ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่เถียงกันทั้งวันก็คงไม่จบ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในกรุงเทพฯ กับเด็กต่างจังหวัด เด็กโรงเรียนรัฐกับเด็กโรงเรียนนานาชาติ เด็กมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองกับเด็กมหาวิทยาลัยราชภัฎ หรือแม้แต่ในรั้วโรงเรียนเดียวกันก็ยังมีทั้งห้องเด็กเก่งที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และเด็กทั่วไปที่อาจถูกปล่อยปละละเลย
ปัญหาดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นปัญหาระดับโลก เพราะไม่ว่าประเทศไหนก็ย่อมมีโรงเรียนดีมหาวิทยาลัยที่ผลิตศิษย์เก่าคุณภาพคับแก้ว พรั่งพร้อมด้วยบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกที่โรงเรียนทั่วไปคงไม่อาจเทียบได้ แต่ในขณะเดียวกัน โรงเรียนเหล่านั้นก็มีจำนวนที่นั่งแสนจำกัดอีกทั้งยังมีค่าเทอมที่แพงระยับจนหลายครอบครัวยากจะฝันถึง
คำว่าแพงที่ว่านั้นแพงขนาดไหน?
ผมขอยกตัวอย่างโรงเรียนนานาชาติแบรนด์ดังจากสหราชอาณาจักรที่ค้นเจอระหว่างหาโรงเรียนให้ลูกชายวัยสองขวบ โรงเรียนดังกล่าวกว้างขวาง พื้นที่ทั้งสนามเด็กเล่นและสนามกีฬาในร่มกว่า 2,000 ตารางเมตร หอประชุม 650 ที่นั่งสำหรับแสดงละครและดนตรี สระน้ำเกลือขนาดมาตรฐานโอลิมปิก และสนามฟุตบอลที่ฟีฟ่าให้การรับรอง ส่วนการเรียนการสอนก็ไม่ต้องห่วงเพราะใช้หลักสูตรเดียวกับต่างประเทศพร้อมสอนโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาพร้อมให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับเด็กต่างจังหวัดที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลตั้งแต่เด็กจนโตอย่างผม โรงเรียนดังกล่าวไม่ต่างจากหลุดมาจากฉากในฝัน แต่พอเห็นราคาแล้วก็ต้องกดปิดเว็บไซต์แทบไม่ทันหลังจากเห็นค่าเทอมอยู่ที่ราว 600,000 บาทต่อปีสำหรับชั้นอนุบาล 750,000 บาทต่อปีสำหรับชั้นประถม และ 850,000 ต่อปีสำหรับชั้นมัธยม
แน่นอนครับว่านี่คือกรณีสุดโต่งเพราะโรงเรียนทั้งของรัฐและของเอกชนก็มีหลายระดับหลากราคา แค่จ่ายค่าเทอมหลักหมื่นหรือแสนต้นๆ ก็ถือว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างเพียบพร้อมและบุคลากรที่เอาใจใส่ อย่างไรก็ตาม ค่าเล่าเรียนหลักหมื่นก็ใช่ว่าทุกคนจะจ่ายไหว สำหรับครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากส่งโรงเรียนรัฐเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
การที่เด็กคนหนึ่งจะเข้าโรงเรียนไหนได้นั้นจึงไม่ได้พิจารณาจากความสามารถเพียงอย่างเดียวแต่ยังอิงจากเงินในกระเป๋าของพ่อแม่ผู้ปกครองอีกด้วย กลายเป็นว่าเด็กที่มีพรสวรรค์อาจไม่ได้ฉายศักยภาพอย่างเต็มที่เพราะถูกจำกัดด้วยทรัพยากรของโรงเรียนรัฐที่อาจไม่เพียบพร้อม ขณะที่เด็กจากครอบครัวร่ำรวยต่างตบเท้าเข้าโรงเรียนเอกชน พวกเขาจะได้ทั้งแรงส่งจากเพื่อนในห้อง ครูที่ศักยภาพสูงกว่า จำนวนเด็กต่อห้องที่น้อยกว่า และสารพัดกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ส่งเสริมประสบการณ์และพัฒนาการของเด็กๆ
จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กจากโรงเรียนเอกชนจะมีผลการศึกษาที่ดีกว่า เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้มากกว่า และจบไปทำงานได้เงินเดือนดีกว่าเมื่อเทียบกับเด็กที่จบจากโรงเรียนรัฐ คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่าโอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมจากตัวเลือกโรงเรียนที่จำกัดคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยิ่งนานวันช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยจะยิ่งถ่างกว้างขึ้น
ถือเป็นโชคดีที่ประเทศไทยไม่ได้เผชิญปัญหาลักษณะนี้เพียงลำพัง ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างนโยบายจากต่างประเทศเพื่อยกระดับโอกาสทางการศึกษาให้เท่าเทียมมาแบ่งปัน ทั้งการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองหากตัดสินใจจะส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชน หรือการปฏิรูประบบโรงเรียนโดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ
ออกแบบนโยบายให้โอกาสทางการศึกษาเท่าเทียม
หากสวมแว่นตานักเศรษฐศาสตร์ เราอาจแบ่งการจัดการโรงเรียนออกเป็น 2 สำนักคิดแบบสุดโต่ง ฝั่งทุนนิยมผู้ศรัทธาในระบบตลาดจะเสนอให้ตัดโรงเรียนรัฐบาลออกจากสมการเพื่อเปิดทางให้โรงเรียนเอกชนแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้กลไกตลาดคัดเลือกโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนได้ดีในราคาประหยัด ฝั่งสังคมนิยมอาจเสนอแบบตรงกันข้ามคือห้ามเปิดโรงเรียนเอกชน แต่เด็กๆ ทุกคนจะต้องผ่านการศึกษาถ้วนหน้าที่จัดหาโดยภาครัฐ เพียงเท่านี้ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาก็จะถูกขจัดไปโดยปริยาย
แน่นอนครับว่าสองตัวอย่างข้างต้นตั้งอยู่บนโลกอุดมคติที่ยากจะเป็นความจริง โดยนโยบายเพื่อโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมซึ่งผมต้องการหยิบมานำเสนอจะอยู่ ‘ตรงกลาง’ ระหว่างสองแนวคิดสุดขั้วดังกล่าว หรืออาจเรียกว่าเป็น ‘การแข่งขันภายใต้การจัดการ’ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเด็กนักเรียนไม่ว่ารวยหรือจนจะมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเลือกโรงเรียนที่ต้องการ
แนวทางแรกนับเป็นนโยบายยอดนิยมที่ใช้ในหลายประเทศ นั่นคือการแจก ‘คูปองการศึกษา’ ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยคูปองดังกล่าวสามารถนำไปจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ไม่ว่าโรงเรียนดังกล่าวจะเป็นของรัฐหรือเอกชนก็ตาม ประเทศที่ใช้ระบบดังกล่าวก็เช่นโคลัมเบีย ชิลี สหรัฐอเมริกา รวมทั้งอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป
ผู้สนับสนุนนโยบายคูปองการศึกษามองว่าการแจกคูปองเช่นนี้จะสร้างประสิทธิภาพในตลาดการศึกษา เนื่องจากเป็นการเปิดทางให้โรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนแข่งขันกันแบบซึ่งหน้าโดยไม่ต้องมีค่าเทอมเป็นกำแพงกั้น อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างมากเพราะบุคลากรโรงเรียนรัฐมองว่าคูปองการศึกษาไม่ต่างจากการถ่ายโอนเงินสนับสนุนโรงเรียนรัฐไปยังโรงเรียนเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่า อีกทั้งงานวิจัยหลายชิ้นยังพบว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้ช่วยส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กๆ แต่อย่างใด หรือก็คือคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนเอกชนไม่ได้ดีกว่าโรงเรียนรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ
แนวทางที่ 2 คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการโรงเรียนอย่างอิสระโดยที่ภาครัฐจ่ายเงินสนับสนุนและทำหน้าที่กุมบังเหียนคอยกำกับดูแล เกิดเป็นโรงเรียนลูกผสมที่มีหลากหลายชื่อเรียก อาทิ โรงเรียนในการกำกับของรัฐ (Charter Schools) ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ในนิวซีแลนด์ และโรงเรียนรัฐอิสระ (Independent Public School) ในออสเตรเลีย
ตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย คือสวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งอนุญาตให้เอกชนเปิดโรงเรียนได้ แต่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มเติมแต่จะมีรายได้จากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ การศึกษาหลายชิ้นพบว่าการจัดการในลักษณะนี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เพราะโรงเรียนเอกชนจะแข่งขันภายใต้เงื่อนไขเดียวกันโดยตลาดจะทำการ ‘คัดสรร’ โรงเรียนที่สอนได้มีประสิทธิผลมากกว่าแบบอัตโนมัติโดยที่รัฐคอยกำหนดเป้าหมายและกำกับดูแล
อย่างไรก็ตาม งานศึกษาหลายชิ้นเสนอแง่มุมที่ต่างออกไป โดยมองว่าการศึกษาเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เช่นเดียวกับตัวเลือกของโรงเรียนที่อาจไม่ได้สัมพันธ์กับการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างที่เราเข้าใจ
‘สถาบัน’ อาจไม่ได้การันตีความสำเร็จ
แม้คนจำนวนมากจะเข้าใจว่าสถาบันการศึกษาที่ดีเลิศและเพียบพร้อมย่อมเป็นแหล่งผลิตเด็กๆ ชั้นแนวหน้าของประเทศ แต่นักวิจัยจำนวนไม่น้อยอาจเห็นต่างโดยมองว่าสาเหตุที่สถาบันเหล่านั้นมีแต่เด็กเก่งๆ ก็เพราะกระบวนการที่คัดเลือกเฉพาะเด็กซึ่ง ‘เก่งอยู่แล้วเป็นทุนเดิม’ เข้าไปต่างหาก
สมมติว่ามีโรงเรียนชื่อดังของไทยใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีเด็กๆ มาสมัครเรียนจากทั่วทุกสารทิศ แต่ละปีผู้สมัคร 10,000 คนจะมีเพียง 1,000 คนที่สมหวัง แล้วจะน่าแปลกใจอะไรหากเด็กที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยดัง หรือถือเป็นกลุ่มแนวหน้าของประเทศ เพราะกระบวนการคัดเลือกแทบจะการันตีอยู่แล้วว่านี่คือกลุ่มเด็กหัวกะทิของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากเพราะต้องทำการทดลองโดย ‘สุ่ม’ นักเรียนเข้าไปเรียนในโรงเรียนชั้นนำและโรงเรียนทั่วไปแล้วเปรียบเทียบผลการศึกษา เพื่อยืนยันว่าเด็กนักเรียนนั้นเก่งด้วยตัวเองหรือว่าเก่งเพราะกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนชั้นนำ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าภาครัฐไม่ควรยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาโอกาสการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม หรือโรงเรียนรัฐที่ไม่สามารถแข่งขันได้กับโรงเรียนเอกชนนะครับ เพียงแต่เราควรเผื่อใจไว้สักนิดว่าสถาบันการศึกษาดีก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จ และต่อให้ระบบการศึกษาไทยปราศจากความเหลื่อมล้ำ เราก็ยังต้องเจอปัญหาที่ปลายทางนั่นคือตลาดแรงงานซึ่งยังเผชิญความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของแต่ละอาชีพหดแคบลงโดยไม่ทิ้งเหล่าคนที่พ่ายแพ้ในระบบการศึกษาไว้ข้างหลัง
สิ่งสำคัญที่สุดคือคนทำงานไม่ว่าจะจบการศึกษาชั้นไหน จะทำงานเป็นลูกจ้างหรือหาเช้ากินค่ำก็ควรจะลืมตาอ้าปากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ไม่ใช่ติดกับดักความยากจนเฉกเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เอกสารประกอบการเขียน
Why managed competition is better than a free market for schooling
UNESCO calls for better oversight of private education to reduce inequalities
Private School and School Choice
The Changing Economic Advantage from Private School
School Vouchers: A Survey of the Economics Literature
Tags: Economic Crunch, ความเหลื่อมล้ำ, โรงเรียน