ประเทศจีนเคยเป็นประเทศที่ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลกในฐานะ ‘ต้นแบบ’ การจัดการโรคระบาดที่รวดเร็วและเด็ดขาด หลังจากวิกฤตการณ์ในเมืองอู่ฮั่นเพียงปีเศษ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนก็กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ โดยรักษาอัตราการเติบโตได้ค่อนข้างดีจนหลายประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวเป็นเลขสองหลักได้แต่มองตาปริบๆ
การกวดขันอย่างเข้มงวดทำให้จีนยังคงปลอดการระบาด แม้ว่าจะรับไม้เป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่มีนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมการแข่งขัน ณ กรุงปักกิ่ง แต่ป้อมปราการที่แข็งแกร่งก็ใช่ว่าจะไร้พ่าย เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอย่างรุนแรงในฮ่องกง และลุกลามมายังมณฑลเซี่ยงไฮ้ นำไปสู่การประกาศใช้มาตรการยับยั้งการระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานร่วม 2 เดือน โดยมีประชาชนจำนวนไม่น้อยออกมาแสดงความไม่พอใจต่อนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ ของจีนที่ดูจะสวนทางกับการ ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ ของนานาประเทศ
การระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการผลักดันอุดมการณ์ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดความพึ่งพาโลกตะวันตกของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) โดยหันมาพึ่งพาทรัพยากรภายในประเทศและพัฒนานวัตกรรมของตนเอง ราวกับการปลุกชีพแนวคิดในยุคท่านประธานเหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ที่ตั้งเป้าว่าจีนจะสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ มิสไซล์ และดาวเทียมได้โดยไม่ต้องใช้ชิ้นส่วนหรือเทคโนโลยีจากต่างชาติตามยุทธศาสตร์ ‘สองระเบิด หนึ่งดาวเทียม’
แนวคิดของสี จิ้นผิง คือการมองการณ์ไกลที่ชาญฉลาด แต่ถูกผลักดันผิดจังหวะเวลา เพราะนโยบายดังกล่าวกลับกลายเป็นระเบิดลูกที่ 2 ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากที่ระเบิดลูกแรก คือการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 และนโยบายปิดเมืองอย่างเข้มงวด
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่มรสุมทางเศรษฐกิจดันมาเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการหมดวาระของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยจะมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติครั้งที่ 20 ช่วงปลายปีนี้
ปัญหาของนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’
นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก คือการตรวจหาเชื้อเป็นวงกว้างและการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด เมืองใหญ่เมืองแรกที่ได้ลิ้มรสมาตรการดังกล่าวคืออู่ฮั่น แต่ไม่มีใครคาดฝันว่าหลังจากผ่านไป 2 ปี เมืองเศรษฐกิจที่ไม่เคยหลับใหลอย่างเซี่ยงไฮ้จะต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน
การล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้เริ่มต้นขึ้น เมื่อปลายเดือนมีนาคม โดยช่วงแรกล็อกดาวน์แค่บางอาคาร ก่อนจะยกระดับเป็นพื้นที่ แต่สุดท้ายเมื่อไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ดังหวัง รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด นอกจากจะปิดสถานที่ต่างๆ อย่างที่เราก็คงคุ้นชิน รัฐบาลจีนยังระงับเที่ยวบิน ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ระงับระบบขนส่งสาธารณะ ล้อมรั้วพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง พร้อมกับส่งกองทัพทหารมาส่งน้ำส่งอาหาร และทีมแพทย์พยาบาลเข้ามาดูแลผู้ป่วย
มาตรการดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของเมืองเซี่ยงไฮ้หยุดชะงัก ประชากร 25 ล้านคนต้องถูกกักอยู่ในบ้าน หรือบางส่วนต้องอาศัยที่ทำงานเป็นบ้านหลังที่ 2 เพื่อให้สายพานการผลิตยังคงเดินหน้าต่อ
เพียงไม่นานอาหารและยาก็เริ่มขาดแคลน เสียงบ่นระคนก่นด่ารัฐบาลเริ่มดังกระหึ่มบนเว่ยป๋อ (Weibo) โซเชียลมีเดียสัญชาติจีน จนทำให้กองเซนเซอร์ของรัฐบาลมีงานล้นมือ ความไม่พอใจบนโลกออนไลน์ที่ไม่ได้รับการตอบสนองก็นำไปสู่สารพัดวิธีแสดงความไม่พอใจภายใต้เงื่อนไขการล็อกดาวน์ เช่น การเคาะกระทะหรือการตะโกนจากหน้าต่าง
‘Voices of April’ คลิปวิดีโอความยาว 6 นาทีที่ถ่ายทอดความทุกข์ยากของชาวเซี่ยงไฮ้ภายใต้การล็อกดาวน์ คือหนึ่งในคลิปที่ถูกตามลบอย่างรวดเร็วโดยทางการของจีน ภาพจาก aljazeera.com
แม้ว่าล่าสุด จะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ตาม แต่รัฐบาลจีนก็ยังยึดมั่นนโยบายโควิดเป็นศูนย์เช่นเดิม เนื่องจากเกรงว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด อาจทำให้ประชากรจีนนับล้านต้องล้มตาย
ความกลัวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเกินจริง แต่นับว่าน่าเสียดายที่จีนไม่ใช้ช่วงเวลาที่ปลอดโรคระบาดลดความเสี่ยงให้กับประชาชน เพราะปัจจุบันจีนยังมีประชากรอายุ 60 ปีกว่า 100 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 อีกทั้งทางการจีนยังปฏิเสธที่จะนำเข้าวัคซีน mRNA จากชาติตะวันตกซึ่งมีประสิทธิผลสูงกว่า แต่กลับตั้งใจว่าจะยืดมาตรการควบคุมโรคที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ยาวไปจนถึงปีหน้า
อย่างไรก็ดี ธรรมชาติของสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดต่อกันง่ายแสนง่ายก็ทำให้การระบาดในอนาคตซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์ครั้งใหม่เป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง
จีนทำ จีนใช้ ไม่ง้อต่างชาติ
นับตั้งแต่การเปิดประเทศในยุคประธานาธิบดี เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) นโยบายของจีนก็ถือว่าค่อนข้างเป็นมิตรกับต่างชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วฉุดพาให้ชาวจีนจำนวนมากได้ลืมตาอ้าปาก จีนกลายเป็นโรงงานผลิตสำคัญของโลก แต่ความฝันของจีนไม่ได้หยุดแค่การเป็นโรงงาน แต่มุ่งหมายที่จะเป็นเจ้าของนวัตกรรมโดยไม่หวังพึ่งพาโลกตะวันตก
‘การพึ่งตนเอง’ คือหลักในการพัฒนาชาติจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยเน้นการปรับสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติตะวันตกและพันธมิตรทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจีนพึ่งพาโลกเสรีประชาธิปไตยมากเกินไปจนกลายเป็นความเสี่ยง ฝั่งหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจในต่างประเทศที่อาจลุกลามบานปลายมาฉุดให้เศรษฐกิจในจีนซบเซาเช่นคราวฟองสบู่ซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา หรือการแปลงสนามการค้าให้เป็นสนามรบด้วยสารพัดนโยบายกีดกันทางการค้า โดยตัวอย่างล่าสุดคือการคว่ำบาตรรัสเซียจากการรุกรานยูเครน
หากตัดทอนความซับซ้อนออก เป้าหมายหลักของจีนมี 2 ประการ คือการครองอำนาจนำในอุตสาหกรรมหลักที่ถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจจีน นั่นคือพลังงานและเทคโนโลยี อย่างที่ 2 คือการลดการพึ่งพาโลกตะวันตกที่อาจหาสารพัดเหตุผลมาแว้งกัดจีนได้ทุกเมื่อ แล้วเบนเข็มทิศสู่การผูกมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านโครงการแถบและทาง สานสัมพันธ์ทางการค้าให้แนบชิดด้วยโครงสร้างพื้นฐานและหนี้สินก้อนโต
เป้าหมายประการแรกถือว่าทำได้สำเร็จพอประมาณ รายงานของ Goldman Sachs ระบุว่า จีนค่อนข้างพึ่งพาตนเองได้ในการผลิตสินค้าเทคโนโลยี โดยกำลังในการผลิตที่มีสามารถตอบสนองความต้องการภายในประเทศจนแทบไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าอีกต่อไป บางอุตสาหกรรมก็ประสบความสำเร็จเกินคาด ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันประเทศจีนกลายเป็นแนวหน้าของโลก เช่นเดียวกับพลังงานลมซึ่งปี 2021 เพียงปีเดียว จีนสามารถติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่งที่มีกำลังการผลิตเทียบเท่ากับพลังงานลมที่ติดตั้งทั่วโลกตลอด 5 ปีที่ผ่านมารวมกัน นี่คือความน่าพรั่นพรึงของจีนใน 2 อุตสาหกรรมที่ยากจะมีประเทศอื่นมาโค่นบัลลังก์ได้
อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่อจีดีพีของจีนก็ยังไม่ลดลงเท่าไรนัก แถมคู่ค้าคนสำคัญยังเป็นคู่กรณีอย่างไต้หวันและประเทศโลกตะวันตก อุตสาหกรรมที่ยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนเหล่านั้นก็เช่น อุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมอวกาศ ยังไม่นับปริมาณสิทธิบัตรที่นักวิจัยจีนจับมือกับนักวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศเพื่อจดร่วมกัน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเป้าหมายที่ 2 ก็ยังยากที่จะบอกได้ว่าประสบความสำเร็จ นอกจากจีนจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียแล้ว ยังเดินหน้าเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่มีสมาชิกคือประเทศในเอเชีย 15 ประเทศ และยังสมัครเข้าเป็นสมาชิกในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศจีนมีอิทธิพลอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หากมองในแง่มูลค่าตลาดและเงินลงทุนแล้ว จีนก็ยังคงใกล้ชิดกับโลกตะวันตกและพันธมิตรมากกว่า สาเหตุสำคัญก็ไม่พ้นเม็ดเงินในประเทศพัฒนาแล้วย่อมมีมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย อีกทั้งหากจีนต้องการพัฒนาสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อวางจำหน่ายในตลาด สุดท้ายแล้วชาติตะวันตกก็ย่อมเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากกว่าอยู่ดี การลดการพึ่งพาต่างชาติจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จีนยังตีไม่แตก
การผลักดันให้จีนพึ่งพาตัวเองได้ย่อมมีข้อดีในระยะยาว แต่ในระยะสั้นกลับเป็นการสร้างภาระให้กับระบบเศรษฐกิจที่ต้องรับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นทุนเดิม รัฐบาลจีนพยายามเดินหน้าเพื่อปรับโครงสร้าง ทั้งการออกกฎเกณฑ์ใหม่ การเรียกเก็บค่าปรับและค่าธรรมเนียม รวมทั้งเข้าไปสะสางปัญหาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์ นำไปสู่การขาดแคลนเงินทุนกะทันหัน กลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ยังจัดการไม่ได้สักที (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ความเปราะบางของปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจจีน)
เก้าอี้ประธานาธิบดีท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจที่เป็นปัญหาจากนโยบายรัฐไม่ใช่เรื่องดีนักในช่วงที่กำลังจะมีความไม่แน่นอนทางการเมือง นั่นคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติครั้งที่ 20 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
แม้ว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจะมั่นใจว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กรุยทางโดยการแก้รัฐธรรมนูญและรวบอำนาจเพื่อครองตำแหน่งต่อเป็นวาระที่ 3 แต่การยึดมั่นในอุดมการณ์ของตน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโควิดเป็นศูนย์หรือการเบนเข็มสู่การพึ่งพาตนเองโดยไม่สนใจถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมก็ชวนให้นึกถึงนโยบายของประธานเหมา เจ๋อตงที่นำไปสู่ความอดอยากและการเสียชีวิตของประชาชนจีนนับล้านคน
อย่างไรก็ดี เราก็ยังไม่เห็นคู่แข่งทางการเมืองของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แม้หลายคนจะมองไปยัง หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนคนปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับโลกตะวันตกและโอนอ่อนผ่อนตามแนวคิดเสรีนิยม แต่ตัวหลี่เองก็ประกาศชัดเจนว่าจะวางมือจากการเมืองหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไป
ถึงประชาชนจีนจะไม่พอใจนโยบายของสี จิ้นผิง แต่หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง ชายวัย 68 คนนี้ก็คงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีกหนึ่งวาระ ส่วนเขาจะนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งโรจน์หรือร่วงโรยนั้น ก็คงต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
เอกสารประกอบการเขียน
How Xi Jinping is damaging China’s economy
A clumsy lockdown of Shanghai is testing the “zero-covid” strategy
China is trying to protect its economy from Western pressure
Rumours emerge of disharmony within China’s leadership
Li Keqiang: China’s sidelined premier back in the limelight
Trouble at the top and bottom of China’s financial sector
Tags: เศรษฐกิจจีน, Economy of China, Economy, สี จิ้นผิง, จีน, Economic Crunch