คงไม่ผิดนัก หากจะเรียกการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนว่า ‘ปาฏิหาริย์’
แม้ว่าจีนภายใต้การนำของประธานเหมาเปรียบได้ดั่งช่วงเวลาแห่งหายนะทางเศรษฐกิจ แต่หลังจาก เติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นสู่อำนาจและมีท่าทีผ่อนคลายทางเศรษฐกิจมากขึ้น เศรษฐกิจจีนก็เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจีดีพีในปี 2010 มีมูลค่าสูงถึง 17 เท่าเมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อน
แม้ว่าจีนจะเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 แต่การจัดการอย่างรวดเร็วและรัดกุม ทำให้รัฐใช้เวลาไม่นานก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จีนจึงกลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งแรกของโลกที่ฟื้นตัวหลังเผชิญการระบาด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ประกาศอย่างปลาบปลื้มว่าขจัดความยากจนแบบสุดขีดได้สำเร็จโดยใช้เวลา 8 ปี ยกระดับชีวิตคนจน 100 ล้านคนทั่วประเทศให้ลืมตาอ้าปากได้
แต่ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของจีนกลับเปราะบางกว่าที่หลายคนคาด เมื่อฝันหวานกลับพังทลายลงหลังจาก ‘เอเวอร์แกรนด์’ (Evergrande) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับสองของจีนซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเคยขึ้นแท่นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ประกาศว่ากำลังเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องและอาจต้องผิดนัดชำระหนี้ พร้อมเผยว่าบริษัทมีภาระหนี้สิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นหนี้สินระยะสั้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น จีดีพีซึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของไทยในปี 2020 มีมูลค่าทั้งหมดราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จึงคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของจีดีพีไทยในหนึ่งปี
เราอาจมองว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะโรงงานผลิตของโลก พร้อมกับความพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองทั้งในด้านดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และเทคโนโลยีต่างๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว เครื่องจักรสำคัญที่ผลักดันให้เกิด ‘ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ’ แต่กลับไม่มีใครพูดถึงมากนักคือ ‘อสังหาริมทรัพย์’
วิกฤตเอเวอร์แกรนด์แท้จริงแล้วจึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของเศรษฐกิจที่ง่อนแง่นมาเนิ่นนานจากการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน
ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์กับเมืองผีสิง
หลายคนอาจไม่ทราบว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีมานี้มีแรงผลักดันสำคัญคืออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องคิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีจีน ความคึกคักในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทำให้ราคาบ้านในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอสังหาริมทรัพย์ถูกผลักดันโดยรัฐบาลกลางและรัฐบางท้องถิ่นที่สนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเติบโตดังกล่าวมาพร้อมกับหนี้มูลค่ามหาศาลที่ปัจจุบันหนี้ภาคเอกชนและประชาชนรวมกันมีสัดส่วนสูงถึง 287 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 178 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเมื่อทศวรรษก่อน
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงทำให้ภาคเอกชนกู้เงินจากทุกแหล่งเท่าที่จะหาได้ เช่น บริษัทเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งระดมเงินทุนจากทั้งธนาคาร หุ้นกู้ คู่ค้า รวมไปถึงลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะยอมจ่ายเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปีก่อนสร้างเสร็จ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่หอมหวานทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนเงินฝากเป็นอสังหาริมทรัพย์ โดยมองข้ามการลงทุนยอดนิยมจากตลาดหลักทรัพย์
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยมองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนกำลังก่อตัวเป็นฟองสบู่มาเนิ่นนานหลายปี ราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการเก็งกำไรโดยการก่อหนี้กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจมานักต่อนัก การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในจีนนับว่าสาหัสสากรรจ์ มีการประมาณการว่าสิ่งปลูกสร้างและบ้านที่ถูกทิ้งร้างหรือก่อสร้างไม่เสร็จทั่วประเทศจีนนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของบ้านทั้งหมด โดยสามารถรองรับผู้อาศัยได้ถึง 90 ล้านคน กล่าวคือคนไทยทั้งประเทศสามารถย้ายเข้าไปอยู่ได้แบบสบายๆ
เมืองร้างเหล่านี้นี่แหละคือระเบิดเวลา เมื่อใดก็ตามที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ร่วงลงอย่างรวดเร็ว เมื่อนั้นเหล่าลูกหนี้อาจเลือก ‘ผิดนัดชำระหนี้’ โดยยินดีที่จะให้เจ้าหนี้ยึดบ้านหรือคอนโดร้างที่ถูกปั่นราคาขึ้นไปสูงลิ่วนำไปขายทอดตลาด กลายเป็นวงจรสะท้อนย้อนกลับที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ทรุดลงไปอีกเพราะตลาดมีแต่ของขายแต่ไม่มีใครอยากซื้อ นี่คือสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เวลาร่วมทศวรรษกว่าจะฟื้นกลับมาได้
แต่รัฐบาลจีนที่อำนาจในมือล้นเหลือย่อมไม่ยอมอยู่เฉย เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลท้องถิ่นในบางเมืองมีการออกกฎหมายห้ามขายอสังหาริมทรัพย์ลดราคามากจนเกินไป เพราะกลัวว่าวิกฤตครั้งนี้อาจทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ล่มสลาย เช่น เมืองเยว่หยาง (Yueyang) ในมณฑลหูหนานทางตอนใต้ของจีน ประกาศห้ามลดราคาเกินกว่า 15 เปอร์เซ็นต์
แต่ปัญหาดังกล่าวก็วนเป็นงูกินหาง เพราะถ้าไม่สามารถลดราคาก็จะหาผู้ซื้อได้ลำบาก และหากบริษัทไม่สามารถขายอสังหาริมทรัพย์ออกไปได้ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายชำระหนี้ สุดท้ายก็วนกลับมาที่การผิดนัดชำระหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมอยากได้เงินสดคืนมากกว่าอสังหาริมทรัพย์ที่สภาพคล่องต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกก็คือ นโยบายที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจกระทันหันจนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวไม่ทัน
นโยบายที่อาจทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตราวกับปาฏิหาริย์ แต่สิ่งที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์กลับเลือกที่จะปิดตาข้างหนึ่ง ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเต็มที่และเปิดทางให้เกิดมหาเศรษฐี ก่อนที่จะเหยียบเบรกกะทันหันแล้วเบนเข็มสู่การสร้างความ ‘เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ (common prosperity) โดยรัฐพร้อมจะ ‘ใช้กำลัง’ เข้าจัดการกับภาคเอกชนให้เดินตามครรลองสู่อุดมคติที่รัฐกำหนดไว้
เราอาจคุ้นหูกับการจัดระเบียบภาคเอกชนในแวดวงเทคโนโลยี ขณะที่ฝั่งอสังหาริมทรัพย์อาจไม่ถูกพูดถึงมากนัก แต่ความจริงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนจับตาตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2017 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยกล่าวในที่ประชุมพรรค ซึ่งไม่ต่างจากการส่งสัญญาณเตือนว่า “บ้านควรจะถูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไร”
ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนขยับตัวครั้งใหญ่โดยประกาศนโยบาย ‘สามเส้นแดง’ (Three red lines) ประกอบด้วย หนึ่ง อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ต้องไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ สอง อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต้องไม่เกิน 100 เปอร์เซ็นต์ และ สาม เงินสดต่อหนี้สินระยะสั้นต้องมากกว่า 1 เท่าตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อลดหนี้สินในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขจัดปัญหาการกู้ยืมอย่างไม่รอบคอบ และป้องกันไม่ให้กลไกตลาดทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ขยับเข้าสู่หายนะ
นโยบายดังกล่าวเปลี่ยนโฉมหน้าโมเดลธุรกิจของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนไปตลอดกาล เพราะทำให้บริษัทไม่สามารถกู้ยืมเงินได้แบบไร้ขีดจำกัดเช่นในอดีต นโยบายนี้กระทบเอเวอร์แกรนด์อย่างจังจนบริษัทต้องกระเสือกกระสนเอาตัวรอด เพื่อหาเงินสดมาใช้หนี้โดยการขายอสังหาริมทรัพย์ในราคาลดแลกแจกแถมและชะลอหลายโครงการก่อสร้างออกไปก่อน แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าสุดท้ายแล้ว เงินที่ได้มาก็ไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้มูลค่ามหาศาล
โจทย์สำคัญที่รัฐบาลจีนกำลังเผชิญคือถอดชนวนระเบิดวิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ให้นุ่มนวลที่สุด ปรับโครงสร้างเหล่าบริษัทเจ้าปัญหาให้กลับมายืนได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง อัดสภาพคล่องในตลาดสินเชื่อเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินขาดแคลน เนื่องจากหนี้เสียในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำตามวิสัยทัศน์ท่านผู้นำในการลดความเหลื่อมล้ำและ ‘มุ่งมั่นสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ไม่ใช่ภาพลวงตาจากฟองสบู่ พร้อมทั้งบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน’
หากทำได้สำเร็จ ผู้เขียนรับรองได้เลยว่าจีนจะกลายเป็นต้นแบบการจัดการภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แบบไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง แต่หากล้มเหลว วิกฤตเศรษฐกิจจีนก็อาจกลายเป็นระเบิดปรมาณูลูกที่สองในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19
เอกสารประกอบการเขียน
5 Lessons Evergrande Taught Us About The Chinese Economy
How a housing downturn could wreck China’s growth model
Evergrande’s crisis highlights China’s shortcomings
What are the systemic risks of an Evergrande collapse?
Tags: จีน, Economic Crunch, เอเวอร์แกรนด์, Evergrande, Economic