ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง ที่หลายคนนับถอยหลังรอส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อนระอุจากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) ประเทศไทยส่ง พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม

นับตั้งแต่นานาประเทศบรรลุข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2558 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมมุ่งมั่นจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ แต่หากอิงจากแผนที่รัฐบาลทั่วโลกเสนอเพื่อรับมือปัญหา นักวิทยาศาสตร์ก็คาดว่า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2.5 ถึง 2.9 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นคริสต์ศตวรรษนี้ 

ถ้าเทียบกับทิศทางเดิมที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังดีไม่เพียงพอ

การประชุม COP28 ในปีนี้ ถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะนอกจากปีนี้นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เจ้าภาพผู้จัดการประชุมยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ซึ่งอาจไม่เห็นด้วยมากนักกับแผนลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ในทางกลับกัน หลายคนก็มองอย่างมีความหวังว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะเจ้าภาพอาจโน้มน้าวเหล่าผู้มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ให้มานั่งร่วมโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน

หนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมคือเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 เหล่ายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันรวม 50 บริษัทก็ได้บรรลุโครงการความร่วมมือที่ชื่อว่า ‘The Oil & Gas Methane Partnership 2.0’ (OGMP 2.0) เพื่อขจัดการปล่อยก๊าซมีเทนในกิจกรรมสำรวจและผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นศูนย์ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการความร่วมมือดังกล่าวไม่ต่างจากการ ‘ฟอกเขียว’ เนื่องจากไม่ได้ช่วยนำไปสู่การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแต่อย่างใด

กระนั้น ผู้เขียนมองว่าเหล่าบริษัทในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งที่ผ่านมาปักธงในฐานะผู้ปฏิเสธวิกฤตภูมิอากาศ และพยายามขัดขวางการออกกฎหมายทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก OGMP 2.0 จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่บริษัทเหล่านั้นยอมรับกลายๆ ว่า ตนเองเป็นสาเหตุของวิกฤตและต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

ทำไมต้อง ‘ก๊าซมีเทน’

เมื่อพูดถึงก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ตัวการอันดับแรกที่ปรากฏในความคิดย่อมหนีไม่พ้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หากเทียบกันในกรอบระยะเวลา 20 ปี ก๊าซมีเทนส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่าตัว อีกทั้งยังเป็นสาเหตุเกือบครึ่งหนึ่งของอุณหภูมิที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ก๊าซมีเทนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเชื้อเพลิงอย่างก๊าซธรรมชาติที่เราคุ้นเคยกันดี มีองค์ประกอบของก๊าซมีเทนกว่า 70%

นับตั้งแต่การประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ หลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มหันมาสนใจก๊าซมีเทน เนื่องจากอายุในชั้นบรรยากาศที่น้อยกว่า และสามารถกักเก็บความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลดการปล่อยก๊าซมีเทนจึงเป็นการแก้ปัญหาสภาพอากาศที่ง่ายและได้ผลรวดเร็วที่สุด จึงนำไปสู่การให้คำมั่นโดยบรรดาผู้นำนานาประเทศ ในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในหนึ่งทศวรรษ หรือที่เรียกว่าปฏิญญาสากลเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน (Global Methane Pledge) 

แหล่งปล่อยก๊าซมีเทนของโลกประกอบสร้างจากสามเสาหลัก เสาแรกคืออุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งก๊าซมีเทนรั่วไหลจากกระบวนการสำรวจและผลิตรวมถึงการขนส่ง เสาที่สองคือภาคการเกษตรที่ก๊าซมีเทนเกิดจากปศุสัตว์และการทำนาแบบน้ำท่วมขัง เสาที่สามคือแหล่งทิ้งขยะ ส่วนก๊าซมีเทนที่เหลือราว 30% เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำ

ในการประชุม COP28 แสงไฟทุกดวงสาดมายังอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยคาดหวังว่า จะมีความก้าวหน้าสำคัญในการร่วมลดการปล่อยก๊าซมีเทน สาเหตุเนื่องจากเทคโนโลยีที่ถึงพร้อม ทั้งในแง่การตรวจจับและการป้องกันก๊าซรั่ว รวมถึงฟากฝั่งการเมืองก็เดินหน้าตรากฎหมายเกี่ยวกับก๊าซมีเทน

วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศอยู่ที่สตาวังเงอร์ (Stavanger) เมืองหลวงของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของนอร์เวย์ นับตั้งแต่ปี 2514 รัฐบาลนอร์เวย์สั่งห้ามไม่ให้มีการเผาก๊าซทิ้งที่ปล่อง (Flaring) ในแท่นก๊าซธรรมชาติที่ตั้งอยู่บริเวณนอร์ธซี (North Sea) เพราะกระบวนการดังกล่าวทำให้ก๊าซมีเทนจำนวนมากหลุดรอดสู่ชั้นบรรยากาศโดยไม่ได้ผ่านการเผาไหม้ นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของนอร์เวย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับอังกฤษ

เมื่อไม่สามารถเผาก๊าซธรรมชาติที่แท่นเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า เหล่าบริษัทน้ำมันจึงต้องลงทุนต่อสายไฟฟ้าจากแผ่นดิน หรือพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งเพื่อใช้เป็นพลังงานสำหรับแท่นขุดเจาะ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency) คาดการณ์ว่า หากอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทุกประเทศ สามารถลดการเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเหลือเท่ากับของนอร์เวย์ ปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนจะลดลงร่วม 90%

เหล่านักวิจัยยังพัฒนากลไกเพื่อติดตามและตรวจจับก๊าซมีเทน ไม่ว่าจะใช้ดาวเทียม เครื่องบิน หรือเซนเซอร์ภาคพื้นดิน ประกอบกับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ได้คือแผนที่โลกซึ่งระบุว่า จุดใดบ้างบนโลกที่มีก๊าซมีเทนรั่วไหลและใครต้องรับผิดชอบ โดยนักวิจัยพบว่า การรั่วไหลขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่อัลจีเรีย สหรัฐอเมริกา อิหร่าน คาซัคสถาน รัสเซีย และเติร์กเมนิสถาน

แผนที่แสดงการปล่อยก๊าซมีเทน วิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม ภาพจาก KAYRROS

ฝั่งการเมืองเริ่มตื่นตัว เริ่มจากยักษ์ใหญ่ฝั่งตะวันออกอย่างประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ในปัจจุบันเปิดเผยว่า จะมีการนำเอาก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ ส่วนสหรัฐฯ ก็ไม่น้อยหน้า มีการประกาศมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ต้องนำเทคโนโลยียุคใหม่มาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ขณะที่สหภาพยุโรปก็อนุมัติชุดมาตรฐาน เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซมีเทนครอบคลุมทั้งภาคพลังงานภายในประเทศและการนำเข้าพลังงาน

เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยซึ่งสามารถใช้แก้ปัญหาและตรวจจับการรั่วไหล ประกอบกับชุดกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด อาจทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้อย่างที่คาดหวัง นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในแวดวงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยกับการปลดปล่อยก๊าซมีเทน

หันกลับมาที่ประเทศไทย เราอยู่ในฐานะผู้ปล่อยก๊าซมีเทนในระดับกลาง โดยอุตสาหกรรมหลักที่ปล่อยก๊าซมีเทน คือภาคการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวน้ำขัง ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในฟากฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาคือแหล่งทิ้งขยะซึ่งใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่าก๊าซมีเทนรั่วไหล (Fugitive Emissions) กล่าวคือก๊าซที่เล็ดรอดออกมาสู่ชั้นบรรยากาศระหว่างกระบวนการขุดเจาะหรือกระบวนการขนส่ง

หากใครพลิกดูรายชื่อบริษัทที่ร่วมลงนามใน The Oil & Gas Methane Partnership 2.0 จะพบว่า รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของไทยก็เข้าไปมีส่วนร่วมโดยส่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ไปร่วมลงนาม แม้การตัดสินใจดังกล่าวจะนับว่า เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ แต่ความจริง ปตท.สผ.ก็ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซมีเทนตั้งแต่ปี 2559 แล้ว เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า แหล่งก๊าซในอ่าวไทยเหลืออยู่ไม่มาก และในอนาคตอันใกล้เราจำเป็นจะต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เท่ากับว่าการลงนามในความร่วมมือดังกล่าวก็อาจไม่ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในระดับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

อีกเรื่องหนึ่งที่นับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง คือการที่ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในปฏิญญาสากลเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน โดย วราวุธ ศิลปอาชา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุม COP27 อ้างว่า สาเหตุที่ไทยไม่ลงนามเนื่องจากก๊าซมีเทนส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวจำนวนมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ต่างก็ร่วมลงนาม ประเทศไทยจึงอยู่ในกลุ่มเดียวกับลาวและเมียนมา ที่ตัดสินใจไม่ร่วมลงนามในปฏิญญาสากลเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน

ไทยในฐานะประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง การปฏิเสธไม่ร่วมลงนามจึงนับว่า น่าเสียดายและกลายเป็นความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) เพราะช้าหรือเร็ว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศส่วนใหญ่จึงเลือกเปลี่ยนแปลงตัวเองล่วงหน้า เพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศพร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนประเทศใดที่ยังไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงก็จะถูก ‘บังคับ’ ให้เปลี่ยนแบบฉับพลัน เช่น กฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นแล้วอย่าง มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่เรียกเก็บค่าคาร์บอนเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าคาร์บอนสูง อย่างเหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม

ผู้เขียนไม่อยากนึกภาพเลยว่า ตลาดส่งออกข้าวจะเป็นอย่างไร ถ้าวันดีคืนดีประเทศคู่ค้ามีการเรียกเก็บ ‘ภาษีมีเทน’ ขณะที่คู่แข่งการส่งออกข้าวอย่างเวียดนามพร้อมรับมือ เพราะเดินหน้าคิดค้นวิธีผลิตข้าวมีเทนต่ำได้แล้ว ส่วนของไทยยังย่ำอยู่ในวังวนของการ อุดหนุน-เยียวยา-พักหนี้ เพราะรัฐบาลไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

เอกสารประกอบการเขียน

What the world must do to tame methane

Politics and technology are pushing oil firms to cut methane

Targeting methane “ultra-emitters” could cheaply slow climate change

Tags: , , , , ,