หากไม่สนิทกันจริง คงไม่มีใครกล้าที่จะพูดถึงหรือเอ่ยถามเรื่องเงินเดือน

ก็แหม สำหรับคนไทยแล้วเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องลับจนแทบจะเทียบได้กับเรื่องบนเตียง เพื่อนผมบางคนแม้จะคบหาดูใจกับแฟนมานานจนใกล้แต่งงาน ยังไม่กล้าเอ่ยปากถามเรื่องเงินเดือนเลยด้วยซ้ำ วัฒนธรรมเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะชาวอเมริกันและชาวอังกฤษก็มีทัศนคติใกล้เคียงกัน

หลายคนคงแปลกใจหากทราบว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างสวีเดนและนอร์เวย์ ทุกคนสามารถสืบค้นข้อมูลรายได้และการจ่ายภาษีของใครก็ได้ เพียงยกหูโทรศัพท์หาสรรพากรหรือคลิกเข้าเว็บไซต์ โดยมีเงื่อนไขเพียงหนึ่งเดียวว่าเขาหรือเธอที่ถูกค้นข้อมูลจะทราบว่าใครกันนะที่สนใจเรื่องรายได้และรายจ่ายภาษีของเรา

ความโปร่งใสด้านรายได้แบบสุดขั้วเช่นนี้ชวนขนลุกไม่น้อย เพราะใครๆ ก็สามารถสืบค้นข้อมูลของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือป้าข้างบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน เราประชาชนผู้อยากรู้อยากเห็นก็สามารถสอดส่องได้ว่าเหล่าเศรษฐีจ่ายภาษีสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ในแต่ละปี โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวอยู่กับสังคมสวีเดนและนอร์เวย์มากว่าศตวรรษ

แต่ความขวยอายเรื่องเงินเดือนอาจกลายเป็นความคิดที่ล้าสมัย เพราะเหล่าคนรุ่นใหม่เกือบครึ่งกลับรู้สึกว่าการบอกตัวเลขเงินเดือนกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบตัวไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร

นอกจากกระแสความคิดที่เริ่มเปลี่ยนแปลง ภาครัฐในหลายประเทศก็เริ่มขยับเช่นหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายบังคับให้บริษัทเปิดเผยรายได้ของพนักงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดช่องว่างด้านรายได้ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ชายและผู้หญิงทำงานตำแหน่งเดียวกัน ความรับผิดชอบและเวลาทำงานเหมือนกัน แต่ในหลายประเทศผู้หญิงจะได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าผู้ชาย ตั้งแต่ 3% ไปจนถึง 30%

ความเหลื่อมล้ำอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้คือปัญหาที่ภาครัฐต้องการขจัดด้วยความโปร่งใส

หลากรูปแบบของ ‘รายได้โปร่งใส’

ประเทศสวีเดนและนอร์เวย์นับเป็นตัวอย่างของการเปิดเผยข้อมูลด้านรายได้แบบสุดขั้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วการเปิดเผยตัวเลขเงินเดือนทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจอาจไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น โดยผู้เขียนขอแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคร่าวๆ ดังนี้

แบบแรกคือการเปิดเผยข้อมูลต่อรัฐบาล เช่น กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนรวบรวมข้อมูลที่ประกอบด้วยรายได้และชั่วโมงทำงาน แบ่งตามประเภทของงาน รวมทั้งต้องจำแนกเพศ เชื้อชาติ และชาติพันธุ์ของพนักงานเพื่อส่งให้แผนกสิทธิพลเมือง (Civil Rights Department) สอบทานว่าบริษัทมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่

แบบที่2 คือการเปิดเผยข้อมูลให้กับพนักงานภายในองค์กร ซึ่งมีทั้งรูปแบบสมัครใจและบังคับโดยกฎหมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในแต่ละปีบริษัทจะส่งไฟล์ที่มีรายชื่อพนักงานพร้อมระบุเงินเดือน บริษัทหลายแห่งเลือกเผยแพร่เงินเดือนเป็นช่วงหรือค่าเฉลี่ยของกลุ่มพนักงานในแต่ละตำแหน่งงาน เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าแต่ละคนอยู่บนบันไดขั้นไหน และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมหรือเปล่า

แบบที่ 3 คือการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ แนวโน้มล่าสุดคือการออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต้องระบุช่วงเงินเดือนในการประกาศรับสมัครรับงาน เพราะการเปิดช่องไว้ว่า ‘เงินเดือนต่อรองได้’ อาจส่งผลให้คนบางกลุ่มถูกบริษัทเอารัดเอาเปรียบโดยเสนอเงินเดือนซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ส่วนการเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนพนักงานต่อสาธารณะ น้อยครั้งที่จะเป็นการริเริ่มของบริษัท แต่มักเกิดจากสารพัดแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Glassdoor ที่เหล่าพนักงานมาเติมฐานข้อมูลโดยสมัครใจ ส่วนในประเทศไทยก็จะมีรายงานโดยจ๊อบส์ ดีบี ที่ระบุช่วงรายได้คร่าวๆ ของแต่ละอาชีพ ข้อมูลเหล่านี้เปิดทางให้คนที่กำลังหางานใหม่สามารถเปรียบเทียบค่าตอบแทนของตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงกันในแต่ละบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจ

 

Buffer คือหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่เปิดเผยเงินเดือนของพนักงานทุกตำแหน่งต่อสาธารณะ โดยบริษัทระบุว่าหลังจากดำเนินนโยบายเงินเดือนโปร่งใส พบว่ามีคนสนใจสมัครงานจำนวนเพิ่มมากขึ้น ภาพจาก Buffer Transparent salaries

 

‘รายได้โปร่งใส’ แล้วไง?

แม้ว่านโยบายหรือกฎหมายเงินเดือนโปร่งใสจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียม หลายคนอาจแปลกใจหากทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลเรื่องเงินเดือนยังเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพของตลาดแรงงานอีกด้วย เพราะเงินเดือนก็เปรียบเสมือน ‘ราคา’ ของการทุ่มเททักษะความสามารถของบุคคลหนึ่ง กลไกตลาดจะทำงานได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อราคาเป็นข้อมูลสาธารณะ เพราะเราจะทราบว่าทักษะใดเป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมกับทราบ ‘ค่าตอบแทนอ้างอิง’ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ส่วนฝั่งองค์กรก็จะแข่งขันกันเพื่อดึงดูดพนักงานหน้าใหม่ด้วยค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ เรียกได้ว่าฝั่งลูกจ้างจะได้รับประโยชน์แบบเต็มๆ

ส่วนในแง่ความเท่าเทียมนั้น มีการศึกษาหลายชิ้นพบว่าการเปิดเผยข้อมูลด้านรายได้ช่วยลดช่องว่างได้จริง เช่น งานวิจัยเรื่องผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความโปร่งใสของเดนมาร์กเมื่อ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 35 คน จะต้องรายงานค่าเฉลี่ยเงินเดือนของกลุ่มพนักงานโดยแยกตามเพศ พร้อมทั้งต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของพนักงาน กฎหมายดังกล่าวทำให้ช่องว่างด้านรายได้ระหว่างชายกับหญิงลดลงโดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกำไรของบริษัท ส่วนการศึกษาในแคนาดาและสหราชอาณาจักรก็ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน

เงินเดือนที่โปร่งใสยังส่งผลต่อพฤติกรรมของพนักงานอีกด้วย มีการศึกษาพบว่าเมื่อพนักงานรู้เงินเดือนของเพื่อนร่วมงาน พวกเขาจะสามารถเดินไปขอคำปรึกษาจากคนที่เหมาะสม ความโปร่งใสยังทำให้เหล่าพนักงานรู้สึกเชื่อมั่นต่อองค์กร และคลายความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจว่าตนเองได้ค่าตอบแทนไม่สมน้ำสมเนื้อ เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าเงินที่ได้อยู่ทุกเดือนนั้นต่ำกว่า สูงกว่า หรือเป็นไปตามมาตรฐานของตลาด

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลรายได้ก็อาจนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในชีวิตของตนเองเช่นกัน การศึกษาในประเทศนอร์เวย์ ภายหลังที่ข้อมูลรายได้และภาษีสามารถสืบค้นได้ทางออนไลน์ พบว่าเหล่าคนรวยรู้สึกว่าตนมีความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คนยากจนต้องทนทุกข์เมื่อรู้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจของตนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มสนับสนุนนโยบายเสริมสร้างความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับกรณีของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งพนักงานเงินเดือนน้อยจะมีแนวโน้มหางานใหม่หลังจากข้อมูลเงินเดือนถูกเปิดเผย

แต่ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดจากนโยบายรายได้โปร่งใสแบบตรงๆ เพียงแต่นโยบายดังกล่าวทำให้แต่ละคนได้รับรู้สถานะทางเศรษฐกิจจริงๆ ของตน ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดหวัง เนื่องจากเป็นเรื่องปกติที่สามัญชนจะประเมินสถานะของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง

แม้ว่านโยบายรายได้โปร่งใสอาจมีผลกระทบเชิงลบบ้าง แต่อย่างน้อยข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาว่าทำไมบางอาชีพถึงมีรายได้สูงทะลุฟ้า แต่บางตำแหน่งงานถูกกดรายได้จนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทำไมรายได้ของผู้หญิงถึงต่ำกว่าผู้ชาย และภาคเอกชนมีแผนดำเนินการอย่างไรเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว แล้วเหล่าเศรษฐีล่ะ จ่ายภาษีสมน้ำสมเนื้อกับรายได้หรือไม่

การถกเถียงเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากเราไม่เริ่มจากความโปร่งใส และบทสนทนาข้างต้นก็อาจนำเราไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อสังคมที่เท่าเทียมยิ่งขึ้น

เอกสารประกอบการเขียน

Income and Tax Transparency in Norway and Sweden

Sweden shows that pay transparency works

Firms should make more information about salaries public

The US push for pay transparency

Research: The Unintended Consequences of Pay Transparency

Should You Share Your Salary With Co-Workers? Here’s What Experts Say

Pay Transparency: Time to see the gap!

Tags: ,