ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลา ‘นองเลือด’ ของเหล่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่ถูก ‘ต้อนเข้ามุม’ หรือในแวดวงการเงินเรียกว่า ‘Cornering the Market’ โดยราคาหุ้นบางตัวอาจปรับลดลงมากกว่า 30% ใน 1 วัน สร้างความอกสั่นขวัญหายแก่เหล่านักลงทุนรายย่อยที่หวังกอบโกยกำไรจากหุ้น แต่ปัจจุบันต้องทนนั่งดูตัวแดงในพอร์ตฟอลิโอโดยแทบไม่มีความหวังว่าราคาจะขึ้นกลับมาจนมีกำไรอีกครั้ง

ไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยต่างก่นด่ากล่าวหานักลงทุนรายใหญ่ว่า ‘ทุบตลาด’ หลังจากทำกำไรไปมหาศาล

แม้ว่าจวบจนปัจจุบันจะยังไม่มีใครโดนฟ้องร้องกล่าวหาหรือลงโทษในฐานสร้างราคาหลักทรัพย์ หรือปั่นราคาหุ้น (Market Manipulation) แต่ก็นับเป็นกรณีศึกษาว่าการ ‘ลากราคา’ ในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นสามารถทำได้จริง โดยเฉพาะหุ้นที่ราคาไม่แพง มูลค่าตลาดไม่สูง และสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนรายย่อยค่อนข้างต่ำ ซึ่งนักลงทุนมือใหม่ต้องเข้าซื้อขายด้วยความระมัดระวัง

แต่คงไม่ถูกนักหากจะให้นักลงทุนดูแลตัวเองเพียงฝ่ายเดียว เหตุการณ์ข้างต้นนำไปสู่คำถามว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในฐานะผู้คุมกฎ และตลาดหลักทรัพย์ในฐานะผู้กำหนดเกณฑ์ควรเดินหน้าอย่างไรเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติว่าตลาดแห่งนี้คือสนามเพื่อการลงทุน ไม่ใช่บ่อนพนัน

รู้จักกระบวนการ ‘ต้อนหุ้นเข้ามุม’

นักเทรดหุ้นมือใหม่ที่ตบเท้าเข้าตลาด หากเลือกสำนักการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็คงเชี่ยวชาญด้านการอ่านกราฟและมองหาสัญญาณทำกำไรจากจังหวะตลาด หากสมาทานสำนักการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก็คงอ่านงบฯ ได้อย่างเก่งฉกาจ และติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก 

แต่มีตัวเลขหนึ่งที่หลายคนมักมองข้าม และฟังดูเหมือนไม่ได้สลักสำคัญอะไร กลับกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการต้อนหุ้นเข้ามุม นั่นคือการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือที่คุ้นหูกันว่า Free Float

หุ้นทุกตัวที่ทำการซื้อขายในตลาดจะระบุอัตราการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ถ้าบริษัท MMT มีสัดส่วน Free Float อยู่ที่ 50% หมายความว่าถ้าบริษัทมีหุ้นสามัญทั้งหมด 1 หมื่นหุ้น จำนวนหุ้นที่กระจายอยู่ในมือรายย่อยและหมุนเวียนซื้อขายในตลาดจะเท่ากับ 5,000 หุ้นนั่นเอง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดนิยามของ ‘ผู้ถือหุ้นรายย่อย’ คือผู้ถือหุ้นที่มิได้เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน นั่นหมายความว่าหุ้นในมือเหล่ากรรมการบริหาร หรือหุ้นในมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งถือหุ้นเกินกว่า 5% รวมถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน เช่น คู่สมรสหรือลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะไม่ถูกนับเป็นหุ้น Free Float ในตลาดนั่นเอง

การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยนับเป็นตัวชี้วัดที่ยอดเยี่ยมถึง ‘สภาพคล่อง (Liquidity)’ ในการซื้อขายหุ้น ยิ่งบริษัทมีอัตรา Free Float สูงเท่าไร สภาพคล่องก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว บริษัทจึงสามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น และความผันผวนของราคาก็จะต่ำลงอีกด้วย

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมากยิ่งขึ้น ผมขอชวนให้จินตนาการว่าการขยับขึ้นลงของราคาหุ้นเปรียบเสมือนการเดินขึ้นลงบันได หุ้นที่ราคาสูงและมีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดมากก็จะเหมือนขั้นบันไดที่สูงและกว้างกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นที่ราคาต่ำและมีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยซึ่งเหมือนบันได้เตี้ยๆ แคบๆ ที่แค่ก้าวสั้นๆ ก็ข้ามไปได้ทีละหลายขั้น ราคาหลักทรัพย์จึงสามารถกระโดดขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงความผันผวนที่สูงลิ่วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นเป็นเรื่องที่นักลงทุนรายใหญ่ไม่สามารถกำหนดได้ แต่สิ่งที่พวกเขามีอยู่ในกำมือคือความมั่งคั่งมูลค่ามหาศาลและการเข้าถึงสินเชื่อ พวกเขาจึงเลือกใช้อำนาจเงินในมือกว้านซื้อหุ้นในตลาดมาถือไว้จนปริมาณหุ้นที่หมุนเวียนในมือผู้ถือหุ้นรายย่อยลดต่ำลง สะท้อนจากสัดส่วน Free Float ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เปรียบเสมือนการสร้างความขาดแคลน ‘ปลอมๆ’ ที่จะช่วยผลักดันราคาหุ้นให้เพิ่มรวดเร็วยิ่งขึ้นซึ่งก็คือการต้อนหุ้นเข้ามุม และเมื่อราคาขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ พวกเขาจะเทขายจนราคาลดฮวบ ปล่อยให้นักลงทุนที่ติดกับดักซื้อหุ้นไปในราคาสูงต้องก้มหน้ารับผลขาดทุน

ตารางตัวเลขสมมติเพื่อเปรียบเทียบปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่อัตรา Free Float สูงและต่ำ จะเห็นว่าในกรณีที่ 1 ซึ่งหุ้นมีปริมาณซื้อขายในตลาดสูง นักลงทุนจะต้องใช้เงินสองเท่าตัวเพื่อทำให้ราคาขยับจาก 12.10 บาท เป็น 12.20 บาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ 2 ซึ่งหุ้นมีปริมาณซื้อขายในตลาดต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง

แล้วเราควรแก้ปัญหาอย่างไร

 แน่นอนครับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบดีถึงปัญหา โดยตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยก็มีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าบริษัทมหาชนที่มีการซื้อขายในตลาดจะต้องมีสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างน้อย 15% ของทุนชำระแล้ว และกระจายอยู่ในมือผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างน้อย 150 คน หากบริษัทใดไม่สามารถดำเนินการได้ ตลาดหลักทรัพย์จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในปีแรก และประกาศชื่อต่อสาธารณะในปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม กฎข้างต้นก็นับว่าหน่อมแน้มน่ารัก เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าสัดส่วน Free Float จะต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดไหน ตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไม่เคยถอนบริษัทออกจากตลาดด้วยเหตุผลนี้ หากมีเหตุการณ์ปั่นแล้วทุบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตลาดหลักทรัพย์เองอาจต้องปรับเปลี่ยนเกณฑ์ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น และจากข้อมูลปัจจุบัน บริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 250 แห่งมี Free Float น้อยกว่า 30% ซึ่งนับว่าค่อนข้างต่ำ และมีบริษัทที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกว่า 60 แห่ง เพราะมี Free Float น้อยกว่า 20%

จำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำแนกตามสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2566

นอกจากเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว หุ้น Free Float ต่ำก็ยังสร้างความปวดหัวให้กับตลาดไม่น้อย เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์หุ้นขนาดกลางอย่าง DELTA ที่ราคาทะยานขึ้นไปสูงลิ่วทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านปัจจัยพื้นฐานสักเท่าไร จนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดอันดับต้นๆ ของไทย แต่สาเหตุส่วนหนึ่งที่ราคาวิ่งเร็วจนน่าตกใจคือสัดส่วน Free Float ที่เพียงราว 22% มูลค่าบริษัทจึงอาจสูงกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดเดิมในการคัดเลือกหุ้นเข้าสู่ดัชนี SET50 ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งรวมบริษัทชั้นแนวหน้าของตลาดหลักทรัพย์ไทยจะพิจารณาเพียงมูลค่าตลาดของบริษัทเป็นหลัก นำไปสู่การปรับเกณฑ์ครั้งใหญ่โดยพิจารณาจากมูลค่าของบริษัทตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float เพื่อการันตีว่าหุ้นที่จะมีโอกาสเข้าสู่ดัชนีเรือธงนี้จะต้องมีสภาพคล่องสูงและความผันผวนต่ำ

ส่วนในฝั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แม้จะมีกฎหมายอยู่ในมือแต่ก็ยังไม่มีการบังคับใช้เข้มข้นมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะการพิสูจน์เรื่องการสร้างราคาหลักทรัพย์ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่ได้มีหลักฐานแบบคาหนังคาเขาอย่างกรณีของหุ้น MORE การดำเนินคดีก็คงเดินหน้าลำบาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะปัจจุบันเรามีเครื่องมือทรงพลังในการวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขาย หากมีการส่งคำสั่งที่ผิดปกติในปริมาณมากจากผู้ซื้อผู้ขายหน้าเดิมๆ ก็อาจเป็นสัญญาณให้ ก.ล.ต. สืบสวนเพื่อคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยไม่ให้ติดกับดักการสร้างราคาของรายใหญ่

ในฝั่งนักลงทุนก็ต้องระวังตัวเช่นกัน นอกจากสัญญาณด้านราคาและปริมาณซื้อขายแล้ว อย่าลืมหันมามองปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเรื่องผลประกอบการและกำไรบ้าง โดยตัวชี้วัดที่ต้องพิจารณาก่อนกดส่งคำสั่งซื้อคืออัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรือที่คุ้นหูกันดีว่า P/E Ratio ตัวเลขดังกล่าวจะบอกว่าเงินที่เราจ่ายซื้อตอนนี้คิดเป็นกี่เท่าของกำไรต่อหุ้นของบริษัท

ตัวอย่างเช่น บริษัท A มี P/E Ratio เท่ากับ 60 เท่า นั่นหมายความว่าเรากำลังจะจ่ายเงิน 60 บาทเพื่อซื้อบริษัทที่ทำกำไรได้ปีละ 1 บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้าบริษัทไม่มีการเติบโตใดๆ เราจะต้องรออีก 60 ปีเงินลงทุนก้อนนี้จึงจะคืนทุน

ค่า P/E Ratio เฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 20 เท่า อาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้บ้างขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม หากบริษัทที่เราเล็งว่าอยากจะควักกระเป๋าซื้อมีค่า P/E Ratio อยู่ที่ 50 เท่า ผมแนะนำให้คิดให้เยอะๆ ก่อนส่งคำสั่ง โดยตอบคำถามให้ได้ว่าบริษัทดังกล่าวมีดีอะไร ทำไมเราต้องจ่ายเงิน 50 บาทเพื่อแลกกับของที่ตอนนี้ทำเงินให้เราได้ปีละ 1 บาท

ตราบใดที่หน่วยงานกำกับดูแลยังไม่ขยับเข้ามาทำหน้าที่กำกับตลาดอย่างจริงจัง ปล่อยให้รายใหญ่ปั่นและทุบนักลงทุนรายย่อยอย่างสนุกสนาน เราเหล่านักลงทุนรายย่อยก็คงต้องคอยดูแลตัวเอง พร้อมกับเฝ้ามองสภาพคล่องที่เหือดหายไปจากตลาดเพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นกับ ‘ราคา’ ที่ปรากฏอยู่บนกระดาน

เอกสารประกอบการเขียน

Free float and market liquidity around the world

New investors must understand free float shares

Understanding Stock Float and Its Impact on Stock Price

Cornering the Market

 

Tags: , , ,