วรรณกรรมแห่งคำสารภาพ (Confessional Literature) คือรูปแบบงานเขียนประเภทหนึ่งที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในโลกวรรณกรรม งานเขียนประเภทนี้มักเดินเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่าเรื่องได้เปิดเปลือยความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของตนออกมาอย่างเต็มที่ ทั้งความลับ ความเศร้า ความสับสน ความรู้สึกผิด ฯลฯ จะถูกคายออกมาอย่างหมดเปลือกผ่านกลวิธีต่างๆ ในการจัดเรียงเรื่องเล่าและความทรงจำ
ความสนุกอย่างหนึ่งของงานเขียนประเภทนี้คือการเงี่ยหูฟังเสียงสะท้อนโต้ตอบกันไปมาระหว่างตัวตนในอดีตและตัวตนในปัจจุบันของผู้เล่าเรื่อง การจับสังเกตมุมมองหลังฝุ่นตลบของเหตุการณ์ และการตั้งคำถามต่อการย้อนทวนความทรงจำกลับไปตีความและให้ความหมายต่อการกระทำหรือผลของการกระทำในอดีต
อย่าไปไหน ของ มาร์กาเร็ต มัซซันตีนี (Margaret Mazzantini) นักเขียนหญิงชาวอิตาลี เป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นด้วยกลวิธีดังกล่าวนี้
ติโม เป็นศัลยแพทย์ เขาแต่งงานกับ เอลซา หญิงผู้งดงามเพียบพร้อม และมีลูกสาวที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นชื่อ อันเจลา แต่แล้วภาพชีวิตครอบครัวอันสมบูรณ์แบบก็ถูกพายุแห่งชะตากรรมทดสอบเข้าในวันหนึ่งเมื่ออันเจลาประสบอุบัติเหตุอาการโคม่า และกำลังนอนรอรับการผ่าตัดอยู่ในห้องฉุกเฉิน
ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายและในการรอคอยความหวังอย่างสิ้นหวังนี้เองที่ติโม ผู้ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ‘พ่อ’ ตลอดทั้งเรื่อง ค่อยๆ พาเราย้อนกลับไปยังอีกจุดหักเหหนึ่งในชีวิตช่วงเวลาก่อนที่อันเจลาจะถือกำเนิดขึ้นมา ช่วงเวลาที่เขาได้รู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ อิตาเลีย
ติโมพบอิตาเลียโดยบังเอิญในบ่ายวันหนึ่ง ทั้งคู่อยู่ในบาร์โทรมๆ ณ มุมอับหนึ่งของเมือง ใบหน้า การแต่งตัว และกิริยาท่าทางบางอย่างของเธอกระตุ้นเร้าทั้งความรู้สึกเหยียดหยามแกมสมเพช สัญชาตญาณดิบเถื่อนของผู้ล่า และแฟนตาซีทางเพศในตัวเขาขึ้นมาอย่างครามครัน เขากระหายจะครอบครองเธอ ปรารถนาจะทุบทำลายเธอ ปรารถนาจะเห็นตัวเองลงไปเกลือกกลั้วเสพสมกับผู้หญิงที่เขารู้สึกขยะแขยง
บ่ายวันนั้นเขาจึงตามเธอไปที่บ้าน บ้านรูหนูสับปะรังเคในย่านสลัมแห่งหนึ่ง ในบรรยากาศของการโอ้โลม ไล่ต้อน และจนมุม ครั้งแรกของพวกเขาเกิดขึ้นแบบนั้น หยาบเถื่อนและเย็นชา แรงยั่วเย้าอันสามานย์ของเพศรสแบบฉับพลันทันด่วน เพียงเพื่อจะพบว่าการปลดปล่อยตัวเองในบ่ายวันหนึ่งไม่ได้จบลงอย่างง่ายดายเหมือนวิธีที่ได้มันมา แต่กลับนำมาซึ่งการปลดปล่อยตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความปรารถนาที่ทั้งขุดลึกลงไปพร้อม ๆ กับหาทางถมเติมตัวมันเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่จะกลืนกินชีวิตของทั้งคู่
“…พ่อดมหาร่องรอยแห่งความอำมหิตของตัวเอง แต่มีเพียงกลิ่นสนิม อาจเป็นกลิ่นของบันได พ่อถ่มน้ำลายลงไป ลงไปในเบื้องลึกของชีวิต ของฐานะอันมั่นคงและของหัวใจพ่อ แล้วเอาฝ่ามือทั้งสองข้างถูกัน จนมันร้อนเป็นไฟ” (หน้า 31)
จากความรู้สึกเหยียดหยามแกมสมเพชในตอนแรก ค่อยๆ แปรเปลี่ยนกลายเป็นความรู้สึกหลงใหล รสชาติอันหอมหวานจากการได้ย่ำยีสิ่งที่กระตุ้นความรังเกียจเดียดฉันท์ การลดทอนคุณค่าเป็นเพียงวัตถุทางเพศ การเถลิงอำนาจดิบเถื่อนของความเป็นชายผ่านการได้กดขี่และครอบครองเมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายไร้หนทางต่อสู้ใดๆ แต่ในขณะเดียวกันนวนิยายก็เผยให้เราเห็นอีกด้านหนึ่งว่าผลของการกระทำทั้งหมดนั้นกลับนำมาซึ่งความหวาดกลัว ทั้งความหวาดกลัวเมื่อได้ค้นพบ ‘ด้านมืด’ ของตัวเอง ความหวาดกลัวต่อรสชาติอันหอมหวานของด้านมืดนั้น และความหวาดกลัวว่าผลของการกระทำนั้นจะทำให้ชีวิตอันสงบเงียบและมั่นคงของตัวเองต้องพังทลายลง
“…ความกลัวนั่นเองที่ทำให้ฉันเปลี่ยนไป ฉันทำร้ายเธอเพื่อปกป้องตัวเองจากความกลัวนั้น…” (หน้า 41)
ในพาร์ทแรกๆ ของนวนิยาย ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือความรู้สึกสับสนของตัวละคร จากการกระทำที่รินเติมอำนาจอันกร้าวแกร่งให้ตัวเองในตอนแรก กลับกลายเป็นคมมีดกรีดเฉือนให้เห็นถึงความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ภายใน เราจะเห็นทั้งการวิ่งไล่ตามและวิ่งหนีความปรารถนาของตัวเอง ความปรารถนาอันไม่พึงปรารถนาซึ่งเผยให้เห็นว่าคนเราซุกซ่อนความไม่สมปรารถนาใดบ้างไว้ในชีวิต จนกระทั่งในที่สุดก็บอกไม่ได้ว่าตัวเองปรารถนาสิ่งใดแน่
สำหรับตัวละครอย่างติโม ความไม่รู้ว่าตัวเองปรารถนาสิ่งใดกันแน่นั้นคับแน่นอยู่ในความรู้สึกแปลกแยกต่อทุกสิ่งที่เป็นอยู่ ทั้งต่อหน้าที่การงาน ต่อเอลซาผู้หญิงที่เขาแต่งงานด้วย ต่อแวดวงสังคมชั้นสูงที่เขาอยู่ และที่หนักหนาที่สุดคือความรู้สึกแปลกแยกต่อความปรารถนาของตัวเอง ชีวิตวางเขาไว้ในหิ้งอันสูงส่ง แต่เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองสูงส่งพอสำหรับมัน เขารังเกียจตัวเองที่ไม่คู่ควรกับมัน เขาจึงต้องหาสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้ตัวเองแปดเปื้อนเกินกว่าจะอยู่บนหิ้งนั้น โศกนาฎกรรมของเรื่องนี้คือถ่มน้ำลายการเยาะเย้ยชีวิตตัวเองด้วยการดึงเอาชีวิตของคนอื่นมาเป็นเครื่องมือ คือการข่มขืนย่ำยีคนอื่นเพื่อที่จะข่มขืนย่ำยีชีวิตตัวเอง
ในพาร์ทต่อมา นวนิยายค่อยๆ ฉายให้เราเห็นว่า เมื่อความรู้สึกสับสนและความหวาดกลัวต่างๆ ถูกคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง การตกผลึกทางความคิดดังกล่าวได้มอบแสงสว่างอันอ่อนโยนให้เขาได้ขัดเกลาชีวิตของตน ความหยาบเถื่อนและเย็นชาในตอนแรกแปรเปลี่ยนเป็นความทะนุถนอมรักใคร่ที่มีต่ออิตาเลีย เขามองเห็นความอัปลักษณ์ของตนพร้อมๆ กับที่ค้นพบแง่งามของเธอ เขาเรียนรู้ที่จะรักเธอไปพร้อมๆ กับที่เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง แต่ชีวิตก็ไม่ได้ง่ายถึงเพียงนั้น เมื่อทั้งคู่ต่างตระหนักอยู่ในใจว่าโลกใบเล็กของพวกเขาในบ้านรูหนูแห่งนี้พร้อมจะแตกสลายลงได้ทุกเมื่อ
ความน่าสนใจประการหนึ่งของเรื่องราวในช่วงนี้ คือการวางตัวละครลงไปในความพลิกผันกลับตาลปัตรของเหตุการณ์ เราจะเห็นว่าในช่วงแรกติโมวิ่งหนีอิตาเลียและวิ่งหนีเงาหลอกหลอนจากสิ่งที่เขากระทำต่อเธอ การปกป้องชีวิตลับๆ ไม่ให้แปดเปื้อนชีวิตจริงกระทำผ่านความรู้สึกหมิ่นหยามและปฏิเสธความปรารถนาตัวเอง แต่ทว่าต่อมา เมื่อเขากล้าสบตากับความปรารถนาของตนและค้นพบว่ารู้สึกอบอุ่นปลอดภัยอย่างไรเมื่ออยู่ในอุทรของมัน ชีวิตจริงที่เขาปกป้องไว้ในตอนแรกกลับกลายเป็นสิ่งที่คอยหลอกหลอนเขาแทน
แต่ทว่าในระหว่างที่เขาลังเลอยู่บนทางสางแพร่งของชีวิตดังกล่าวนี้ ชะตากรรมก็ได้เพิ่มน้ำหนักกดทับของมันลงบนตาชั่งแห่งทางเลือกทั้งสองข้าง เมื่อเขาพบว่าเอลซากำลังตั้งท้อง และอิตาเลียก็กำลังตั้งท้องเช่นกัน
“…ลูกเอ๋ย เราทุกคนต่างฝันถึงอะไรบางอย่างที่จะมากะเทาะโลกแห่งความธรรมดาสามัญของเรา เราฝันถึงมันตอนนั่งเอกเขนกอยู่บนโซฟา ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกที่ชีวิตหยิบยื่นให้ทุกวัน จู่ๆ เมื่อถูกผลักดันด้วยอารมณ์ขัดขืนอันน่าขัน เราก็ไขว่คว้าหากระดูกของคนที่เราอยากจะเป็น แต่โชคดีที่ตัวเรามีไขมันห่อหุ้มไว้อย่างดี คอยปกป้องเราจากของแหลม และจากเรื่องงี่เง่าที่นานๆ ครั้งเราเล่าให้ตัวเองฟัง” (หน้า 176-177)
สิ่งที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ไปไกลกว่าการวิพากษ์ชำแหละความเป็นชายอย่างที่มักจะพบได้ทั่วไปก็คือ แทนที่น้ำเสียงหรือเสียงสะท้อนในการวิพากษ์จะมาจากฝั่งที่ถือข้างความคิดแบบสตรีนิยม (feminism) โดยตรงผู้เขียนกลับเลือกที่จะใช้เสียงเล่าและมุมมองของความเป็นชายเพื่อวิพากษ์ความเป็นชายเอง (เราควรหมายเหตุไว้ตรงนี้ด้วยว่านวนิยายเรื่องนี้เขียนโดยนักเขียนหญิง) ด้วยการเลือกใช้รูปแบบการเขียนแบบคำสารภาพและใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งอันเอื้ออำนวยต่อการเปลื้องเปลือยความความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ซึ่งจะทำให้เราเห็นแง่มุมของการวิเคราะห์ วิพากษ์ และตรวจสอบการกระทำของตัวเองจากตัวผู้กระทำโดยตรง มิใช่เพียงการสร้างภาพแทนและตัดสินการกระทำจากมุมมองของคนอื่น
ในแง่นี้ ‘เสียง’ ของผู้หญิงจึงมิได้หายไปหรือถูกกลบทับด้วยเสียงของผู้ชาย แต่คือการถอยออกมาอยู่หลังฉากเพื่อให้ผู้ชายได้กู่ตะโกนความอหังการ์บ้าบิ่นของตนจนหมดเรี่ยวแรง ให้เขาได้สัมผัสถึงความสั่นเครือและความอ่อนแอเปราะบางที่ซุ่มซ่อนอยู่ในความรู้สึกตน การตระหนักรู้ถึงความอ่อนแอเปราะบางของตัวละครจึงมิใช่เพียงเกิดจากเสียงสะท้อนหรือมุมมองภายนอกที่มองเข้ามา แต่คือการมองลึกเข้าไปยังสนิมแห่งเนื้อในตนที่กัดกินชีวิตจนผุพัง รอยแผลที่ทำให้หัวใจเป็นบาดทะยัก
ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือ ภาษาและน้ำเสียงในการเล่า ภาษาอันคมกริบงดงามราวบทกวีที่ตัวละครใช้ชำแหละความรู้สึกของตัวเองประหนึ่งมีดที่สับความรู้สึกออกมาวางเป็นท่อนๆ จนกลายเป็นรูปประโยคอันห้วนสั้น แห้งแล้ง และเย็นชา น้ำเสียงการเล่าในบางจังหวะที่กระหืดกระหอบเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ ก็ช่วยขับเน้นภาพความดิ้นรนกระเสือกกระสนของตัวละครได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าสำหรับคนอ่าน มันกลับฉุดให้จมดิ่งลงและหมดเรี่ยวแรงไปกับการโบยตีตัวเองจนเลือดไหลไม่หยุด
นวนิยายเรื่องนี้คือการเขียนจดหมายถึงชีวิตของตัวเอง เขียนถึงชีวิตที่กลืนกินชีวิต เขียนถึงสิ่งที่ชีวิตคายออกมาให้เราได้ลิ้มรสหลังผ่านการเคี่ยวกรำของชะตากรรม เขียนถึงบาดแผลที่ทำให้เราเจ็บร้าวจนต้องกุมหน้าอกทุกครั้งที่นึกถึง เขียนถึงรสชาติฝาดเฝื่อนฝืดคอของความเศร้าและความทรงจำที่เรากลืนมันลงไปเพื่อไม่ให้มันกลืนกินชีวิตเรา เขียนถึงความรักตัวเอง ความเกลียดตัวเอง และการมีชีวิตอยู่ต่อไปแม้จะไม่รักตัวเอง
Fact Box
อย่าไปไหน (Non ti muovere)
Margaret Mazzantini เขียน
นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปลจากภาษาอิตาลี
นวนิยายเรื่องนี้เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วในชื่อ Don’t Move (2004)