นักศึกษาวิศวะในเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล ประดิษฐ์หุ่นยนต์ตอบโต้การระบาดของโรคโควิด-19 หวังลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการติดเชื้อไวรัสได้

โดยหุ่นยนต์ตัวนี้ชื่อว่า ‘ดร.คาร์ (Dr.Car)’ ซึ่งจะช่วยวัดความดันโลหิตและอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยแทนบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ มันยังได้รับการติดตั้งกล้องและถูกควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้แพทย์ยังสามารถสื่อสารกับคนไข้ผ่านหุ่นยนต์ได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ลามีน โมฮัมเม็ด เคเบย์ นักศึกษาวัย 23 ปี หนึ่งในทีมประดิษฐ์หุ่นยนต์ ดร.คาร์ มองว่าหุ่นยนต์จะช่วยลดการสัมผัสและโอกาสติดเชื้อของบุคลากรทางแพทย์ อีกทั้งยังลดงบประมาณที่ต้องนำไปซื้ออุปกรณ์ป้องกันที่มีราคาแพง เขากล่าวว่า “มาถึงจุดนี้ เราต้องยอมรับว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศเรามีจำกัด” เคเบย์เชื่อว่าพวกเขาสามารถทำอะไรบางอย่างได้ พร้อมทิ้งท้ายว่าในตอนนี้กลุ่มนักเรียนมีความรู้สึกรักชาติเพิ่มขึ้นมาก

ล่าสุด รัฐบาลเซเนกัลเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,700 คนแล้ว ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 19 คน และเริ่มมีการรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองดาการ์ติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ด้วยการขาดแคลนงบประมาณในประเทศ ทำให้การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นไปอย่างจำกัด สร้างความกังวลว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ไหว

อับดุลเลห์ บุสโซ หัวหน้าฝ่ายฉุกเฉินในโรงพยาบาลดาการ์ เสนอให้กลุ่มนักศึกษาพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นไปอีกขั้น โดยให้ติดตั้งแขนกลกับหุ่นยนต์เพื่อช่วยในการขนส่งอาหาร รวมถึงผลการตรวจต่างๆ ให้กับผู้ป่วย  เขายังให้ความเห็นด้วยว่าหุ่นยนต์จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นได้อีกมาก เช่น เสื้อกาวน์  

นอกจากนี้ เกียนาร์ แอนดิจิมเบย์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้ประดิษฐ์เครื่องจ่ายแอลกอฮอล์อัตโนมัติ มองว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาจะช่วยทั้งบุคลากรในโรงพยาบาลและโรงเรียน เขากล่าวว่า “ในฐานะนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร เราต้องเผชิญหน้าต่อความท้าทาย และควบคุมมันให้อยู่ในมือของเรา”

องค์การอนามัยโลก ​หรือ WHO ได้ออกมาเตือนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมว่า ภายในเวลา 1 ปี ทวีปแอฟริกาอาจจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนัก โดยอาจมีผู้ป่วยมากสุดถึง 44 ล้านคน และอาจเสียชีวิต 83,000-190,000 คน นอกจากนี้ การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันและเงินทุนในการจัดหาอุปกรณ์อาจจะสร้างปัญหาอีกมาก โดย WHO ประเมินว่า ระบบสาธารณสุขในทวีปแอฟริกา มีสัดส่วนเครื่องช่วยหายใจและเตียงดูแลผู้ป่วยวิกฤตเพียง 1 ชุดต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น ขณะที่การแพร่ระบาดอาจทำให้ต้องมีผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 100,000 คน

 

อ้างอิง:

https://www.aljazeera.com/indepth/features/senegalese-engineering-students-fight-coronavirus-inventions-200513064528269.html

https://www.france24.com/en/20200513-senegal-s-engineering-students-design-machines-to-fight-covid-19

https://www.cnbc.com/2020/05/08/coronavirus-could-kill-up-to-190000-in-africa-in-the-first-year-if-not-contained-who-warns.html

 

Tags: , , ,