นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน แทบทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูงลิ่วในรอบ 7 ปี แต่ทราบไหมครับว่า ยังมีอีกตลาดน้ำมันที่ราคาเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดและน่ากังวลไม่แพ้กัน นั่นคือ ‘น้ำมันพืช’ ผลิตภัณฑ์ที่ทุกครัวเรือนไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจนก็ต้องมีติดบ้าน

ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงน้ำมันสำหรับบริโภคซึ่งเราทุกคนคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน และที่ขาดไม่ได้เลยคือน้ำมันปาล์ม

 

 

กราฟดัชนีราคาน้ำมันพืชระหว่าง ปี 2556-2565 ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ

ถึงหลายคนอาจไม่ใช่แฟนของทอด แต่ทราบไหมครับว่า น้ำมันพืชเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ทั้งอุปโภค ตั้งแต่สบู่ แชมพู ไปจนถึงลิปสติก และสินค้าบริโภคทั้งช็อกโกแลต ไอศกรีม เนย นมข้น ขนมปัง และอีกสารพัด เมื่อน้ำมันพืชราคาขยับ จึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าชนิดต่างๆ จะปรับราคาตาม โดยน้ำมันพืชนับเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของบริษัทข้ามชาติที่เราคุ้นเคยกันดี อาทิ ยูนิลีเวอร์ซึ่งปีที่ผ่านมาจ่ายเงินซื้อน้ำมันพืชถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวหนึ่งแสนล้านบาท

แต่หากหันไปมองทิศทางตลาด เราจะเห็นแนวโน้มราคาของน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ส่วนหนึ่งเพราะผลผลิตทางการเกษตรที่ย่ำแย่ เช่น ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมถั่วเหลืองในอาร์เจนตินาและคาโนลาในแคนาดา อีกปัจจัยหนึ่งคือความต้องการใช้น้ำมันพืชที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลในฝั่งเอเชีย และเหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้ตลาดปั่นป่วนก็หนีไม่พ้นสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

วิกฤตน้ำมันพืชจากไฟสงคราม

ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันรายใหญ่ โดยมีกำลังการผลิตรวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก นับตั้งแต่เกิดสงคราม ปริมาณน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันในตลาดโลกก็ดิ่งเหว และหากสงครามยืดเยื้อต่อไป เกษตรกรชาวยูเครนก็จะพลาดโอกาสเก็บเกี่ยวและเพาะปลูกผลผลิตรอบใหม่สำหรับฤดูกาลหน้า

แม้คนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันมากนัก แต่น้ำมันดังกล่าวนับเป็นน้ำมันพืชคู่ครัวชาวยุโรป เพราะราคาประหยัดและต้องใช้ความร้อนสูงจึงจะเกิดควัน โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีและสหราชอาณาจักรผู้ชื่นชอบอาหารประเภททอด ภาวะขาดแคลนทำให้ทั้งสองประเทศต้องจำกัดการจำหน่ายน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ร้านอาหารบางร้านถึงขั้นต้องถอดของทอดออกจากเมนู

อย่างไรก็ตาม เหล่าประเทศที่ร่ำรวยก็ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำมันพืชสักเท่าไร เพราะสามารถใช้น้ำมันชนิดอื่นมาทดแทนได้ เช่น น้ำมันคาโนลา ขณะที่ประเทศยากจนอาจต้องกระเสือกกระสนกว่าเพราะไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก

เมื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันพืชถูกสั่นคลอน รัฐบาลหลายประเทศจึงตัดสินใจประกาศมาตรการ ‘ห้ามส่งออก’ น้ำมันพืช หวังป้องกันการขาดแคลนในอนาคตอันใกล้ เช่น อียิปต์และตุรกี ที่ห้ามส่งออกน้ำมันเพื่อประกอบอาหารทุกชนิดซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอย่างอินโดนีเซียก็ทำให้ตลาดน้ำมันพืชทั่วโลกปั่นป่วนอีกระลอก หลังจากประกาศมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ไขปัญหา ‘การขาดแคลนภายในประเทศ’

วิกฤตน้ำมันปาล์มจากนโยบายที่ผิดพลาด

น้ำมันปาล์มเกินครึ่งหนึ่งของโลกผลิตในประเทศอินโดนีเซีย การประกาศภาวะน้ำมันปาล์มขาดแคลนภายในประเทศจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างฉงนสงสัย เนื่องจากผลผลิตปาล์มไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติใดๆ ในทางกลับกัน รัฐบาลยังคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียกลับเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์อย่างไร้สาเหตุ สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวอินโดนีเซียที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มในชีวิตประจำวัน และทำให้ ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ตกที่นั่งลำบาก เขาพยายามแก้ปัญหาโดยจำหน่ายน้ำมันปาล์มสำรอง 11 ล้านลิตร การให้เงินอุดหนุน การเก็บภาษี และจำกัดการส่งออก ไปจนถึงการตั้งเพดานราคา แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สุดท้ายจึงต้องงัดมาตรการขั้นเด็ดขาดมาใช้ นั่นคือการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทุกชนิดแบบไม่มีกำหนด

รัฐบาลอินโดนีเซียเองก็ต้องการทำความเข้าใจวิกฤตราคาน้ำมันปาล์มที่เกิดขึ้น จึงตั้งทีมสอบสวน ก่อนจะพบกับหลักฐานชิ้นสำคัญว่า เจ้าสัวน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำร่วมมือกันทำงานเสมือน ‘คาร์เทล’ (Cartel) ผูกขาดปริมาณการผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มในประเทศเพื่อให้สามารถกำหนดราคาขายปลีกได้ดังใจนึก

แต่ส่วนหนึ่งของปัญหา ก็คือนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่เร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลตั้งแต่ปี 2548 ผ่านมาตรการอุดหนุนสารพัดเพื่อดึงดูดนักลงทุน รวมถึงข้อกำหนดที่โรงกลั่นน้ำมันจะต้องผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนของน้ำมันปาล์มอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมันปาล์มจึงไม่ได้ถูกใช้เพื่อการบริโภคเป็นหลักอย่างเช่นในอดีต แต่ต้องถูกแบ่งไปยังอุตสาหกรรมไบโอดีเซลที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลากหลายปัจจัยที่รุมเร้าประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นสูง เนื่องจากเป็นสินค้าทดแทนน้ำมันพืชชนิดอื่นที่เผชิญภาวะขาดแคลน ทำให้ประเทศมหาอำนาจด้านน้ำมันปาล์มกลับเผชิญกับปัญหาน้ำมันพืชขาดแคลนเสียเอง และอาจส่งผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มเติม

ความมั่นคงทางอาหารที่ถูกสั่นคลอน

ราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวขึ้นสูงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นอกจากน้ำมันพืชจะเป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดแล้ว น้ำมันปาล์มยังเป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหารยอดนิยมในหมู่ประเทศรายได้น้อย เนื่องจากราคาถูกที่สุด เมื่อราคาน้ำมันปาล์มไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลดลง ทั่วโลกก็อาจเผชิญกับภาวะราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นถึงราว 30 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และอาจเลวร้ายลงอีกในอนาคต หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

ภาวะข้าวยากหมากแพงต่างสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลแทบทุกแห่งกู้เงินมหาศาลจนชนเพดานหนี้สาธารณะเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จนไม่เหลือเม็ดเงินเพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อในปัจจุบัน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนโดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก ความทุกข์ยากในการดำรงชีพผลักให้ประชาชนในบางประเทศ เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน และเปรู ออกมาเรียกร้องบนท้องถนน

นับตั้งแต่เกิดสงคราม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตั้งแต่น้ำมันไปจนถึงอาหารก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่คือราคาที่ประชาชนทั้งโลกต้องร่วมจ่ายจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

 

เอกสารประกอบการเขียน

Indonesia, the world’s biggest producer, has a palm-oil crisis

Indonesia’s palm oil export ban heats up vegetable oil market

Indonesia palm ban: The other oil crisis will lead to a hungrier world

Surging food prices take a toll on poor economies

Food Prices Approach Record Highs, Threatening the World’s Poorest

Tags: , , , ,