พ้นจากมุ้งหลากสี 25 หลังที่เป็นงานติดตั้ง (installation) เปิดนิทรรศการของเดอ โมว หนาน (The Maw Naing) ศิลปินชาวพม่า มีโทรทัศน์เครื่องหนึ่งตั้งอยู่บริเวณทางผ่านไปยังนิทรรศการข้างใน นั่นคือโทรทัศน์หนึ่งใน 4 เครื่องที่ตั้งอยู่ตามมุมต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ โทรทัศน์ถูกวางในแนวตั้ง หน้าจอฉายภาพพื้นหลังสีขาวว่างเปล่า ภาพแช่นิ่งอยู่เช่นนั้น กระทั่งปรากฏเสียงฝีเท้า เสียงฝีเท้าของใครสักคนที่วิ่งมาด้วยความเร็ว และ ณ วินาทีหนึ่ง เงาร่างเจ้าของฝีเท้าก็วิ่งผ่านฉากสีขาวบนจอโทรทัศน์ไปอย่างรวดเร็ว จากจอหนึ่งวิ่งไปยังอีกจอหนึ่ง ณ อีกมุมหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ หมุนวนอยู่เช่นนั้นไม่จบสิ้น

In and Out of Thin Layer โดย เดอ โมว หนาน (The Maw Naing)

มุ้งหลากสีคืองานติดตั้งที่มีชื่อว่า In and Out of Thin Layer เป็นมุ้งกันยุงแบบเดียวกับที่พระสงฆ์ในพม่าใช้ในการทำสมาธิภาวนา มุ้งที่เมื่อถูกนำมาวางอยู่บนโถงใหญ่กลางพิพิธภัณฑ์ ได้เปลี่ยนความหมายในตัวมัน กลายเป็นสัญลักษณ์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างภายในและภายนอก (ของมุ้ง) และการเคลื่อนที่เข้าและออก เมื่อมีใครสักคนอยากลองเดินเข้าไปอยู่ภายใต้ตาข่ายหลากสีเหล่านั้น ขณะที่โทรทัศน์ 4 เครื่องที่มีบุคคลปริศนาวิ่งผ่านไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย คือผลงานที่ชื่อว่า Signal ของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ศิลปินชาวไทย ที่ให้แรงงานชาวพม่าซึ่งย้ายมาทำงานในเชียงใหม่ วิ่งวนไปยังจุดต่างๆ รอบพิพิธภัณฑ์ จุดต่างๆ ที่ต่อมาเป็นจุดวางโทรทัศน์ ร่างเงาที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์จึงสัมพันธ์กับความเร็วขณะวิ่งของนักวิ่งรับเชิญคนนั้น

นี่คืองานที่ตั้งคำถามว่าชายผู้นั้นกำลังวิ่งไล่ตามหรือวิ่งหนีสิ่งใด? แม้เราไม่อาจรู้ได้ แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือตราบใดที่เราไม่ปิดโทรทัศน์ แรงงานข้ามชาติหนุ่มผู้นั้นก็ยังคงไม่หยุดวิ่ง

ทั้งมุ้งและโทรทัศน์คือส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Diaspora: Exit, Exile, Exodus of Southeast Asia นิทรรศการล่าสุดของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM) จังหวัดเชียงใหม่ นิทรรศการที่ภัณฑารักษ์ โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี รวบรวมผลงานศิลปะของศิลปินทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 18 คน ภายใต้แนวคิดของการพลัดถิ่น ตามชื่อ—การย้ายออก (exit) การถูกเนรเทศ (to be exiled) และการอพยพลี้ภัย (exodus) ในภูมิภาคที่มีกลุ่มชนไร้รัฐซึ่งถูกเจ้าของดินแดนแต่ละแห่งหรือผู้ปกครองของรัฐนั้นๆ ขับไล่ เพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือจุดยืนทางสังคมการเมือง

ความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการชี้ให้เห็นเหล่าผู้คนชายขอบของแต่ละภูมิภาคที่ถูกกดทับ หากเป็นการสะท้อนมิติทางสังคมการเมืองในประเทศต่างๆ รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างกันผ่านงานศิลปะ เช่น 2401 งานอีกชิ้นของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ซึ่งทำขึ้นจากตัวต่อไม้เข้าสเกล จำลองชายแดนระหว่างประเทศไทยและพม่าระยะทาง 2,401 กิโลเมตรจากเหนือจรดใต้ ชายแดนที่ถูกพลเมืองของทั้งสองประเทศข้ามผ่านครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือวิกฤตการเมือง 2401 จึงเป็นทั้งงานศิลปะสะท้อนการแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์ หากก็เป็นเส้นที่หลอมรวมประวัติศาสตร์ของสองชาติอย่างไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

2401 โดย นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์

Coming to Terms: The Lies we tell ourselves to help us sleep คือชุดภาพถ่ายของอับดุล อับดุลาห์ (Abdul Abdullah) ศิลปินชาวมาเลเซียผู้พลัดจากบ้านเกิดไปเติบโตในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ชุดภาพถ่ายที่เล่าเรื่องผ่านชายหนุ่มที่สวมหน้ากากลิงกำลังอุ้มลิงจริงๆ เอาไว้แนบอกเพื่อจะกล่อมให้มันหลับ ผลงานอันสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนอันเป็นมุสลิมของศิลปินในประเทศออสเตรเลีย ดินแดนที่มุสลิมถือเป็นชนชายขอบ หากความชายขอบของมุสลิมก็อยู่ร่วมกันในประเทศนี้ได้อย่างลงรอย แม้จะอยู่ภายใต้การบิดเบือนทางกายภาพและนัยเสียดเย้ยตัวเองของศิลปิน (ผ่านมนุษย์ที่สวมหน้ากากลิงกำลังกล่อมลูกลิง และชื่อผลงานอันมีความหมายว่า คำโกหกที่เราใช้กล่อมให้ตัวเองหลับ) ก็ตาม

Coming to Terms: The Lies we tell ourselves to help us sleep โดย อับดุล อับดุลาห์ (Abdul Abdullah)

ส่วนอัลเฟรโดและอิซาเบล อากิลิซัน (Alfredo and Isabel Aquilizan) สองศิลปินชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องอพยพไปอยู่ที่บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เลือกใช้กล่องกระดาษลังมาประกอบเป็นเรือเดินสมุทรในงานชื่อ Vessels จำลองเรือที่เหล่าผู้อพยพเคยโดยสารเพื่อมุ่งหน้าไปหาที่พักพิงแห่งใหม่ —ผู้อพยพที่จะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องหลบหนีเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในอดีต หรือผู้ที่เลือกจะชิงอับเปหิตัวเองเพราะไม่ทนกับโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หรือกระทั่งผู้อพยพชาวโรฮิงยาที่ถูกทางการพม่ากวาดล้าง และต้องรอนแรมไปบนเรือหนีไปหาที่พึ่งพิงจากนานาประเทศอย่างมืดมนเต็มที ฯลฯ

Vessels โดยอัลเฟรโดและอิซาเบล อากิลิซัน (Alfredo and Isabel Aquilizan)

งานชุด Identifying Southeast Asia Borderless Humanity โดย อะดิตยา โนวาลี (Aditya Novali) เล่นประเด็นเขตแดนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยอารมณ์ขันร้าย ผ่านงานแผนที่อินเตอร์แอคทีฟที่เต็มไปด้วยสวิตซ์ต่างๆ (ทำงานกับไฟแอลอีดี) เปิดให้ผู้ชมเลือกกดเพื่อ ‘สร้าง’ แผนที่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยตนเอง —ใช่แล้ว, เราอาจจะลบแผนที่ประเทศไทยออกจากภูมิภาค หรือจะเลือกลบประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศเหลือแต่ประเทศไทยประเทศเดียวตระหง่านอยู่กลางมหาสมุทร ก็เป็นได้เพียงการกดสวิตซ์— แต่จะทำไปเพื่ออะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความคิดของคุณแล้วล่ะ

Identifying Southeast Asia Borderless Humanity โดย อะดิตยา โนวาลี (Aditya Novali)

Hmong Veterans, Attention คือหนึ่งในงานที่ผู้เขียนชอบที่สุด นี่คือชุดภาพถ่ายนายทหารยศสูงในเครื่องแบบจัดเต็ม จัดแสดงภายในกรอบทองหนาอันหรูหรา ภาพถ่ายที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าเมื่อคุณเดินเข้าไปใกล้ๆ คุณจะได้ยินเสียงตวาดลั่นดังว่า “Attention!”

เปา ฮัว เฮอ (Pao Her) คือศิลปินที่อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายชุดนี้ เธอและบุคคลในภาพถ่ายคือชาวม้งพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในรัฐมินิโซตา นายทหารเหล่านี้เคยช่วยกองทัพสหรัฐฯ ร่วมรบในสงครามเวียดนาม พวกเขาคือทหารผ่านศึกที่ไม่ได้รับการรับรองหรือเลื่อนยศใดๆ จากกองทัพสหรัฐฯ เหตุนั้นพวกเขาจึงเลือกสดุดีการเข้าร่วมสงครามด้วยตนเองด้วยการเลียนแบบพิธีการต่างๆ ของทหารอเมริกัน และซื้อหาเครื่องแบบและเครื่องยศแบบทหารอเมริกันจากตลาดมือสองมาสวมใส่ โดย เปา ฮัว เฮอ รับหน้าที่ถ่ายภาพที่พร้อมไปกับการบันทึกความทรงจำ ยังเป็นการเน้นย้ำการถูกลืมของทหารผ่านศึกชาวม้งในประวัติศาสตร์อเมริกา

Hmong Veterans, Attention โดย เปา ฮัว เฮอ (Pao Her)

อีกหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบหากก็รู้สึกเฝื่อนลิ้นและขมคอไปพร้อมกันคือ Stake or Skewer ของสวาย สะเรธ (Svay Sareth) ดูเผินๆ งานชุดนี้คือการจัดแสดงรองเท้าแตะยางสีดำ 17 คู่ที่แขวนอยู่บนคานไม้ที่แม่ค้าใช้หาบเร่ริมทางอย่างเรียบเฉย แต่หากตั้งใจดูภาพที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอข้างๆ จะเห็นว่าศิลปินกำลังเคี้ยวและถ่มถุยเศษรองเท้าแตะยางแบบเดียวกับที่แขวนอยู่บนผนัง

สวาย สะเรธ คือชาวกัมพูชาที่รอดชีวิตจากการกวาดล้างของระบอบเขมรแดง เขาต้องอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพ Site 2 Refugee Camp บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้วยความหวาดกลัวถึง 17 ปี รองเท้าแตะยางที่เขาเคี้ยวคือรองเท้าแตะยางอันเป็นที่นิยมสวมใส่โดยทหารเขมรแดง—รองเท้าอันเป็นสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ การบันทึกภาพตัวเองขบเคี้ยวและถ่มถุยรองเท้าของศัตรูที่เขาเกลียด คือการแสดงถึงการปฏิเสธการรับรองอุดมการณ์อันเสื่อมทรามของผู้คนในรุ่นต่อมา

Stake or Skewer โดยสวาย สะเรธ (Svay Sareth)

หนึ่งในงานที่สะท้อนความล้มเหลวของเสรีภาพในประเทศไทยที่สุดคือ ‘ไกลบ้าน’ ของปพนศักด์ ละออ ที่ศิลปินวาดภาพจำลองใบหน้าของผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวน 29 คนที่ต้องจำใจร่ำลาญาติมิตรในประเทศไทยไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังต่างแดน เพียงเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองของเขาแตกต่างจากรัฐบาลและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้ ที่ไม่เคยให้คุณค่าของพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน

ปพนศักดิ์ตั้งใจวาดรูปใบหน้าของบุคคลต่างๆ ให้ออกมาอย่างคลุมเครือทางเพศสภาพ ด้วยใบหน้าที่บิดเบือนอย่างไม่อาจระบุตัวตนของแต่ละคนได้ เป็นกับการผสมผสานอัตลักษณ์อันหลากหลายของผู้ลี้ภัยแต่ละคนเข้าด้วยกัน จนไม่เหลืออัตลักษณ์ใดๆ และราวกับจะสื่อสารว่าความราบเรียบดังกล่าว (และแววตาอันว่างเปล่าของแบบร่าง) อาจมีส่วนหนึ่งของ ‘คุณ’ ซึ่งเป็นผู้ชมรวมอยู่ด้วย…

ไกลบ้าน โดย ปพนศักด์ ละออ

นอกจากนี้ นิทรรศการยังมีงาน video installation ที่วิพากษ์ประเด็นสถานะของผู้คนชายขอบอย่างน่าพินิจอีกหลายชิ้น เช่น Fabric ของปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ที่โฟกัสไปยังวิถีชีวิตของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมทอผ้าในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จัดแสดงพร้อมผืนผ้าที่ถักทอจากเศษผ้าเหลือใช้จากโรงงานหลากหลายแห่ง หรือ Green Canvas Doi Army Combat บันทึกภาพการฝึกเยาวชนทหารของกองกำลังรัฐฉาน โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล (จัดแสดงพร้อมภาพถ่ายชื่อ Mr. Shadow)

Fabric โดยปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์

ภาพถ่าย Mr.Shadow โดยนนทวัฒน์ นำเบญจพล

The Nameless โดยศิลปินชาวสิงคโปร์ โฮ ซู เนียน (Ho Tzu Nyen) เป็นวิดีโอที่ดัดแปลงฉากจากภาพยนตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับไล เตก (Lai Teck) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ที่เคยทำหน้าที่เป็นสายลับสามหน้า (โดยฉากส่วนใหญ่ตัดมาจากภาพยนตร์ที่เหลียง เฉาเหว่ย แสดงนำ) และ The Ground, The Root, and the Air: The Passing of the Bodhi Tree โดยจุน เหวียน-ฮัตซึชิบะ (Jun Nguyen-Hatsushiba) บันทึกภาพนักศึกษาศิลปะที่เมืองหลวงพระบาง 50 คนขณะนั่งเรือหางยาวไปตามลำน้ำโขงเพื่อสเก็ตซ์ภาพทิวทัศน์ ก่อนจะผ่านไปพบต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ริมตลิ่ง

The Nameless โดย โฮ ซู เนียน (Ho Tzu Nyen)

The Ground, The Root, and the Air: The Passing of the Bodhi Tree โดยจุน เหวียน-ฮัตซึชิบะ (Jun Nguyen-Hatsushiba)

ยังมีผลงานที่น่าสนใจของศิลปินไทยท่านอื่นๆ เช่น จักรกาย ศิริบุตร และประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ศิลปินอินโดนีเซียอย่าง นินดิตโย อดิปูร์โนโม (Nindityo Adipurnomo) ศิลปินกัมพูชา อนิดา เยว อาลี (Anida Yoeu Ali) ศิลปินชาวพม่า สว่างวงศ์ ยองห้วย (Swangwongse Yawnghwe) และไรอัน วิลลามาเอล (Ryan Villamael) จากฟิลลิปปินส์ ที่ต่างก็มีมุมมองที่สะท้อนต่อการโยกย้ายพลัดถิ่นและการตีความ ‘คนใน’ และ ‘คนนอก’ ตามแต่บริบทของพวกเขาต่างกันออกไป

แม้ภาพรวมในมุมมองของศิลปินที่ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการชุดนี้ก็ยังคงเกาะกุมอยู่ที่ ‘ผลพวง’ ของการโยกย้าย หรือ ‘ชะตากรรม’ ของผู้พลัดถิ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ กระนั้นหากมองในอีกมุมนี่ ก็อาจเป็นงานที่กระตุ้นให้คนดูได้ย้อนคิดถึงต้นตอหรือที่มาของการอพยพโยกย้ายของผู้คนต่างเชื้อชาติและศาสนาทั้งหมดในอนุทวีปแห่งนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญไม่น้อย

ใช่, บางทีที่มาของบางสถานการณ์อาจจะแตกต่างเพียง ‘พระเจ้า’ ที่พวกเขาเชื่อ หรือเพียงเพราะจุดยืนของบางคนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในประเทศที่ระบบตรรกะเหตุผลและมนุษยธรรมกำลังล่มสลาย ด้วยน้ำมือของรัฐบาลเผด็จการแถวๆ นี้

 

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก MAIIAM Contemporary Art Museum

Fact Box

  • นิทรรศการ Diaspora: Exit, Exile, Exodus of Southeast Asia จัดแสดงจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (www.maiiam.com) ค่าเข้าชม 150 บาท (นักศึกษา 100 บาท) เปิดทุกวันยกเว้นวันอังคาร 10.00-18.00 น.
  • วันที่ 14-15 เมษายนนี้ (เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป) ที่ห้องฉายภาพยนตร์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ยังมีกิจกรรมฉายภาพยนตร์สั้นและสารคดีที่เกี่ยวกับประเด็นการพลัดถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ Songs of the Migrant Workers of Kaohsiung Harbor (2018) โดยCharwei Tsai และ Tsering Tashi Gyalthang, ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (2015) โดยนนทวัฒน์ นำเบญจพล และ 2 or 3 Things about the Bridge (2015) โดยWan King-fai ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/events/2105891966118297/
Tags: , , , , , ,