การควบรวมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) สองยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของไทยที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไฟเขียวให้เดินหน้าต่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูในหมู่นักวิชาการ ถึงขั้น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่าการอนุมัติครั้งนี้คือ ‘มติอัปยศ’

สิ่งที่ชวนขันขื่นคือเหล่านักรบไซเบอร์กลับป้ายสีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมดังกล่าวว่าเป็นพวก ‘ต่อต้านทุนนิยม’ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วหัวใจของทุนนิยมคือการแข่งขัน หน้าที่สำคัญของรัฐบาลคือการรักษาระดับการแข่งขันในตลาดให้เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนทำอะไรก็ได้ตามต้องการ

เมื่อใดก็ตามที่ตลาดไร้การแข่งขันหรือมีการแข่งขันกันน้อยราย ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ย่อมลดน้อยถอยลง พร้อมทั้งเปิดช่องให้เอกชนเอารัดเอาเปรียบประชาชน กวาดกำไรเกินควรเข้ากระเป๋าแบบสบายไร้กังวลเพราะไม่ต้องกลัวว่าผู้บริโภคจะหนีไปซื้อสินค้าหรือบริการที่อื่น

ลองจินตนาการง่ายๆ ว่า ถ้าแถวบ้านเรามีร้านอาหารอยู่สามแห่ง แรกเริ่มเดิมทีทั้งสามร้านขายอาหารตามสั่งธรรมดา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร้านหนึ่งปรับเปลี่ยนเมนูให้เป็นสไตล์ญี่ปุ่น อีกร้านชูจุดเด่นเรื่องวัตถุดิบที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่อีกร้านเน้นราคามิตรภาพ มีน้ำดื่มบริการ แถมเติมข้าวและน้ำซุปแบบฟรีๆ ทุกร้านต่างแข่งขันกันพัฒนาสูตรอาหารเพื่อให้ถูกปากชาวชุมชนที่แวะเวียนมาใช้บริการ การแข่งขันจึงช่วยลดราคา เพิ่มคุณภาพ และสร้างนวัตกรรมซึ่งผู้บริโภคเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ

ถ้าวันหนึ่ง ร้านอาหารร้านใดปรับราคาขึ้นโดยไม่มีเหตุผล คนก็ย่อมหลั่งไหลไปหาร้านอาหาร ‘ทางเลือก’ อีกสองแห่งที่อยู่ข้างเคียงกัน สร้างแรงกดดันให้ร้านดังกล่าวลดราคาลงหรือเพิ่มคุณภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ แต่ถ้ายังทู่ซี้เอาเปรียบผู้บริโภคต่อไป สุดท้ายร้านก็ต้องปิดกิจการลงเพื่อเปิดทางให้พ่อค้าแม่ค้ารายใหม่ลงสู่สมรภูมิ

แต่เรื่องราวไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าวันดีคืนดีมีนายทุนมากว้านซื้อร้านอาหารทั้งสามแห่งแล้วเปิดเป็นศูนย์อาหารราคาแพงคุณภาพต่ำ คนในชุมชนก็ต้องจำใจกิน จ่ายเงินทำกำไรก้อนใหญ่เข้ากระเป๋าบริษัท โดยที่เหล่านายทุนย่อมไม่มีแรงจูงใจใดๆ ในการลดราคา เพิ่มคุณภาพอาหาร หรือคิดค้นนวัตกรรม เพราะยังไงทุกคนก็ต้องมากินข้าวที่ศูนย์อาหารนี้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

นี่คือตัวอย่างเรียบง่ายที่ใครๆ ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าการแข่งขันนั้นสำคัญเพียงใดในระบบทุนนิยม น่าแปลกที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจกลับเลือกที่จะทำเป็นมองไม่เห็นทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน

 

ผลพวงของการ ‘ควบรวม’

เรื่องการควบรวมกิจการถือเป็นหนึ่งในหัวข้อที่มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย เพราะการควบรวมถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ การที่บริษัทปรับราคาเพิ่มขึ้นหลังการควบรวมย่อมสะท้อนให้เห็นว่ามีการแข่งขันน้อยลงและบริษัทครองอำนาจในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นั่นเอง

สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในตลาดที่เผชิญปัญหาการกระจุกตัวของบริษัทในหลายอุตสาหกรรม มีการศึกษาพบว่าการควบรวมบริษัทไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล สายการบิน และเบียร์ ต่างทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการควบรวมพบว่าแทบทุกดีลจะนำไปสู่การขึ้นราคาสินค้าและบริการเฉลี่ยที่ราว 7.2 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค มีการศึกษาหลายต่อหลายชิ้นชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าควบรวมแล้วราคาค่าบริการจะขึ้นแน่นอน เช่น งานศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ระบุว่า ค่าบริการอาจเพิ่มขึ้น 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 101 Public Policy Think Tank ที่มองเป็นสองฉากทัศน์คือเพิ่มขึ้น 13 ถึง 23 เปอร์เซ็นต์หากสองรายใหญ่แข่งขันตามปกติ และเพิ่มขึ้น 66 ถึง 120 เปอร์เซ็นต์ หากสองรายใหญ่ฮั้วราคาได้สำเร็จ

คงไม่ผิดนักหากจะคาดว่า อนาคตเราจะต้องจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือในราคาแพงขึ้น แม้ว่า กสทช. จะมีมาตรการลดผลกระทบให้ลดราคาลง 12 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจยังไม่เพียงพอ

แต่ราคาที่สูงขึ้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของผลกระทบจากการควบรวม เพราะนอกจากเรื่องราคาค่าบริการแล้ว ฝั่งตลาดแรงงานก็อาจส่งผลกระทบเช่นกัน เมื่ออำนาจต่อรองในมือบริษัทมีเพิ่มมากขึ้นเนื่องจาก ‘นายจ้าง’ ในตลาดมีจำนวนน้อยราย เหล่าบริษัทก็สามารถกดค่าแรงได้ เพราะไม่ต้องไปแก่งแย่งพนักงานกับบริษัทอื่นๆ เหมือนกับในอดีต อำนาจบริษัทที่ล้นมือยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานและสวัสดิการที่อาจย่ำแย่ลงอีกด้วย

นอกจากนี้ ประเทศชาติก็อาจต้องสูญเสียโอกาสด้านนวัตกรรมและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนว่าบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดจะขาดแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรม หรือยกระดับคุณภาพการบริการเพราะการแข่งขันไม่ได้รุนแรงเฉกเช่นในอดีต และต่อให้ กสทช. จะ ‘สั่ง’ ให้ทำแผนนวัตกรรมก็ไม่มีทางทรงพลังเทียบเท่ากับแรงผลักดันที่เกิดจากการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด

หลากหลายมาตรการและเงื่อนไขในการควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค สะท้อนให้เห็นว่า กสทช. ทราบเป็นอย่างดีว่าจะมีผลกระทบอะไรต่อผู้บริโภคบ้าง การลงมติ ‘รับทราบ’ แบบชวนฉงนของ กสทช. ยิ่งสะท้อนชัดเจนถึงความเห็นที่ไม่ลงรอยกันภายในคณะกรรมการฯ นับว่าน่าเสียดายไม่น้อยที่มติ 2 ต่อ 2 ต่อ 1 ถูกถูลู่ถูกังจนกลายเป็นมติเห็นชอบให้ควบรวมได้ ทั้งที่ความเป็นจริง กสทช. ควรจะชะลอการตัดสินใจแล้วถอยไปตั้งหลักเสียใหม่เพื่อให้ไม่เป็นที่กังขาของประชาชน

 

หลากประเด็นที่ต้องจับตา

ผู้เขียนเองไม่เคยคาดหวังอะไรมากนักกับหน่วยงานกำกับดูแลของไทยที่ครั้งหนึ่งเคยปล่อยให้เครือซีพีเข้าซื้อธุรกิจเทสโก้โลตัส โดยให้เหตุผลที่ชวนเกาหัวว่า บริษัทหลังการควบรวม ‘จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด …และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง’

แต่มาคราวนี้ กสทช. เลือกใช้กลวิธีใหม่โดยไม่ได้ให้เหตุผลในการอนุมัติการควบรวม แต่มองว่าตนไม่มีอำนาจตัดสินใจโดยทำหน้าที่ได้เพียง ‘รับทราบ’ เท่านั้น ซึ่งขัดกับประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “ห้ามมิให้… กระทำการควบรวมกิจการ อันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง”

แม้นักกฎหมายบางคนจะชี้ช่องว่าการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคเป็น ‘รูปแบบ’ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในประกาศฉบับดังกล่าว เพราะเป็นการยุบทั้งสองบริษัทแล้วตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาพร้อมกับจัดสรรปันส่วนหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม หรือในภาคการเงินเรียกว่า ‘Amalgamation’ แต่ในแง่ ‘เนื้อหา’ ใครๆ ก็ทราบว่าทรูและดีแทคทำธุรกิจโทรคมนาคมเหมือนกัน และการยุบรวมของทั้งสองบริษัทจะทำให้ตลาดมีคู่แข่งรายใหญ่ลดลงจาก 3 รายเหลือ 2 ราย

น่าเสียดายที่หน่วยงานกำกับดูแลตัดสินใจลงมติ ‘รับทราบ’ เพราะมองว่าอำนาจของตนไม่ครอบคลุม

ผมเองก็อยากจะชวนให้จับตาดูว่าภาคเอกชนจะทำตามเงื่อนไขของ กสทช. ได้หรือไม่ และหน่วยงานกำกับดูแลจะมีท่าทีอย่างไร แต่คงเป็นการฝันกลางวัน หากจะหวังให้บทบาทการกำกับดูแลที่เริ่มต้นอย่างพินอบพิเทากลายเป็นขึงขังเข้มข้นเน้นประสิทธิภาพในภายหลัง ส่วนความหวังว่าจะให้ผู้บริโภครวมตัวฟ้องร้องหรือร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ต้องใช้แรง พลัง และทรัพยากรซึ่งหลายคนคงไม่พร้อมที่จะลงมือทำ

ถึงจะไม่อยากพูดตรงๆ ให้ผู้อ่านในฐานะผู้บริโภค ‘ทำใจ’ รับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่จากแนวโน้มที่รัฐปล่อยผ่านซูเปอร์ดีลการควบรวมกิจการตั้งแต่เครือซีพีกับเทสโก้โลตัสจนมาถึงทรูกับดีแทค คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่ามาตรฐานการกำกับดูแลด้านการแข่งขันของไทยในรัฐบาลชุดนี้นับว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดิน โดยเราคงต้องอดทนต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ค่าคุณภาพชีวิตประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของนายทุน

 

เอกสารประกอบการเขียน

The Importance of Competition for the American Economy

Why competition matters

เปิดมาตรการเข้มคุ้มครองผู้บริโภค หลัง ‘กสทช.’ มีมติรับทราบควบรวมทรู-ดีแทค

​   

Tags: , , , , , , , ,