เมื่อไบเดนสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว หากทรัมป์ยังไม่ยอมออกจากทำเนียบขาว ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯมีอำนาจสั่งหน่วยอารักขาบุคคลสำคัญใช้กำลังนำพาตัวอดีตประธานาธิบดีออกไป แต่เรื่องอาจไม่ง่ายอย่างนั้น
นักสังเกตการณ์เริ่มพูดกันว่า ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ยังเดินหน้าฟ้องร้องโต้แย้งการนับคะแนนไม่เลิก มีคำร้องค้างคาในศาลมากมาย และถ้าสภาคองเกรสตัดสินใจชะลอการรับรองผลลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ เรื่องคงยุ่งไม่น้อย
แต่นั่นอาจยังไม่ใช่ที่สุดของจุดพีค เรื่องจะยุ่งเข้าขั้นวิกฤต หากสภาคองเกรสรับรองว่า โจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน แต่หลังจากนั้นศาลสูงสุดตัดสินให้ทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ
ฉากสถานการณ์อย่างที่ว่านี้ ถือเป็นทางตันในทางรัฐธรรมนูญ ถึงตอนนั้น คงไม่มีใครอยากนึกภาพปฏิกิริยาของกองเชียร์แต่ละฝ่าย
‘ไบเดน’ ไม่ต้องสน ‘ทรัมป์’
เวลานี้ ถึงแม้กระบวนการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกแล้วว่า ไบเดนชนะ บรรดาผู้นำของมิตรประเทศพากันแสดงความยินดีกับผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต
ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ทรัมป์มีกำหนดเส้นตายชัดเจนที่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ผู้เลือกตั้งจะต้องประชุมออกเสียงเลือกประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ธันวาคม จากนั้น สภาคองเกรสจะต้องรับรองผลการลงคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม
ถ้าไบเดนคว้าชัยในการโหวตของคณะผู้เลือกตั้งตามที่คาดหมายกันโดยทั่วไป ไบเดนจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ณ อาคารรัฐสภาอเมริกัน ในเวลาเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคม
บทแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 20 เขียนไว้ชัดเจนถึงวันเวลาที่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนหนึ่งจะต้องสิ้นสุดลง และอีกคนหนึ่งเริ่มเข้ารับหน้าที่ “วาระของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคม”
การเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยสันติในทุกๆ 4 ปี เป็นทั้งกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านานนับแต่ปี 1792
ข้ารัฐการต้องสนองมหาชน
เมื่อประชาชนส่งเสียงแล้ว ข้ารัฐการต้องปฏิบัติตามเสียงของมหาชน ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ทีมงานของผู้นำคนใหม่ที่จะต้องเริ่มตระเตรียมสถานที่ทำงาน และทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ
รัฐบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดี ปี 1963 กำหนดว่า หน่วยงานสนับสนุนกิจการของฝ่ายบริหาร ที่เรียกว่า U.S. General Services Administration (GSA) ซึ่งดูแลอาคารของรัฐบาลกลาง จะต้องระบุชื่อผู้ชนะในการเลือกตั้ง จากนั้น แจกจ่ายคู่มือและระเบียบการต่างๆ ดูแลรองรับทีมงานใหม่ที่จะไปตรวจตราความเรียบร้อยของหน่วยงานต่างๆ
ดังนั้น เมื่อคณะผู้เลือกตั้งออกเสียงตามมติมหาชน ยกให้ไบเดนเป็นผู้ชนะ ถึงแม้ทรัมป์ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ไบเดนย่อมได้เป็นผู้นำทำเนียบขาวคนใหม่ ข้ารัฐการต้องปฏิบัติตามคำสาบานที่ว่า จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ข้ารัฐการฝ่ายทหาร ซึ่งบางเสียงเรียกร้องให้เข้าแทรกแซง ก็แสดงจุดยืนเช่นว่านี้
ในการเข้าให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการของสภาล่างเมื่อเดือนสิงหาคม ประธานคณะเสนาธิการร่วม พลเอกมาร์ก มิลลีย์ ให้คำมั่นว่า ในกรณีเกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ศาลและสภาคองเกรสเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขข้อพิพาท ไม่ใช่กองทัพ “เราจะไม่หันหลังให้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ”
ใช้กำลังกับ ‘ผู้บุกรุก’
จนถึงขณะนี้ ทรัมป์ยังคงยืนยันว่าเขาคือผู้ชนะ ท่าทีกระต่ายขาเดียวแบบนี้ทำให้วิตกกันว่า ถ้าในวันสาบานตน ทรัมป์ไม่ยอมไปนั่งข้างหลังไบเดนในพิธีเปลี่ยนผ่านอำนาจ แต่ปักหลักครองทำเนียบขาวต่อไป ใครควรเป็นคนเข้าไปนำตัวทรัมป์ออกมา
น้อยคนเชื่อว่า ทรัมป์จะดื้อแพ่งไปจนถึงเวลานั้น อย่างไรก็ดี บางเสียงเริ่มชี้ชวนให้คิดหาทางหนีทีไล่เผื่อไว้
นักกฎหมายหลายคนเห็นตรงกันว่า หลังจากไบเดนสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแล้ว ทรัมป์ย่อมกลายเป็นอดีตประธานาธิบดีโดยอัตโนมัติ หากยังไม่ยอมออกจากทำเนียบขาว เขาย่อมกลายเป็นผู้บุกรุก
ตามกฎหมายแล้ว ประธานาธิบดีไบเดนมีอำนาจสั่งการให้หน่วยอารักขาบุคคลสำคัญ (Secret Service) บังคับนำตัวทรัมป์ออกจากศูนย์บัญชาการของรัฐบาลกลาง
ถ้าเหตุการณ์ไปถึงขั้นนั้นจริงๆ คงพูดได้ว่า ประชาธิปไตยอเมริกันจบเห่แล้ว ยิ่งกว่านั้น ฉากสถานการณ์อย่างที่ว่านี้จะทำลายสถานภาพของอเมริกาในฐานะผู้นำโลกเสรี อเมริกาคงเล่นบทกดดันใครๆให้เล่นตามกฎกติกาประชาธิปไตยไม่ได้อีก
ทางตันรัฐธรรมนูญ
สำหรับการเมืองภายในของสหรัฐฯเอง ฉากสถานการณ์อาจน่าวิตกได้พอๆกันถ้าสภาคองเกรสตัดสินใจรอฟังคำวินิจฉัยของศาลต่อข้อโต้แย้งของทรัมป์
ลินด์เซย์ โคห์น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ วิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐฯ บอกว่า ถ้าประธานาธิบดีไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ หรือไม่ยอมออกจากทำเนียบขาว ขณะที่คำฟ้องของทรัมป์ถูกส่งขึ้นไปถึงศาลสูงสุด ซึ่งมีผู้พิพากษาที่ทรัมป์เสนอแต่งตั้งนั่งบนบัลลังก์ 3 ใน 9 คน แล้วศาลสูงสุดยกชัยชนะให้แก่ทรัมป์ สถานการณ์การเมืองอาจปั่นป่วน
แต่นั่นยังไม่น่ากังวลเท่ากับว่า ถ้าคองเกรสไม่รอศาล แต่รับรองผลเลือกตั้งที่ให้ไบเดนชนะ ทว่าศาลมีคำวินิจฉัยตามมาหลังจากนั้นว่า ทรัมป์ชนะ
ถึงตอนนั้น ประชาชนฝ่ายหนึ่งจะออกมาเชียร์ไบเดนตามมติของสภา อีกฝ่ายหนึ่งจะออกมาเชียร์ทรัมป์ตามคำวินิจฉัยของศาล
โคห์นบอกว่า ฉากสถานการณ์อย่างนี้ มีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่หากเกิดขึ้น นั่นจะกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ
ที่มา :
Business Insider, 1 October 2020
Tags: โดนัลด์ ทรัมป์, โจ ไบเดน, เลือกตั้งสหรัฐ