ผู้เขียนไม่ใช่คอบอล แต่ข่าวสารบอลโลกปีนี้กลับน่าสนุกจนหยุดติดตามไม่ได้

ข่าวที่ว่าไม่ใช่การพลิกล็อกผลบอลแบบคาดเดาไม่ได้เท่านั้นนะครับ แต่เป็นการงัดข้อ ช่วงชิงผลประโยชน์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์บอลโลกที่ซื้อมาด้วยเงินภาษีประชาชนกว่าครึ่งหนึ่ง แต่อำนาจในการตัดสินใจและจัดสรรปันส่วนแทบทั้งหมดกลับไปตกอยู่ในมือเอกชนรายใหญ่รายเดียว

มหากาพย์ครั้งนี้จึงถือเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ภาคปฏิบัติที่ชวนให้ติดตาม เพราะดูท่าทางเรื่องคงไม่จบง่ายๆ และตราบใดที่ไทยยังมีกฎ Must Have และ Must Carry เราก็คงได้เห็นความประดักประเดิดเช่นนี้ทุกมหกรรมกีฬาที่เอกชนควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์มาฉายในประเทศไทย

ประเทศไทยกับ เงื่อนไขพิเศษในการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี 2555-2556 สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีประกาศสำคัญ 2 ฉบับที่มักใช้ชื่อเล่นว่า ‘Must Have’ และ ‘Must Carry’ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าชมมหกรรมกีฬาสำคัญระดับโลกได้อย่างเท่าเทียม

กฎ Must Have ระบุว่ามหกรรมกีฬา 7 รายการจะต้องถ่ายทอดผ่านฟรีทีวีเท่านั้น ส่วนกฎ Must Carry คือเปิดให้ผู้บริการทุกแพลตฟอร์มสามารถนำรายการที่ฉายผ่านช่องฟรีทีวีไปออกอากาศได้โดยไร้เงื่อนไข นี่คือสองกฎเหล็กที่ทำให้ภาคเอกชนรู้สึกเข็ดขยาดไม่อยากเข้าซื้อลิขสิทธิ์มหกรรมกีฬาสำคัญอย่างบอลโลกที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายในราคาแพง แต่เมื่อได้ลิขสิทธิ์มากลับต้องมาฉายทางฟรีทีวีตามเงื่อนไขของ กสทช.

กฎ Must Have และ Must Carry ของ กสทช. ที่บังคับให้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดมหกรรมกีฬาที่ควรจะเป็นสินค้าเอกชนให้กลายเป็น ‘สินค้าสาธารณะ’ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นำไปสู่ปัญหาฟรีไรเดอร์ (Free Rider) หรือก็คือคนที่ไม่ยอมจ่ายกลับได้ประโยชน์แบบเต็มๆ เช่นในกรณีนี้คือเหล่าช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ ที่ไม่ต้องออกเงินสักบาท

ข้อบังคับดังกล่าวทำให้โมเดลธุรกิจในการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกเพื่อนำมาจำหน่ายเป็น ‘แพ็กเกจ’ ให้เหล่าคอบอลควักกระเป๋าจ่ายเองเช่นในสิงคโปร์หรือฟิลิปปินส์เป็นไปไม่ได้ ทางเลือกที่เหลือจึงเป็นการระดมเงินลงขันจากภาคเอกชนผู้ใจบุญหรือการจ่ายโดยภาษีประชาชนโดยมองว่าการถ่ายทอดมหกรรมกีฬานั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ฝั่งฟีฟ่าในฐานะ ‘ผู้ผูกขาด’ ลิขสิทธิ์บอลโลกแต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจเต็มมือในการกำหนดราคาขาย กระบวนการที่เชื่องช้าของไทยกลายเป็นข้ออ้างในการตั้งราคาแบบขูดเลือดขูดเนื้อถึง 1,600 ล้านบาท จนไทยจวนเจียนจะไม่ได้ดูบอลโลกเพราะไม่มีใครยอมเสียเงินซื้อ

แต่ฟีฟ่าก็ยอมลดราคาเหลือ 1,400 ล้านบาท (รวมภาษี) ในนาทีสุดท้ายเพราะได้เงินน้อยลงก็คงดีกว่าไม่ได้เลย ขณะที่ กสทช. ยอมเป็นเจ้าภาพรายใหญ่ใช้เงินภาษีจ่ายไป 600 ล้านบาท ส่วนภาคเอกชนที่ลงขันมากที่สุดคือกลุ่มทรูคิดเป็นเงิน 300 ล้านบาท ประเทศไทยจึงเป็นชาติสุดท้ายที่ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกได้สำเร็จก่อนนัดเปิดสนาม 3 วัน

เรื่องราวทั้งหมดเหมือนจะจบลงด้วยดีจนกระทั่งผลการจัดสรรการถ่ายทอดสดเผยแพร่ต่อสาธารณชน

บรรษัทสวัสดิการ เมื่อรัฐใช้ภาษีช่วยเหลือภาคเอกชน

หลังจากคว้าลิขสิทธิ์บอลโลกมาได้สำเร็จ คนไทยจำนวนไม่น้อยก็คาดหวังว่าจะได้ดูบอลนัดสำคัญอย่างน้อยก็เกินครึ่งหนึ่งจาก 64 นัด เพราะเจ้าภาพหลักในการจัดซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกในคราวนี้ภาครัฐอย่าง กสทช. ยังไม่นับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างการกีฬาแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ปตท. ที่หนุนหลักร้อยล้านบาท ขณะที่เจ้าภาพเบอร์สองอย่างกลุ่มทรูออกเงิน 300 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 20% เท่านั้น

แต่ความจริงกลับไม่เป็นดังคาดเพราะการกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนผู้ซื้อลิขสิทธิ์จากฟีฟ่ามอบสิทธิให้กลุ่มทรูเลือกนัดที่ต้องการถ่ายทอดสด 32 คู่จาก 64 คู่ อีกทั้งยังระบุว่าการถ่ายทอดสดผ่านช่องฟรีทีวีและช่อง True4U โดยส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายทอดสดแบบ Standard Definition หรือ SD หากต้องการดูแบบคมชัดทุกคู่ก็มีทางเลือกเดียวคือการสมัครเข้าเป็นลูกค้ากลุ่มทรู

ในมุมมองของผู้เขียน การตัดสินใจของกลุ่มทรูไม่ใช่เรื่องเกินคาดเพราะทรูเป็นบริษัทที่ต้องแสวงหากำไรสูงสุด เมื่อยอมจ่ายเงินไปร่วม 300 บาทก็ต้องมองหาช่องทางที่จะทำกำไรเข้ากระเป๋าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ กรณีที่บริจาคเงินโดยไม่หวังกำไรต่างหากที่อาจถูกตำหนิว่าไม่ทำตามหลักความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) เพราะเงินที่จ่ายไปคือเงินของผู้ถือหุ้น ไม่ใช่เงินของผู้บริหาร

ประเด็นที่ชวนฉงนสงสัยคือการมอบสิทธิพิเศษให้เอกชนรายใหญ่เพียงรายเดียวของการกีฬาแห่งประเทศไทยต่างหาก ทั้งที่เจ้าภาพใหญ่คือภาครัฐ เงินที่จ่ายไปส่วนใหญ่ก็มาจากภาษีประชาชน แต่กลับไปน้อมคำนับให้ฝั่งเอกชนที่ออกเงินเพียงราว 20% ทำตัวราวกับเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว

การกระทำเช่นนี้อาจถูกมองว่าเป็นบรรษัทสวัสดิการ (Corporate Welfare) หมายถึงการให้เงินอุดหนุนภาคเอกชนอย่างเกินเลย ไม่สมเหตุสมผล ไม่เกิดประโยชน์ ไร้ประสิทธิภาพ และไม่เป็นธรรม ซึ่งมักเป็นการแปะป้ายโครงการที่ภาครัฐโพนทะนาว่าจ่ายภาษีไป ‘เพื่อประโยชน์ของประชาชน’ แต่ความจริงแล้วบริษัทยักษ์ใหญ่กลับได้ประโยชน์สูงสุด

บรรษัทสวัสดิการสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพในการตัดสินใจใช้เงินภาษีของประชาชน การอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณทุกครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ของสาธารณชนกับผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งหลายครั้งมักสวนทางกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือการตัดสินใจอย่างไร้ประสิทธิภาพ เงินภาษีที่ควรใช้สำหรับสร้างความสุขให้กับคนทั้งประเทศจึงกลายเป็นการใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่พวกพ้อง หรือเอื้อประโยชน์ให้กับคนกันเอง

อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็มีอำนาจอยู่ในมือคือการส่งเสียงเรียกร้องแสดงความไม่พอใจเมื่อพบเห็นความอยุติธรรม ในวันที่กระแสสังคมตีกลับ ภาคเอกชนซึ่งห่วงภาพลักษณ์ของตัวเองมากกว่าภาครัฐก็มักจะยอมถอย เช่น กรณีลิขสิทธิ์บอลโลกที่กลุ่มทรูก็ตัดสินใจคืนสิทธิการถ่ายทอดสด 16 นัดให้ดิจิทัลทีวีจัดฉายแก่ประชาชน

เมื่อผลบอลหักปากกาเซียน

พูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ไทยพอหอมปากหอมคอ ขอมาดูผลการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบแรกกันบ้าง

ฟุตบอลโลกปีนี้นับว่ามีแต่เรื่องเกินคาด เพราะเหล่าทีมชาติมือรองกลับพลิกล็อกเอาชนะทีมชาติระดับตำนานครั้งแล้วครั้งเล่า คู่ที่ผิดคาดมากที่สุดคือการที่ซาอุดีอาระเบียเอาชนะอาร์เจนตินาไปได้ด้วยคะแนน 2 ต่อ 1 นำความปลื้มปีติมาสู่ประเทศถึงขั้นที่สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานประกาศเป็นวันหยุดประจำชาติ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคู่ที่ผิดคาด เช่น ทีมชาติญี่ปุ่นที่เอาชนะเยอรมนีและสเปน ทีมชาติโมร็อกโกเอาชนะเยอรมนี ทีมชาติเกาหลีใต้เอาชนะโปรตุเกส ส่วนทีมชาติฝรั่งเศสก็พ่ายให้กับตูนิเซีย

นอกจากนี้ การแข่งขันรอบแรกยังไม่มีทีมใดทำผลงานโดดเด่นโดยเอาชนะแบบ 3 นัดรวด ฟุตบอลโลกในปีนี้จึงนับว่าน่าจับตาเพราะมีเรื่องให้ลุ้นแทบทุกคู่อย่างแน่นอน

แต่สงสัยกันไหมครับว่าเหตุใดผลฟุตบอลโลกครั้งนี้จึง ‘ผิดคาด’ สาเหตุสำคัญก็เพราะเราต่าง ‘คาดการณ์’ โดยพิจารณาจากชุดข้อมูลการแข่งขันที่เคยเกิดขึ้นในอดีตโดยมีสมมติฐานสำคัญที่เราอาจไม่รู้ตัวคือประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นซ้ำรอย แต่ผลการแข่งขันฟุตบอลโลกจนถึงวันนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าสมมติฐานดังกล่าวไม่เป็นความจริงเสมอไป

หนึ่งในศาสตร์ที่ศรัทธากับข้อมูลในอดีตอย่างเหนียวแน่นคือ ‘การวิเคราะห์สัญญาณทางเทคนิค’ (Technical Analysis) เพื่อหาจังหวะการเข้าซื้อขายหุ้นโดยจะพิจารณาเส้นแนวโน้มหรือเส้นค่าเฉลี่ย โดยกราฟเหล่านี้ต่างสร้างขึ้นจากข้อมูลในอดีตทั้งสิ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพิจารณาข้อมูลในอดีตเพื่อทำนายอนาคตก็มีความแม่นยำอยู่ไม่น้อย เช่น อดีตแชมป์ฟุตบอลโลกก็มีโอกาสที่จะคว้าแชมป์สมัยที่ 2 หรืออย่างน้อยก็ได้เข้าแข่งขันในรอบลึกๆ แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้เสมอว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้กับลูกบอลกลมๆ เช่นเดียวกับหุ้นในตลาดที่ประวัติศาสตร์อาจไม่ได้บอกอะไรเราเลย

ถึงบางช่องภาพจะไม่ชัด แต่ผมก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการรับชมฟุตบอลโลกในปีนี้นะครับ 🙂

Tags: , , , ,