ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เวลาเจอหน้าใครคำถามที่หลายคนต้องประสบพบเจอคือ ‘ตอนแผ่นดินไหวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เวลาเจอหน้าใครคำถามที่หลายคนต้องประสบพบเจอคือ “ตอนแผ่นดินไหว ทำอะไรอยู่”

บ้างอยู่บ้านแล้วรับรู้ถึงแรงสั่นไหว หลายคนต้องอพยพลงจากสำนักงานบนตึกสูง จำนวนไม่น้อยตื่นตระหนกเพราะอยู่บนคอนโดฯ เพียงลำพัง ส่วนผมนั้นอยู่บนรถไฟฟ้าที่ราวกับถูกเขย่าซ้ายขวาด้วยมือที่มองไม่เห็น

ภัยพิบัติแผ่นดินไหวเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และน้อยคนที่จะคาดถึงว่ามันสร้างความเสียหายมากมายถึงขนาดทำให้ตึกที่กำลังก่อสร้างอยู่พังถล่ม และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ยังไม่นับความเสียหายของตึกสูงหลายแห่ง ที่กว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมและฟื้นฟูความเชื่อมั่นก็อาจต้องใช้เวลาร่วมปี

แต่สิ่งที่หลายคนกังขามากที่สุดคือระบบเตือนภัยของไทย เพราะกว่าจะได้รับข้อความเตือนภัยจากภาครัฐก็เย็นย่ำ บางคนต้องรอจนถึงมืดค่ำที่เหตุการณ์สงบลงไปแล้ว ส่วนผู้เขียนเองจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับสักข้อความ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า แต่การกระจายข่าวสารอย่างทันท่วงทีก็นับว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยในหลายประเทศที่พัฒนาระบบแจ้งเตือนเพื่อรับมือแผ่นดินไหวไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือเม็กซิโก สามารถส่งข้อความเตือนประชาชนได้ภายในเวลาหลักวินาทีเมื่อตรวจจับพบ

ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม หรือกระทั่งคลื่นความร้อน ถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก้อนใหญ่ที่นับว่าคุ้มค่าคุ้มทุน อย่างไรก็ตามการลงทุนดังกล่าวมักถูกมองข้ามไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลประเทศไทย แต่รวมถึงรัฐบาลส่วนใหญ่ของโลก

ระบบเตือนภัยที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร

การตระเตรียมระบบเตือนภัยล่วงหน้าเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน องค์กร รวมถึงประชาชน ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือและซักซ้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ซึ่งผู้เขียนสรุปองค์ประกอบของระบบเตือนภัยล่วงหน้าดังนี้

องค์ประกอบแรกคือ การรวบรวมข้อมูล เฝ้าระวัง และตรวจจับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การเก็บรวบรวมข้อมูลจะช่วยให้เราสามารถระบุได้ว่า พื้นที่ใดและประชากรกลุ่มใดบ้างที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติดังกล่าว และควรจะมีการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายแบบใด ส่วนการเฝ้าระวังและตรวจจับภัยพิบัติต้องอาศัยการลงทุนค่อนข้างมากและเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งแบบจำลองเพื่อพยากรณ์อากาศ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นเซนเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหว มาตรวัดระดับน้ำ หรือดาวเทียมต่างๆ องค์ประกอบนี้คือ หน้าด่านที่ต้องรวดเร็วและแม่นยำเพื่อให้มั่นใจว่า สามารถแจ้งเตือนได้ทันเวลา

องค์ประกอบที่ 2 คือ การสื่อสารเตือนภัย เมื่อตรวจพบว่าอาจเกิดภัยพิบัติ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าก็ต้องส่งข้อความเตือนภัยที่บอกอย่างชัดเจนว่า ผู้ได้รับข้อความต้องทำอะไรอย่างรวดเร็วที่สุดและครอบคลุมประชากรมากที่สุด โดยอาจสื่อสารหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสาธารณะ สัญญาณเตือนภัย ข้อความสั้น แอปพลิเคชัน หรือการกระจายเสียงต่างหมู่บ้านที่ห่างไกล โดยควรสื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย หรืออาจสื่อสารเป็นโค้ดสีเพื่อบ่งบอกถึงอันตราย

องค์ประกอบที่ 3 คือ การเตรียมความพร้อมและศักยภาพในการรับมือภัยพิบัติ การตรวจจับที่รวดเร็วและการสื่อสารที่ทันเวลาจะไร้ประโยชน์ทันทีหากประชาชนไม่รู้ว่า ควรรับมือกับภัยพิบัติที่ได้รับแจ้งมาอย่างไร ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน ผ่านการฝึกอบรมหรือฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ 

ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวของประเทศญี่ปุ่น ที่ยอดเยี่ยมทั้ง 3 องค์ประกอบ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล เฝ้าระวัง และตรวจจับภัยพิบัติโดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency) ซึ่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว (Seismometers) กว่า 4,200 เครื่องทั่วประเทศ เมื่อเครื่องตรวจวัดดังกล่าวหลายตัวส่งสัญญาณเตือนภัยพร้อมกัน อัลกอริทึมก็จะคาดการณ์ว่า จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ตรงไหนและความรุนแรงเท่าไร

หากคาดการณ์ว่า แผ่นดินไหวมีความรุนแรงมาก ระบบก็จะส่งสัญญาณเตือนในเวลาหลักนาทีหรือบางครั้งอาจเป็นวินาที หลายช่องทางโดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบนี้จะไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องตัดสินใจ ดังนั้นไม่ต้องรอนายกรัฐมนตรี หรือทำหนังสือเวียนระหว่างกรมหรือกระทรวง แต่การเตือนภัยดังกล่าวจะประกาศทางโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ และสัญญาณเตือนต่างๆ โดยบางระบบสำคัญที่เชื่อมต่อตรงกับเครือข่ายเตือนภัยแผ่นดินไหว เช่นรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะชะลอความเร็วโดยอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุตกราง เช่นเดียวกับโรงงานที่จะหยุดเดินเครื่องจักรและลิฟต์ที่จะเปิดประตูค้างไว้ที่ชั้นที่ใกล้ที่สุด ส่วนประชาชนชาวญี่ปุ่นเองก็ได้รับการปลูกฝังให้รับมือภัยพิบัติตั้งแต่อายุยังน้อย และมีการซักซ้อมหนีภัยกันเป็นประจำ โดยมีวลีจำง่ายเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น หมอบต่ำ หาที่กำบัง และจับไว้ให้มั่น

ทั้ง 3 องค์ประกอบต้องทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ หากจุดไหนล่าช้าหรือไม่พร้อมก็จะทำให้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าไร้ประสิทธิภาพทั้งขบวน

ระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีประโยชน์แค่ไหนกัน

ผู้เขียนขอหยิบยกประโยชน์ 2 ประการของระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยสํานักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction หรือ UNDRR) ที่ระบุว่า นับวันระบบดังกล่าวจะยิ่งทวีความสำคัญในยุคโลกรวน ที่ความเสี่ยงในการเกิดเหตุภัยพิบัติอาจเพิ่มหลายเท่าตัวและคาดการณ์ได้ยากยิ่งขึ้น

ผลประโยชน์ประการแรกคือ การลดการสูญเสียและความเสียหายทางเศรษฐกิจเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ รายงานโดยคณะคณะกรรมการโลกว่าด้วยการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Commission on Adaptation) ระบุว่า ระบบเตือนภัยล่วงหน้าจะมีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (Cost-benefit Ratio) สูงถึง 1 ต่อ 10 หรือการลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้า 1 บาทจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสุทธิร่วม 10 บาท รายงานฉบับเดียวกันยังอธิบายว่า การแจ้งเตือนภัยพิบัติอย่างเช่นคลื่นความร้อนหรือพายุล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง สามารถช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ถึง 30%

ผลประโยชน์ประการที่ 2 คือการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติย่อมยากที่จะดึงดูดเม็ดเงินเพื่อลงทุนหรือสร้างธุรกิจใหม่ การมีระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และเกิดการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาวมากยิ่งขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาประเทศจีนเผยแพร่รายงานว่า การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำขึ้น 1% จะช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 0.34% และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากภาคการเกษตร 0.5% อีกด้วย เช่นเดียวกับกำแพงแม่น้ำเทมส์ (Thames Barrier) ที่สามารถคาดการณ์เหตุภัยพิบัติล่วงหน้า 36 ชั่วโมง สร้างความเชื่อมั่นและนำไปสู่การลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์ และพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่าสูงในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ประเทศไทยติดโผประเทศที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติด้านอุทกภัยอันดับต้นๆ ของโลก ยังไม่นับภัยพิบัติอุบัติใหม่อย่างเช่นคลื่นความร้อนและฝุ่น PM2.5 รวมถึงภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่อาจกลับมาอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นสึนามิ โรคระบาด และแผ่นดินไหว ทุกคราวที่เกิดภัยพิบัติ นอกจากประชาชนจะสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินแล้ว รัฐเองก็ยังต้องหมดเงินมหาศาลกับการเยียวยาความเสียหาย พร้อมกับให้คำมั่นว่า เตรียมดำเนินการ ‘ระบบเตือนภัยล่วงหน้า’ แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก โดย UNDRR รายงานว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่มีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า สาเหตุที่รัฐบาลทั่วโลกไม่ลงทุนกับระบบดังกล่าว เนื่องจากมันเป็นระบบที่ไม่สร้างประโยชน์ให้ในทันที ยิ่งถ้าปีไหนโชคดีไม่เกิดภัยพิบัติก็จะเหมือนกับจ่ายเงินก้อนใหญ่แบบเสียเปล่า แตกต่างจากการใช้เงินงบประมาณแก้ปัญหา ‘เร่งด่วน’ ทางเศรษฐกิจ หรือโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จับต้องได้มากกว่า

หากจะกล่าวง่ายๆ คือ โครงการลักษณะนี้สร้างประโยชน์มหาศาล แต่อาจไม่ได้สร้างความนิยมให้กับนักการเมือง ยกเว้นช่วงหลังเกิดภัยพิบัติที่ภาครัฐจะตื่นตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไประบบดังกล่าวก็จะไม่มีใครเหลียวแลและด้อยประสิทธิภาพลงจนกระทั่งเกิดภัยพิบัติอีกครั้ง

ผมเข้าใจดีว่า รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยนั้นมีงบประมาณจำกัดจำเขี่ย แต่รับรองเลยว่า การลงทุนระบบเตือนภัยล่วงหน้านั่นคุ้มค่า โดยเฉพาะอุทกภัย คลื่นความร้อน และฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี 

ก็คงได้แต่หวังว่าการเกิดภัยพิบัติครั้งหน้า รัฐบาลจะสามารถแจ้งเตือนได้ทันเวลา ไม่ใช่ต้องรอส่งหนังสือระหว่างหน่วยงาน หรือเผยแพร่การแจ้งเตือนเป็นไฟล์ PDF ที่อยู่ในวงจำกัดโดยไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ประชาชนต้องทำอย่างไร

เอกสารประกอบการเขียน

Five approaches to build functional early warning systems

The triple dividends of early warning systems and climate services

Assessing the Economic Value of Early Warning Systems

Early Warning Systems

Tags: , , ,