แรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่กับกระแสสกุลเงินเข้ารหัสหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หลังจากที่หนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่เข้าซื้อแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลสัญชาติไทย ซึ่งไม่ต่างจากการส่งสัญญาณให้กับประชาชนคนทั่วไปว่าสกุลเงินเข้ารหัสเหล่านี้มี ‘อนาคต’
ความร้อนแรงที่เริ่มลุกลามเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาปรามว่า ‘ไม่สนับสนุน’ การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระสินค้าและบริการ พร้อมระบุความเสี่ยงต่างๆ ตั้งแต่ความผันผวนของคริปโตฯ การถูกโจรกรรมไซเบอร์ และการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน
สำหรับใครที่ติดตามท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่เนืองๆ ก็คงไม่แปลกใจนักกับแถลงการณ์ดังกล่าว เพราะแบงก์ชาติดูจะต่อต้านสกุลเงินเข้ารหัสมาโดยตลอด แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาด เพราะธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน เช่น ธนาคารกลางอังกฤษที่ประกาศแบนไบแนนซ์ (Binance) แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ชื่อดัง หน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรปก็ต้องการให้เส้นทางการเงินดิจิทัลสามารถตรวจสอบได้ ส่วนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาก็ให้สัมภาษณ์ว่าตลาดคริปโตฯ นั้น “เต็มไปด้วยการฉ้อโกง หลอกลวง และเอารัดเอาเปรียบ”
แม้ว่าภาครัฐจะพร่ำบอกว่าทำเพื่อผู้บริโภค แต่ความจริงอีกด้านซึ่งมักจะไม่ถูกพูดถึงคือ คริปโตเคอร์เรนซีอาจบั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงินภายในประเทศ สร้างปัญหาในการจัดเก็บภาษี กลายเป็นช่องโหว่ในการฟอกเงิน พร้อมทั้ง ‘ด้อยค่า’ ระบบดั้งเดิมที่ธนาคารกลางคอยกำกับดูแลด้วยการนำเสนอเงินสกุลใหม่ที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งเงินสกุลหลักที่รัฐสามารถจัดการได้ดั่งใจ
ภาครัฐกับระบบการเงิน
ก่อนที่เราจะพูดถึงเหตุผลที่ทำให้ภาครัฐขัดอกขัดใจกับการมาถึงของคริปโตฯ ผมชวนมาทำความเข้าใจหน่วยงานสำคัญที่สุดในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจนั่นคือธนาคารกลางกันเสียก่อน
ประเทศส่วนใหญ่จะมีธนาคารกลางซึ่งเป็นอิสระ ทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องเงินๆ ทองๆ ภายในประเทศ บทบาทของธนาคารกลางในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป เช่น ธนาคารกลางในสหรัฐอเมริกาทำหน้าที่ควบคุมเงินเฟ้อและผลักดันให้เกิดการจ้างงานในเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ส่วนธนาคารกลางของสหราชอาณาจักรและไทย มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของเหล่าธนาคารพาณิชย์ หรือก็คือถ้าประชาชนมาถอนเงินก็จะต้องมีเงินให้ถอนนั่นเอง
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ธนาคารกลางต้องงัดสารพัดเทคนิคมาใช้ซึ่งเรียกว่านโยบายทางการเงิน โดยกลไกหลักคือการจัดการกับปริมาณเงินในระบบและอัตราดอกเบี้ย เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในช่วงวิกฤติ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและกระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยยังส่งผลต่อการนำเข้าส่งออกรวมทั้งการลงทุนจากต่างชาติอีกด้วย
ข้อดีของระบบดังกล่าวคือการมียักษ์ใหญ่คอยดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมความเชื่อใจของผู้เล่นทุกคนในระบบเศรษฐกิจ สกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลางยังได้รับการค้ำประกันโดยภาครัฐ หากบริหารจัดการอย่างที่ควรจะเป็นก็ไม่ต้องกังวลว่าวันดีคืนดีเงินจะกลายเป็นเศษกระดาษ
การกำกับดูแลระบบการเงินโดยภาครัฐยังช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บภาษี เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ไหลผ่านเข้าออกในประเทศจะต้องถูกสอดส่องโดยธนาคารกลาง นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งเปรียบเสมือนการดักจับและพยายามตัดเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจใต้ดิน
แต่การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ธนาคารกลางมีข้อเสียสำคัญคือ การตัดสินใจผิดพลาดเพียงหนึ่งครั้งอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย ตัวอย่างที่หลายคนคุ้นเคยกันดีคือวิกฤติซับไพรม์ที่ธนาคารกลางปล่อยปละละเลยจนปัญหาลุกลาม แถมยังพยุงระบบการเงินเอาไว้โดยการอีดฉีดเงินมูลค่ามหาศาลให้กับธนาคารยักษ์ใหญ่ แต่กลับลอยแพประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ
ความคับข้องใจต่อระบบรวมศูนย์นี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของสกุลเงินเข้ารหัสสกุลแรกนั่นคือบิตคอยน์ในปี พ.ศ. 2552
3 เหตุผลที่ทำให้รัฐไม่ไว้วางใจคริปโตฯ
สกุลเงินเข้ารหัสสกุลแรกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการรวมศูนย์โดยรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจสักเท่าไรถ้ารัฐจะไม่ไว้วางใจคริปโตเคอร์เรนซี ผมขอสรุปเหตุผลหลักไว้ 3 ประเด็นดังนี้
ประการแรก สกุลเงินเข้ารหัสมองข้ามระบบควบคุมเงินตราของภาครัฐ โดยปกติแล้วแต่ละประเทศจะมีกฎหมายควบคุมดูแลเงินตราไหลเข้าออกตามการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แถมการกำหนดปริมาณเงินในระบบและอัตราดอกเบี้ยยังเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ แต่ความสามารถดังกล่าวจะมลายหายไปในอากาศหากเงินสกุลที่ออกโดยภาครัฐถูกแทนที่ด้วยสกุลเงินดิจิทัล
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการยักย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์ในประเทศจีนผ่านทางบิตคอยน์ กฎหมายจีนกำหนดว่าประชาชนจะสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี แต่รายงานโดย Chainalysis บริษัทวิจัยด้านสกุลเงินเข้ารหัสเปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมา มีบิตคอยน์มูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกเคลื่อนย้ายจากจีนไปยังประเทศอื่น
ประการที่สอง สกุลเงินเข้ารหัสยังถูกใช้สำหรับกิจกรรมผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย แม้ว่าสกุลเงินเข้ารหัสอย่างบิตคอยน์จะดำเนินธุรกรรมด้วยระบบบล็อกเชนที่ทุกคนสามารถตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดได้ แต่ข้อมูลที่มีในระบบกลับเป็นเพียงหมายเลขบัญชีที่ไม่ระบุตัวตน สกุลเงินเข้ารหัสจึงกลายเป็นช่องทางสำหรับหลีกเลี่ยงระบบการเงินบนดินที่สามารถสอบทานเส้นทางการเงินได้ง่ายกว่า
กรณีที่น่าสนใจคือตลาดซื้อขายของผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหรือยาเสพติดอย่างซิลก์โร้ด (Silk Road) ที่ใช้บิตคอยน์เป็นเงินสกุลหลัก แม้ว่าปัจจุบันแพลตฟอร์มดังกล่าวจะปิดตัวลงไปแล้ว แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้สกุลเงินเข้ารหัสเพื่อทำธุรกรรมผิดกฎหมาย หรือตัวอย่างที่หลายคนคุ้นเคยกันดีคือโปรแกรมเรียกค่าไถ่ (Ransomware) ที่แฮกเกอร์มักจะใช้สกุลเงินเข้ารหัสเช่นกัน
ประการสุดท้าย ยังไม่มีใครตอบได้ว่าสกุลเงินเข้ารหัสมีเป้าหมายเพื่ออะไรกันแน่ แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีสกุลเงินเข้ารหัสจะถูกสร้างขึ้นมาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทดแทนสกุลเงินของรัฐ แต่ปัจจุบัน การไว้วางใจคริปโตเคอร์เรนซีจำนวนมากดูจะกลายเป็นสินทรัพย์สำหรับการลงทุน บางคนกระทั่งมองว่าเป็นแหล่งหลบภัยในช่วงเศรษฐกิจขาลงเสมือน ‘ทองคำดิจิทัล’ เทคโนโลยีดังกล่าวยังถูกประยุกต์ใช้สำหรับการบ่งบอกสิทธิในสินทรัพย์ดิจิทัลอีกด้วย
เป้าหมายที่แตกต่างกันย่อมต้องอาศัยการตรากฎหมายและวิธีการกำกับดูแลที่แตกต่างกันออกไป การเปลี่ยนแปลงในแวดวงสกุลเงินเข้ารหัสแบบก้าวกระโดดย่อมทำให้การออกกฎหมายไม่มีทางไล่ทัน นี่คือฝันร้ายของภาครัฐ เพราะหากไม่มีกฎหมายในมือก็ย่อมไม่มีอำนาจในการกำกับดูแล
สู่ยุคสมัยแห่งเศรษฐกิจหลายสกุลเงิน
แต่ไม่ว่ารัฐจะต่อต้านหรือสนับสนุนก็ไม่มีทางหยุดยั้งการมาถึงของสกุลเงินเข้ารหัส จึงมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจในอนาคตอาจเป็นยุคของ ‘หนึ่งประเทศหลายสกุลเงิน’ สอดคล้องกับข้อเสนอของ ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ก (Friedrich von Hayek) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้ล่วงลับ ที่มีแนวคิดสนับสนุนเสรีนิยมสุดขั้ว หนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อราวห้าทศวรรษก่อนเสนอว่า ควรยกเลิกการผูกขาดสกุลเงินโดยรัฐ และเปิดทางให้เอกชนพิมพ์เงินตราของตนเอง เพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างสกุลเงินเพื่อนำไปสู่สกุลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด
ภาครัฐเองก็ดูเหมือนจะรู้ตัวดีว่าห้ามไม่ได้ แม้เบื้องหน้าจะพยายามทั้งขู่ทั้งปลอบเพื่อไม่ให้ประชาชนนอกใจสกุลเงินหลัก แต่รัฐบาลหลายประเทศก็เข้าสู่โหมด ‘พร้อมรบ’ นอกจากจะต่อสู้ด้วยเทคนิคทางกฎหมายที่ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผล ธนาคารกลางหลายแห่งยังเตรียมกระโดดเข้าสู่ตลาดเงินดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างเร่งศึกษาและพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตนเองหรือที่เรียกว่า CBDC (Central Bank Digital Currency) โดยประเทศที่ล้ำหน้ากว่าใครเพื่อนก็คือประเทศจีน ที่เริ่มทดลองให้ประชาชนบางส่วนใช้เงินหยวนดิจิทัลแล้วจริงๆ
คงไม่มีใครตอบได้ว่าสงครามสกุลเงินครั้งนี้จะจบอย่างไร แต่ในอนาคตเราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบการเงินที่หลายคนคุ้นชินกันอย่างแน่นอน
เอกสารประกอบการเขียน
Why Washington Worries About Stablecoins
Why Governments Are Wary of Bitcoin
Why regulators should treat stablecoins like banks
When central banks issue digital money
Tags: คริปโตเคอร์เรนซี, ภาครัฐ, Cryptocurrency, บิตคอยน์, ธนาคารกลาง, Economic Crunch