เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากพุทธศาสนิกชนจะได้เข้าวัดทำบุญในวันมาฆบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาที่พระสงฆ์สาวกทั้งหมด 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ผู้บริโภคชาวไทยก็ยังได้พบเจอกับปรากฏการณ์น่าประหลาดใจที่ค่ายมือถือทุกแห่งพร้อมใจกัน ‘ปรับราคาโดยมิได้นัดหมาย’ หลังจากที่สองค่าย DTAC และ TRUE ควบรวมกันเป็นบริษัทใหม่เอี่ยมโดยใช้ชื่อว่า ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ จนผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยหลงเหลือเพียงสองรายใหญ่คือ AIS และ TRUE เท่านั้น
ตัวอย่างแพ็กเกจที่ปรับราคาก็เช่น ค่าบริการรายเดือนสำหรับลูกค้าใหม่ที่ตอนนี้ทุกค่ายขยับมาเป็น 399 บาท โดยกำหนดนาทีโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตเท่ากันเป๊ะ ส่วนลูกค้าที่ใช้ระบบเติมเงินก็ไม่รอดเช่นกัน โดยโปรโมชันย้ายค่ายราคาประหยัดถูกยกเลิกหมดทุกค่าย ราคาที่เคยจ่ายแล้วได้อินเทอร์เน็ตไม่อั้น ตอนนี้ก็ถูกจำกัดปริมาณ ถ้าหากต้องการใช้อินเทอร์เน็ตแบบไม่มีเพดานก็ต้องจ่ายขั้นต่ำราว 200-300 บาท
น่าแปลกที่หน่วยงานกำกับดูแลของไทยปล่อยให้ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่ขัดขวาง ทั้งที่เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเกินคาดแต่อย่างใด เพราะเป็นความรู้ที่แสนจะพื้นฐานว่าด้วยการที่บริษัทจะเอาเปรียบผู้บริโภคในตลาดผู้ขายน้อยราย
การสมรู้ร่วมคิดในตลาดผู้ขายน้อยราย
ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในปัจจุบันที่หลงเหลือยักษ์ใหญ่เพียงสองบริษัทยังห่างไกลกับคำว่าผูกขาด (Monopoly) แต่เข้าข่ายว่าเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ซึ่งเลวร้ายน้อยกว่ากันไม่มากนัก และเอื้อให้เกิดการสมคบคิดเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในวิธีการคือการกำหนดราคาสินค้าและบริการให้ใกล้เคียงกัน เป็นการจงใจไม่แข่งขันด้านราคาเพื่อคว้า ‘กำไรที่มากกว่าปกติ’ จากกระเป๋าผู้บริโภค
แน่นอนว่า ถ้าเหล่าบริษัทประกาศความร่วมมือกำหนดราคาเท่ากัน หรือมีข้อตกลงลับหลังว่าจะไม่แข่งขันกัน ย่อมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในตลาดผู้ขายน้อยรายนั้นเอื้อต่อการร่วมมือแบบไม่ชัดแจ้ง (Tacit Collusion) เสมือนการส่งสัญญาณขยิบตาแล้วเป็นอันรู้กันว่า ต่อให้ฉากหน้าเราจะแข่งขันกันดุเดือดแค่ไหน แต่เราจะไม่ขัดแข้งขัดขากันมากจนเกินงาม และคงสภาพการกำหนดราคาร่วมกันแบบคาร์เทล (Cartel) ไปเรื่อยๆ จนว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดสัญญาใจ
สถานการณ์เช่นนี้นับเป็นพื้นที่สีเทาๆ ซึ่งยากที่จะฟันธงว่าผิดหรือถูกกฎหมาย ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว
ตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของการร่วมมือแบบไม่ชัดแจ้งมีดังนี้
ข้อแรกคือ จำนวนคู่แข่งในตลาด – ยิ่งคู่แข่งมีจำนวนมาก การจะหวังให้ทุกรายเข้าใจ ‘สัญญาณ’ การขยิบตาแล้วปฏิบัติตามโดยพร้อมเพรียงกันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่นับปัญหาบางบริษัทแตกแถวที่หั่นราคาเพื่อหวังแย่งลูกค้า ดังนั้น ยิ่งจำนวนคู่แข่งมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่ทุกบริษัทจะร่วมมือกันเอาเปรียบผู้บริโภคก็จะยิ่งน้อยลงเป็นเงาตามตัว
ข้อสองคือ ส่วนแบ่งตลาด – ยิ่งคู่แข่งในตลาดมีส่วนแบ่งใกล้เคียงกันเท่าไร ก็จะยิ่งเอื้อต่อการร่วมมือแบบไม่ชัดแจ้งมากขึ้นเท่านั้น คำอธิบายก็แสนจะตรงไปตรงมาเพราะคู่แข่งรายเล็กมีโอกาสจะได้มากกว่าเสีย การที่รายเล็กลองงัดข้อกับรายใหญ่ที่พยายามส่งสัญญาณให้ร่วมกันผูกขาด อาจทำให้ได้ใจผู้บริโภคบางกลุ่ม ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดมาไว้ในมือได้ แต่หากกลยุทธ์ล้มเหลวก็แทบไม่ต้องเสียอะไร เพราะภาวะปกติก็แทบไม่มีโอกาสสู้รายใหญ่ได้อยู่แล้ว
ข้อสามคือ กำแพงในการเข้าสู่อุตสาหกรรม – ยิ่งกำแพงสูงเท่าไร โอกาสที่จะเกิดความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น การร่วมมือกันกำหนดราคาที่เอาเปรียบผู้บริโภคซึ่งสร้างกำไรมากเกินปกติ ก็ไม่ต่างจากกลิ่นเลือดที่ดึงดูดเหล่านายทุนจมูกไวให้รีบเข้ามาแสวงหาโอกาส เมื่อมีบริษัทหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาด การแข่งขันที่เคยชะงักงันก็อาจกลับมาดุเดือดอีกครั้งทำให้ราคากลับสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม หากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีกำแพงสูงลิบ อาทิ กระบวนการและเงื่อนไขการขอใบอนุญาตที่ยากเย็นอย่างเช่นอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจมีอยู่อย่างจำกัดอย่างเช่นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล โอกาสที่ผู้เล่นใหม่เข้ามาสู่ตลาดจะมีน้อยมากๆ ซึ่งเอื้อต่อการสมรู้ร่วมคิดระหว่างบริษัทจำนวนหยิบมือ
ข้อสี่คือ การตั้งราคาที่โปร่งใส – โครงสร้างราคาที่เผยแพร่อยู่ทั่วไปประกอบกับลักษณะผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน จะช่วยทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมเปรียบเทียบราคากันได้ง่าย การปรับราคาผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยมีจุดประสงค์ขัดแข้งขัดขา ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของอีกฝ่าย ย่อมไม่ต่างจากการประกาศสงครามที่นำไปสู่การแข่งขันที่ดุเดือด ในทางกลับกัน หากทุกบริษัทในตลาดปรับราคาให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน งดโปรโมชันลดแลกแจกแถม ทุกบริษัทในตลาดก็จะได้ประโยชน์จากกำไรในระดับสูงกว่าที่ควรจะเป็นหากมีการแข่งขัน
ข้อห้าคือ ต้นทุนในการบริหารจัดการ – หากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของคู่แข่งในอุตสาหกรรมมีความแตกต่างกันอย่างมาก โอกาสที่จะเกิดความร่วมมือกันผูกขาดตลาดก็จะยิ่งน้อยลง สาเหตุก็เนื่องจากบริษัทที่ต้นทุนต่ำกว่าจะมีแรงจูงใจให้ตัดราคาและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากอีกฝ่ายเพื่อทำกำไรเข้ากระเป๋า ในขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมไม่มีทางดำเนินกลยุทธ์เดียวกันได้
หันมาดูอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย นับว่าแทบทุกปัจจัยต่างเอื้อให้เกิดการสมคบคิดเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคู่แข่งที่เหลือเพียงสองราย ส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกัน โอกาสที่คู่แข่งรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดต่ำเตี้ยเรี่ยดินเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องช่องสัญญาณ บริการที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก และราคาเปรียบเทียบกันได้ง่าย ส่วนในแง่ต้นทุนการบริหารจัดการ แม้ว่าค่ายอย่าง AIS จะมีกำไรขณะที่ TRUE ขาดทุนต่อเนื่องยาวนาน แต่หากพิจารณาอัตรากำไรขั้นต้นของทั้งสองบริษัทจะพบว่าอยู่ที่ราว 30% ไม่ต่างกัน
สมรู้ร่วมคิด ภาคปฏิบัติ
การร่วมมือกันกำหนดราคาเอาเปรียบผู้บริโภคในตลาดผู้ขายน้อยรายไม่ได้มีแต่ในภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย โดยหนึ่งในคาร์เทลที่โด่งดังที่สุดและส่งผลกระทบต่อชีวิตคนทั่วโลกมากที่สุด ก็คือองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือที่เรารู้จักกันดีว่าโอเปก (OPEC) คาร์เทลดังกล่าวเกิดจากการจับมือกันระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันแล้วใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมัน เรียกว่าขยับราคาน้ำมันทั่วโลกได้ตามต้องการก็คงไม่เกินจริงนัก
ส่วนในระดับประเทศ แม้ว่าการสมรู้ร่วมคิดกันกำหนดราคาของเหล่าบริษัทจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาเหล่าผู้บริหารที่หิวกำไรต่างก็แอบจับมือกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อลดการแข่งขัน เช่นที่สหรัฐอเมริกา บริษัทในอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋อง ไก่เนื้อ คอนกรีตผสมสำเร็จรูป รวมทั้งหน้าจอแอลซีดีต่างก็ถูกปรับเงินมูลค่ามหาศาล เนื่องจากการจงใจร่วมมือกันเพื่อตั้งราคาผลิตภัณฑ์ให้สูงกว่าที่ควรจะเป็น
แต่การร่วมมือแบบไม่ชัดแจ้งอาจตรวจพบได้ยากกว่านั้น โดยเฉพาะในแง่ลักษณะผลิตภัณฑ์ เช่นการจงใจไม่แข่งขันระหว่างเบนแอนด์เจอร์รีส์และฮาเก้นดาส สองแบรนด์ไอศครีมพรีเมียมของสหรัฐอเมริกา ที่มีการศึกษาพบว่าทั้งสองบริษัทเลือกพัฒนารสชาติไอศครีมที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเบนแอนด์เจอร์รีส์จะเน้นไอศกรีมเคี้ยวสนุกที่มีส่วนผสมของคุกกี้ บราวนี่ พีนัตบัตเตอร์คัพ ขณะที่ฮาเก้นดาสเน้นผลิตภัณฑ์ไอศครีมละมุนลิ้มที่อร่อยได้แบบไม่ต้องเคี้ยว กลยุทธ์การไม่แข่งขันกันทำให้ทั้งสองบริษัทขยับราคาและทำกำไรเข้ากระเป๋าได้มากขึ้น
ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการที่รัฐคอยกำกับดูแลให้แต่ละอุตสาหกรรมมีการแข่งขันในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลยจนบางอุตสาหกรรมถอยหลังกลายเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย เพราะเมื่อเดินมาถึงจุดนี้ การแก้ไขจะยากอย่างยิ่ง โดยอาจมีทางเลือกอย่างการสั่งให้แยกบริษัท หรือสนับสนุนผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด แต่แค่การห้ามไม่ให้ควบรวมยังไม่กล้า ก็อย่าหวังเลยครับว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะมีเขี้ยวเล็บอะไรในการดูแลผลประโยชน์ผู้บริโภค
การเมินเฉยของภาครัฐที่ปล่อยปละละเลยจนอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันเข้าข่ายเป็นปัจจัยที่ 5 อย่างโทรคมนาคมเหลือเพียงสองรายใหญ่ สุดท้ายก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องร่วมแบกรับอย่างไม่มีทางเลือก
เอกสารประกอบการเขียน
The Economics of Tacit Collusion
Antitrust 101: Tacit Collusion
Tags: TRUE, Economic Crunch, ควบรวมทรูดีแทค, ทรู-ดีแทค, OLIGOPOLY