพยากรที่เผชิญกับความย้อนแย้งของอุปทาน (Paradox of Supply) เพราะการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น อาจกลายเป็นการสร้างความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนสร้างเขื่อนและระบบชลประทาน ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นชนิดที่ใช้น้ำมากขึ้น ส่งผลให้สุดท้ายแล้วก็ยังเผชิญภาวะน้ำขาดแคลนอยู่ดี

ประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานมาอย่างยาวนาน จนการแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีเก่าอาจไปต่อได้ลำบาก เราจึงควรปรับมุมมองและวิธีคิดจากการเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำให้มากที่สุด พร้อมกับตั้งคำถามว่าจะใช้น้ำที่มีอยู่อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการผลิต หรือการพัฒนาสายพันธุ์พืชเศรษฐกิจให้สามารถทนต่อภัยแล้งมากยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์เอลนีโญเปรียบเสมือน ‘แบบฝึกหัด’ การใช้ชีวิตในโลกใบใหม่ที่อุณหภูมิสูงขึ้นและปริมาณน้ำฝนน้อยลง รัฐบาลไทยจึงมีสองโจทย์ใหญ่ในมือ คือจะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนด้วยวิธีใด และจะช่วยประชาชนปรับตัวเอาตัวรอดในโลกใบใหม่นี้อย่างไร

เอกสารประกอบการเขียน

What is El Niño?

Uncharted Waters: The New Economics of Water Scarcity and Variability

El Niño and the climate-change sword hanging over Thailand

Return of El Niño Threatens New Levels of Economic Destruction

The next threat to commodity supplies will be El Niño

El Niño is getting stronger. That could cost the global economy trillions.

El Niño Good Boy or Bad?

Tags: , , ,