นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอเรียม (Ethereum) เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะสินทรัพย์เก็งกำไร สารพัดแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างขายฝันสารพัดเหรียญแห่งอนาคต พร้อมกับโพนทะนาว่านี่คือทางเลือกการลงทุนที่ผลตอบแทนสูงลิ่ว 

อย่างไรก็ดี ภาพฝันดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อการล่มสลายของเหรียญ Terra (LUNA) ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลกที่เข้าสู่ขาลงทำให้เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลไหลออกจากตลาดสกุลคริปโตฯ จนมูลค่าร่วงลงแบบทันตา แม้แต่เหรียญยอดนิยมอย่างบิตคอยน์ก็ราคาร่วงเหลือราว 7 แสนบาทจากที่มูลค่าเคยแตะถึง 2 ล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา

ภาวะตลาดขาลงทำให้เหล่านักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่สูญเงินไปมหาศาลพร้อมกับหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความกังขาต่อเหรียญคริปโตฯ

ฝุ่นยังไม่ทันหายตลบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ของไทยก็ ‘ลงดาบ’ แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซียอดนิยมของไทย 2 รายด้วยข้อหา ‘สร้างปริมาณเทียม รวมถึงอีก 1 ข้อหาต่อแพลตฟอร์ม Bitkub โดยมีคำสั่งให้แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB ให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในวงการสกุลเงินเข้ารหัสของไทย

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าบล็อกเชนคือนวัตกรรมใหม่ที่น่าจับตามอง และเหล่าคริปโตเคอร์เรนซีเองก็สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น Non-Fungible Token (NFT) ที่ใช้แสดงสิทธิในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเหรียญเสถียร (Stablecoins) ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ทางเลือกในการเก็บเงินสด และยังสามารถโอนจ่ายไปต่างประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

แต่ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้งานจริงกลับถูกกลบทับด้วย ‘ภาพลวงตา’ จูงใจให้เข้ามาเก็งกำไร จนนักลงทุนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อและเข้าซื้อคริปโตเคอร์เรนซีด้วยความเข้าใจผิดในสาระสำคัญทั้งด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน

ภาพลวงตาจากปริมาณการซื้อขาย

จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถคิดค้นแบบจำลองเพื่อคำนวณ ‘มูลค่าพื้นฐาน’ ของสารพัดสกุลเงินเข้ารหัสขึ้นมาได้ เมื่อไม่มีแบบจำลองซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเฉกเช่นในวงการตราสารทางการเงินอย่างหุ้นสามัญหรือหุ้นกู้ มูลค่าของคริปโตเคอร์เรนซีก็สามารถหายวับไปเป็นอากาศธาตุในทันทีที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอน

เมื่อไม่มีวิธีคำนวณมูลค่าพื้นฐาน นักลงทุนส่วนใหญ่จึงเลือกใช้วิธีการวิเคราะห์แบบเทคนิค (Technical Analysis) ที่พิจารณาจากเส้นกราฟทั้งด้านราคาและปริมาณเพื่อจับจังหวะการซื้อขาย และกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้การ ‘ปั่น’ ราคาเหรียญทำได้ไม่ยากด้วยเทคนิคอย่าง ‘Wash Trading’ ซึ่งหมายถึงมีนักลงทุนรายใหญ่รายเดียวส่งทั้งคำสั่งซื้อและคำสั่งขายเพื่อ ‘สร้างปริมาณเทียม’ เป็นภาพลวงตาหลอกล่อนักลงทุนคนอื่นๆ ในตลาดให้เชื่อว่ามีคนจำนวนมากสนใจที่จะซื้อขายสินทรัพย์ดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น นาย อ. มีเงินในบัญชีจำนวน 100 ล้านบาท เขาทำการตั้งซื้อบิตคอยน์จำนวน 20 เหรียญในราคาเหรียญละ 5 แสนบาท ก่อนจะตั้งขายบิตคอยน์จำนวน 20 เหรียญในราคาเหรียญละ 5 แสนบาท แพลตฟอร์มก็จะจับคู่ธุรกรรมดังกล่าวแล้วแสดงมูลค่าการซื้อขายพุ่งขึ้นถึง 100 ล้านบาททันที สร้างความตื่นตระหนกตกใจต่อนักลงทุนรายย่อยที่เชื่อว่ามี ‘อะไรสักอย่าง’ เกิดขึ้นจนต้องรีบเข้ามาซื้อบิตคอยน์เพราะกลัวตกขบวน

แม้ว่าการสร้างปริมาณเทียมจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ แต่สำหรับแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีการ Wash Trading ถือเป็นเรื่องสามัญธรรมดาเพื่อสร้างภาพลวงตาว่าตลาดคึกคักและมีสภาพคล่องสูง ดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาทำการซื้อขายอย่างสบายใจโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกหลอก

นอกจากแพลตฟอร์มในประเทศไทยแล้ว แพลตฟอร์มชื่อดังในต่างประเทศ อาทิ Coinbase ในสหรัฐอเมริกา และ Coinsquare ในแคนาดาต่างก็ถูกปรับเพราะสร้างปริมาณการซื้อขายเทียม ส่วนแพลตฟอร์มที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประเทศใดก็มีการศึกษาพบว่าทำการ Wash Trading คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการซื้อขายในตลาด นี่คือภาพลวงตาในโลกคริปโตฯ ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

ภาพลวงตาจากกระบวนการตรวจสอบอย่างรอบด้าน (Due Diligence)

หากบริษัทจำกัดอยากจะกลายร่างเป็นบริษัทมหาชนแล้วระดมเงินทุนจากสาธารณะ บริษัทเหล่านั้นจะต้องผ่านกระบวนการโหดหินที่ชื่อว่าการตรวจสอบอย่างรอบด้าน (Due Diligence) ที่จะมี ‘มืออาชีพ’ นอกบริษัททั้งวาณิชธนากร ผู้สอบบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เข้ามา ‘สาวไส้’ บริษัทอย่างละเอียด พร้อมกับเขียนรายงานหน้าเตอะเพื่อบอกกับนักลงทุนว่าบริษัทจะนำเงินก้อนใหญ่ที่ได้รับจากประชาชนไปทำอะไร กระบวนการดังกล่าวมีต้นทุนสูงลิ่ว โดยหากระดมทุน 100 บาท ก็จะเสียค่าใช้จ่ายให้กับเหล่า ‘บุคคลที่สาม’ ราว 7 ถึง 10 บาทเลยทีเดียว

แต่โลกของสกุลเงินเข้ารหัสที่เชิดชูการทำธุรกรรมแบบไร้ตัวกลางนั้นต่างออกไป นี่คือตลาดเสรีที่ใครอยากจะขายอะไรก็นำมาวางขายได้โดยไม่มีใครคอยทำหน้าที่สอดส่องตรวจสอบ จึงไม่น่าแปลกใจที่แต่ละวันจะมีเหรียญใหม่ๆ ออกมาขายกันเป็นว่าเล่น จากสถิติโดยเว็บไซต์ Coinopsy ระหว่างปี พ.ศ. 2554 ถึง 2564 มี ‘เหรียญที่ตายแล้ว’ จำนวน 2,404 เหรียญ คิดเป็นราว 20 เหรียญทุกๆ 1 เดือนต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุทั้งไม่มีปริมาณการซื้อขาย เจ้าของเหรียญปิดโครงการ หรือเป็นฉากหน้าหลอกลวงนักลงทุน

แม้ว่าบางแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญจะมีกฎเกณฑ์คัดกรองเหรียญที่จะสามารถเข้ามาซื้อขายในตลาดได้ แต่ด้วยความที่มีเหรียญออกใหม่ทุกวัน อีกทั้งหลักการและอัลกอริทึมต่างๆ ยังปรากฏเพียงแต่ในเอกสารสรุป (White Paper) ชวนให้สงสัยว่าแพลตฟอร์มใช้เวลาตรวจสอบมากน้อยขนาดไหน

การล่มสลายของเหรียญ Terra (LUNA) เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ฉายภาพชัดเจนว่าเอกสารสรุปซึ่งเจ้าของเหรียญเขียนขึ้นเองโดยไม่มีใครสอบทานความน่าเชื่อถือ หรือแถลงการณ์ของผู้บริหารอาจเป็นเพียงราคาคุยมากกว่าข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับกรณีของเหรียญ KUB ซึ่งแพลตฟอร์มอนุมัติการซื้อขายในตลาดโดยระบุว่าเป็นเหรียญที่มีมาตรฐานทางเทคโนโลยี ‘สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อน’ แต่กลับไม่มีเอกสารยืนยันคำกล่าว

ในเมื่อรายได้หลักของแพลตฟอร์มอิงจากปริมาณการซื้อขายไม่ใช่กำไรหรือขาดทุนของนักลงทุน แพลตฟอร์มจึงขาดแรงจูงใจที่จะทำการตรวจสอบอย่างรอบด้าน และบางครั้งอาจกลายเป็นช่องทางเพื่อ ‘เอื้อและอวย’ เครือข่ายคนกันเอง

ภาพลวงตาในแง่เสถียรภาพและความเสี่ยง

คริปโตเคอร์เรนซีจำนวนมากใช้ความสลับซับซ้อนของอัลกอริทึมและกลไกสร้างสมดุลราคาเป็นฉากหน้า พร้อมฉาบด้วยชื่ออย่างเหรียญเสถียร (Stablecoins) หรือการเปรียบเปรยว่าเป็น ‘ทองคำสมัยใหม่’ แต่การล่มสลายของ Terra (LUNA) และราคาบิตคอยน์ที่ดิ่งเหวก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นความจริง

เมื่อคริปโตเคอร์เรนซีไม่มีมูลค่าพื้นฐานทางทฤษฎีเหมือนหุ้นสามัญและหุ้นกู้ ราคาจึงถูกกำหนดโดย ‘ความเชื่อมั่น’ ของนักลงทุนเป็นหลัก แต่เมื่อวันหนึ่งความเชื่อเหล่านั้นมลายหายไปก็ไม่น่าแปลกใจที่ราคาจะดิ่งเหวเป็นเงาตามตัว 

นวัตกรรมที่ขจัด ‘ตัวกลาง’ กลับกลายเป็นดาบ 2 คมในภาวะวิกฤต เมื่อไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลคอยรักษาเสถียรภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน หรือให้สินเชื่อก้อนใหญ่ ราคาสินทรัพย์จึงสามารถดิ่งเหวภายในเวลาไม่นาน อีกทั้งการฝากเงินในแพลตฟอร์มยังไม่มีการรับประกันซึ่งเป็นกลไกป้องกันการขายเพราะตื่นตระหนกของการเงินกระแสหลัก

ที่สำคัญ การแข่งขันดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาฝากเหรียญคริปโตเคอร์เรนซียังทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว บางแพลตฟอร์มอาจรับฝากในอัตราสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ผลตอบแทนดังกล่าวนับว่าล่อตาล่อใจนักลงทุนที่เผชิญภาวะดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาเนิ่นนาน แต่อย่าลืมว่ายิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงเป็นเงาตามตัว เพราะเหล่าแพลตฟอร์มก็จะต้องนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนในโครงการที่เสี่ยงยิ่งขึ้นเช่นกัน

นี่คือภาพลวงตาที่แพลตฟอร์ม ‘ไม่ได้บอก’ นักลงทุน ขณะที่คนจำนวนมากพยายามบอกแต่น้อยคนที่จะรับฟังในช่วงตลาดขาขึ้น ในภาวะตลาดขาลงเช่นนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ‘ภาพลวงตา’ ของวงการคริปโตฯ เป็นครั้งที่ 2

เราจะผ่านพ้นฤดูหนาวของคริปโตเคอร์เรนซีไปด้วยกันครับ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Cleaning Up Crypto Exchange Wash Trading Will Take Global Regulation

More than 1,000 cryptocurrencies have already failed – here’s what will affect successes in future

Three mechanisms for crypto contagion

The fundamentals of cryptocurrency

Tags: , , ,