ใน 1 เดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข้อเสนอนโยบายของพรรคไหนที่กระพือกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้รุนแรงเท่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท’ ที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนที่มองว่าเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของไทยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยต่างแสดงความกังวลว่าอาจทำให้เศรษฐกิจไทยพังทลาย

อ่านความเห็นของฝ่ายต่อต้านหลายคนในตอนนี้แล้วก็อดไม่ได้ที่จะย้อนนึกถึงการขึ้นค่าแรงจากราว 200 บาทเศษเป็น 300 บาททั่วประเทศของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2554 ที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยก็ทำนายว่าจะเกิดหายนะทางเศรษฐกิจ แต่เท่าที่ผมจำความได้เศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถเดินหน้าเติบโตในระดับที่ไม่เลวร้ายมากนัก ส่วนเจ้าของคำทำนายก็หายเข้ากลีบเมฆ ไม่แม้กระทั่งแสดงการทัดทานนโยบายขึ้นค่าแรง 425 บาท คราวพลังประชารัฐหาเสียงเมื่อ 4 ปีก่อน

ช่างเป็นพฤติกรรมที่ชวนให้ฉงนสงสัยว่าพวกเขาแสดงความเห็นในฐานะนักวิชาการหรือกองเชียร์/กองแช่งทางการเมือง

นอกจากหลักฐานเชิงประจักษ์ในไทยที่เราเห็นกันตำตาว่าการขึ้นค่าแรงไม่ได้ทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นนี้เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในต่างประเทศ แถมยังมีการศึกษาหลายชิ้นจนเรียกได้ว่าค่อนข้างทะลุปรุโปร่ง นอกจากนี้ เดวิด คาร์ด (David Card) นักเศรษฐศาสตร์ที่หักล้างความเชื่อผิดๆ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำก็เพิ่งร่วมรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไปเมื่อปีที่ผ่านมา

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ถ้าไม่ปล่อยให้อุดมการณ์ทางการเมืองบังตา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนอกจากจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย

ทำไมไม่ปล่อยให้กลไกตลาดจัดการ?

         ข้อโต้แย้งหนึ่งที่ฝั่งต่อต้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมักหยิบมาใช้ คือทำไมถึงไม่ให้ ‘กลไกตลาด’ จัดการ หากเศรษฐกิจดี ธุรกิจไปได้สวย ผู้บริหารย่อมพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามสภาวะตลาด รัฐจึงไม่มีหน้าที่และความจำเป็นใดๆ ในการเข้ามาแทรกแซงตลาดการจ้างงานโดยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ

         แน่นอนว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกเสียทั้งหมด หากจะให้กลไกตลาดทำงานได้ดังย่อหน้าข้างต้น ตลาดจะต้องแข่งขันสมบูรณ์ ลูกจ้างทุกคนจะทราบค่าแรงที่เหมาะสมในตลาด ณ เวลานั้นแล้วจึงนำตัวเลขไปต่อรองกับนายจ้าง หากนายจ้างไม่ยินยอมจ่ายค่าแรงให้ ลูกจ้างก็แค่เดินไปหาคนอื่นที่ยินดีจ่ายค่าแรงตามราคาตลาด ที่สำคัญคือทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องไม่มีอำนาจเหนือกว่าใคร

         แต่ในความเป็นจริง ไม่ต้องบอกก็คงทราบดีว่านายจ้างมีอำนาจอยู่เต็มมือในการกำหนดค่าแรง พร้อมทั้งมีแรงจูงใจให้กำหนดค่าแรงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเก็บกำไรสูงสุดเข้ากระเป๋า ค่าแรงขั้นต่ำจึงเป็น ‘จุดอ้างอิง’ ที่นายจ้างหลายคนเลือกใช้ เพราะเป็นค่าแรงตามกฎหมายและแรงงานส่วนใหญ่ทราบถึงตัวเลขดังกล่าว

         เมื่อไม่มีอำนาจต่อรอง อีกทั้งสหภาพแรงงานในไทยที่ไม่เข้มแข็ง สุดท้ายค่าแรงที่ได้รับก็แทบไม่ขยับ ยังไม่นับปัญหาตลาดที่ถูกผูกขาดโดยผู้ซื้อ (Monopsony) กล่าวคือนายจ้างเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ไร้คู่แข่งในละแวกข้างเคียงทำให้ลูกจ้างแทบไม่เหลืออำนาจต่อรองและต้องจำยอมก้มหน้ารับค่าแรงทั้งที่รู้ว่าถูกเอาเปรียบอย่างไม่มีทางเลือก

         ในสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการต่อรองของลูกจ้าง รัฐบาลจึงต้องเป็นตัวกลางคานอำนาจกับเหล่านายจ้างแล้วกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมเพื่อให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามอย่างไร้ข้อโต้แย้ง

ธุรกิจปิดตัวและคนตกงาน?

         คนจำนวนไม่น้อยคาดว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กอยู่ไม่ได้เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว สุดท้ายจึงต้องปิดตัวลงจนทำให้คนตกงานจำนวนมหาศาลก่อนจะลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ วิธีคิดเช่นนี้มาจากแบบจำลองง่ายๆ เรื่องอุปสงค์-อุปทาน ในเมื่อค่าแรงซึ่งเปรียบเสมือน ‘ราคา’ ของแรงงานเพิ่มขึ้น ความต้องการจ้างงานก็จะลดต่ำลงหรือก็คือคนจำนวนหนึ่งต้องตกงานนั่นเอง

         แต่แบบจำลองก็อาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการขึ้นค่าแรง 300 บาทในไทยก็เป็นหนึ่งในหลักฐานที่เห็นคาตา อีกทั้งการศึกษาโดยเดวิด คาร์ด และอลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) สองนักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลกก็ยืนยันว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะไม่กระทบต่ออัตราการจ้างงาน เฉกเช่นเดียวกับงานวิจัยอีกหลายต่อหลายชิ้นในหลายประเทศก็ได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน

         นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นอธิบายเหตุผลที่อาจทำให้หลายคนแปลกใจเพราะการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทำให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มสูงขึ้น อัตราการลาออกลดลง และพนักงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งดูจะสวนทางกับข้อเสนอของคนจำนวนมากที่พร่ำบอกให้แรงงานเพิ่มผลิตภาพ ปรับปรุงทักษะของตัวเองเสียก่อนแล้วค่าแรงก็จะสูงตามขึ้นมาเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลิตภาพที่สูงขึ้นของแรงงานจะแปรเปลี่ยนเป็นกำไรเข้ากระเป๋าผู้ประกอบการเพราะอำนาจต่อรองที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เมื่อมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ลูกจ้างทุกคนย่อมกระเสือกกระสนที่จะรักษาตำแหน่งงานของตนเองไว้ ไม่ใช่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามพลางหางานที่ใหม่ที่ให้ค่าแรงสูงกว่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเพิ่มค่าแรงจะส่งผลให้ร้านรวงจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลง แต่ธุรกิจที่ไปไม่รอดส่วนใหญ่มักจะอยู่ในอาการร่อแร่อยู่แล้วเป็นทุนเดิม มีการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกับการปิดตัวของร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา พบว่าร้านอาหารที่มีแนวโน้มจะปิดตัวลงหลังจากค่าแรงขั้นต่ำปรับตัวสูงขึ้นคือร้านอาหาร ‘งั้นๆ’ ที่ผู้บริโภคให้คะแนนผ่านแอปพลิเคชันราวๆ 3 ดาว ขณะที่ร้านอาหารที่ได้คะแนน 5 ดาวไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

การเปิดและปิดกิจการเป็นเรื่องสามัญธรรมดาในระบอบทุนนิยม โจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ เรียกกระบวนการดังกล่าวว่า ‘การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์’ (Creative Destruction) การที่ธุรกิจหนึ่งปิดตัวลงก็ไม่ต่างจากการปล่อยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อุปกรณ์ แรงงาน และทุนกลับคืนสู่ตลาด เปรียบเสมือนโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อสร้างธุรกิจที่สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากเดิมซึ่งเป็นการสร้างพลวัตและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม

สิ่งสำคัญคือการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกาศเป้าหมายค่าแรงขั้นต่ำแล้วขยับเพิ่มอย่างช้าๆ เปิดโอกาสให้ธุรกิจปรับตัว พร้อมทั้งมีมาตรการรองรับทั้งลูกจ้างและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

ค่าแรงขั้นต่ำ

         องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ระบุ 2 องค์ประกอบที่ต้องพิจารณาร่วมกันในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำนั่นคือ

1. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานรวมถึงคนในครอบครัวโดยพิจารณาถึงระดับค่าแรงภายในประเทศ ค่าครองชีพ ผลประโยชน์จากประกันสังคม และคุณภาพชีวิตโดยเปรียบเทียบเมื่อเทียบกับกลุ่มสังคมอื่นๆ

2. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ อาทิ เงื่อนไขในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระดับผลิตภาพ และความจำเป็นในการดำรงไว้ซึ่งอัตราการจ้างงานในระดับสูง

การที่จะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำมี ‘นัยสำคัญ’ คือการปรับให้วิ่งทันปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงทุกปี น่าเสียดายที่นับตั้งแต่การขึ้นครองอำนาจของ คสช. จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำขยับน้อยมากแม้ว่าจะมีการหาเสียงในการเลือกตั้งรอบล่าสุดว่าจะขยับเป็น 425 บาทต่อวันก็ตาม

ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank) ระบุว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำของไทยขยับขึ้นช้ากว่าเมื่อเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ย จีดีพีต่อหัว ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร รวมถึงดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มผู้มีรายได้น้อย คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่านโยบายค่าแรงที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์ทั้ง 2 องค์ประกอบตามแนวทางที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดแต่อย่างใด

แม้ผู้เขียนจะไม่สามารถตอบได้ว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ เท่าไรจะเหมาะสม แต่หากเรายึดหลักการพื้นฐานที่ว่ามนุษย์ปุถุชนที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งควรจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่กระเสือกกระสนจนอับจนหนทางแต่ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นความยากจน เราก็อาจพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนในประเทศไทยแล้วหารกลับไปว่าถ้าหนึ่งครัวเรือนมีเสาหลักทำงานร่วมกันสองคน พวกเขาควรจะมีรายได้เฉลี่ยวันละกี่บาท

ตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทั้งประเทศเมื่อ พ.ศ. 2564 เท่ากับ 21,616 บาทต่อครัวเรือน หากคนสองคนช่วยกันทำงาน 22 วันต่อเดือน พวกเขาก็ต้องหาเงินให้ได้เฉลี่ย 490 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตในระดับสามัญชนคนทั่วไป แต่ถ้าพวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ค่าใช้จ่ายสูงอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ต้องหาเงินให้ได้อย่างน้อย 600 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตในระดับค่าเฉลี่ย

สำหรับบางคน ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้มากมายอะไรเลย ผู้เขียนเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยนึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะจุนเจือทั้งครอบครัวได้อย่างไรหากมีรายได้รวมเดือนละ 3 หมื่นบาท ที่หากเสาหลักสองคนของครอบครัวทำงาน 30 วันต่อเดือนแล้วได้ค่าตอบแทนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ ครอบครัวนี้ยังมีเงินได้ไม่พอรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป

น่าแปลกใจที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำทำให้คนจำนวนมากออกมาต่อต้านเพราะกลัวธุรกิจปิดตัวหรือเศรษฐกิจพังทลาย แต่พวกเขากลับเลือกมองข้ามคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัดในปัจจุบัน ทั้งที่มีการศึกษายืนยันว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบต่อการจ้างงานหรือส่งผลให้เศรษฐกิจพังทลาย แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่มีเป้าหมายเพื่อถ่ายโอนความมั่งคั่งจากผู้ประกอบการมาแจกจ่ายเพื่อยกระดับชีวิตคนรากหญ้าต่างหาก

เอกสารประกอบการเขียน

Social justice and growth: The role of the minimum wage

The Link Between Wages and Productivity Is Strong

Minimum wages and labour productivity – ILO

Natural experiments help answer important questions

 

​         

Tags: , ,