เราทุกคนต่างทราบกันดีว่าสหรัฐอเมริกากับจีนคือสองมหาอำนาจที่ไม่ลงรอยกันนัก แต่ผ่านมากว่าสี่ทศวรรษที่สหรัฐอเมริกาเห็นพ้องต้องกันกับจีนเรื่องไต้หวัน โดยการยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวของจีน นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มองไต้หวันเป็นประเทศที่มีอธิปไตยแต่อย่างใด และถือเป็นการสนับสนุนนโยบาย ‘จีนเดียว’ แบบกลายๆ

อย่างไรก็ดี สมดุลที่แสนจะเปราะบางถูกทำลายลงหลังจากที่ แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต เดินทางไปเยือนไต้หวันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา การกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนถึงขั้นแสดงแสนยานุภาพโดยการยิงขีปนาวุธลงบริเวณน่านน้ำรอบไต้หวันเพียง 1 วันหลังเพโลซีเดินทางกลับ นับเป็นความตึงเครียดทางการเมืองที่เข้มข้นที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 3 เมื่อราวสามทศวรรษก่อน

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว โฆษกของทำเนียบขาวก็แถลงอย่างชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกายังไม่เปลี่ยนจุดยืนต่อนโยบาย ‘จีนเดียว’ แต่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็กล่าวอย่างชัดเจนถึงสามครั้งสามคราว่าพร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือไต้หวันทันที หากถูกจีนรุกรานโดยใช้กำลัง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่อึมครึมจนหลายคนเกรงว่าจะเป็นเชื้อไฟที่นำไปสู่สงคราม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยกลับมองว่า การตอบโต้ของจีนนั้นเพียงแค่แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ระมัดระวังไม่ให้ความขัดแย้งดังกล่าวลุกลามไปถึงขั้นกระทบกระทั่งกับกองทัพสหรัฐฯ

สาเหตุที่มหาอำนาจทุกฝ่ายต้องจัดการเรื่องไต้หวันอย่างระมัดระวังก็เนื่องจาก ‘ภูเขาศักดิ์สิทธิ์’ 

ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ (Huguo Shenshan) ที่ว่าไม่ใช่ระบบป้องกันทางการทหารที่ล้ำสมัยหรือสนธิสัญญากับประเทศมหาอำนาจ แต่เป็นชื่อที่ชาวไต้หวันใช้เรียกอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 1.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจและความมั่นคงของไต้หวัน เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันจนอุตสาหกรรมชิปต้องหยุดชะงัก โรงงานอุตสาหกรรมล้ำสมัยไม่ว่าจะอยู่ในจีนหรือสหรัฐอเมริกาก็ต้องหยุดตาม เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญที่ไม่สามารถหาจากที่ไหนบนโลกได้

แต่สถานการณ์ในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไป เพราะทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาต่างเร่งเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่าถ้าไต้หวันยังต้องการปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ ก็ต้องคงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดังกล่าวไว้เพื่อไม่ให้เสียอำนาจต่อรองบนเวทีโลก

ไต้หวันกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

กระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชิปนั้นราวกับหลุดมาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ เหล่าวิศวกรจะใช้แสงอัลตราไวโอเลตพิมพ์ลวดลายสลับซับซ้อนลงบนแผ่นซิลิกอนขนาดประมาณจานข้าวเพื่อสร้างระบบวงจร ก่อนจะนำมาตัดเป็นแผ่นเล็กจิ๋วที่เราเรียกกันว่าไมโครชิป วงจรเหล่านี้ทำหน้าที่แปลงโค้ดคอมพิวเตอร์ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีใช้ในวงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ต่อมาถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยเราสามารถพบเจอได้ในสารพัดเครื่องใช้ไฟฟ้า เว็บไซต์ ไปจนถึงโซเชียลมีเดีย

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการผลิตชิปนับล้านล้านชิ้นในแต่ละปี หากหารเฉลี่ยก็จะตกราว 128 ชิ้นต่อประชากรมนุษย์หนึ่งคน นับวันความต้องการใช้ชิปก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างรถยนต์ไฟฟ้า 1 คันอาจต้องใช้ชิปมากถึง 3,000 ชิ้น และในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

รายงานวิเคราะห์ของบริษัท Boston Consulting Group ระบุว่า เซมิคอนดักเตอร์ชิปทั่วโลกราว 20 เปอร์เซ็นต์ผลิตที่ไต้หวัน รองลงมาคือเกาหลีใต้ (19 เปอร์เซ็นต์) ญี่ปุ่น (17 เปอร์เซ็นต์) จีน (16 เปอร์เซ็นต์) และสหรัฐอเมริกา (13 เปอร์เซ็นต์)

หากมองเผินๆ ไต้หวันก็นำหน้าประเทศอื่นในแง่ปริมาณการผลิตชิปไม่มากนัก แต่หากแยกประเภทของชิปโดยจำแนกตามขนาดในระดับนาโนเมตร ไต้หวันคือเจ้าตลาดเซมิคอนดักเตอร์ชิปล้ำสมัย โดยครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของชิปที่มีขนาดเล็กกว่า 10 นาโนเมตร หรือบางราว 1 ใน 10,000 ของกระดาษ โดยตลาดแห่งนี้มีเพียงคู่แข่งอีก 2 รายเท่านั้น คือ Samsung จากเกาหลีใต้และ Intel จากสหรัฐอเมริกา แต่ทั้ง 2 บริษัทก็ยังไม่มีศักยภาพเทียบเท่ากับ TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company

TSMC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1988 โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิป แต่ผ่านไปกว่า 25 ปี บริษัทก็ไม่ได้มีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับเจ้าตลาดดั้งเดิมในสหรัฐอเมริกาอย่าง Intel แต่จุดพลิกผันสำคัญคือการที่ Apple เลือก TSMC ให้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมชิปสำหรับ iPhone เพื่อเอาชนะคู่แข่งรายอื่นในตลาด 

ความสำเร็จของ iPhone นำเม็ดเงินมหาศาลมาสู่บริษัทก่อนจะกลายเป็นทุนในการวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัยที่นำหน้าคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น

การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิปในไต้หวันต้องหยุดชะงักจนโรงงานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ล้ำสมัยทั่วทุกมุมโลกไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ฉายภาพอย่างชัดเจนว่า ‘ชิป’ กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนจึงต้องเกรงใจไต้หวันเพราะความขัดแย้งอาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

การเมืองเรื่องชิป

แรกเริ่มเดิมที ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างหวังพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในต่างแดน แต่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่พุ่งสูงขึ้นทำให้สองประเทศพยายาม ‘ขจัดจุดอ่อน’ โดยเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปภายในประเทศ

รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตชิปให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025 พร้อมกับจัดตั้งกองทุนเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ (National Semiconductor Fund) มูลค่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 และเพิ่มเม็ดเงินอีกกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019 พร้อมกับประกาศยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทผลิตชิปเป็นเวลา 10 ปีเต็ม แรงจูงใจดังกล่าวดึงดูดผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชิปจากไต้หวันไปถึง 7 เปอร์เซ็นต์จากแรงงานทั้งหมด แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพัฒนาชิปล้ำสมัยที่มีขนาดน้อยกว่า 10 นาโนเมตรได้

ฝั่งสหรัฐฯ เองก็ไม่น้อยหน้า ในเดือนสิงหาคมนี้สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมาย ‘The CHIPS and Science Act’ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตชิปในประเทศ โดยใช้งบประมาณ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อวิจัยและพัฒนา 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจูงใจผู้ผลิตให้มาตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกาที่ต้นทุนสูงกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร และอีกก้อนหนึ่งสำหรับผลิตชิปแบบดั้งเดิมซึ่งเผชิญภาวะขาดแคลนในช่วงที่ผ่านมาจนทำให้อุตสาหกรรมอาวุธและรถยนต์ต้องหยุดชะงัก

ขณะที่ TSMC เองก็เดินหน้าเอาใจทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและจีน โดยลงทุนสร้างโรงงานผลิตในทั้ง 2 ประเทศ โรงงานในนานจิงเริ่มเดินหน้าผลิตชิปตั้งแต่ปี 2018 ส่วนโรงงานในสหรัฐอเมริกาวางแผนว่าจะเปิดทำการในปี 2024 อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเปิดโรงงานในต่างแดน แต่ชิปส่วนใหญ่ก็ยังผลิตในไต้หวัน เช่นเดียวกับการวิจัยและพัฒนาชิปรุ่นใหม่

ท่าทีของจีนเองก็ค่อนข้างเกรงใจไต้หวันเพราะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แม้จะแสดงแสนยานุภาพทั้งซ้อมรบและยิงมิสไซล์ใกล้เกาะไต้หวัน แต่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกลับค่อนข้างน่ารัก โดยประกาศห้ามนำเข้าซิตรัสและปลา 2 ชนิดจากไต้หวัน และหยุดการส่งออกทรายบริสุทธิ์ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบในการผลิตชิป ส่วนทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อเส้นเลือดใหญ่ของไต้หวันอย่างการแบนไมโครชิปหรือการปิดท่าเรืออาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีนเช่นกัน

แม้ว่าการปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง แต่ตราบใดที่ ‘ภูเขาศักดิ์สิทธิ์’ ของไต้หวันยังคงยืนตระหง่าน การรุกรานที่อาจนำไปสู่สงครามก็อาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้

 

เอกสารประกอบการเขียน

Nancy Pelosi has left Taiwan. The real crisis may be just beginning

Taiwan, China, and the U.S.: Inside the fight to control the microchips that power your car and computer

Taiwan is worried about the security of its chip industry

How TSMC has mastered the geopolitics of chipmaking

The struggle over chips enters a new phase

Tags: , , ,