ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงกันมากในระยะหลังๆ มานี้ ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังเพราะมันเป็นปัญหาของมนุษย์ทุกคนบนโลก ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น จะเห็นได้ว่าหลายๆ ผลิตภัณฑ์ หลายๆ แบรนด์ต่างก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เห็นได้ชัดตัวอย่างหนึ่งคือ วงการแฟชั่น ปัจจุบันนี้ เทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังแพร่หลายในอุตสาหกรรมแฟชั่น ขนาดแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์ก็ยังเลือกใช้วัตถุดิบและกระบวนการทางธรรมชาติมาเป็นปัจจัยหลักในการผลิต 

แต่ถึงอย่างนั้น ที่อินโดนีเซียมีแบรนด์แฟชั่นที่ก้าวไกลไปกว่านั้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ แต่จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากแรงงานผู้ผลิตไม่ได้ความเป็นธรรมจากกระบวนการผลิต

Handep คือ ชื่อแบรนด์แฟชั่นที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2018 ในกาลิมันตันกลาง (Central Kalimantan) โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในชนเผ่า “ดายัค” (Dayak) ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มช่างตัดเสื้อผ้าในชนเผ่านี้ จุดเด่นคือการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า ที่ยึดรูปแบบดั้งเดิมของชนเผ่า ผ่านกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการทำงานร่วมกันอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจในการค้าที่เป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทานและการอนุรักษ์ป่า ตลอดจนทำหน้าที่เป็นศูนย์บ่มเพาะสำหรับธุรกิจการเกษตร

แวบแรกเมื่อเอ่ยถึงชื่อชนเผ่า “ดายัค” ก็อาจทำให้ใครหลายคนประหวัดนึกถึงประเพณีการล่าหัวคน ซึ่งเป็นตราประทับประจำชนเผ่านี้ อย่างที่รู้กันดีว่า ชนเผ่าดายัคนั้น ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยม เก่งกาจ และเด็ดขาด ถึงขั้นทำให้คนจากทั่วทุกมุมโลกหันมาสนใจชนเผ่านี้ไม่น้อย 

แต่จริงๆ แล้วนิยามความหมายของกลุ่มนี้มิได้ฟังดูโหดร้ายเลย คำว่า “ดายัค” มาจากคำว่า “ดายา” (daya) ในภาษาเกอญะฮ์ (Kenyah) แปลว่า ต้นแม่น้ำ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่ามาจาก “อาจา” (aja) ในภาษามลายู แปลว่า ดั้งเดิม หรือหมายถึงชนพื้นเมืองเดิม นอกจากนี้ยังมีข้อโต้แย้งในเชิงนิรุกติประวัติของคำนี้ ว่าควรหมายถึง คน และ พื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ตามมีความเห็นจากนักวิชาการว่าความหมายที่ดูจะตรงมากที่สุด คือ ต้นแม่น้ำ เผ่าดายัคมีหลายกลุ่ม อย่างเช่น ดายัคอิบัน ดายัคบาซับแห่งบูกิทฮันตู ฯลฯ ซึ่งกระจายตัวอยู่อาศัยในแถบที่ราบลุ่มทางตะวันตกเฉียงใต้ไปจนถึงที่ราบสูงและแนวทิวเขาทางตอนกลางของเกาะบอร์เนียว พวกเขาเชื่อว่าได้ดำรงชีวิตอยู่บนเกาะแห่งนี้มานานนับพันปีแล้ว และการที่เป็นเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บนเกาะที่ออกไปไหนมาไหนลำบากนั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างเผ่าดายัค 

ว่ากันว่าปัจจัยดังกล่าวเร่งรัดให้กลุ่มเผ่าดายัคมีวัฒนธรรมที่เรียกกันว่าประเพณีการล่าหัวคนประจำปีขึ้นมา แต่จริงๆ แล้ว ดายัคมิได้จ้องแต่จะล่าหัวกันทั้งปี เพราะมีกติกาว่าการล่าหัวคนจะเริ่มขึ้นก่อนถึงฤดูการเก็บเกี่ยวเท่านั้น นักรบดายัคจะบุกเข้าไปในเขตของเผ่าข้างเคียง เพื่อล่าแต้มเป็นหัวของศัตรูด้วยอาวุธ คือ มีด หอก โล่ไม้ และลูกดอกอาบยาพิษ หัวของศัตรูที่ได้มาส่วนหนึ่งจะมอบเป็นของขวัญแก่หัวหน้าเผ่า ที่เหลือก็แบ่งสรรกันไปแขวนเป็นเครื่องประดับตามบ้านเรือน พวกเขาเชื่อว่าการล่าหัวคนจะมอบความบริบูรณ์ให้เกิดแก่พืชไร่ของพวกเขา รวมทั้งยังช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและโรคระบาดที่จะทำให้สมาชิกของเผ่านั้นล้มตาย แต่ก็มีบางปีที่ต้องงดล่าหัวคนชั่วคราว เพราะเหตุว่าการออกล่าหัวของปีก่อนนั้นดันได้จำนวนหัวของศัตรูมาน้อยกว่าหัวของสมาชิกในเผ่าที่ตายไปเป็นจำนวนมาก 

และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ในช่วงยุคล่าอาณานิคม มีการจัดตั้งกองรบของเผ่าดายัคขึ้นมาในกองทหารโคโลนีของอังกฤษ โดยมีสโลแกนว่า “เพียงดายัคเท่านั้น ที่จะจัดการกับดายัคได้” 

แม้ว่าธรรมเนียมการล่าหัวคนจะลดลงในช่วงหลังเพราะดายัคหลายๆ กลุ่มได้เปลี่ยนไปเข้ารีต อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาะบอร์เนียว ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา สายเลือดนักรบในกายของดายัคทั้งหลายได้พลุ่งพล่านฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ ช่วงนั้น มีรายงานว่านักรบดายัคได้ทะลวงฟันและละลายกองทหารญี่ปุ่นให้กลายเป็นเพียงของประดับบ้านเรือน นั่นคือภาพของดายัคในอดีตที่ผ่านมาที่ทำให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกสนใจชนเผ่านี้

ในโลกสมัยใหม่พวกเขาเปลี่ยนแปลงตนเองกลายเป็นเกษตรกรที่ทำนา ปลูกยางพารา และไร่ปาล์มบนเกาะบอร์เนียว แต่ด้วยความเชื่อดั้งเดิมที่ยังแฝงฝังอยู่นั้น บางครั้งก็ทำให้เกิดชื่อเสียงแย่ๆ เช่น การปะทะกันระหว่างกลุ่มดายัคอิบันกับกลุ่มชาวอินโดฯ อพยพ อย่างกลุ่มมาดูรา (Madura) ในกาลิมันตันตะวันตก ในช่วง ค.ศ. 1996-2001 ที่มีรายงานข่าวว่ากลุ่มมาดูรานับร้อยถูกโจมตี ฆ่า และข่มขืน โดยฝีมือของกลุ่มดายัคอิบันที่เป็นชนพื้นเมืองในท้องที่ 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทางแบรนด์ Handep เปิดตัวผลิตภัณฑ์ มีส่วนทำให้คนรู้จักชนเผ่า  ดายัคในลุคใหม่ผ่านแบรนด์ Handep ซึ่งเป็นการดึงเอาลวดลายผ้าทอโบราณของชนเผ่าอันเป็นจุดเด่น มาประยุกต์ให้เข้ากับแฟชั่นร่วมสมัย

รันดี จูลีอัน มีรันดา (Randi Julian Miranda) หนึ่งในสามผู้ก่อตั้งแบรนด์กล่าวว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและเหมืองบนเกาะบอร์เนียวในปัจจุบัน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำให้วิถีดั้งเดิมของชนเผ่าดายัคที่อาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียวค่อยๆ สูญหายไปด้วย เขาจึงพยายามหากระบวนการที่สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ธรรมชาติ วิถีชีวิตของผู้คน รวมไปถึงการทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน

อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันธุรกิจปาล์มน้ำมันยังคงเฟื่องฟูในบอร์เนียวและกลายเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทำลายป่า เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปาล์มน้ำมันให้ทันต่อความต้องการในตลาดโลก ซึ่งผลลัพธ์นั้นถูกสะท้อนผ่านภาพเปรียบเทียบการหายไปของพื้นที่ป่าธรรมชาติในบอร์เนียว โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้คาดการณ์แนวโน้มการหดหายของพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องทุกปี และหากอัตราการทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันยังคงขยายตัวในอัตราเดิมต่อไป ภายในปี 2020 บอร์เนียวอาจเหลือพื้นที่สีเขียวไม่ถึงร้อยละ 40 จากของเดิมที่ควรมีอยู่ และนอกจากปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อพื้นที่ป่าแล้ว การหดหายไปเรื่อยๆ ของพื้นที่สีเขียวในธรรมชาติ ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมและสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่บางชนิดพบได้เฉพาะแถบนี้เท่านั้น 

นั่นจึงนำไปสู่การรื้อฟื้นภูมิปัญญาการทอผ้าแบบโบราณ ซึ่งทุกกระบวนการในการผลิตล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการแปรรูปไปจนถึงการย้อมสีธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมีตกค้าง ในขณะเดียวกันก็มีการประยุกต์รูปแบบให้ร่วมสมัย ตอบโจทย์กับตลาดแฟชั่นในปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจที่สามารถเลี้ยงชุมชนได้จริง

ตอนแรกเริ่มต้นจากช่างทอไม่ถึง 10 คน ปัจจุบัน Handep มีช่างทอที่เป็นชาวดายัคมากกว่า 80 คนแล้ว และยังมีเกษตรกรที่ร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อีกหลายคน ซึ่งทุกคนล้วนได้รับค่าจ้างที่สมเหตุสมผล ขณะเดียวกันทางแบรนด์ยังปันผลกำไรร้อยละ 20 เพื่อนำกลับไปพัฒนาชุมชนของช่างทอผ้าในเผ่าด้วย 

รันดียังกล่าวด้วยว่า “ขณะที่หลายคนให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่กลับมองข้ามประเด็นการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย ผมมองว่าธุรกิจจะยั่งยืนได้นั้น ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การจ้างงานแบบ fair trade ไปจนถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่ต้องถูกนำมาให้ความสำคัญอย่างเท่าๆ กัน” 

หมุดหมายที่สำคัญของ Handep คือพวกเขามองว่า “Eco ต้องเท่ากับ Local”

 

อ้างอิง: 

https://handepharuei.com/

https://www.instagram.com/handepharuei           

https://www.facebook.com/HandepH        

https://www.thejakartapost.com/life/2019/07/20/from-forests-to-fashion-handep-to-host-dayak-cultural-event-in-bali.html                    

https://www.thejakartapost.com 

‘นิรุกติประวัติศัพท์ดายัค’ สัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศิริพร มณีชูเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอินโดนีเซีย คณะศิลปศาสตร์ ม.แม่โจ้

 

Tags: , , , ,