ในฐานะคนที่จบมาจากแวดวงการเงิน ผู้เขียนเข้าใจดีว่าภาคธุรกิจย่อมแสวงหากำไรในทุกโอกาส แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน บางครั้งก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าคนในแวดวงการเงินการลงทุนจำนวนหนึ่งในประเทศไทยกำลังหากำไรจากวิกฤตครั้งนี้แบบ ‘เกินงาม’ จนอาจเรียกได้ว่าใช้วิกฤตโรคระบาดเป็นโอกาสในการเอารัดเอาเปรียบประชาชน

ในแวดวงการประกัน ผู้บริโภคต้องเผชิญกับบริษัทที่ต้องการฉีกสัญญายกเลิกกลางคัน ในอุตสาหกรรมธนาคาร ผู้ประกอบการต้องเจอเงื่อนไขพิเศษให้ซื้อประกันชีวิตพ่วงการขอสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนแวดวงตลาดทุน เราก็ได้เห็นการเข้าซื้อหุ้นบริษัทที่สามีเป็นผู้บริหาร ก่อนมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนที่ทำให้ราคาหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ภายในวันเดียว

 ทั้ง 3 เหตุการณ์นับเป็นเหตุสะเทือนใจที่ผู้เขียนอยากจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่าเคยเกิดขึ้นจริงท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย

ยกเลิกกรมธรรม์ ลอยแพผู้บริโภคกลางทาง

วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียลุกเป็นไฟเนื่องจากการประกาศ ‘ลอยแพ’ ยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” ของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์ปัจจุบัน “ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง จึงนับเป็นภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขในระดับที่ท้าทายจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปสู่จุดใด” 

สำหรับลูกค้าที่ทำประกันกับบริษัท อ่านแล้วก็คงอดไม่ได้ที่จะรู้สึก ‘สิ้นมั่นคง’ เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนดีบริษัทจะออกมาประกาศลอยแพผลิตภัณฑ์ประกันชนิดอื่นๆ อีกหรือไม่ในอนาคต โดยให้เหตุผลว่าบริษัทประเมินสถานการณ์ผิดพลาด

หัวใจของการประกันคือการเฉลี่ยทุกข์ของคนหมู่มาก โดยความทุกข์ที่ว่านั้นก็คือ ‘กระแสเงินสด’ ที่ขาดหายไปหรือจำเป็นต้องใช้แบบปัจจุบันทันด่วน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน บริษัทประกันเปรียบเสมือนตัวกลางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รวบรวม ‘เบี้ยประกัน’ จากคนจำนวนมาก และเมื่อคนใดคนหนึ่งเผชิญกับเหตุไม่พึงประสงค์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ บริษัทก็จะนำเงินกองกลางดังกล่าวมาจ่ายชดเชยตามสัญญาที่ตกลงกันไว้

บริษัทประกันในฐานะผู้เชี่ยวชาญจะทำหน้าที่ประเมินความน่าจะเป็นที่จะเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นในอนาคต นำมาบวกลบคูณหารแล้วคิดออกมาเป็นเบี้ยประกันซึ่งสมน้ำสมเนื้อกับความเสี่ยงที่บริษัทต้องแบกรับ จากนั้นจึงเสนอขายให้กับสาธารณชนที่ต้องการถ่ายโอนความเสี่ยงเหล่านั้นมายังบริษัท

การตัดสินใจของสินมั่นคงจึงเรียกได้ว่าพลิกทุกตำราธุรกิจประกัน เพราะบริษัทซึ่งได้รับการฝากฝังจากประชาชนให้จัดการความเสี่ยงให้ กลับประกาศยกเลิกกรมธรรม์หลังจากเห็นว่าความเสี่ยงดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นความจริง บริษัทจึงตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการต้องจ่ายค่าสินไหมมากกว่าที่ประเมินไว้ในตอนแรก

ที่สำคัญ การบอกเลิกดังกล่าวแม้ว่าจะมีการกำหนดให้กระทำได้ในสัญญา แต่การบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็อาจเข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม เพราะเอาเปรียบผู้บริโภคเกินสมควร ซึ่งผู้เอาประกันก็สามารถรวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ หากบริษัทยังยืนกรานว่าจะยกเลิกกรมธรรม์

ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันของไทยก็ไม่อยู่เฉย โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับประกาศของบริษัทพร้อมขู่ว่าจะบังคับใช้กฎหมาย แต่ที่น่าแปลกใจคือ คปภ. ปล่อยให้มีข้อความเอาเปรียบผู้บริโภคปรากฎอยู่ในกรมธรรม์ได้อย่างไร ในเมื่อตนเองมีหน้าที่ต้องตรวจสอบแบบและข้อความของกรมธรรม์ทุกฉบับพร้อมทั้งอนุมัติก่อนจะนำมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค

แม้ว่าล่าสุดสินมั่นคงจะกลับลำและออกประกาศยกเลิกการบอกเลิกกรมธรรม์ข้างต้น แต่เหตุการณ์นี้นับเป็นกรณีศึกษาของความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการทำประกันซึ่งหลายคนมักมองข้ามคือ ความเสี่ยงของคู่สัญญา (Counterparty Risk) เพราะการทำประกันส่วนใหญ่จะเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว ดังนั้นการจะเลือกทำประกันกับบริษัทไหนก็ต้องให้ความสำคัญกับสถานะทางการเงิน ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของบริษัท เพราะประกันบางประเภท เช่นประกันชีวิต กว่าจะมีโอกาสได้ใช้สิทธิ์เรียกค่าสินไหมทดแทนก็อาจต้องรอไปอีกหลายสิบปี เราจึงต้องมั่นใจว่าบริษัทประกันที่ฝากฝังให้บริหารจัดการความเสี่ยงจะไม่ตายไปก่อนเรา

สินเชื่อฟื้นฟูพ่วงประกันชีวิต

การขายประกันพ่วงสินเชื่อเป็นวิธีปฏิบัติที่มีมาอย่างยาวนาน แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกประกาศห้ามธนาคารบังคับลูกค้าทำประกันภัยกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

แน่นอนครับว่าธนาคารมีสิทธิ์เสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินใดๆ แก่เราได้ แต่ไม่มีสิทธิ์บิดเบือนข้อมูลเพื่อขายพ่วงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินพนักงานชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อให้เราทำประกัน เช่น ถ้าขอสินเชื่อแล้วทำประกันพ่วงไปด้วยจะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารในกรณีที่ลูกค้าเสียชีวิต พร้อมเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ เป็นต้น

สินเชื่อยอดฮิตที่มักถูกพ่วงขายกับประกันก็หนีไม่พ้นสินเชื่อซื้อบ้านซึ่งมักมาพร้อมกับประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (Mortgage Reducing Term Assurance หรือ MRTA) โดยพนักงานธนาคารอาจเสนอขายแต่ไม่อธิบายอย่างชัดเจนว่าการเป็นประกันแบบสมัครใจ และไม่มีผลใดๆ ต่อการพิจารณาสินเชื่อซึ่งเป็นแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด แต่กลับปล่อยให้คลุมเครือจนผู้ขอสินเชื่อเข้าใจไปเองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องซื้อควบคู่กับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย

แต่สิ่งที่คนรู้จักของผู้เขียนเจอกับตัวกลับเลวร้ายกว่านั้น เพราะเป็นการเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ดันพ่วงประกันชีวิต! 

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกว่า ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ มีเป้าหมายเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจที่ประสบปัญหาจากการล็อกดาวน์ครั้งแล้วครั้งเล่าของรัฐบาลไทย โดยมีวงเงินสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท พร้อมเงื่อนไขสุดพิเศษทั้งฟรีดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ในช่วงสองปีแรกของสัญญา และต่อไปไม่เกินร้อยละ 5 ในช่วงห้าปีแรกของสัญญา

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเน้นย้ำว่าผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ แก่สถาบันการเงิน ดอกเบี้ยผิดนัด แถมยังลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่จ่ายให้กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เรียกได้ว่าช่วยบรรเทาภาระผู้ประกอบการโดยที่ยังโอนภาระความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้จากธนาคารพาณิชย์มายังบริษัทประกันอีกด้วย

แต่ในทางปฏิบัติ ธนาคารพาณิชย์รายหนึ่งกลับเสนอสินเชื่อฟื้นฟูให้กับคนรู้จักของผู้เขียน โดยระบุอย่างชัดเจนในส่วนของค่าใช้จ่ายว่าผู้กู้จะต้องทำ “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ค่าเบี้ยปีละ 100,000 บาท จ่าย 4 ปี คุ้มครองถึงอายุ 80 ปี” หลังจากที่ผู้ขอสินเชื่อปฏิเสธ โดยแสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการแต่ไม่ต้องการทำประกัน สุดท้ายธนาคารก็ไม่อนุมัติวงเงินดังกล่าวให้

พฤติกรรมของธนาคารนับว่าน่ารังเกียจอย่างยิ่ง การขายพ่วงผลิตภัณฑ์ประกันครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารที่จะไม่ได้รับชำระเงินคืน เพราะวงเงินได้รับค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมอยู่แล้ว เป้าหมายที่ชัดเจนของการขายพ่วงดังกล่าวคือการแสวงหากำไรในช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการบางคนไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจำยอมเพื่อให้ได้รับสินเชื่อ สุดท้ายเงินที่รัฐต้องการให้กลับมาหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง จึงย้อนกลับไปสู่กระเป๋าของบริษัทประกันและกำไรของธนาคารพาณิชย์

จึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายซอฟต์โลนของไทยจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เช่นสินเชื่อฟื้นฟูที่ตั้งวงเงินไว้ถึง 2.5 แสนล้านบาท ผ่านไปสองเดือนกลับอนุมัติเพียงราว 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะธนาคารบางรายใช้วิกฤตเป็นโอกาสทำกำไร ซึ่งหากผู้ประกอบการคนใดเจอพฤติกรรมเช่นนี้ ก็ควรช่วยกันส่งเสียงให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบเพื่อยุติวิธีปฏิบัติแย่ๆ ให้หมดไปจากแวดวงธนาคารไทยเสียที

ข่าววัคซีน mRNA กับข้อกังขาถึงการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน

ประเด็นสุดท้ายมากันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากการเล่นข่าวการนำเข้าวัคซีน mRNA ของ นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นที่จับตาของประชาชนจำนวนมากจนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องออกมาปราม เพราะมองว่าอาจเป็นการสร้างราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

แต่ที่หลายคนจับตาคือการเข้าซื้อหุ้น THG อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคมของ นางจารุวรรณ วนาสิน ภรรยาของนายแพทย์บุญ รวมทั้งสิ้น 1,050,000 หุ้นเป็นเงิน 30,486,750 บาทหรือเฉลี่ยหุ้นละ 29.035 บาท ต่อมาในวันที่ 14 และ 15 กรกฎาคม นายแพทย์บุญจะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อหลายสำนัก พร้อมแสดงความมั่นใจว่าจะมีการจับมือกับองค์กรภาครัฐนำเข้าวัคซีน mRNA รวม 20 ล้านโดส เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนโดยพร้อมเซ็นสัญญาในเร็ววัน ส่งผลให้ราคาหุ้น THG พุ่งสูงสุดถึง 34.50 บาทต่อหุ้นในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา นำไปสู่คำถามว่าการเข้าซื้อหุ้นก่อนประกาศข่าวต่อสาธารณะครั้งนี้ เข้าข่ายการซื้อขายหุ้นโดยการใช้ข้อมูลภายในหรือไม่

ในประเทศไทย การซื้อขายหุ้นของบริษัทตนเองโดยกรรมการและผู้บริหาร รวมถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายเสมอไป โดยมีการกำหนดไว้ว่าจะต้องรายงานการซื้อขายตามแบบ 59 ต่อ ก.ล.ต. ภายใน 3 วันทำการเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ

ในแต่ละปีมีธุรกรรมการซื้อขายหุ้นบริษัทตัวเองของเหล่าผู้อยู่ในสถานะที่อาจล่วงรู้ข้อมูลภายในมากกว่า 5,000 ครั้ง แต่มีไม่กี่ครั้งที่ ก.ล.ต. จะตัดสินว่าเข้าข่ายการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจทำธุรกรรมเนื่องจากล่วงรู้ ‘ข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญ’ ที่จะกระทบต่อราคาหลักทรัพย์เมื่อมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยคนเหล่านี้ใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในมือเอาเปรียบนักลงทุนคนอื่นและเข้าข่ายการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมต่อตลาดทุน

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีการลงโทษปรับผู้กระทำผิดฐานการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายในอยู่เนืองๆ เช่น กรณีของสองผู้บริหารบริษัทเอส วี ไอ จำกัด (มหาชน) ที่เห็นว่ากำไรในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงใช้ข้อมูลดังกล่าวเข้าซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองก่อนที่จะมีการเปิดเผยงบการเงินต่อสาธารณะ หรือกรณีของผู้บริหารบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งโดนลงโทษเนื่องจากใช้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อแสวงหากำไรอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน

เพื่อแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลแบบตัดไฟแต่ต้นลม บริษัทมหาชนหลายแห่งจึงมีกฎเกณฑ์ภายในห้ามไม่ให้ผู้บริหารซื้อขายหุ้นของบริษัทตัวเองโดยเด็ดขาด ขณะที่บางแห่งห้ามมิให้ผู้บริหารซื้อขายหุ้นเฉพาะในบางช่วงเวลาที่จะมีการประกาศผลประกอบการของบริษัทต่อสาธารณะ ส่วนที่เหลือก็ปล่อยเลยตามเลย หากมีเวลาว่าง ผู้เขียนแนะนำให้ลองเข้าไปดูแบบ 59 ซึ่งอัปเดทรายวันบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ซึ่งเราจะรู้ทันที่ว่าผู้บริหารบริษัทไหนที่งานหลักคือนั่งเทรดทำกำไรจากหุ้นของบริษัทตัวเอง

สำหรับกรณีของ THG หน่วยงานกำกับดูแลก็ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อการเข้าซื้อหุ้นของครอบครัวหมอบุญ ถ้า ก.ล.ต. เห็นว่าไม่เข้าข่ายการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายในก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้า ก.ล.ต. ลงดาบ นั่นแปลว่าครอบครัวของหมอบุญกำลังแสวงหากำไรจากความหวังเรื่องวัคซีนของประชาชน

นี่คือสามวิธีปฏิบัติที่น่ากังวล ยิ่งในห้วงยามวิกฤตเช่นนี้ การกระทำของแต่ละบริษัทก็ยิ่งตอกย้ำว่า ธุรกิจเหล่านั้นต้องการจับมือประชาชนและร่วมเสียสละเพื่อผ่านพ้นหายนะไปพร้อมกัน หรือต้องการลอยลำเป็นผู้ชนะท่ามกลางซากปรักหักพังเพียงคนเดียว

Tags: , , ,