ลองเดาเล่นๆ ดูไหมว่า อารยธรรมมนุษย์จะล่มสลายเพราะสาเหตุอะไร?
บางคนอาจคิดว่า น่าจะเป็นเพราะสงครามนิวเคลียร์ บางคนอาจจินตนาการถึงเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ บางคนมองย้อนไปในประวัติศาสตร์แล้วคิดว่า อาจเกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนโลก ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า น่าจะเกิดจากวิกฤตภูมิอากาศที่นานาประเทศไม่ยอมลงทุนลงแรงแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที
แต่ ปีเตอร์ เซฮาน (Peter Zeihan) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ มองต่างออกไป เขาคิดว่า การล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ อาจเกิดจากการพังทลายของการค้าระหว่างประเทศ และจุดจบของโลกาภิวัตน์ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะทางเศรษฐกิจ ทุกคนทั่วโลกทั้งในประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา จะได้ลิ้มชิมรสความยากลำบากจากราคาเชื้อเพลิงและพลังงานที่พุ่งสูง เสถียรภาพทางการเมืองสั่นคลอน รวมถึงความอดอยากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อ่านเผินๆ คำกล่าวของเซฮานคงไม่ต่างจากคำทำนายหายนะที่ดูมองโลกในแง่ร้ายเกินจริง แต่ผู้เขียนชวนจินตนาการเล่นๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าประเทศไทยถูก ‘ตัดขาด’ ออกจากเส้นทางการค้าโลก ผลลัพธ์แบบคิดเร็วๆ คือคนตกงานมหาศาล เนื่องจากเศรษฐกิจของเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก รวมถึงเชื้อเพลิงที่ขาดแคลนเพราะต้องพึ่งพาการนำเข้า โชคดีที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหาร เท่ากับว่าอย่างน้อยที่สุดประชาชนก็คงไม่อดอยาก เหมือนกับประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตนเองได้
แต่การค้าโลกจะล่มสลายลงเพราะเหตุใด?
หนึ่งในจุดที่เซฮานชี้ว่า ‘อันตราย’ คือบริเวณอ่าวเปอร์เซียและทะเลแถบเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่สุ่มเสี่ยงสำคัญคือ ทะเลแดงและคลองสุเอซ ที่กำลังสั่นคลอนจากการปะทะระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ตามมาด้วยฝ่ายสนับสนุนกลุ่มฮามาสอย่างกลุ่มกบฏฮูตี (Houthi Rebel) ซึ่งตั้งฐานที่มั่นในประเทศเยเมน เข้าโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง แม้ว่าสหรัฐฯ และอีกหลายสิบประเทศจะเดินหน้าทางการทหาร เพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือดังกล่าว แต่บริษัทเดินเรือหลายแห่งก็ตัดสินใจหลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยหันไปอ้อมทวีปแอฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮป ทำให้การค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปต้องใช้ระยะทางเพิ่มขึ้น 6,000 ไมล์ทะเล คิดเป็นเวลาขนส่งเพิ่มขึ้น 3-4 สัปดาห์
แต่ปัญหายังไม่จบแค่นี้ เพราะอีกฟากฝั่งของทะเลแดง ประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของทวีปแอฟริกากำลังเผชิญหายนะครั้งใหญ่ ปัญหาสงครามกลางเมืองที่อาจลุกลามไปทั่วทั้งพื้นทวีป อีกทั้งยังไม่มีใครให้ความสำคัญจนได้รับการขนานนามว่า ‘สงครามที่โลกลืม’
ใครเป็นใครใน ‘สงครามซูดาน’
นับตั้งแต่ซูดานได้รับเอกราชตั้งแต่ปี 1956 ประเทศก็คุกรุ่นไปด้วยควันความขัดแย้งภายในประเทศ ตั้งแต่สงครามกลางเมืองซูดานครั้งที่ 1 ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตนับครึ่งล้านคน ตามมาด้วยสงครามกลางเมืองซูดานครั้งที่ 2 ที่คาดว่า มีประชาชนเสียชีวิตราว 2 ล้านคน ยังไม่นับสงครามดาร์ฟูร์ (Darfur) ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตหลายแสนคน และความขัดแย้งอีกจำนวนมากที่กระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่างๆ
ส่วนสงครามกลางเมืองของซูดาน ครั้งล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อราวเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ที่เมืองคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างกองทัพซูดาน (Sudanese Armed Forces: SAF) กับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces: RSF) กองกำลังกึ่งทหารซึ่งต่อมาลุกลามไปทั่วทั้งประเทศ มีการประมาณการว่า สงครามครั้งนี้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 1.5 แสนคน ประชาชนกว่า 10 ล้านคนต้องอพยพจากภัยสงคราม และอีกหลายล้านคนที่กำลังเผชิญความอดอยากครั้งรุนแรงที่สุดในรอบอย่างน้อย 40 ปี
การล่มสลายของซูดานยังมีนัยสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะซูดานนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเป็นจุดบรรจบระหว่างทวีปแอฟริกากับตะวันออกกลาง แวดล้อมด้วย 7 ประเทศที่การเมืองอยู่ในภาวะง่อนแง่น อีกทั้งยังมีชายฝั่งติดกับทะเลแดงความยาวกว่า 800 กิโลเมตร นอกจากนี้ พอร์ตซูดาน (Port Sudan) เมืองชายฝั่งซึ่งเป็นฐานที่มั่นของ SAF ยังอยู่ใกล้กับกรุงอาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรุงเตหะรานของอิหร่านอีกด้วย
แต่สงครามระหว่าง 2 กองทัพใช่ว่าไร้แรงสนับสนุนจากภายนอก องค์การสหประชาชาติเปิดเผยหลักฐานที่น่าเชื่อถือบ่งชี้ว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้การสนับสนุนอาวุธแก่กลุ่ม RSF ผ่านทางประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เช่น ลิเบีย ซูดานใต้ และชาด อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ RSF แต่อย่างใด กระนั้นกิจกรรมทางการทหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในกลุ่มประเทศแอฟริกาก็ค่อนข้างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนทหารหรือการตั้งค่ายทหารชั่วคราว
ขณะที่ SAF มองว่า ตนเองเป็นรัฐบาลที่แท้จริงของซูดาน แม้ว่าจะขึ้นสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2021 ก็ได้รับการสนับสนุนเล็กน้อยจากประเทศแถบอาหรับ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียที่ไม่ต้องการให้ซูดานกลายสภาพเป็นรัฐล้มเหลว พยายามจัดการเจรจาเพื่อสันติภาพแต่ก็ล้มเหลว ล่าสุด SAF มองว่า ได้รับความช่วยเหลือไม่มากเพียงพอจากเหล่าพันธมิตร จึงหันไปพึ่งพาอิหร่านและประกาศความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
เมื่อสงครามสั่นสะเทือนทั้งภูมิภาค
แม้ว่าในทางสถิติ ประชาชนในซูดานจะเผชิญวิกฤตที่ร้ายแรง ทั้งในแง่ความอดอยากและการต้องอพยพลี้ภัยสงคราม แต่ความสนใจจากทั่วทุกมุมโลกกลับเพ่งเล็งไปที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ สหรัฐฯ เองนอกจากไม่สนใจประเทศแถบแอฟริกาเป็นทุนเดิม ยังต้องหวังพึ่งพาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการส่งความช่วยเหลือไปที่ฉนวนกาซา สหภาพยุโรปเองก็ไม่ได้สนใจส่งความช่วยเหลือสักเท่าไร ส่วนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเองก็ขยับอะไรไม่ได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับมหาอำนาจโลกตะวันตก
หากสงครามยังดำเนินต่อไป สิ่งที่โลกจะต้องเผชิญคือคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่ ทั้งชาวซูดานเองและเหล่าผู้ลี้ภัยจากประเทศในแถบแอฟริกา โดยเป้าหมายแรกของผู้อพยพคือ กลุ่มประเทศข้างเคียงที่การเมืองสั่นคลอนไม่แพ้กัน รวมถึงซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ที่เป็นปลายทางของเหล่าผู้อพยพเหมือนกับคราวสงครามซีเรีย
สงครามที่ยืดเยื้อในซูดานและการค้าที่ซบเซาในทะเลแดง ส่งแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกา หลายประเทศเผชิญภาวะเงินเฟ้อสุดขั้ว รวมถึงเชื้อเพลิงราคาแพงและอาหารขาดแคลน เมื่อผนวกกับคลื่นผู้อพยพ กองกำลังติดอาวุธ และเครือข่ายอาชญากรรม ส่วนผสมดังกล่าวย่อมสั่นคลอนประเทศเพื่อนบ้านที่อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศซูดานใต้ ประเทศเกิดใหม่ ที่แยกตัวออกมาจากซูดานได้ราวหนึ่งทศวรรษเศษ แต่อาจถูกดึงกลับเข้าสู่วังวนของสงครามอีกครั้ง
ไม่มีใครตอบได้ว่า สงครามจะจบลงเมื่อไรและฝ่ายใดจะกลายเป็นผู้ชนะ แต่ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดคือ การที่ซูดานกลายเป็นรัฐล้มเหลว จนกลายสภาพเป็นพื้นที่กบดานของกลุ่มก่อการร้าย และเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ เหมือนกับครั้งหนึ่งที่ซูดานคือ พื้นที่ซ่อนตัวของ โอซามา บิน-ลาเดน (Osama Bin Laden) รวมถึงเส้นทางขนส่งอาวุธแห่งใหม่ของกลุ่มหัวรุนแรง โดยความขัดแย้งอาจลุกลามไปทั่วพื้นที่จะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) และทำให้ทะเลแดงอันตรายยิ่งกว่าเดิม พร้อมทั้งฉุดราคาน้ำมันให้พุ่งสูงทะลุเพดาน
ฉากทัศน์ที่เลวร้ายน้อยลงนิดหน่อยคือ กองกำลังฝ่าย SAF กำชัย ซึ่งอาจเป็นการขยายอิทธิพลของอิหร่านและรัสเซีย คู่ขัดแย้งสำคัญของโลกตะวันตก แต่ฉากทัศน์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือ การเจรจาอย่างสันติระหว่าง 2 ฝ่าย แล้วจับมือร่วมสร้างเสถียรภาพทางการเมืองอีกครั้ง นับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลงทุกที เพราะที่ผ่านมามีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าจากกลุ่ม 7 ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงซาอุดีอาระเบียที่ต่างล้มเหลวไม่เป็นท่า
หากปล่อยให้สงครามดำเนินต่อไป โดยไม่มีใครพยายามหาทางยุติ ซูดานก็อาจเป็นโดมิโนชิ้นแรกที่สั่นสะเทือนการค้าระหว่างยุโรปและเอเชียอย่างรุนแรง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายของห่วงโซ่อุปทานการค้าโลก แล้วนำมาซึ่งหายนะตามที่เซฮานทำนายเอาไว้
เอกสารประกอบการเขียน
Why Sudan’s catastrophic war is the world’s problem
The ripple effects of Sudan’s war are being felt across three continents
Anarchy in Sudan has spawned the world’s worst famine in 40 years
Sudan: the war the world forgot
After a year of war, Sudan is a failing state
How African countries became casualties of Sudan war and Red Sea maritime mayhem
Five potential global consequences of Sudan’s escalating conflict
Sudan’s conflict will have a ripple effect in an unstable region – and across the world
Tags: ซูดาน, Economic Crunch, สงครามซูดาน, ห่วงโซ่อุปทาน, วิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก, สงครามกลางเมือง, เศรษฐกิจ