เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกทั้งใบสั่นสะเทือนเมื่อทรัมป์ประกาศกร้าวเดินหน้ากำแพงภาษี ‘วันปลดแอกสหรัฐฯ’ (Liberation Day) ที่จะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกอย่าง 10% โดยจะมีการพิจารณาเรียกเก็บภาษีตอบโต้กับสินค้าบางประเภท และรายประเทศโดยอิงจากดุลการค้าของสหรัฐฯ และประเทศนั้นๆ

กำแพงภาษีดังกล่าวมีตั้งแต่ราว 10% ไปจนถึง 50% โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็โดนหนักกันถ้วนหน้า นำทีมโดยกัมพูชา 49%, ลาว 48%, เวียดนาม 46%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32%, มาเลเซีย 24% และฟิลิปปินส์ 17% ซึ่งมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นตัวเลขที่คิดคำนวณมาอย่าง ‘มักง่าย’ เพราะเป็นการเทียบสัดส่วนมูลค่าการค้าที่ประเทศเหล่านี้เกินดุลกับสหรัฐฯ ต่อมูลค่าการส่งออกทั้งหมดแล้วนำมาหารสองเพื่อกำหนดอัตรากำแพงภาษี

แม้จะคำนวณด้วยวิธีเรียบง่ายจนน่าหัวเราะ แต่ผลของมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดทั่วโลก สะท้อนจากมูลค่าตลาดหุ้นที่ดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทรัมป์จึงแก้เก้อด้วยการชะลอมาตรการทางภาษีดังกล่าวออกไป 90 วันเพื่อเปิดโอกาสให้นานาประเทศตบเท้าเข้าเจรจาพร้อมกับตั้งชื่อแคมเปญว่า ‘90 ดีลใน 90 วัน’ โดยล่าสุดมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่บรรลุข้อตกลงทั้งแบบทางการและกึ่งทางการ นั่นคือ สหราชอาณาจักร จีน และเวียดนาม

เหล่านักลงทุนในวอลล์สตรีตบางกลุ่มตั้งฉายาให้ทรัมป์ว่า TACO ย่อมาจาก Trump Always Chickens Out หรือแปลเป็นไทยว่า ‘ทรัมป์พร้อมถอย’ โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวในทางที่ไม่เป็นไปตามคาด แต่ท่าทีล่าสุดของทรัมป์คือประกาศกร้าวว่า คราวนี้จะไม่ถอยและเริ่มร่อนจดหมายให้นานาประเทศที่ไม่สามารถปิดการเจรจาได้เพื่อแจ้งอัตราภาษีที่ต้องเจอหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2568 โดยประเทศไทยยังคงไว้ที่ 36% เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ส่วนลาวและกัมพูชาลดลงเหลือ 40 และ 36%ตามลำดับ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เปิดเผยว่า ไทย ‘ยังปิดดีลไม่ได้’ แม้เส้นตายจะใกล้เข้ามาเต็มที ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่เลวร้ายอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทย และนับเป็นผลงานที่น่าผิดหวังสำหรับฟากฝั่งรัฐบาลที่ก่อนหน้านี้ชี้แจงว่า การเข้าเจรจาแม้จะล่าช้าแต่ดำเนินการตามขั้นตอนด้วยทีมผู้มีประสบการณ์

เศรษฐกิจไทยเตรียมรับแรงกระแทก

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราคงได้ยินหลายคนบ่นว่า เศรษฐกิจซบเซา ร้านค้าเงียบเหงา หรือธุรกิจปิดตัว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยในช่วงครึ่งปีแรกนับว่าไม่ได้ย่ำแย่ โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกที่เติบโตโดดเด่นและภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ไม่น่ากังวลอะไร เช่นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยทุบสถิติมูลค่าสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35 % เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ภาพนั้นอาจเป็นเพียง ‘ความปกติสุขก่อนหายนะ’ เพราะสถิติการส่งออกที่พุ่งกระฉูดเช่นนี้ยังพบได้ในประเทศเวียดนาม และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะไต้หวันที่มียอดการส่งออกไปสหรัฐฯ ทะยานเพิ่มขึ้นกว่า 90 % มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้สะท้อนความกังวลต่อความไม่แน่นอนของมาตรการทางภาษี เหล่าผู้ซื้อในสหรัฐฯ จึงรีบ ‘กักตุน’ สินค้าเพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากผ่านเส้นตาย 90 วัน

หากเราปิดดีลไม่ได้ เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปคือ ‘ของจริง’

การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยด้วยสัดส่วนสูงถึง 18 %ในปีที่ผ่านมา หมายความว่า มูลค่าสินค้าส่งออกจากไทย 100 บาทมีปลายทางอยู่ที่สหรัฐฯ ถึง 18 บาท มาตรการกำแพงภาษีย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเลขนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากประเทศไทยโดยภาษี 36% จริง การส่งออกอาจหดตัวติดลบจนฉุดจีดีพีไทยที่โตต่ำอยู่แล้วให้ลดลงเหลือ 1.4 ถึง 1.9 % ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า จีดีพีไทยจะเติบโตที่ 1.3 ถึง 2.3% รั้งท้ายทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน

อุตสาหกรรมที่จะเผชิญผลกระทบอย่างรุนแรงก็หนีไม่พ้นกลุ่มชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยและมีส่วนแบ่งตลาดร่วมครึ่งหนึ่ง รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ที่มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น 1 ใน 3 และที่น่าจับตาคือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรอย่างกลุ่มข้าว อาหารทะเลแปรรูป และยางพาราซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดาวเด่นของไทย

แต่ผลกระทบไม่ได้จบแค่ปัญหาเรื่องการส่งออกไปสหรัฐฯ เท่านั้น เนื่องจากสหรัฐฯ ปิดดีลการค้ากับประเทศต่างๆ ได้น้อยมาก นั่นหมายความว่า คู่ค้าสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อาจเผชิญกำแพงภาษีอัตราสูงเช่นกันและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว กระทบต่อเนื่องมายังความต้องการสินค้าไทยอีกระลอกหนึ่ง ยังไม่นับว่าสินค้าปริมาณมหาศาลที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ก็อาจทะลักมายังประเทศไทยอีกด้วย

โจทย์ยากของไทย ในวันที่ไร้อำนาจต่อรอง

กระบวนท่าสำคัญที่ 3 ประเทศใช้เพื่อปิดดีลกับทรัมป์ได้สำเร็จนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็นับเป็นการแลกได้แลกเสียที่สมน้ำสมเนื้อ ผู้เขียนขอสรุปสั้นๆ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการออกแบบ ‘ดีล’ สำหรับประเทศไทยดังนี้

ชาติแรกคือ สหราชอาณาจักรที่ปิดดีลได้สำเร็จเป็นประเทศแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งดีลนี้ได้มาเพราะโชคช่วย เนื่องจากทรัมป์ถูกชะตากับ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร มาแต่ไหนแต่ไร อีกทั้งยังประทับใจเมื่อคราวเยือนอังกฤษตอนปี 2019 และเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่สำคัญคือ สหราชอาณาจักรไม่เคยขัดแย้งทั้งทางการค้าและทางนโยบายกับสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรจึงได้รับภาษีอัตราพิเศษเมื่อส่งออกชิ้นส่วนเครื่องบินและรถยนต์ไปยังสหรัฐอเมริกา โดยแลกกับการลดภาษีนำเข้าเนื้อวัวและเอทานอลจากสหรัฐฯ พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะจำกัดอิทธิพลของธุรกิจจีน

ชาติที่ 2 คือ จีน ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ มาอย่างเนิ่นนาน และเป็นเป้าหมายแรกของสหรัฐฯ ในการตั้งกำแพงภาษีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า จีนถือไพ่เหนือกว่าสหรัฐฯ อยู่พอตัว เพราะการกีดกันทางการค้าในอดีตกลับกลายเป็นการเปิดทางให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมา เช่นเดียวกับนโยบายหันมาพึ่งพากำลังซื้อภายในประเทศ และการเป็นผู้นำด้านแบตเตอรีและพลังงานหมุนเวียน ทั้ง 2 ฝ่ายจึงตกลงกันได้ไม่ยากทั้งการลดอัตราภาษีชั่วคราว และพักมาตรการตอบโต้ โดยมีข้อตกลงสำคัญคือ การที่จีนยังส่งแร่ธาตุหายากซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยให้กับสหรัฐฯ ต่อไป

ชาติล่าสุดคือ เวียดนาม แม้จะยังไม่มีการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สื่อหลายสำนักก็เผยแพร่รายละเอียดคร่าวๆ หลังทรัมป์ประกาศปิดดีลไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเวียดนามจะได้ลดอัตราภาษีนำเข้าจากเดิม 46% เป็น 20% โดยแลกกับการเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตร ก๊าซเหลว และรถยนต์เอสยูวีจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บภาษีสินค้าผ่านทาง (Transshipment) ที่เวียดนามนำเข้ามาจากประเทศอื่นแล้วส่งตรงไปยังสหรัฐฯ ในอัตรา 40%

หันกลับมามองประเทศไทย ผู้นำของเราไม่ได้ถูกตาต้องใจทรัมป์เท่ากับนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เราไม่มีอำนาจต่อรองหรือมีแร่หายากเหมือนจีน ที่พอจะเทียบเคียงกันได้คือ เวียดนาม ซึ่งหากพิจารณากลยุทธ์ของเราก็ค่อนข้างคล้ายกันคือ เสนอว่าจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะก๊าซเหลว ข้าวโพด และกากถั่วเหลือง แต่คำปฏิเสธจากฝั่งสหรัฐฯ ก็ชัดเจนว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่จูงใจพอ

หากจะเดินตามรอยเวียดนามแล้วเปิดตลาดรถยนต์ ผมเองมองว่าเป็นไปได้ยากและผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นคือ กลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมดังกล่าวก็เจอศึกหนัก เพราะต้องชนกับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนอยู่แล้ว ทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้คือ การเสนอให้เก็บภาษีเฉพาะสินค้าผ่านทางในอัตราสูงเหมือนกับข้อเสนอของเวียดนาม

สินค้าผ่านทางคือ หนามยอกอกของสหรัฐฯ มาเนิ่นนาน เพราะคู่ปรับอย่างจีนใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อเล็ดลอดกำแพงภาษีตั้งแต่ตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก โดยการส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตีตราเป็นสินค้าจากประเทศอื่นแล้วส่งต่อไปยังสหรัฐฯ นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งสังเกตได้จากตัวเลขระดับมหภาค ที่การส่งออกของจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งกระฉูด รวมถึงการสืบสวนในรายกรณีที่พบการระบุ ‘ประเทศต้นทาง’ ของสินค้าเสียใหม่เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทั้งที่สินค้าเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว

แน่นอนว่า การทำเช่นนี้ย่อมกระเทือนต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน แต่ถ้าเวียดนามซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนอย่างยิ่งยังทำได้ เราเองก็น่าจะทำได้เหมือนกัน

ถึงเวลาต้องยอมรับความเป็นจริงแล้วว่า การจะปิดดีลกับสหรัฐฯ โดยไม่เสียอะไรเลยอาจเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องเตรียมแผนไว้ว่า จะเยียวยาอุตสาหกรรมหรือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร เพราะถ้าไทยต้องเจอกับกำแพงภาษีสูงลิ่วเช่นนี้จริง เศรษฐกิจไทยอาจซึมยาวโดยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะกลับมาลุกขึ้นยืนแล้วเดินหน้าต่อได้อีกครั้ง

อ้างอิงข้อมูล

How to strike a trade deal with Donald Trump

Why the U.S.-Vietnam ‘Transshipment’ Clause Complicates Trade Tensions with China

Why East Asia Is a Target of Trump’s Tariff War, in Six Charts

Southeast Asian countries don’t have much leverage in US trade talks

เส้นตาย 90 วัน ‘ภาษีทรัมป์’ ไทยเจรจาถึงไหน? แต่ละประเทศ ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ

ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ไทยโดนหนัก 36% และเสี่ยงต่อผลกระทบรุนแรงจากการค้าโลกที่จะหดตัว

Tags: , , , , , , , , , , ,