ก่อนการระบาดของโควิด-19 คงไม่มีใครนึกภาพออกว่า วันหนึ่งรัฐบาลทั่วโลกจะเดินหน้าใช้ ‘มาตรการล็อกดาวน์’ เพื่อรับมือกับโรคระบาดครั้งใหญ่ โดยที่ประชาชนจำนวนมากยอมโอนอ่อนผ่อนตาม แม้ว่าจะถูกลิดรอนเสรีภาพ และต้องร่วมจ่ายต้นทุนทางเศรษฐกิจราคาแพง

สองประเทศที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายล็อกดาวน์คือจีนและอิตาลี ซึ่งเผชิญกับภาวะคนไข้ล้นเตียง และระบบสาธารณสุขเกือบล่มสลายเป็นประเทศแรกๆ จนไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากใช้มาตรการจำกัดการระบาดอย่างเข้มงวดเพื่อพยุงสถานการณ์ ต่อมาได้กลายเป็น ‘มาตรฐานทองคำ’ ซึ่งหลายประเทศนำไปปฏิบัติตาม

ในปัจจุบันที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีวัคซีนฉีดอยู่เต็มแขน นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักจึงชวนกลับไปทบทวนว่ามาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด โดยใช้เครื่องมืออย่างการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis)

แต่การหาคำตอบอาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะประเด็นที่มักถูกตั้งคำถามเชิงจริยธรรม คือการตีมูลค่า ‘ชีวิตมนุษย์’ ให้เป็นตัวเลข

ในโลกที่ต้องเลือก

ผู้ออกแบบนโยบายในอุดมคติจะตัดสินใจดำเนินมาตรการโดยอ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งรวบรวมและวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ชั่ง ตวง วัดต้นทุนและผลประโยชน์อย่างรอบด้าน เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสม และสร้างสวัสดิการสูงสุดต่อสังคมโดยต้องตอบคำถามที่แหลมคม อาทิ รัฐจะเลือกจำกัดการระบาดอย่างเข้มงวดเพียงใด? มาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน? รัฐควรลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือเปล่า? หรือรัฐควรทุ่มทรัพยากรเท่าไหร่ในการจัดการกับโควิด-19?

แต่โลกแห่งความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ท่ามกลางข้อมูลที่จำกัดและความเร่งด่วนของปัญหา ทำให้รัฐบาลอาจต้องตัดสินใจแบบ ‘คลำทาง’ โดยรับฟังเสียงทั้งสองด้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ ซึ่งมีประเด็นหลักคือการ ‘แลกได้แลกเสีย’ ระหว่างชีวิตและวิถีชีวิตของประชาชน

ฝ่ายที่สนับสนุนยืนยันว่าการล็อกดาวน์แทบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต่อให้ไม่มีมาตรการดังกล่าว กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ต้องลดลงอยู่แล้ว เพราะประชาชนกลัวติดเชื้อ ดังนั้น นโยบายล็อกดาวน์จึงออกแบบมาเพื่อรักษาชีวิตประชาชน ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ก็ตอบโต้ว่า นโยบายดังกล่าวทำลายวิถีชีวิตของประชาชน แถมยังล้มเหลวในเรื่องชะลอการระบาด

ทั้งสองอย่างอาจเป็นคำตอบที่ถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง โดยข้อมูลที่มีอยู่จวบจนปัจจุบันระบุว่ามาตรการล็อกดาวน์นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนจำนวนมากรอดชีวิต นำไปสู่คำถามว่า ‘ล็อกดาวน์’ ระดับไหนที่ต้นทุนจะสมน้ำสมเนื้อกับผลประโยชน์ที่ได้รับ

แน่นอนว่าปีที่ผ่านมาเรายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตอบคำถามเหล่านี้ แต่ปัจจุบันได้มีการศึกษาจำนวนมากจากหลากหลายประเทศที่ยกระดับการถกเถียงประเด็นนี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น แม้จะยังไม่มีข้อสรุป แต่ก็น่ารับฟังในวันที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญการระบาดครั้งใหญ่ และประเทศไทยที่อาจต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศการล็อกดาวน์ไปอีกสักพักจนกว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพตามที่รัฐบาลสัญญา

ล็อกดาวน์ได้ผลหรือไม่?

คนกลุ่มแรกที่สนับสนุนมาตรการล็อกดาวน์แบบสุดลิ่มทิ่มประตู มองว่ามาตรการดังกล่าวรักษาชีวิตประชาชนได้โดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจแม้แต่นิดเดียว โดยอ้างอิงจากงานวิจัยมาตรการรับมือการระบาดของไข้หวัดสเปนในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1918-1920 ที่พบว่าเมืองที่ใช้มาตรการเข้มข้นกว่าจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่า (อ่านเพิ่มเติมทาง ยิ่งป้องกันการระบาดอย่างเข้มงวด เศรษฐกิจยิ่งฟื้นเร็ว – บทเรียนจากไข้หวัดสเปน) อย่างไรก็ดี การศึกษาชิ้นดังกล่าวก็ถูกวิจารณ์ในแง่กลุ่มตัวอย่าง เพราะเมืองที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์รวดเร็วกว่าส่วนใหญ่คือเมืองที่มีเศรษฐกิจดีกว่าตั้งแต่ต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองเหล่านี้จะฟื้นตัวได้ดีกว่าหลังจากการระบาดใหญ่

บางประเทศที่ยึดแนวทางนี้ จะมีนโยบาย ‘ขจัด’ การระบาดอย่างสิ้นซากโดยการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและรวดเร็ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต่างได้ผลลัพธ์ดีเยี่ยมเพราะมีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ด้านเศรษฐกิจนั้นก็ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับก่อนการระบาดได้ภายในต้นปีที่ผ่านมานี่เอง

แม้ตัวอย่างสองประเทศนี้จะนับว่าประสบความสำเร็จ แต่ทั้งสองแห่งมีภูมิศาสตร์เป็นเกาะ ซึ่งสามารถจัดการเรื่องพรมแดนได้ง่ายกว่าประเทศที่มีเขตแดนติดกันทางบก การเดินทางข้ามชายแดนอย่างผิดกฎหมายคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นโยบายล็อกดาวน์ไม่ประสบผลเท่าที่ควร เพราะต่อให้สามารถจำกัดการระบาดในประเทศ แต่ระลอกใหม่ก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อจากการลักลอบเข้าเมือง การตั้งเป้าหมายล็อกดาวน์เพื่อขจัดให้สิ้นซากจึงอาจเป็นเรื่องเกินเอื้อม

หากพิจารณากรณีทั่วไป เราจะพบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น อิตาลีและฝรั่งเศส ซึ่งใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในสหภาพยุโรป ส่งผลให้จีดีพีหดตัวราว 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศอย่างลิทัวเนีย ซึ่งไม่เข้มงวดนัก และมียอดผู้เสียชีวิตสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ กลับสามารถรักษาเศรษฐกิจให้เติบโตได้เล็กน้อยนับตั้งแต่มีการระบาด

แม้หลายประเทศจะต้องยอมเสียต้นทุนราคาแพงทางเศรษฐกิจเพื่อล็อกดาวน์โดยหวังว่ามาตรการเหล่านั้นจะช่วยรักษาชีวิตประชาชนเอาไว้ได้ คำถามต่อไปคือมาตรการดังกล่าวจำเป็นหรือไม่ เพราะต่อให้รัฐไม่ออกคำสั่ง ประชาชนที่กังวลต่อการติดเชื้อย่อมหาทางป้องกันตนเองอยู่แล้ว ขณะที่การประกาศล็อกดาวน์โดยรัฐก็ใช่ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ 

สองนักเศรษฐศาสตร์หาคำตอบโดยใช้ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์มือถือของชาวอเมริกันในการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบระหว่างรัฐแต่ละรัฐซึ่งบางแห่งประกาศล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ขณะที่บางรัฐไม่ได้บังคับแม้แต่การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะด้วยซ้ำ ผลศึกษาดังกล่าวพบว่า การเดินทางของประชาชนลดลง 60 เปอร์เซ็นต์ แต่มีสาเหตุจากมาตรการล็อกดาวน์น้อยมาก เพราะการเคลื่อนที่ของประชาชนเริ่มลดลงตั้งแต่ก่อนมีการล็อกดาวน์ โดยสอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตภายในประเทศมากกว่า 

อย่างไรก็ดี การศึกษาชิ้นนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้คุณค่ากับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยสมัครใจมากเกินไป ยกตัวอย่าง ประเทศสวีเดน ที่เลี่ยงการใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลานาน จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งช่วยบรรเทาการระบาดได้จริง โดยมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นโดยสองนักเศรษฐศาสตร์จากฝั่งสหภาพยุโรปเป็นสิ่งยืนยัน

การศึกษาจวบจนปัจจุบันจึงพอจะสรุปได้ว่า มาตรการล็อกดาวน์เป็นนโยบายราคาแพง แต่สามารถบรรเทาการระบาดและลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง ส่วนผลประโยชน์ที่ได้จะคุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องจ่ายหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา

เหรียญสองด้านของการล็อกดาวน์

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศจะต้องมีการเผยแพร่รายงานวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าคุ้มทุนต่อสาธารณะ อย่างไรก็ดี มาตรการล็อกดาวน์ซึ่งส่งผลกระทบมากมายมหาศาล กลับไม่มีรัฐบาลแห่งใดที่เผยแพร่รายงานวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ สร้างความกังขาในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ฝั่งเสรีนิยมว่ารัฐบาลไม่กล้าเปิดเผยตัวเลขเพราะผลลัพธ์ย่อม ‘ติดลบ’ อย่างแน่นอน

แต่ความเห็นข้างต้นก็เป็นเพียงการอนุมานหาข้อสรุปเพียงแนวทางหนึ่ง เพราะการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ของมาตรการล็อกดาวน์อาจยุ่งยากและคลุมเครือกว่าที่เราคิด ไรอัน บอร์น (Ryan Bourne) นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมสรุปในหนังสือ Economics In One Virus (วิชาเศรษฐศาสตร์ในการระบาดของโควิด-19) สรุปต้นทุนและประโยชน์จากการล็อกดาวน์ไว้ดังนี้

ฝั่งของต้นทุนประกอบด้วย

– การสูญเสียผลผลิต โดยเทียบกับโลกใบที่รัฐบาลไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งอาจต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ที่รวดเร็วขึ้น จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง แม้ว่ารัฐจะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ก็ตาม โดยที่ต้นทุนดังกล่าวจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ธุรกิจสามารถปรับตัวเข้ากับยุคโควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องอาศัยมาตรการภาคบังคับของรัฐบาล

– การสูญเสียมูลค่าจากกิจกรรมนอกตลาด คำสั่งห้ามออกจากบ้านระหว่างการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนไม่สามารถทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจซึ่งมีคุณค่าสำหรับบุคคลนั้นๆ อย่างมาก อาทิ การเข้าร่วมงานศพของคนสนิท หรือการเยี่ยมให้กำลังใจญาติที่กำลังตกที่นั่งลำบาก นี่คือสวัสดิการทางสังคมที่ประชาชนต้องจ่ายเพราะมาตรการล็อกดาวน์ แต่มูลค่าเหล่านี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทำให้ตีเป็นตัวเลขและรวมเอามาคำนวณได้ยาก

– ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว มีการศึกษาในอดีตพบว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะสร้าง ‘แผลเป็น’ ที่ส่งผลต่อการเติบโตในอนาคตของประเทศ เช่น วิกฤตในตลาดเงินจะสร้างบาดแผลทางใจที่ส่งผลต่อระดับความเสี่ยงที่รับได้ไปตลอดชีวิต มาตรการล็อกดาวน์ก็อาจส่งผลกระทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปิดโรงเรียนหรือการต้องเรียนออนไลน์ ที่อาจส่งผลต่อศักยภาพการหารายได้ในอนาคต หรือปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงาน ซึ่งสูญหายไปก็อาจบ่อนทำลายการเกิดนวัตกรรม นี่คือสิ่งที่หลายคนมักมองข้าม เพราะคิดไม่ถึงว่าวิกฤตในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบยาวนานไปนับทศวรรษ

อ่านแล้วดูยุ่งยากและคลุมเครือใช่ไหมครับ? ฝั่งผลประโยชน์จากมาตรการล็อกดาวน์ก็แทบไม่ต่างกัน

– จำนวนผู้เสียชีวิตที่น้อยลงจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยต้องเปรียบเทียบระหว่างโลกสองใบที่มีการล็อกดาวน์และไม่มีการล็อกดาวน์ การประมาณการดังกล่าวนับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโรคระบาดลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อได้ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตที่น้อยลงแล้ว เรายังต้องกำหนด ‘มูลค่า’ ของชีวิตประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไร้ข้อสรุป แต่ส่วนใหญ่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์จะอ้างอิงจาก ‘มูลค่าของชีวิตทางสถิติ’ (value of a statistical life) ซึ่งเป็นความยินดีจะจ่ายของประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต

– มูลค่าการลดความเสี่ยงที่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากมาตรการล็อกดาวน์จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสวัสดิการทางเศรษฐกิจต่อสังคม นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่าตัวเลขดังกล่าวอาจใกล้เคียงกับผลรวมของประโยชน์ในข้อแรก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่น้อยลงนั้น มีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลงได้จากมาตรการล็อกดาวน์ 

ความไม่แน่นอนทั้งฝั่งผลประโยชน์และต้นทุนของมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การวิเคราะห์ล่วงหน้าแล้วแปลงทุกอย่างออกมาเป็นตัวเลขเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ทั้งยังอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานในการคำนวณ นอกจากนี้ ประเด็นที่มักถูกตั้งคำถามมากที่สุดคือการตีมูลค่า ‘ชีวิตมนุษย์’ ให้เป็นตัวเลข ซึ่งเลือดเย็นจนหลายคนยากจะยอมรับ แต่ถึงแม้จะมีข้อจำกัดต่างๆ นักเศรษฐศาสตร์ก็ดั้นด้นหาคำตอบได้ว่ามาตรการล็อกดาวน์นั้นคุ้มค่าและคุ้มทุนหรือไม่ ภายใต้สมมติฐานใด

ว่าด้วยการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์

สำหรับการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของมาตรการล็อกดาวน์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงโดยไม่มีข้อสรุป ตัวแปรสำคัญคือมูลค่าของชีวิตประชาชนที่จะนำมาใช้ในการคำนวณ ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันอย่างมาก 

รัฐบาลโลกตะวันตกจะมีตัวเลขมาตรฐานของ ‘หนึ่งชีวิต’ สำหรับการวิเคราะห์ สหรัฐอเมริกากำหนดมูลค่าของชีวิตทางสถิติแบบเท่ากันทุกเพศทุกวัยคือ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลอังกฤษจะอิงจากจำนวนปีที่มีชีวิต ปรับด้วยคุณภาพชีวิต (Quality-Adjusted Life Years หรือย่อว่า QALYs) หมายความว่าหากมีชีวิตอยู่เพิ่ม 1 ปี แต่คุณภาพชีวิตไม่ดี เช่น ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ตัวเลขจำนวนปีก็จะถูก ‘ปรับ’ ให้เหลือน้อยกว่า 1 ปีนั่นเอง รัฐบาลอังกฤษมองว่าหนึ่ง QALYs จะมีค่าเท่ากับ 30,000 ปอนด์ โดยถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยของอายุผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 มูลค่าของชีวิตที่รักษาไว้ได้จะอยู่ที่ประมาณ 300,000-417,000 ปอนด์

ยิ่งตัวเลขมูลค่าชีวิตสูงเท่าไร ตัวเลขผลประโยชน์จากมาตรการล็อกดาวน์ก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ลิซา โรบินสัน (Lisa Robinson) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและคณะวิจัย ได้ทำการทบทวนงานวิจัย 3 ชิ้น ที่วิเคราะห์ต้นทุนและประเมินผลประโยชน์จากมาตรการล็อกดาวน์ในสหรัฐอเมริกา แล้วนำตัวเลขมาปรับปรุงด้วยวิธีการประเมินมูลค่าชีวิตมนุษย์สามวิธี คือมูลค่าของชีวิตทางสถิติโดยไม่ปรับตามอายุ (Age-Invariant VSL) มูลค่าของชีวิตทางสถิติโดยปรับตามช่วงอายุด้วยการใช้ค่าคงที่ (Constant VSLY) และมูลค่าตามความสัมพันธ์แบบตัว U กลับหัว (Inverse-U Relationship) ซึ่งสามารถสรุปได้ตามตารางข้างล่าง

ข้อมูลจาก Do the Benefits of COVID-19 Policies Exceed the Costs? Exploring Uncertainties in the Age–VSL Relationship
(หน่วย: ดอลลาร์สหรัฐฯ)

จากตารางข้างต้น จะเห็นว่ามูลค่าผลประโยชน์ที่ได้นั้นแตกต่างกันอย่างยิ่งตามวิธีการคำนวณมูลค่าชีวิตมนุษย์ เช่น การศึกษาของ Thunström ที่หากใช้วิธีการคำนวณแบบ Constant VSLY จะพบว่าผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นต่ำกว่าต้นทุน ขณะที่วิธีการคำนวณแบบอื่นจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงตัวอย่างการคำนวณที่อิงจากผลกระทบเท่าที่คาดการณ์ได้ในปัจจุบันทั้งในแง่เศรษฐกิจและความสูญเสียชีวิตประชาชน เราอาจมองเห็นผลกระทบในระยะยาวมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต หลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป รัฐบาลทุกแห่งจึงต้องคิดให้ครบและคิดให้รอบ เพราะการตัดสินใจล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์ รวมถึงระดับความเข้มข้นของมาตรการนั้น ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงปัจจุบัน แต่อาจสั่นคลอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ทางเลือกที่ดีกว่าการชั่งน้ำหนักประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์ที่ยุ่งยากและมีความไม่แน่นอนสูง คือการจัดหาวัคซีนคุณภาพสูงและมีเพียงพอต่อประชาชนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ รัฐบาลไทยพลาดไปแล้วหนึ่งครั้งกับวัคซีนม้าเต็งที่ไม่มาตามนัด ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าราคาที่ต้องจ่ายจากการล็อกดาวน์ครั้งนี้ จะทำให้รัฐตระหนักและปรับแผนจัดหาวัคซีนแบบ ‘เผื่อเหลือเผื่อขาด’ เพื่อแก้ไขการตัดสินใจที่ผิดพลาดในอดีต ยอมรับความจริงว่าโควิด-19 ยากจะขจัดให้หมดไป พร้อมกับปรับแผนว่าจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกับมันได้ในฐานะโรคประจำถิ่น (endemic disease)

 

อ้างอิง

How to assess the costs and benefits of lockdowns

We will never really know if the Covid-19 lockdowns were worth it

A Cost‐​Benefit Analysis of a Lockdown Is Very Difficult To Do Well

Do the Benefits of COVID-19 Policies Exceed the Costs? Exploring Uncertainties in the Age–VSL Relationship

Tags: , ,